วันศุกร์, มกราคม 13, 2560

ความไม่ค่อยคล้องจอง ?





ดูท่า คสช. กับพระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่จะไม่ค่อย coherent คล้องจองเท่าไหร่ โดยเฉพาะตั้งแต่ปีใหม่มานี่มีสองเรื่อง

นี่ไม่ได้พูดในบริบทของความแตกต่างระหว่างคนรัก ร.๙ กับ ร.๑๐ หรอกนะ (ตามภาพเหตุการณ์เมื่อปี ๕๕)






หนึ่งนั้นจากการที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. (เป็นมาเกือบสามปี ตอนนี้คนชอบเรียกกันว่า นายกฯ) นำพระราชหัตถ์เลขาของในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ออกมาแสดงต่อสาธารณชนเพื่อแสดงว่า

“ทรงรับสั่งห่วงใยประชาชนที่เดือดร้อนจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้” หากแต่ลายพระหัตถ์ซึ่งไม่ยาวนัก มีรอยขีดฆ่าอยู่บางตอน อันสรุปความได้ว่า

“ด้วยความรักและห่วงใยขอเป็นกำลังใจในการร่วมกันฟื้นฟูและพัฒนาเพื่อขวัญที่ดีจิตใจและร่างกายที่เข้มแข็งนำมาซึ่งความสุขและมั่นคงของชาติ”

(https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_180873)

ประหนึ่งจะต้องการแสดงถึงความถ่องแท้ ‘genuine’ หรือไม่ก็เป็นความสะเพร่าในหมู่ราชเลขาฯ มิได้จัดการพิมพ์ใหม่ หรือไม่การถ่ายทอดพระราชประสงค์โดย คสช. นี่ก็สุกเอาเผากิน หรือเป็นการเร่งรัดตามพระราชอัชฌาสัย ‘casual style’ ของพระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่

หรือจะเป็นอะไรได้อีกหลายๆ อย่างสุดแต่จะคาดเดากันไป เพราะในประเทดไตแลนเดีย เรื่องเกี่ยวกับราชวงศ์มักจะลี้ลับซับซ้อนอยู่แล้ว แม้จะเป็นเรื่องเล็กเรื่องน้อยอย่างนี้ก็เถอะ

ซึ่งก็ยังมีเรื่องเล็กน้อยที่ใหญ่กว่า อันชี้ให้เห็นเหตุการณ์ incoherence ไม่ค่อยคล้องจองเกิดขึ้นเมื่อ นายกฯ คนเดียวกันนี้แหละออกมาแจ้งว่า พระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชประสงค์ ‘ลงมา’ ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องผ่านกระบวนการเป็นขั้นตอนแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทุกครั้งที่เสด็จออกนอกราชอาณาจักร

ปรากฏว่านิตยสาร ‘ดิเอคอนอมิสท์’ นำไปรายงานในบทความชื่อ ‘Return to sender’ ฉบับประจำวันที่ ๑๔ มกราคมนี้ตอนหนึ่งว่า

“ประชาชนไทยเฝ้ามองสัญญานแห่งการกระทบกระทั่งระหว่างกองทัพกับสถาบันกษัตริย์ สองแหล่งพลังอำนาจยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศ นับตั้งแต่การสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ พระราชบิดาผู้ทรงราชย์ยาวนานของพระเจ้าอยู่หัววชิราลงกรณ์”





ทว่า “รัฐบาลฮุนต้าจะจัดการเปลี่ยนแปลงตามพระราชประสงค์ภายในสองสามเดือนนี้ และบทบัญญัติที่เปลี่ยนใหม่ไม่ต้องนำมาให้ลงประชามติกันอีกครั้ง แต่นี่ก็ทำให้เห็นได้ว่าเป็นเรื่องเซอร์ไพร้ส์”

