วันจันทร์, มกราคม 09, 2560

'ผมไม่ใช่เพื่อนไผ่' : การชูสามนิ้วต่อหน้า พลเอกประยุทธ์ คือ การท้าทายที่องอาจที่สุดในยุค คสช. เท่านี้ผมก็นับถือไผ่แล้ว - บุญเลิศ วิเศษปรีชา




ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ New Democracy Movement - NDM

'ผมไม่ใช่เพื่อนไผ่' บทความโดย บุญเลิศ วิเศษปรีชา

Mon, 2017-01-09 14:07


บุญเลิศ วิเศษปรีชา
ที่มา ประชาไท

ผมไม่รู้จักไผ่ ดาวดิน หรือ นายจตุภัทร บุญภัทรรักษา นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นการส่วนตัว

ผมรู้จักเขาผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ และรู้ว่า เขาเป็นนักศึกษาที่ร่วมทุกข์กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการโครงการสัมปทานเหมืองแร่ และเคลื่อนไหวคัดค้านมาตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร

หลังการรัฐประหาร ไผ่ และเพื่อนกลุ่มดาวดิน เป็นกลุ่มแรกๆ ที่แสดงตัวไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร พวกเขาตระหนักว่า อำนาจเบ็ดเสร็จที่ปราศจากการตรวจสอบ เป็นอันตรายต่อคนเล็กคนน้อยในสังคม เพราะไม่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้รวมตัวส่งเสียงร้องทุกข์ในสิ่งที่พวกเขากำลังเผชิญ

การชูสามนิ้วต่อหน้า พลเอกประยุทธ์ คือ การท้าทายที่องอาจที่สุดในยุค คสช.

ถึงผมไม่ได้เป็นเพื่อนไผ่ และไม่รู้จักไผ่ เป็นการส่วนตัว แต่เท่านี้ผมก็นับถือไผ่แล้ว

หาคนหนุ่มสาวในยุคนี้ ที่สนใจทุกข์ร้อนของคนอื่น ได้ยากเต็มที ถ้าเราอยากเห็นสังคมที่คนรุ่นหนุ่มสาว ตระหนักถึงทุกข์ร้อนของคนร่วมสังคม ไม่ใช่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องส่วนตัว คนอย่างไผ่ คือคนที่เราต้องยกย่อง ไม่ใช่ซ้ำเติม

เรื่องของไผ่มาเป็นข่าวอีกครั้ง เมื่อปลายปีที่แล้ว เมื่อเขาถูกนายทหารท่านหนึ่งแจ้งข้อหากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อันเนื่องมาจากการแชร์ข่าว ที่รายงานโดยบีบีซีไทย ทราบกันว่า มีคนแชร์ข่าวนี้ นับพันคน แต่นอกจากไผ่แล้ว ไม่มีใครถูกแจ้งความดำเนินคดีแม้แต่คนเดียว ต้นตอของข่าวคือสำนักข่าวบีบีซีก็ไม่ถูกดำเนินคดี

จากข้อเท็จจริงแค่นี้ วิญญูชนผู้มีวิจารณญาณ ย่อมเห็นได้ไม่ยากว่า การดำเนินคดีกับไผ่ เหมือนเป็นการเลือกปฏิบัติชัดๆ เพื่อเล่นงานไม่ให้ไผ่เคลื่อนไหวทางการเมืองได้สะดวกมากกว่าที่จะปกป้องสถาบัน อย่างจริงจัง

หากจะปกป้องจริงจัง และเห็นว่าสิ่งที่ไผ่แชร์ มีแนวโน้มที่จะผิด ควรดำเนินการกับสำนักข่าวบีบีซีไทยก่อน แต่ก็ไม่ได้มีการดำเนินการ และคนอื่นๆ ที่แชร์อีกเป็นพันเล่า ถ้าการแชร์ผิดหนักร้ายแรงจริง ทำไมคนอีกนับพันไม่ผิดด้วย

ตรงกันข้าม ถ้าการแชร์นั้นไม่ผิด ต้นตอข่าวก็ไม่ถูกดำเนินคดี แล้ว ทำไมไผ่จึงต้องถูกดำเนินคดีคนเดียว ไผ่จึงไม่สมควรถูกดำเนินคดีตั้งแต่ต้น

