วันเสาร์, มกราคม 14, 2560

เปิดโรดแมปสู่การเลือกตั้ง หลังแก้ รธน. ชั่วคราว 57 พบเลือกตั้งไกลสุดไม่เกิน ต.ค. 61 - ประชาไท





เปิดโรดแมปสู่การเลือกตั้ง หลังแก้ รธน. ชั่วคราว 57 พบเลือกตั้งไกลสุดไม่เกิน ต.ค. 61

Sat, 2017-01-14 14:37
ที่มา ประชาไท


เปิดเส้นทางสู่การเลือกตั้ง จากปลายปากกา สู่ปลายปากกา พบโรดแมปหลังแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 เลือกตั้งห่างออกไปได้ไกลสุด 19 เดือน หรือไม่เกิน ต.ค. 61 แต่ยังสามารถย่นย่อระยะเวลาให้จัดเลือกตั้งเร็วขึ้นได้

สืบเนื่องกระแสข่าวเรื่องการเลือนการเลือกตั้งออกไปจากปลายปี 2560 และการออกมาให้สัมภาษณ์ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ได้หารือกับองคมนตรีว่า ภายหลังทูลเกล้าฯร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ องคมนตรีได้นำขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว มีพระราชกระแสรับสั่งลงมา 3-4 รายการ แก้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จำเป็นต้องแก้ไขให้เป็นไปตามพระราชอำนาจพระองค์ท่าน สำนักราชเลขาธิการจึงทำเรื่องมาที่รัฐบาล รัฐบาลจึงรับสนองพระบรมราชโองการฯ จากนั้น ครม. และ คสช. ได้ประชุมร่วมกันจนได้มติว่า จะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 เพื่อเปิดช่องทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านการลงประชามติ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) จึงทำให้โรดแมปสู่การจัดการเลือกตั้งจำเป็นต้องขยับเวลาออกไปอีก

ประชาไทเปิดโรดแมปสู่การเลือกตั้ง หลังมีการประกาศรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้พิจารณาผ่าน 3 วาระรวดเมื่อวานนี้ (13 ม.ค.) (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) พบว่า หากนับจากวันที่นายกรัฐมนตรีของพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญคืนลงจากจากพระมหากษัตริย์ พร้อมกับคำแนะนำหรือข้อสังเกตที่ทรงเห็นว่าควรปรับแก้ไข การเลือกตั้งจะสามารถจัดได้ไม่เกินเดือน ต.ค. 2561 โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.ช่วงรอพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย ระยะเวลา 90 วัน

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2559 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามในร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านการลงประชามติ และนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นกราบบังคมทูลเกล้าฯ และนับจากวันที่ 8 เป็นต้นไป พระมหากษัตริย์ทรงมีระยะเวลาในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อลงพระปรมาภิไธยทั้งสิ้น 90 วัน ทั้งนี้กระบวนการต่างๆ ตามโรดแมปบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญจะเริ่มต้นได้หลังจากมีการลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้หากภายในวันที่ 6 ก.พ. 2560 พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญและพระราชทานคืนมาหรือเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน แล้วไม่ได้พระราชทานคืนมา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ ..) พ.ศ.... ที่คณะรัฐมนตรีและ คสช.เป็นผู้เสนอ และ สนช. ได้พิจารณาผ่าน 3 วาระ ในมาตรา 4 ระบุว่าให้ร่างนั้นตกไป

สำหรับหากมีกรณีที่พระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใดภายใน 90 วัน ให้นายกฯ ขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญนั้นคืนมา เพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นตามข้อสังเกตนั้น และประเด็นที่เกี่ยวเนื่อง และแก้ไขเพิ่มเติมคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกัน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายใหม่ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับพระราชทานคืนมาตามที่ขอ และจากนั้นพระมหากษัตริย์ทรงมีระยะเวลาในการลงพระปรมาภิไธยอีกไม่เกิน 90 วัน ทั้งนี้เมื่อนายกฯ นำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายและทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับได้ โดยให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

2.ช่วง กรธ.จัดทำร่าง พ.ร.ป. 10 ฉบับ ภายในระยะเวลา 8 เดือน

ในกรณีที่ร่างรัฐรัฐธรรมนูญได้รับการลงพระปรมาภิไธย แล้วพระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานกลับคืนมา เมื่อรัฐธรรมนูญได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายโดยการการเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา ตามมาตรา 267 ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านการลงประชามติ กำหนดให้ กรธ. จัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป) ทั้งสิ้น 10 ฉบับ ในระยะเวลา 240 วัน พ.ร.ป.ทั้งหมดประกอบด้วย

(1) พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

(2) พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

(3) พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง

(4) พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

(5) พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

(6) พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง

(7) พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน

(8) พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

(9) พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน

(10) พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

โดย พ.ร.ป. ทั้ง 10 ฉบับ อาจแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ (1)-(4) เป็นพ.ร.ป. ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ถ้าไม่มีกฎหมายทั้ง 4 ฉบับนี้การเลือกตั้งอาจจะจัดทำขึ้นไม่ได้ หรือได้โดยไม่มีกฎกติกาที่ระบุอย่างชัดเจน ส่วน (5)-(10) เป็นกฎหมายที่จะกำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบอำนาจรัฐ แม้ยังไม่มี (5)-(10) ก็จัดการเลือกตั้งได้

