วันจันทร์, มกราคม 09, 2560

ภาพกลุ่มอนุรักษ์-เยาวชนเชียงของ ไล่เรือจีนสำรวจระเบิดแก่งแม่น้ำโขง ชูป้ายคัดค้านฝากข้อความถึงรัฐบาลมังกร “ไกรศักดิ์” แนะรัฐทบทวนมติครม.







กลุ่มอนุรักษ์-เยาวชนเชียงของ ฮือไล่เรือจีนสำรวจระเบิดแก่งแม่น้ำโขง ชูป้ายคัดค้านฝากข้อความถึงรัฐบาลมังกร “ไกรศักดิ์”แนะรัฐทบทวนมติครม. หวั่นผลกรทบรุนแรง รองประธานหอการค้าเชียงรายข้องใจ ชี้ไม่ได้ประโยชน์แถมเรือเล็กเรือน้อยของชาวบ้านเสี่ยงไม่ปลอดภัย
---------------
เมื่อเวลา 14.30 น.วันที่ 8 มกราคม 2560 ขณะที่เรือสำรวจทางวิศวกรรมสัญชาติจีนเดินทางกลับจากการสำรวจแม่น้ำโขงที่แขวงอุดมไซ สปป.ลาว และเตรียมที่จะสำรวจแม่น้ำโขงในช่วงที่ผ่านพรมแดนไทยต่อ โดยเมื่อเรือสำรวจของจีนเดินทางมาถึงบ้านผาก้อนคำ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ปรากฏว่ากลุ่มนักอนุรักษ์และเยาวชนในอำเภอเชียงของ ได้นำเรือจำนวน 3 ลำ ติดตามประกบเพื่อชูป้ายประท้วงคัดการการระเบิดแก่ง โดยเขียนข้อความต่อต้านทั้งภาษาจีน ไทย และอังกฤษ อาทิ หยุดระเบิดแก่งแม่น้ำโขง แม่น้ำโขงมรดกทางธรรมชาติ เฮาฮักน้ำของ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 20 นาที โดยมีเรือของหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.)1 ลำแล่นตามอยู่ห่างๆ

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของกล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้เป็นการรณรงค์ไม่เห็นด้วยกับโครงการสำรวจและระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง เพื่อแจ้งให้รัฐบาลจีนทราบว่าประชาชนในท้องถิ่นไม่เห็นด้วย ถือว่าเป็นการจัดกรรมรณรงค์ครั้งแรกที่เป็นรูปธรรม และจะยกระดับขึ้นไปเรื่อยๆ หากจีนยังเดินหน้าโครงการระเบิดแก่ง

ขณะที่นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ บุตรชายพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดนครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง เพื่อเป็นกรอบแนวทางการพัฒนาการขนส่งทางน้ำระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง โดยยินยอมให้จีนเข้ามาสำรวจออกแบบในแม่น้ำโขงซึ่งหลายฝ่ายเป็นห่วงแผนการระเบิดเกาะแก่งในอนาคต ว่าอยากให้รัฐบาลทบทวนมติครม.ครั้งนี้และให้ยกเลิกแผนระเบิดแก่งเพื่อพัฒนาเส้นทางการเดินเรือของจีนทั้งหมด เพราะส่งผลเสียหายต่อระบบนิเวศและชาวบ้านในลุ่มน้ำโขงอย่างรุนแรง

นายไกรศักดิ์กล่าวว่า ในอดีตเมื่อราว 10 ปีก่อน สมัยที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เคยมีกรณีขออนุญาตสำรวจและระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงที่ผ่านประเทศไทยมาแล้ว แต่รัฐบาลขณะนั้นไม่อนุญาตโดยให้เหตุผลว่า 1.ทำให้ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบ และสูญเสียอย่างไม่มีวันเรียกคืนมาได้ เช่น การระเบิดแก่งซึ่งเป็นแห่งเพาะพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขง 2.เส้นทางน้ำเปลี่ยนแปลง ส่งผลกระทบต่อเส้นเขตแดนเนื่องจากสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส กำหนดให้ใช้ร่องน้ำลึกเป็นเขตแดน แต่ทุกวันนี้น้ำที่ลึกที่สุดตลอดแนวอยู่ตรงไหน ยังไม่มีการศึกษาชัดเจน เพราะในฤดูต่างๆ ร่องน้ำเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะตามโค้งน้ำต่างๆ ดังนั้นการระเบิดแก่งย่อมส่งผลกระทบต่อเส้นทางเดินของน้ำแน่นอน

“มติครม.ครั้งนี้ฟังมาจากเจ้าหน้าที่ของทางการและผู้ที่ได้ประโยชน์ไม่กี่คน ทำไมถึงไม่ลองไปดูเหตุผลครั้งก่อนดูบ้างว่าทำไมเขาถึงไม่อนุญาต ขนาดตอนนี้เป็นรัฐบาลพ่อค้า เขายังไม่กล้าทำกั้นขนาดนี้ แต่รัฐบาลชุดนี้แทบไม่มีพ่อค้าเป็นฝ่ายบริหาร แต่ละท่านมีจรรยาบรรณสูงกันทั้งนั้น มีดาวเต็มบ่า แต่กลับออกมติครม.เช่นนี้ออกมาได้”นายไกรศักดิ์ กล่าว

