วันอังคาร, มกราคม 10, 2560

ปรองดองสปท. เปิดช่อง ‘คนอยู่ต่างประเทศ’ มาสู้คดีการเมือง-ให้ประกันตัวชั่วคราว





รายงานปรองดองสปท. เปิดช่อง ‘คนอยู่ต่างประเทศ’ มาสู้คดีการเมือง-ให้ประกันตัวชั่วคราว

วันที่ 9 มกราคม 2560
ที่มา ข่าวสดออนไลน์


เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธาน ได้เตรียมนำเสนอรายงานเรื่อง การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดอง จำนวน 10 หน้ากระดาษ ช่วงแรกได้ระบุถึงสภาพปัญหา ว่า สถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่มีมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานนับ 10 ปี นั้น มีสาเหตุหลักที่เกิดจากจากความขัดแย้งทางการเมือง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทางสังคมและกระบวนการ ยุติธรรม แต่เมื่อเจาะลึกลงไปเฉพาะความขัดแย้งทางการเมือง ได้พบว่าสาเหตุความขัดแย้งที่นำพาให้สังคมไทย มาสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อและเกิดการเผชิญหน้าอย่างรุนแรง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ถึง พ.ศ. 2557 คือ ความขัดแย้งระหว่างนักการเมืองหรือนักการเมืองเป็นฝ่ายที่ก่อให้เกิดขึ้นเป็นส่วนใหญ่ที่เป็นตัวเริ่มต้นของ ความแตกแยกและความขัดแย้งของคนในชาติ อันเนื่องมาจากความต้องการแสวงหาอำนาจและแสวงหา ผลประโยชน์จากกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งการแข่งขันช่วงชิงอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินที่ผ่านมา ทำให้นักการเมืองของแต่ละพรรคการเมืองไม่อาจแสวงหาจุดร่วมกันได้ด้วยการออมชอมหรือการประนีประนอมกัน

ในร่างรายงานฉบับนี้ มีข้อเสนอมาตรการแก้ปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมืองและสร้างความปรองดอง โดยจำแนกการแก้ปัญหาออกเป็น 3 ระดับ ระยะแรก ปัญหาทางการเมืองที่ผ่านมา ซึ่งเนื้อหาอ้างอิงไปถึงต้นเหตุของความขัดแย้ง ระยะที่สอง ปัญหาการเมืองในปัจจุบันนั้น ในรายงานเสนอให้มีการปฏิรูปให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้งหลายด้าน อาทิ การสร้างความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองอย่างยั่งยืน ให้มีการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆเพื่อฟื้นฟูและสร้างประเทศให้เจริญรุ่งเรือง ประชาชนมีความผาสุก ให้กระบวนการยุติธรรมเกิดความเชื่อมั่นต่อการให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ที่น่าสนใจคือหัวข้อ 2.5 ที่ระบุถึงการแก้ปัญหาคนที่ต้องคดีในช่วงวิกฤติการเมืองที่ผ่านมา โดยแยกออกเป็น (1) มาตรการแก้ปัญหาต่อกลุ่มแกนนำผู้สั่งการและฝ่ายประชาชน (2) ใช้มาตรการทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ต่อผู้ชุมนุมทาง การเมือง โดยหลักการของการให้โอกาส

“(3) ให้โอกาสผู้ถูกล่าวหาทางอาญาที่เกี่ยวกับการเมืองและยังหลบหนีอยู่ในประเทศและอยู่ต่างประเทศ โดยให้ได้กลับเข้ามาประเทศไทย พร้อมให้มีการใช้หลักทรัพย์ประกันตัว (ปล่อยตัวชั่วคราว) ไปต่อสู้คดีได้ทุกกรณี ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติไว้ (4) ส่วนคดีความที่ได้มีคำพิพากษาและคดีได้ถึงที่สุดไปแล้ว อันมิใช่คดี ที่เกี่ยวกับความมั่นคงตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 211 และมิใช่คดีที่เกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชัน ให้ชะลอการลงโทษไว้ก่อนและให้ปล่อยตัวไป โดยมีเงื่อนไขห้ามบุคคลดังกล่าวกระทำการใดๆที่เกี่ยวกับ การเมือง ไม่ว่าจะอยู่เบื้องหน้าหรือเบื้องหลังปัญหาการเมืองไทย” ข้อเสนอมาตรการแก้ปัญหาความขัดแย้งฯระบุไว้ตอนหนึ่ง

