วันอังคาร, มกราคม 31, 2560

ทูต 4 ประเทศ เยือนขอนแก่น แสดงข้อกังวลต่อสิทธิในอีสาน




เอกอัครราชทูตประเทศออสเตรีย, ไอร์แลนด์, สวีเดน และนิวซีแลนด์ ประจำประเทสไทย เปิดโอกาสให้กับสื่อมวลชนจังหวัดขอนแก่นสัมภาษณ์ถึงประเด็นต่าง ๆ ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด


ทูต 4 ประเทศ เยือนขอนแก่น แสดงข้อกังวลต่อสิทธิในอีสาน


31/01/2017
ที่มา Isaan Record

ทูตสวีเดน กังวลสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในภาคอีสาน โดยเฉพาะปัญหาสิทธิที่ดิน เสนอให้ไทยพัฒนาแผนการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ด้านทูตนิวซีแลนด์และออสเตรียเชื่อในสิทธิพลเมืองและหลักนิติรัฐเป็นกุญแจสำคัญนำประเทศไทยสู่ประชาธิปไตย

ขอนแก่น – วานนี้ (30 มกราคม 60) เอกอัครราชทูตประเทศออสเตรีย ไอร์แลนด์ สวีเดน และนิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทย แสดงความกังวลต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยในภาคอีสาน โดยเฉพาะสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพในการแสดงออก ระบุยังติดตามสถานการณ์สิทธิของไทยในระดับรัฐบาลและเวทีสากลอย่างใกล้ชิด

นายสตัฟฟาน แฮร์สเตริม เอกอัครราชทูตสวีเดน ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาเรื่องสิทธิในที่ดิน ถือเป็นปัญหาหลักของภาคอีสานในตอนนี้ จึงเสนอให้ประเทศไทยพัฒนาแผนการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน และระบุว่า ในเวทีทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย หรือ Universal Periodic Review (UPR) ประเทศสวีเดนยังได้เสนอให้รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองให้มากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่ยอมรับคำแนะนำของประเทศสวีเดนในเรื่องสิทธิเสรีภาพการแสดงออกทางการเมือง แต่ยอมรับในคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดทำแผนระดับชาติสำหรับการทำธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับหลักการสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ทำการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย หรือ Universal Periodic Review (UPR) ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ซึ่งจัดทำภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council- HRC) โดยถือเป็นหนึ่งในกลไกที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้ง 192 ประเทศ ต้องทำการพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐไทยในการปกป้อง คุ้มครองสิทธิมนุษยชน

ด้าน นายเอนโน่ โดรเฟนิก เอกอัครราชทูตออสเตรีย ประจำประเทศไทย กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะเรื่องสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิทางการเมืองของพลเมือง ซึ่งได้ใช้เวลาในหารือปัญหาเหล่านี้กับผู้มีอำนาจในรัฐบาลหลายครั้ง แต่ไม่ขอเปิดเผยความเห็นเหล่านี้ต่อสาธารณชน

สำหรับ นายเบน คิง เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า นิวซีแลนด์และสหภาพยุโรปต่างมีคำแนะนำเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนต่อประเทศไทย เพราะไม่เพียงแค่สิทธิพลเมืองและการเมืองเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสิทธิทางสังคมและเศรษฐกิจที่ประเทศไทยควรให้ความสำคัญอีกด้วย

เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ กล่าวว่า สำหรับประเทศนิวซีแลนด์ มีจุดยืนในเรื่องหลักนิติรัฐ สิทธิมนุษยชน สิทธิพลเมืองและสิทธิการเมืองในระดับสากลเหมือนกับมิตรประเทศในสหภาพยุโรปมาหลายทศวรรษแล้ว ดังนั้นกระบวนการ UPR จึงถือเป็นวิธีการที่ดีสำหรับสังคมโลกที่จะทำงานติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนร่วมกัน

ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตประจำประเทศออสเตรีย, ไอร์แลนด์, สวีเดน และนิวซีแลนด์เปิดโอกาสให้กับสื่อมวลชนจังหวัดขอนแก่นสัมภาษณ์ถึงประเด็นต่าง ๆ ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด เมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา และเข้าพบหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งรวมถึงการเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้อำนวยการสถาบันความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำโขง และประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น เพื่อพูดคุยถึงความสัมพันธ์ทวิภาคีกับไทย