วันพฤหัสบดี, มกราคม 26, 2560

มีแต่ประเทศนี้ ไตแลนเดียนี่แหละที่ conflict of interests ไม่ผิดทั้งจริยธรรมและระเบียบราชการ





น่านสิ “มันกลายเป็นว่า เออ ประเทศเรานี้ แหม มันรวมทุกอย่างเลยเหรอ...

ทำไมประเทศไทยมันอยู่ทุกอัน ถูกมั้ย หลายคดีนะ เรื่องการทุจริต เรื่องการติดสินบน มีประเทศไทยติดอยู่ทุกอันน่ะ”

(จาก Voice TV21 “เมื่อนายกฯ ต้องตอบเรื่อง ‘รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา’ ขโมยภาพที่ญี่ปุ่น และไทยติดอันดับคอรัปชั่น”)

ทั่นบอกว่า “ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน” แต่หลายๆ ต่อหลายๆ คนเขาเข้าใจนะ เลขาธิการ ปปช. ของทั่นก็ดูเหมือนจะเริ่มเข้าใจว่าไอ้การโกงนี่มันไม่ได้เป็นแต่พวกโน้นฝ่ายเดียวนะ มันเป็นโรคเรื้อรังของสังคมที่จะต้องแก้ไขด้วยความรู้สึกรู้สา อย่าเอาแต่โทษแม้วอย่างเดียว





อย่างเช่นองค์การโปร่งใสนานาชาติ หรือ Transparency International ที่ประกาศค่าดัชนีการรับรู้เข้าใจเรื่องคอรัปชั่นของประเทศไทยไปอยู่อันดับ ๑๐๑ จากทั้งหมด ๑๗๖ ประเทศ เพราะไทยได้คะแนนเพียง ๓๕ จาก ๑๐๐





เขาอธิบายเหตุผลอย่างเข้าใจแจ่มแจ้งว่า “มันเกี่ยวโยงกันระหว่างการรับรู้เรื่องคอรัปชั่นกับความวุ่นวายทางการเมือง รัฐบาลกดขี่ ขาดการตรวจสอบอย่างอิสระ และการเสื่อมทรามลงในด้านสิทธิ ทำให้ความเชื่อมั่นสาธารณะเซาะกร่อนลงไป”

มิหนำซ้า “รัฐธรรมนูญใหม่ ทั้งที่เจาะเน้นนักหนาในเรื่องคอรัปชั่น แต่ก็สอดไส้อำนาจของคณะทหารและการปกครองที่ตรวจสอบไม่ได้เอาไว้ ขัดขวางการกลับสู่การปกครองประชาธิปไตยโดยพลเรือนไม่ให้เกิดขึ้นได้

การถกเถียงอย่างเสรีต่อรัฐธรรมนูญเป็นไปไม่ได้ การรณรงค์คัดค้านถูกห้าม ผู้คนนับสิบๆ ถูกควบคุมตัว คณะทหารฮุนต้ายังห้ามไม่ให้ทำการจับตาเฝ้ามองการทำประชามติ เช่นนี้ชัดแจ้งว่าขาดการตรวจสอบอย่างอิสระและการถกเถียงอย่างทะลุปรุโปร่ง”

(http://www.transparency.org/…/asia_pacific_fighting_corrupt…)





อีกอย่าง กรณีผู้บัญชาการตำรวจนครบาลรับส่วยค่าตำแหน่ง ‘ที่ปรึกษา’ บริษัทผลิตเบียร์เดือนละ ๕ หมื่นบาทมาตั้งแต่ปี ๕๘ เป็นข่าวอื้อฉาวเสียจนผู้ตรวจการแผ่นดินสั่ง (เมื่อวันก่อน) ให้ชี้แจงภายใน ๗ วัน

มาวานนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมี action บ้าง รองโฆษกออกมาแถลงนึกว่าจะได้สาระ ที่ไหนได้ ทั่นคัดเรือเบี่ยงเลี่ยงเกือบคว่ำ

พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง บอกว่า “เป็นเรื่องส่วนบุคคล ยืนยันว่าตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายตำรวจสามารถดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาบริษัทเอกชนได้

กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องของผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ที่จะชี้แจงและพิจารณาตัวเองว่า การเป็นที่ปรึกษาบริษัทผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขัดจริยธรรมหรือไม่”

(http://prachatai.org/journal/2017/01/69778)

มีแต่ประเทศนี้ ไตแลนเดียนี่แหละที่ conflict of interests ไม่ผิดทั้งจริยธรรมและระเบียบราชการ ถ้าผู้กระทำผิดเป็น ผบช.น. หรือ น.น.ย. (น้องนายกฯ)

ใครเป็นข้าราชการระดับสูง แอบไปทำระยำตำบอนไว้ที่ไหน นึกว่าปลอดตาผู้คน แต่ยุคอินเตอร์เน็ตนี่กำแพงมีหู ประตูมีตา พอเรื่องแดงฉ่าขึ้นมาก็หาทางเบี่ยง เลี่ยง แก้ กันชุลมุน

เช่นเรื่องรองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาขโมยภาพประดับห้องในโรงแรมญี่ปุ่น ทั่นอธิบดี ‘his immediate boss’ ออกมาปัดสวะให้พ้นตัวทันที

“มั่นใจว่าเรื่องดังกล่าวไม่น่าจะกระทบความเชื่อมั่นต่อข้าราชการของไทยในการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ เพราะเรื่องดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย”

(http://www.matichon.co.th/news/439844)

ไม่แต่เท่านั้น มีการพยายามแถให้ผู้กระทำผิด ‘ป่วย’ เป็นโรคจิตประเภท ‘ขี้ขโมย’ ด้วยละ





นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์และโฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้ความเห็นว่า “โรคกลุ่มนี้เรียกว่า โรคคลีฟโทมาเนีย (Kleptomania) เป็นกลุ่มที่มีปัญหาการยับยั้งพฤติกรรมการขโมย

โดยชีวิตประจำวันแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่งที่ต้องการของบางอย่าง จะมีความรู้สึกขัดกันขึ้นมา อยากได้มากถึงมากที่สุด แม้ของเหล่านี้อาจไม่ได้มีมูลค่ามากพอ”

ถึงกระนั้นคุณหมอทั่นพูดในหลักการ “หากเป็นในกลุ่มผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ อาจมีภาวะทางสมองเสื่อม ซึ่งอาจมาจากความผิดปกติของสารในสมองได้ ซึ่งสาเหตุก็ยังไม่ทราบแน่ชัด”

(http://www.matichon.co.th/news/440211)

นั่นละ ก่อนจะไปถึงการวินิจฉัยความป่วยจิตเภท ดูกันที่ข้อเท็จจริงก่อน การถอดรูปที่เขาติดแสดงไว้บนผนังโรงแรมถึงสามรูปนี่มีความตั้งใจและอยากได้แน่ๆ ภาษาปะกิตเขาเรียก ‘premeditated’ ส่วนมูลค่าราคาสองหมื่นเยน ถึงไม่มากสำหรับระดับรองอธิบดี ก็ใช้ซื้อราเมนกินได้หลายชามเชียวละ