สำหรับระยะที่สาม ปัญหาการป้องกันมิให้เกิดความขัดแย้งการเมืองหรือความแตกแยกประชาชนในอนาคตก็น่าสนใจโดยอ้างอิงไปถึงพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ให้มีกฎหมายห้ามมิให้มีการกระทำยั่วยุ ปลุกปั่น หรือปลุกระดมให้ประชาชนเกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังต่อกัน พร้อมกับให้รัฐกำหนดมาตรการ ป้องกันมิให้การใช้สื่อสาธารณะไปปลุกปั่น ปลุกระดมยั่วยุ หรือสร้างความแตกแยกให้กับประชาชน ผู้ใดกระทำผิดให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากผู้กระทำผิดเป็นนักการเมือง หรือมีการกระทำโดยมีเป้าหมายทางการเมือง นอกจากนะเป็นความผิดและมีโทษแล้ว ให้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองมีกำหนดโทษ 10 ปี หรือตลอดชีวิต

ในคดีทางการเมือง โดยที่บุคคลที่ถูกดำเนินคดีและคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในศาล แบ่งบุคคลผู้ถูกดำเนินคดีออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ บุคคลที่เป็นแกนนำหรือผู้สั่งการ และบุคคลที่มิได้ เป็นแกนนำคดีทางการเมือง โดยนิยามความเป็นแกนนำ ได้แก่ บุคคลที่แสดงตนและเป็นผู้นำในการเรียกร้องทางการเมือง ปลุกระดม หรือเป็นผู้นำในการกระทำกิจกรรมหรือการกระทำทางการเมืองจนถูกดำเนินคดีดังกล่าว รวมถึง ผู้สั่งการด้วย และหากบุคคลใดโต้แย้งว่ามิได้เป็นแกนนำหรือมิได้เป็นผู้สั่งการ ให้ศาลชั้นต้นที่มีอำนาจไต่สวนฯ และมีคำสั่งว่าบุคคลดังกล่าวเป็นแกนนำหรือเป็นผู้สั่งการหรือไม่ คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวให้เป็นที่สุด

นอกจากนี้ในคดีที่แกนนำหรือผู้สั่งการถูกดำเนินคดี หากเป็นความผิดอาญาร้ายแรง ก็ให้ศาลดำเนินคดีกับแกนนำหรือผู้สั่งการนั้นตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป คดีความผิดอาญาร้ายแรง หมายความถึง คดีความผิดทางอาญาที่กฎหมายกำหนดอัตรา โทษไว้ให้จำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป จำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต คดีความผิดอาญาไม่ร้ายแรงหมายความรวมถึงคดีข้อหากบฏ ที่เกิดจากความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างในการชุมนุม ให้ถือว่าเป็นความผิดอาญาที่ไม่ร้ายแรง คดีที่กระทำต่อสถานที่ราชการหรือสนามบินจากการชุมนุม ที่มิได้ก่อให้เกิดความ เสียหาย ที่มิได้มีการเผาบ้านหรือเผาสถานที่ราชการ ให้ถือว่าเป็นความผิดอาญาที่ไม่ร้ายแรง คดีที่ถูกกล่าวหาว่าก่อการร้าย แต่มิได้กระทำการใดที่เป็นความเสียหายที่เกิดจากการชุมนุม ให้ถือว่าเป็นความผิดอาญาที่ไม่ร้ายแรง คดีอาญาอื่น ๆ ที่เกิดจากการชุมนุม ที่มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการเสียชีวิต ให้ถือว่าเป็นความผิดอาญาที่ไม่ร้ายแรง

