วันพฤหัสบดี, มกราคม 19, 2560

สองผู้ลี้ภัยไทยลุยกรุงวอชิงตัน (ดร.จรัล ดิษฐาอภิชัย และ ดร.สุนัย จุลพงศธร) ‘ให้การ’ หน่วยงานคองเกรสและองค์กร Think Tank อัพเดทสถานการณ์เกี่ยวกับประเทศไทยล่าสุด





สองผู้ลี้ภัยไทยลุยกรุงวอชิงตัน ‘ให้การ’ หน่วยงานคองเกรสและองค์กร Think Tank

สองวันก่อนจะถึงงานสาบานตัวเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีดอแนลด์ ทรั้มพ์ แห่งสหรัฐอเมริกา ในใจกลางกรุงวอชิงตัน ดีซี สองผู้ลี้ภัยจากการรัฐประหารในประเทศไทยเมื่อสามปีที่แล้ว ดร.จรัล ดิษฐาอภิชัย และ ดร.สุนัย จุลพงศธร ตระเวณเข้าพบบรรดาเจ้าหน้าที่ของวุฒิสมาชิกและสภาผู้แทนฯ สหรัฐ

เพื่อให้การอัพเดทสถานการณ์เกี่ยวกับประเทศไทยล่าสุด หลังจากที่มีการเปลี่ยนรัชกาลและการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ กับความคาดหวังต่อการเลือกตั้งที่จะเป็นไปได้เพียงใด

อดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ประธานกรรมาธิการต่างประเทศสภาผู้แทนราษฎร ในสมัยเดียวกัน ได้พบกับผู้ช่วยงานวิจัยของกรรมาธิการต่างประเทศวุฒิสภา บ็อบ คอร์เกอร์ แห่งเท็นเนสซี ซึ่งติดตามสถานการณ์ในประเทศไทยอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว ทว่ารับฟังข้อมูลเพิ่มเติมและข้อคิดจากผู้ลี้ภัยทั้งสองอย่างจดจ่อ

ในวันเดียวกันคณะของสองอดีตนักการเมืองพรรคเพื่อไทยยังได้พบกับเจ้าหน้าที่แผนกเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์กรวิจัยด้านนโยบายในความสัมพันธ์ของสหรัฐกับนานาประเทศ ซึ่งมีอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศหญิง แมเดอลีน อัลไบร๊ท์ เป็นประธาน

และรับทราบว่าได้มีการระงับการซ้อมรบร่วมกันของสหรัฐกับประเทศในภูมิภาคเอเซียอาคเนย์สำหรับปีนี้

อีกทั้งยังมีข่าวน่าเชื่อถือกระจายในหมู่องค์กร Think Tank ด้วยว่า รัฐบาลใหม่สหรัฐจะยังคงมอบหมายให้เอกอัคราชทูต กลิน เดวี่ส์ ปฏิบัติหน้าที่ประจำประเทศไทยต่อไป





ช่วงบ่ายต้นๆ ก่อนการพบกับเจ้าหน้าที่หน่วยงาน NDI (National Democratic Institute) ดร.จรัล มีนัดพบกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐเป็นการเฉพาะต่างหากด้วย

รุ่งขึ้นอีกวันก็มีการพบกับองค์กร Think Tank อีกแห่งหนึ่งเช่นกัน โดยมีผู้สันทัดกรณีประเทศไทยของหน่วยงานและบริษัทเอกชนอเมริกันหลายรายได้รับเชิญเข้าสนทนาด้วย ในภาคเช้า

ส่วนภาคบ่ายเป็นการพบปะกับเจ้าหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากมลรัฐแคลิฟอร์เนีย แบรด เชอร์แมน ที่ตึกสำนักงานหน้าคองเกรส คุยเรื่องอะไรขออุบไว้ก่อน มีเรื่องฮิวแมนไร้ท์อินไตแลนเดียอยู่ด้วย

แน่นอนเขาไม่ได้ยกตัวอย่างเหตุเพิ่งเกิดในกรุงเทพฯ วานนี้ (แต่ก็มีสายต่อถึงกัน จะแจ้งภายหลังย่อมได้)