ทั้งนี้ The Economist แจงว่า “แม้นว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจในการยับยั้งร่างรัฐธรรมนูญ ตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่พวกนายพลที่ยึดอำนาจเขียนกันขึ้นเอง พระราชวินิจฉัยในการที่ทรงเข้าไปแทรกแซงโดยตรง เป็นสิ่งที่ไม่คาดหมายมาก่อน”

บทความซึ่งจั่วหัวเรื่องว่า “พระมหากษัตริย์องค์ใหม่ทรงไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญที่คณะทหารนำขึ้นถวาย แต่ว่าเป็นการปฏิเสธด้วยเหตุผลคนละเรื่องโดยไม่ถูกต้อง” วิเคราะห์วิจารณ์ต่อไปด้วยว่า

“รัฐธรรมนูญชั่วคราวอันนี้กำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจยับยั้งร่างรัฐธรรมนูญได้ทั้งฉบับก็จริงอยู่ แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นไปมิได้ที่จะเปิดช่องให้ทรงขีดฆ่าออกบางตอนเท่านั้นที่ไม่พอพระราชหฤทัย”

(http://www.economist.com/…/21714298-all-wrong-reasons-thail…)

เมื่อวานนี้ทั่นนายกฯ เกิดอาการ ‘ฉุน’ พวกสื่อและนักข่าวอีก ที่ไปเขียนข่าวว่า “ทรงมีรับสั่งลงมา” อย่างนั้น

“ประยุทธ์พยายามอธิบายแบบข้างๆ คูๆ ว่า ไม่ใช่เป็นรับสั่งให้แก้ของกษัตริย์ใหม่” Somsak Jeamteerasakul อ้างข่าวของ ‘นิวส์พลัส’ จากนี่ http://www.newsplus.co.th/121320





“เป็นเรื่องสำคัญ ขออย่าไปลงข่าวแบบนั้นผมเห็นข่าวมาแล้วไม่สบายใจ #ไปลงว่าทรงรับสั่งแก้ไข มีที่ไหน ใครไปลงแบบนั้น ผมพูดเหรอครับ เขียนข่าวแบบนี้มันเสียหาย เขียนเอามันส์ได้อย่างไร

ไปเปิดดูเอาแล้วกัน ผมบอกว่าผมรับหนังสือลงมา #ไปเขียนยังไงว่าทรงรับสั่งให้แก้ไขมันไม่ใช่ การทำงานข้างล่างก็ทำงานแบบนี้ ข้างบนก็มีคณะทำงานส่วนพระองค์ของพระองค์ท่านอยู่ เมื่อมีการพิจารณาแล้วถวายพระองค์ท่าน แล้วส่งกลับลงมา ผมก็ดำเนินการตามนั้น

พยายามนำมาเกี่ยวกันอยู่ได้ แล้วทำให้คนนำไปบิดเบือน ขอร้องก็แล้วกันให้รู้จักบ้างว่าอะไรตรงไหน”

สศจ. ยังโพสต์ถึงเบื้องหลังเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ‘ประยุทธ์ฉุน’ (บางคนเอาไปตั้งฉายา ‘จ่าฉุน’ นึกแทบตายใครหว่า) อีกว่า

“ผมพูดว่า ท่านทรงรับสั่ง #การรับสั่งดังกล่าวนั้นหมายถึงการรับสั่งผ่านองคมนตรี ไม่ใช่รับสั่งลงมา ไปลงข่าวได้อย่างไร มันเสียหาย”

ก็มิอาจทราบได้เหมือนกัลล์ละ ว่ารับสั่งผ่านองคมนตรีกับรับสั่งลงมาตรงๆ มันต่างกันแค่ไหน และเสียหายตรงไหน

นี่ละมังทำให้ประยุทธ์ชูพระราชหัตถ์เลขาต่อหน้าสื่อมวลชนทั้งดุ้น จนถ่ายรูปออกมาเห็นแจ้งว่าลายพระหัตถ์เขียนและขีดว่าอย่างไร