คดีอาญาอื่น ๆ ที่มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน ให้ถือว่าเป็น ความผิดอาญาที่ไม่ร้ายแรง แต่ไม่ว่าอย่างไร คดีตามข้างต้น ก็ห้ามมิให้บุคคลใดไปกระทำการใด ๆ ในลักษณะเช่นนี้อีกและหากพ้นจากข้อเสนอแนะนี้แล้ว การกระทำดังกล่าว ถือเป็นความผิดอาญาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ในคดีอาญาที่ร้ายแรง หากแกนนำผู้ถูกดำเนินคดีหรือผู้สั่งการ ได้กระทำการอันเป็น การลุแก่โทษ ศาลอาจใช้ดุลพินิจให้โอกาสลงโทษจำเลยในสถานเบาได้ โดยห้ามมิให้บุคคลดังกล่าวไปกระทำการใดๆ

ในรายงานยังมีข้อห้าม มิให้รัฐหรือรัฐบาลสร้างกลุ่มสนับสนุนหรือสร้างม็อบ เพื่อการสนับสนุนรัฐบาล และหากมีกลุ่มชนใดมาแสดงการสนับสนุนรัฐบาล ให้รัฐบาลนั้นเข้าชี้แจงห้ามปรามมิให้มีการกระทำการ ดังกล่าวเกิดขึ้น หากรัฐบาลใดเพิกเฉยหรือรู้เห็นเป็นใจให้รัฐบาลนั้นพ้นจากตำแหน่ง และให้มีความผิด เช่นเดียวกับประชาชนที่กระทำความผิดทั่วไป หากมีกลุ่มประชาชนออกมาต่อต้านหรือเรียกร้องรัฐบาลในเรื่องใด ให้รัฐบาลตกลง เจรจาและทำความเข้าใจต่อกัน เพื่อให้รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ในกรณีเกิดมีกลุ่มประชาชนขัดแย้งกันเอง หรือเกิดการชุมนุมเรียกร้องจากฝ่ายใด ให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการเป็นคนกลาง เพื่อการแก้ปัญหาและหาทางออกร่วมกัน โดยห้ามฝ่ายใด กระทำการอันเป็นความรุนแรงหรือการทำให้ประชาชนทั่วไปได้รับความเดือดร้อนเสียหาย

พร้อมทั้งให้กำหนดจริยธรรมและคุณธรรมของนักการเมืองที่ห้ามมิให้มีพฤติกรรมในทางก้าวร้าว พูดจายุยงส่งเสริมสร้างความแตกแยกดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทบุคคลอื่น รวมทั้ง ให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยรวม การแสดงความคิดเห็นในทางการเมือง ควรต้องมีวิจารณ์ญาณที่รับผิดชอบต่อสังคม โดยรวม และต้องพูดแต่ความจริง

ขณะเดียวกันมีข้อเสนอไปถึงนักวิชาการและสื่อด้วย โดยให้นักวิชาการที่เสนอความเห็นหรือวิภาควิจารณ์ข้อเท็จจริงทางการเมือง ต้องกระทำการโดยสุจริต ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และให้คำนึงถึงผลการเรียนรู้และเป็นตัวอย่างที่ดีของนักเรียนนักศึกษา ให้สื่อมวลชนหรือคอลัมนิสต์ เสนอความเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ตาม ข้อเท็จจริง ไม่ใช่เสนอความเห็นตามแนวคิด อารมณ์และความเชื่อส่วนตัว รวมทั้งให้มีกฎหมายเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันมิให้มีการใช้สื่อสาธารณะไม่ว่าจะเป็นสื่อวิทยุ โทรทัศน์ เคเบิ้ลทีวี รวมถึงการสื่อสารที่ผ่านดาวเทียม หรือสื่อสารผ่านทางอินเตอร์เน็ตในรูปแบบต่าง ๆ ไปใน แนวทางต่อต้านหรือให้ร้ายทุก ๆ รัฐบาล กล่าวให้ร้ายสถาบันหรือหมิ่นประมาทบุคคลอื่นให้ได้รับความเสียหาย