ถ้าจะบอกว่า เราจำเป็นต้องให้คนทุกคนมีความเสมอหน้าเท่าเทียมต่อหน้ากฎหมาย ทำไมกฎหมายจึงบังคับใช้กับคนบางคน เรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องของไผ่ แต่เป็นเรื่องหลักประกันว่า ถ้ามันเกิดกับไผ่ได้ มันก็เกิดกับทุกๆ คนได้ มันจะมีกรณีที่เรื่องเดียวกัน คนอื่นทำไม่ผิด แต่มันผิดเฉพาะฉัน เราจะยอมให้กฎหมายมันมีเรดาร์ เลือกบังคับใช้เป็นบางคนอย่างนั้นหรือ ?

อย่างไรก็ดี ไผ่ก็ไปรายงานตัวตามหมายเรียก และยื่นบัญชีเงินสดประกันตัวเป็นเงินสี่แสนบาท ซึ่งเป็นไปตามหลักพื้นๆ ว่า ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะถูกตัดสินว่าผิด เราจึงเห็นกรณีที่แม้ศาลชั้นต้นจะตัดสินว่าผิดแล้ว ก็ยังให้ประกันตัวจำเลย นั่นก็เพราะว่า ถ้าเกิดไปจับเขาขังคุก ระหว่างไต่สวน เกิดศาลตัดสินภายหลังว่าไม่ผิด สิ่งที่เขาสูญเสียไประหว่างถูกขังระหว่างไต่สวนย่อมไม่อาจจะเรียกคืนได้

การจะไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหา ได้รับการประกันตัว จึงถูกจำกัดไว้ว่า เฉพาะกรณีที่จำเป็นเท่านั้น เช่น เกรงว่าจะหลบหนี เกรงว่าจะไปปั่นป่วนคุกคามพยานหลักฐาน หรืออื่นๆ เท่าที่จำเป็น ซึ่งไผ่ก็ไม่อยู่ในข่ายนั้นอยู่แล้ว

เรื่องของไผ่มาเป็นประเด็นอีกที ก็เพราะไผ่ไปโพสต์เฟสบุ๊ก พาดพิงกรณี ที่ศาลจังหวัดพระโขนงที่ไม่ให้นักวิชาการใช้ตำแหน่งประกัน นักกิจกรรม 3 คนในคดีฉีกบัตรลงประชามติ เพราะไม่ใช่ญาติ และต้องให้ใช้เงินสดประกัน 3 คน คนละ สองแสนบาท

ไผ่ถูกเจ้าพนักงานที่ขอนแก่น ยื่นคำร้องขอถอนประกันว่า การโพสต์ของเขา เป็นการเย้ยหยันอำนาจรัฐ ศาลที่จังหวัดขอนแก่น เรื่อยมาจนถึงศาลฎีกา ก็เห็นด้วย ให้ถอนประกันไผ่ จนต้องกลับเข้าไปอยู่ในเรือนจำ

ผมนั้นเรียนจบปริญญาตรีประมง จบปริญญาเอกมานุษยวิทยา ไม่ได้เรียนเอกกฎหมายแต่อย่างใด แต่สมัยเรียนปริญญาตรี ผมมีโอกาสปรึกษากับนักฎหมายมหาชนชั้นนำคนหนึ่งของประเทศนี้อยู่เสมอ ปัจจุบันท่านเป็นหนึ่งในตุลาการสูงสุดในศาลปกครองสูงสุด ท่านสอนแก่นของหลักสิทธิเสรีภาพแก่ผม และผมยังจำได้มาจนทุกวันนี้ นั่นคือ


ตามหลักสิทธิและเสรีภาพ ประชาชนสามารถทำอะไรก็ได้เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้ และการบัญญัติห้ามนั้นต้องชัดแจ้ง ให้รู้กันว่า เรื่องนั้นเรื่องนี้ห้ามทำ ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐ จะใช้อำนาจทำอะไรได้ ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจให้ทำได้ เพราะก่อนจะออกกฎหมายต้องไปผ่านสภา แปลว่า สภาผู้แทนจากประชาชน นั้นอนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ เพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม เราจึงได้ยินสำนวน ตามประกาศต่างๆของรัฐว่า อาศัยความตามมาตรา.......ของพ.ร.บ. จึงสั่งให้ ...... 