นายไกรศักดิ์กล่าวว่า แม่น้ำโขงเป็นแหล่งจับปลาที่สำคัญระดับโลก โดยประชาชนริมแม่น้ำกว่า 8 ล้านคนต่างพึ่งพา โดยปลาส่วนใหญ่เป็นปลาที่ต้องอพยพไปยังแหล่งหากิน เพาะพันธุ์และเจริญเติบโต ซึ่งในแต่ละปีสามารถจับปลาได้กว่า 2 ล้านตันมากกว่าปริมาณปลาที่จับได้ในทะเลของประเทศในย่านนี้ ดังนั้นการทำลายเกาะแก่งในแม่น้ำน้ำโขงจึงเท่ากับทำลายความอุดมสมบูรณ์ในส่วนนี้ และยิ่งเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์อันเลวร้ายจากการสร้างเขื่อนที่ทั้งจีนและไทยเข้าไปลงทุนกั้นแม่น้ำสายนี้ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอยู่แล้ว

“ที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่งคือทุกวันนี้เราไม่มีปราการรองรับภัยที่มาตามลำน้ำโขง โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจซึ่งเรายอมให้สินค้าจีนทะลักเข้ามาโดยผ่านการตรวจสอบ เรามีท่าเรือกัน 4-5 แห่ง แต่อาศัยกลไกลด้านศุลกากรจัดการเพียงแห่งเดียว ที่เหลือปล่อยให้มีการลักลอบขนส่งสินค้าเข้าประเทศไทยอย่างมากมาย”นายไกรศักดิ์ กล่าว

นางผกายมาศ เวียร์ร่า รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ในเบื้องต้นจีนอาจต้องการแค่สำรวจเส้นทางการเดินเรือ แต่รัฐบาลไทยก็ควรมีความชัดเจนว่ามีนโยบายอย่างไร แต่ตนมีข้อสังเกตว่าทำไมจีนถึงไม่ระเบิดเกาะแก่งที่ยังเป็นปัญหาในแม่น้ำโขงตอนบนอีกตั้งหลายจุดแต่กลับมาสำรวจในช่วงตั้งแต่เชียงแสนไปถึงหลวงพระบาง ที่สำคัญคือทุกวันนี้แทบไม่มีเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่วิ่งมาเชียงแสน ส่วนใหญ่เป็นแค่เรือพาณิชย์ 200-300 ตัน ดังนั้นจึงไม่เข้าใจว่าการระเบิดเกาะแก่งเพื่อให้เรือขนาด 500 ตันผ่านนั้นเพื่ออะไร เพราะหากต้องการขนส่งสินค้าไปยังหลวงพระบางก็สามารถใช้เส้นทางรถไฟที่กำลังเริ่มลงมือก่อสร้างได้

นางผกามาศกล่าวว่า ปัจจุบันการขนส่งสินค้าก็มีท่าเรืออยู่แล้วหลายแห่ง โดยเฉพาะทางเรือเชียงแสน หากจีนใช้เรือขนาด 500 ตัน นั่นหมายความว่าจะไม่ใช้ท่าเรือเชียงแสนอีกแล้วหรือไม่ และประเทศไทยจะได้ประโยชน์อย่างไร เรื่องนี้รัฐบาลไทยควรหารือกับจีนให้ชัดเจน

“โดยส่วนตัวแล้วมองว่ายังไม่มีความจำเป็นที่ต้องระเบิดแก่งหรือเปิดทางให้เรือขนาด 500 ตันเข้ามา เพราะทุกวันนี้ในหน้าน้ำเรือขนาดใหญ่ก็สามารถเข้าไปถึงเชียงของได้ และเรื่องนี้แทบไม่มีผลต่อการท่องเที่ยวเลย เพราะเรือท่องเที่ยวกินน้ำแค่ 80 เซนติเมตร จะระเบิดแก่งหรือไม่ ก็ไม่มีผล ในทางตรงกันข้าม หากปล่อยให้เรือขนาดใหญ่เข้าไปแล่น จะส่งผลต่อความปลอดภัยของเรือเล็กเรือน้อยที่ชาวบ้านใช้กันอยู่เพราะคลื่นขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นจะกระแทกเรือ”นางผกามาศ กล่าว

นายอภิสม อินทรลาวัณย์ นักวิชาการจากสถาบันการศึกษาและจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย กล่าวว่าการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงย่อมส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์แน่นอน เช่นเดียวกับการสร้างเขื่อนที่ส่งผลต่อตะกอน ทำให้ปริมาณปลาในแม่น้ำโขงลดลง ดังนั้นควรหาทางเลือกอื่นดีกว่า








ที่มา FB

Thapanee Ietsrichai