ทั้งนี้ใน มาตรา 268 กำหนดมีการให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา 267 (1) (2) (3) และ (4) มีผลใช้บังคับแล้ว”

ซึ่งหมายความว่า กรธ. สามารถเร่งจัดทำ พ.ร.ป หลักทั้ง 4 ฉบับให้เสร็จก่อนได้ เพื่อที่จะนำไปเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้พิจารณาและประกาศใช้ก่อน พ.ร.ป. ฉบับอื่นๆ เพื่อเดินหน้าสู่การเลือกตั้งต่อไปได้ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องรอให้มีการร่าง พ.ร.ป. ครบก่อนทั้ง 10 ฉบับ ทั้งนี้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาทาง กรธ. ได้เผยแพร่ร่าง พ.ร.ป.แล้วทั้งสิ้น 2 ฉบับคือ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงของการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อปรับปรุงแก้ไข ก่อนที่จะนำเสนอต่อ สนช. หลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

3.ช่วง สนช. พิจารณากฎหมาย เพื่อประกาศใช้ มีระยะเวลา 2 เดือนต่อหนึ่งฉบับ

ตามที่ได้ระบุไว้ในขั้นตอนของการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญโดย กรธ. แล้วว่า ในช่วงกรอบระยะเวลาทั้งสิ้น 240 วัน หรือ 8 เดือน หาก กรธ.จัดทำร่างกฎหมายฉบับใดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถนำเสนอต่อ สนช. เพื่อพิจารณาได้เลย โดยไม่ต้องรอให้มีการจัดทำครบทั้งสิ้น 10 ฉบับ แล้วส่งเพื่อพิจารณาพร้อมกัน

ฉะนั้นหากภายในระยะเวลา 1-2 เดือน หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ กรธ. สามารถจัดทำร่าง พ.ร.ป. หลัก ทั้ง 4 ฉบับจนเสร็จสิ้น ตามมาตรา 268 ก็จะสามารถยนย่อระยะเวลาที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งได้

ทั้งนี้เมื่อ ร่าง พ.ร.ป. ถูกส่งมายัง สนช. เพื่อพิจารณาบัญญัติเป็นกฎหมาย สนช. จะมีระยะเวลาทั้งสิ้น 2 เดือนต่อ 1 ฉบับในการพิจารณา โดยกรอบระยะเวลาสองเดือนเป็นกรอบเวลาที่ว่างไว้เพื่อเป็นกรอบกำหนดกว้าง ในทางปฏิบัติ สนช. ไม่จำเป็นตั้งใช้เวลานานถึง 2 เดือนในการพิจารณากฎหมายก็ได้ เช่นการแก้ไข มาตรา 7 ใน พ.ร.บ.สงฆ์ ซึ่ง สนช. มีความสามารถในการพิจารณา 3 วาระรวด ภายใน 1 วัน
4.ช่วงจัดการเลือกตั้งภายในระยะเวลา 5 เดือน

ภายหลังจาก สนช. พิจารณา พ.ร.ป.หลักทั้ง 4 ฉบับเสร็จสิ้น แล้วศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วว่าไม่ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ให้เตรียมการดำเนินการจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน นับจากวันที่ พ.ร.ป. หลักทั้ง 4 ฉบับประกาศใช้เป็นกฎหมาย

00000

ฉะนั้นเมื่อพิจารณาตามโรดแมปจะพบว่า หากพระมหากษัตริย์มีทรงพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญกลับคืนมา พร้อมกับข้อสังเกตที่เห็นว่าควรแก้ไข ระยะเวลานับจากวันที่พระราชทานร่างรัฐธรรมนูญกลับคืนมา เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม แล้วมุ่งไปสู่การจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และพิจารณาเป็นกฎหมาย เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง สามารถใช้เวลาได้ทั้งหมดไม่เกิน 19 เดือน หรือ 570 วัน และการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นไม่เกินเดือน ต.ค. 2561

ทั้งนี้ระยะเวลาทั้งหมด 570 วัน สามารถย่นย่อระยะเวลาลงได้ตามกระบวนการขั้นตอนต่างๆ เช่น การลงพระปรมาภิไธย การร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และการพิจารณากฎหมายของ สนช.


สำหรับสาระสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ในวันที่ 13 ม.ค. คือมาตรา 3 และมาตรา 4 ได้แก่

มาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้ เป็นวรรคสามของมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557

“ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง และเมื่อกรณีเป็นไปตามมาตรานี้แล้ว มิให้นำความในมาตรา 18 19 และ 20 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 มาใช้บังคับ”

ส่วนมาตรา 4 ให้ยกเลิกความในวรรคสิบเอ็ดของมาตรา 39/1 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 เดิม และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“เมื่อนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายตามวรรคเก้าประกอบกับวรรคสิบแล้ว หากมีกรณีที่พระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใดภายในเก้าสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญนั้นคืนมา เพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นตามข้อสังเกตนั้น และประเด็นที่เกี่ยวเนื่อง และแก้ไขเพิ่มเติมคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกัน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายใหม่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับพระราชทานคืนมาตามที่ขอ เมื่อนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายและทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับได้ โดยให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมและพระราชทานคืนมาหรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันที่นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแล้วมิได้พระราชทานคืนมาให้ร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นอันตกไป"