อย่างไรก็ดีเนื้อหาในหัวข้อ ข้อเสนอแนะก็มีข้อเสนอหลายประการโยเฉพาะการเน้นย้ำแนวทางเพื่อให้เกิดความปรองดองและการให้โอกาสผู้ต้องคดีความ อันนำไปสู่ความรู้รักสามัคคี โดยคดีการเมืองที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (นักการเมือง) ถูกกล่าวหาหรือ ถูกดำเนินคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือที่เกี่ยวกับคดีทางการเมือง หรือ แสดงออกทางการเมือง รวมถึงผู้ที่หลบหนีคดีตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 หากบุคคลดังกล่าวกลับมามอบตัว หรือถูกดำเนินคดีตกเป็นจำเลยให้การยอรับต่อศาลว่าได้กระทำตามที่ ถูกกล่าวหาหรือตามถูกฟ้องคดีต่อศาล ก็ให้หยุดโทษหรือให้พักการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ก่อนเช่นกัน และ ให้ปล่อยตัวจำเลยไปชั่วคราวมีกำหนดเวลา 5 ปี หากในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว จำเลยมิได้ไปร่วมชุมนุมทาง การเมือง หรือมิได้กระทำความผิดอาญาใด ๆ ให้คดีดังกล่าวยุติลงเสมือนว่าบุคคลนั้นมิได้กระทำความผิด และ ให้ปล่อยตัวไปดำเนินชีวิตตามปกติ

สำหรับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด และอยู่ระหว่างการหลบหนี ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้มีมาตรการให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหากลับมามอบตัวเพื่อต่อสู้คดี โดยให้ได้รับ การประกันตัวได้ทุกคดีและให้คดีดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป หรือจะให้การยอมรับตามที่ถูกกล่าวหาหรือตามที่ถูกฟ้องคดีต่อศาล ก็ให้ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวให้กลับไป ดำเนินชีวิตตามปกติต่อไปเช่นกัน

ในช่วงท้ายยังมีข้อเสนอไปถึงผลการลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรก หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศบังคับใช้ให้พิจารณา (1) หากพรรคการเมืองพรรคใดได้คะแนนเสียงสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมากให้พรรคการเมืองดังกล่าวเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล (2) หากผลคะแนนเสียงของประชาชนไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมากในการ จัดตั้งรัฐบาลได้ ในการจัดตั้งรัฐบาลดังกล่าว ขอเสนอให้บุคคลที่สมาชิกรัฐสภาพิจารณาเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมให้มีการร่วมกันกับสองพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงข้างมากเป็นลำดับแรกและอาจร่วมกับพรรค การเมืองอื่น ร่วมกันจัดตั้งเป็นรัฐบาลแห่งชาติ โดยให้สมาชิกาสภาผู้แทนราษฎรในพรรคการเมืองที่มิได้เข้าร่วมการจัดตั้งรัฐบาล องค์กรอิสระ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และศาลมีหน้าที่สำคัญในการตรวจสอบการปฏิบัติ หน้าที่ของรัฐบาลที่มาจากการตั้งรัฐบาลแห่งชาติดังกล่าว โดยให้มีบทลงโทษที่รุนแรงต่อการประพฤติมิชอบ และทุจริตคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ

ส่วนมาตรการและวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดอง การรู้รัก สามัคคีข้างต้น สามารถดำเนินการได้โดยการให้มีกฎหมายเฉพาะโดยผ่านกระบวนการทางสภานิติบัญญัติ แห่งชาติ หรือจะใช้อำนาจตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา44 ก็สุดแต่คณะรัฐมนตรีและ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะพิจารณา