วันพุธ, กุมภาพันธ์ 08, 2560

'วิษณุ เครืองาม' ระบุการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในอีก 1 ปีข้างหน้า




วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฯ (ที่มาแฟ้มภาพเว็บไซต์ทำเนียบ)


'วิษณุ เครืองาม' ระบุการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในอีก 1 ปีข้างหน้า


Wed, 2017-02-08 18:58
ที่มา ประชาไท

รองนายกรัฐมนตรีระบุ การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปี 2561 ชี้ทุกอย่างต้องเป็นไปตามโรดแมป อีกทั้งร่างรัฐธรรมนูญระบุให้ การร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ซึ่งต้องใช้เวลา หากไม่ทำอาจเข้าข่ายบกพร่องทางวินัย

8 ก.พ. 2559 ช่วงบ่ายของวันนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวตอนหนึ่งในการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ปฏิรูปกฎหมาย บริบทประเทศไทยบนเวทีโลก” โดยระบุว่า จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในอีก 1 ปีข้างหน้านับจากวันนี้ไป โดยเป็นการประมาณล่วงหน้า แต่ไม่ได้หมายความจะต้องได้วันที่แน่นอน เพราะทุกอย่างต้องดำเนินไปตามโรดแมป ที่ระบุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติ อีกทั้งหลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้วจะต้องมีกระบวนการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีก 10 ฉบับ ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญระบุไว้ในมาตรา 77 ว่า การตรากฎหมายทุกฉบับให้รัฐเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงวิเคราะห์ผลกระทบอย่างรอบด้าน ซึ่งจะทำให้การออกกฎหมายมีขั้นตอนที่มากขึ้น แต่เพื่อประโยชน์ประชาชน ระยะเวลาอาจไม่ได้มากขึ้น เพียงแต่ขั้นตอนมากขึ้นเท่านั้น ทุกหน่วยงานต้องคิดวิธีการรับฟังความเห็น เช่น เปิดช่องทางรับฟังผ่านเว็บไซต์ หรือให้ประชาชนสามารถแจ้งโดยตรงไปยังหน่วยงานนั้น ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้เป็นแนวทางที่เคยปฏิบัติมาแล้ว ซึ่งทุกหน่วยงานต้องดำเนินการหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ไม่เช่นนั้นถือว่ามีความผิด แต่ไม่ถึงขั้นเข้าข่ายปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นเพียงความบกพร่องทางวินัย

"เมื่อรัฐธรรมนูญฯ ประกาศใช้ หลายอย่างต้องดำเนินการทันที ที่ใช้คำว่า 1 ปี ไม่ได้ต้องการให้รู้สึกว่าเมื่อร่างรัฐธรรมนูญฯ ประกาศใช้ กว่าจะทำอะไรได้อีกตั้งนาน ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะมีเรื่องที่ต้องทำทันทีอีกหลายเรื่อง เช่นในร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 77 ที่บัญญัติไว้ว่าการตรากฎหมายทุกฉบับให้รัฐเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงวิเคราะห์ผลกระทบอย่างรอบด้าน ที่จะทำให้ขั้นตอนการออกกฎหมายต่อไปมีขั้นตอนที่มากขึ้น" วิษณุกล่าว

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ผ่านการลงประชามติ เสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะมีการนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ไม่เกินวันที่ 18 ก.พ. 2560 โดยพระมหากษัตริย์ทรงมีระยะเวลาในการลงพระปรมาภิไธยไม่เกิน 30 วัน และเมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย จะมีขั้นตอนในการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ จากนั้นก็จะนำไปสู่การเลือกตั้ง รวมระยะเวลาตามโรดแมปในร่างรัฐธรรมนูญในบทเฉพาะกาลทั้งสิ้นไม่เกิน 450 วัน หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้

รายละเอียดโรดแมปการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังนี้

1.ช่วง กรธ.จัดทำร่าง พ.ร.ป. 10 ฉบับ ภายในระยะเวลา 8 เดือน

ในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญได้รับการลงพระปรมาภิไธย แล้วพระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานกลับคืนมา เมื่อรัฐธรรมนูญได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายโดยการเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา ตามมาตรา 267 ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านการลงประชามติ กำหนดให้ กรธ. จัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป) ทั้งสิ้น 10 ฉบับ ในระยะเวลา 240 วัน พ.ร.ป.ทั้งหมดประกอบด้วย