กรณีของไผ่นั้น ผมไม่เห็นว่า การที่ไผ่โพสต์ข้อความเกี่ยวกับคดีที่ศาลพระโขนงนั้น ผิดกับกฎหมายข้อใด และในเงื่อนไขการประกันตัวของไผ่ ก็ไม่ได้บอกว่า ไผ่ห้ามเย้ยหยันอำนาจรัฐ มิเช่นนั้น จะถูกถอนประกัน เมื่อไม่ได้ห้าม และถึงแม้จะห้าม ผมก็เข้าใจว่า ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจให้ตั้งเงื่อนไขเช่นนี้ได้

ดังนั้น ในความเห็นของผม ที่ไม่ได้เป็นเพื่อนของไผ่ ผมคิดว่า ไผ่ไม่ควรถูกถอนประกัน เขาไม่ได้ทำในสิ่งที่ถูกห้าม เขาจึงไม่ได้ทำผิด

อย่างไรก็ดี ผมไม่ใช่นักฎหมาย ผมได้แต่หวังว่า นักกฎหมาย นักวิชาการทางด้านกฎหมาย ผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย จะไม่อยู่นิ่งเฉย และจะต่อสู้ ช่วยกันเขียน ช่วยกันพูด เพื่อไม่ให้หลักการพื้นฐานทางกฎหมายนี้ถูกละเมิด มิเช่นนั้น เราคงไม่ต้องเรียนหลักการปกครองด้วยกฎหมายกันอีกแล้ว

ถ้ากฎหมายถูกเลือกปฏิบัติกับไผ่ได้ มันก็จะสามารถถูกเลือกปฏิบัติได้กับทุกคน มันจึงไม่ใช่แค่เรื่องของไผ่ มันจึงเป็นเรื่องที่คุกคามทุกคน

ถึง ไผ่ไม่ใช่เพื่อนผม ผมก็เห็นว่า เขาไม่ควรถูกจองจำ

ไผ่ควรมีอิสรภาพ ในระหว่างต่อสู้คดี.


เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
พ่อไผ่ ดาวดิน-ทนายโวยศาลขอนแก่น สั่งฝากขังผัด 3 มิชอบด้วยกฎหมาย เล็งร้องคณะกรรมการตุลาการ
‘ไผ่’ ไม่ได้ออกไปสอบ ศาลฏีกาให้คำสั่งศาลอุทธรณ์ไม่ปล่อยเป็นที่สุด ขณะศาลขอนแก่นให้ฝากขัง-ไม่ให้ประกันอีก
ราชทัณฑ์เพิ่มมาตรการตรวจทวารหนัก ไผ่ ดาวดิน อ้างกลัวนำเข้ายาเสพติด-ศาลอนุมัติฝากขังผัด 4

ooo

“มีคนแชร์ข่าวนี้ นับพันคน แต่นอกจาก “ไผ่” แล้ว ไม่มีใครถูกแจ้งความดำเนินคดีแม้แต่คนเดียว ต้นตอของข่าวคือสำนักข่าวบีบีซีก็ไม่ถูกดำเนินคดี จากข้อเท็จจริงแค่นี้ วิญญูชนผู้มีวิจารณญาณ ย่อมเห็นได้ไม่ยากว่า การดำเนินคดีกับไผ่ เหมือนเป็นการเลือกปฏิบัติชัดๆ เพื่อเล่นงานไม่ให้ “ไผ่” เคลื่อนไหวทางการเมืองได้สะดวกมากกว่าที่จะปกป้องสถาบัน อย่างจริงจัง”


เห็นด้วยครับ เจตนาคือต้องการกำจัดคนที่เห็นต่างทางการเมืองเพียงคนเดียว แต่ศาลจะเห็นหรือไม่? #แค่จุดเทียนยังงอน #ปล่อยไผ่



Pipob Udomittipong