วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 08, 2559

ทำไมตั้งแต่มีการสอบ PISA มา คะแนนของประเทศไทยอยู่ในกลุ่มรั้งท้ายเช่นนี้มาตลอด





ที่มา FB

Pavich Tongroach


ผลการทดสอบ PISA วิชา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน ไทยอยู่ในกลุ่มรั้งท้าย ตามเคย

****************************

วันนี้ (6 พฤศจิกายน 2559) โครงการจัดสอบนักเรียนนานาชาติ PISA (Programme for International Students Assessment) ที่ดำเนินการโดย OECD (Organisation for Economic Cooperation and Development หรือ องค์การความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ) ประกาศผล PISA 2015 อย่างเป็นทางการ มีประเทศเข้าร่วมการทดสอบ 70 ประเทศและกลุ่มเศรษฐกิจ เป็นการทดสอบ วิทยาศาสตร์ การอ่าน และคณิตศาสตร์ ในเด็กอายุ 15 ปี ที่สุ่มตัวอย่างมา 540,000 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพ ความเท่าเทียม และประสิทธิภาพของระบบโรงเรียนในแต่ละประเทศ ซึ่งจะสะท้อนว่าคุณภาพของประชาชนที่จะเป็นกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในอนาคตเป็นอย่างไร

ผลการสอบคราวนี้ ซึ่งเน้นวิชาวิทยาศาสตร์ ปรากฎว่า สิงคโปร์ ขึ้นเป็นที่ 1 ของโลก ตามมาด้วยญี่ปุ่น เอสทัวเนีย ฟินแลนด์ และ แคนาดา

จีนเชี่ยงไฮ้ที่เคยได้อันดับ 1 แบบทิ้งห่างในการสอบเมื่อ 2 ครั้งที่ผ่านมา เมื่อปี 2009 และ 2012 ปีนี้เมื่อเอาคะแนนอีก 3 มณฑล (Beijing, Jiangsu, Guangdong) มาเฉลี่ยปรากฎว่าตกไปอยู่อันดับ 10

ที่น่าสนใจ คือ เวียดนามกระโดดขึ้นชั้นระดับโลกเป็นที่ 8

ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 55 (วิทยาศาสตร์ อันดับที่ 54 การอ่าน ที่ 57 คณิตศาสตร์ ที่ 54) โดยมีผลการทดสอบลดลงจากการสอบครั้งที่แล้ว (ปี 2012) ในทุกวิชา ได้แก่
##วิทยาศาสตร์ ได้ 422 คะแนน (ลดลง 23 คะแนน จากเดิม 444 *คะแนนเฉลี่ย OECD 493)
##การอ่าน ได้ 409 คะแนน (ลดลง 32 คะแนน จากเดิม 441 *คะแนนเฉลี่ย OECD 493)
##คณิตศาสตร์ ได้ 415 คะแนน (ลดลง 12 คะแนน จากเดิม 427 *คะแนนเฉลี่ย OECD 490)

ตั้งแต่มีการสอบ PISA มา คะแนนของประเทศไทยอยู่ในกลุ่มรั้งท้ายเช่นนี้มาตลอด สำหรับประเทศอื่นๆ ได้ใช้ผล PISA ไปเป็นประโยชน์ในการวางแผนการศึกษาของชาติ แต่ในส่วนของประเทศไทยไม่เคยมีแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาการศึกษาอย่างเบ็ดเสร็จ แม้ว่าจะมีตัวบ่งชี้นานาชาติที่สะท้อนความอ่อนแอให้เห็นอย่างชัดเจนซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ตาม

***********

ผลการสอบ PISA 2015 จะสอดคล้องกับผลการสอบ TIMSS ซึ่งเป็นการวัดความสามารถวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยมีนักเรียนจากประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วม เข้าสอบจำนวน 6 แสนคน ซึ่งปรากฏว่าคะแนนของประเทศไทยอยู่ในกลุ่มรั้งทัายเช่นเดียวกัน ทั้งยังสอดคล้องกับผลการวัดผลที่เราจัดสอบเอง เช่น ผลการสอบ ONET จึงเป็นการบ่งชี้อีกครั้งหนึ่งว่า ระบบการศึกษาของเรายังมีความอ่อนแออยู่มาก