(1) พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

(2) พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

(3) พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง

(4) พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

(5) พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

(6) พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง

(7) พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน

(8) พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

(9) พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน

(10) พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

โดย พ.ร.ป. ทั้ง 10 ฉบับ อาจแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ (1)-(4) เป็นพ.ร.ป. ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ถ้าไม่มีกฎหมายทั้ง 4 ฉบับนี้การเลือกตั้งอาจจะจัดทำขึ้นไม่ได้ หรือได้โดยไม่มีกฎกติกาที่ระบุอย่างชัดเจน ส่วน (5)-(10) เป็นกฎหมายที่จะกำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบอำนาจรัฐ แม้ยังไม่มี (5)-(10) ก็จัดการเลือกตั้งได้

ทั้งนี้ใน มาตรา 268 กำหนดมีการให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา 267 (1) (2) (3) และ (4) มีผลใช้บังคับแล้ว”

ซึ่งหมายความว่า กรธ. สามารถเร่งจัดทำ พ.ร.ป หลักทั้ง 4 ฉบับให้เสร็จก่อนได้ เพื่อที่จะนำไปเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้พิจารณาและประกาศใช้ก่อน พ.ร.ป. ฉบับอื่นๆ เพื่อเดินหน้าสู่การเลือกตั้งต่อไปได้ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องรอให้มีการร่าง พ.ร.ป. ครบก่อนทั้ง 10 ฉบับ ทั้งนี้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาทาง กรธ. ได้เผยแพร่ร่าง พ.ร.ป.แล้วทั้งสิ้น 2 ฉบับคือ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงของการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อปรับปรุงแก้ไข ก่อนที่จะนำเสนอต่อ สนช. หลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

2.ช่วง สนช. พิจารณากฎหมาย เพื่อประกาศใช้ มีระยะเวลา 2 เดือนต่อหนึ่งฉบับ

ตามที่ได้ระบุไว้ในขั้นตอนของการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญโดย กรธ. แล้วว่า ในช่วงกรอบระยะเวลาทั้งสิ้น 240 วัน หรือ 8 เดือน หาก กรธ.จัดทำร่างกฎหมายฉบับใดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถนำเสนอต่อ สนช. เพื่อพิจารณาได้เลย โดยไม่ต้องรอให้มีการจัดทำครบทั้งสิ้น 10 ฉบับ แล้วส่งเพื่อพิจารณาพร้อมกัน

ฉะนั้นหากภายในระยะเวลา 1-2 เดือน หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ กรธ. สามารถจัดทำร่าง พ.ร.ป. หลัก ทั้ง 4 ฉบับจนเสร็จสิ้น ตามมาตรา 268 ก็จะสามารถยนย่อระยะเวลาที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งได้

ทั้งนี้เมื่อ ร่าง พ.ร.ป. ถูกส่งมายัง สนช. เพื่อพิจารณาบัญญัติเป็นกฎหมาย สนช. จะมีระยะเวลาทั้งสิ้น 2 เดือนต่อ 1 ฉบับในการพิจารณา โดยกรอบระยะเวลาสองเดือนเป็นกรอบเวลาที่วางไว้เพื่อเป็นกรอบกำหนดกว้างๆ ในทางปฏิบัติ สนช. ไม่จำเป็นตั้งใช้เวลานานถึง 2 เดือนในการพิจารณากฎหมายก็ได้ เช่นการแก้ไข มาตรา 7 ใน พ.ร.บ.สงฆ์ ซึ่ง สนช. มีความสามารถในการพิจารณา 3 วาระรวด ภายใน 1 วัน

3.ช่วงจัดการเลือกตั้งภายในระยะเวลา 5 เดือน

ภายหลังจาก สนช. พิจารณา พ.ร.ป.หลักทั้ง 4 ฉบับเสร็จสิ้น แล้วศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วว่าไม่ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ให้เตรียมการดำเนินการจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน นับจากวันที่ พ.ร.ป. หลักทั้ง 4 ฉบับประกาศใช้เป็นกฎหมาย


เรียบเรียงบางส่วนจาก: มติชนออนไลน์ , BBC Thai


เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
เปิดโรดแมปสู่การเลือกตั้ง หลังแก้ รธน. ชั่วคราว 57 พบเลือกตั้งไกลสุดไม่เกิน ต.ค. 61

ooo

วิษณุ เครืองาม พูดกำกวมบอกไม่ได้เลื่อนเลือกตั้ง แต่ต้องรอไปอีก 1 ปีหลังจากวันนี้



https://www.youtube.com/watch?v=GO0n4s3KnHU

SHTV

Published on Feb 8, 2017

VoiceNews - VoiceTV21 @Voice_TV