เรื่องที่มีตำหวดสามคนไปเยี่ยมบ้านหญิงสูงอายุคนหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยโผล่ไปโดยไม่นัดหมาย ไม่เคยรู้จักมักจี่ ไม่มีคดีอะไรติดพัน

เว้นแต่ว่าคุณยายเป็นมารดาของสุภาพสตรีไทยคนหนึ่งซึ่งเป็นภรรยาของอดีตนักข่าวรอยเตอร์ประจำกรุงเทพฯ มีลูกชายเล็กๆ ด้วยกันหนึ่งคน ปัจจุบันกลับไปอยู่บ้านที่สก็อตแลนด์ และต้องหย่าขาดจากภรรยา เพราะไทยฮุนต้ารังควาญหนัก เนื่องจากอดีตสามี ‘is very critical of the Thai monarchy’





‘พลอย’ นพวรรณ บันลือศิลป์ อดีตภรรยาของ Andrew MacGregor Marshall โพสต์เฟชบุ๊คว่า “เรียนตำรวจไทย

ดิฉัน นางสาวนพวรรณ อยากจะขอชี้แจงให้ทุกท่านทราบว่าดิฉันไม่ได้อยู่เมืองไทยแล้ว และยืนยันอีกครั้งว่าดิฉันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานของแอนดรูว์ ดิฉันไม่เข้าใจว่าวันนี้เจ้าหน้าที่สันติบาลจะไปพบแม่ของดิฉันที่บ้านที่ไทยเพื่ออะไร และบอกอีกด้วยว่าจะกลับมาอีกอาทิตย์หรือสองอาทิตย์...

ดิฉันใคร่ขอให้พวกท่านยุติการเคลื่อนไหวที่ทำให้ครอบครัวดิฉันกังวลและเดือดร้อนเพราะพวกคุณก็รู้ว่าเราบริสุทธิ์ โดยเฉพาะครอบครัวของดิฉันที่ไทยซึ่งไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับแอนดรูว์เลย

และการที่แอนดรูว์เป็นพ่อของชาลีมันก็ไม่ได้หมายความว่าดิฉันต้องมีส่วนรู้เห็นกับสิ่งที่เค้าทำ หรือเห็นด้วยกับสิ่งที่เค้าทำ ซึ่งดิฉันก้อยืนยันไปแล้ว...

ถ้าคุณมีปัญหากับแอนดรูว์ กรุณาไปสถานทูตของสหราชอาณาจักร และไปทำการเรียกร้องส่งตัวแอนดรูว์ไปไทย อย่าไปทำให้ครอบครัวของดิฉันที่ไทยต้องมามีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องที่เค้าไม่ได้ทำเถอะค่ะ”

คนอื่นๆ ที่เป็นเพื่อนบน ‘เฟช’ ของนายมาร์แชลและ น.ส. นพวรรณ ไปคอมเม้นต์เรื่องนี้กันบานตะไท เนื่องจากการกระทำเช่นนั้นของตำรวจนอกเครื่องแบบเข้าข่าย harassment ตามกฎหมายในนานาอารยะประเทศ

แอนดรูว์เองก็เขียนว่า “หยุดก้าวร้าวคุกคามครอบครัวของพลอยเสียที เพียงเพราะว่าเธอเคยแต่งงานกับผมและเป็นมารดาของชาลี ลูกชายผม...

ตำรวจนอกเครื่องแบบถึง ๒๐ คนเคยจู่โจมไปบ้านของพลอยแบบนี้มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคม พวกนั้นนำตัวเธอไปสอบสวนที่สถานีตำรวจอยู่ ๕ ชั่วโมง

รัฐบาลอาการหนักแบบไหนกันนี่ ที่กลั่นแกล้งพลเมืองของตนเองอย่างนี้” คุณมาร์แชลเหลืออด

แบบไหนไม่ทราบหรอก แต่เห็นมีคอมเม้นต์หนึ่งในนั้นบอกว่า “ตำรวจทำอย่างนี้เหมือน ‘เล็บดี’ ลอบกัด”