ข้อเท็จจริงที่ว่าในการสอบ PISA ทุกครั้งที่ผ่านมาคะแนนของประเทศไทยไม่ได้ดีขึ้นกว่าเดิม ยิ่งไปกว่านั้นผลในปีนี้ยังกลับลดลงจากครั้งที่ผ่านมาอย่างมีนัยยะสำคัญ แสดงให้เห็นว่าระบบการศึกษาของเราไม่ได้มีพัฒนาการขึ้นมาแต่อย่างใด

ถ้าจะวิเคราะห์ถึงสาเหตุว่าคะแนนของเราทำไมจึงต่ำ

จากการวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่าน่าจะมีสาเหตุโดยตรงอยู่สองประเด็นใหญ่ๆ คือความรู้ที่มีอยู่ในระบบการศึกษาของเราน่าจะต่ำกว่ามาตรฐานโลก และวิธีการคิดของเด็กเราไม่สามารถคิดในเชิงวิเคราะห์และแก้ปัญหาได้ เพราะข้อสอบ PISA จะเป็นไปในแนวเช่นนั้น ซึ่งประเด็นนี้จะต่อเนื่องไปถึงวิธีการเรียนการสอนของครูด้วย ดังนั้นจึงควรต้องมีการปฏิรูปหลักสูตรอย่างจริงจัง ซึ่งหมายถึงเนื้อหาและวิธีการจัดการศึกษา และจะต้องต่อเนื่องไปถึงการรื้อระบบการผลิตครูด้วย

การที่เวียดนามมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาสูงระดับเทียบวัดกับประเทศชั้นนำได้ และได้คะแนนสูงเช่นนี้มาสองครั้งติดกันแล้ว เป็นประเด็นที่น่าสนใจและน่าติดตาม และจากการที่เวียดนามเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจของไทยที่ชัดเจนมากขึ้นทุกวัน ข้อมูลด้านการศึกษาเช่นนี้น่าจะต้องนำมาซึ่งความน่าวิตกสำหรับไทยด้วย เพราะข้อมูลเช่นนี้จะถูกนำไปวิเคราะห์ต่อไปในการวางแผนทางเศรษฐกิจในระดับนานาชาติ โดยที่ข้อมูลทางด้านการศึกษาเป็นตัวบ่งชี้ถึงคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ ในสายตาผู้ลงทุนจากต่างประเทศก็จะมองเห็นความเข้มแข็งและความอ่อนแอทางด้านนี้จากผลของการศึกษา วันนี้เวียดนามได้บอกแก่ชาวโลกว่ามีฐานของทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อพัฒนาการของโลก ดังนั้น อาจจะไม่เป็นที่น่าแปลกใจอีกต่อไปว่าทำไมในข่วงเวลาที่ผ่านมาเราจึงเห็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงหลายอย่างเริ่มย้ายฐานการผลิตจากประเทศไทยไปเวียดนาม

ถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องทำการปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง ด้วยการมองปัญหาให้ออกและชัดเจน และกำหนดยุทธศาสตร์ในการแก้ไขให้ถูกต้อง เท่าที่ผ่านมาแม้จะมีกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่ก็ยังไม่เห็นความชัดเจนในเรื่องเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น การสั่งลดเวลาเรียนโดยไม่ได้ไปปรับปรุงที่โครงสร้างของระบบการเรียนการสอนซึ่งมีหลักสูตรเป็นแกนหลัก นอกจากจะไม่ทำให้เกิดผลต่อระบบการเรียนรู้ในทางบวกแล้วยังกลับสร้างความเครียดและความสับสนขึ้นในระบบการศึกษาอีกด้วย ทั้งนี้ืนอกไปจากการปฏิรูปหลักสูตรและองค์ความรู้ในระบบ และการปฏิรูปครูอย่างจริงจัง แล้ว ยังจะเห็นว่าการศึกษาไทยมีปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย ตัวอย่างเช่น โครงสร้างของระบบริหารจัดการที่ไม่เอื้อให้เกิดความเข้มแข็งของโรงเรียน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ ทั้งนี้เพราะความเข้มแข็งของระบบการศึกษาที่แท้จริงจะต้องเกิดขึ้นที่โรงเรียน นี้เป็นเพียงตัวอย่างของปัญหาเท่านั้น

...

ไม่แปลกใจเลย ดูผู้บริหารกระทรวงแต่ละคนสิ ครูที่ไหน ทหารบ้าง หมอบ้าง
มิตรสหายท่านหนึ่ง