วันเสาร์, ธันวาคม 10, 2559

ออง ซาน ซู จี (เธอคือ) วีรสตรีหรือนางมารร้าย: ชำนาญ จันทร์เรือง

ข้อถกเถียงในวงสนทนาไม่ว่าสภากาแฟเล็กๆ ในชุมชนจนถึงเวทีระดับชาติทั่วโลกในปัจจุบัน ประเด็นหนึ่งก็คือประเด็นของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญาในพม่า ว่า ออง ซาน ซู จี ทำอะไรอยู่

และล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาออง ซาน ซู จี ออกมาตำหนิชาวโลกว่ามองปัญหานี้ด้านเดียว ทั้งที่มีการทำร้ายและสังหารเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซี่งได้สร้างความผิดหวังให้แก่นักปกป้องนักสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างยิ่ง เพราะเธอได้รับรางวัลจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอย่างมากมาย และที่สำคัญที่สุดก็คือเธอได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจ

ในฐานะผมติดตามเรื่องราวของ ออง ซาน ซู จี มาโดยตลอด ผมไม่ค่อยแปลกใจมากนักกับท่าทีของเธอเหตุผลที่ผมไม่ค่อยแปลกใจมากนักก็คือ เธอคือนักการเมือง เธอคือวีรสตรีของชาวพม่า เธอคือบุตรีของนายพลออง ซาน ที่ชาวพม่ายกย่องว่าเป็นวีรบุรุษเพื่ออิสรภาพของพม่าในการต่อสู้กับสหราชอาณาจักร์จนได้รับเอกราช

แต่เธอมิใช่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน แม้ว่าเธอจะได้รับรางวัลด้านนี้มามากมายก็ตาม แต่นั่นคือท่าทีของเธอในอดีต แต่เมื่อหันมาพิจารณาท่าทีของเธอในปัจจุบันจะพบว่าเธอไม่ได้มีคุณสมบัติเช่นว่านั้นเลย

คุณสมบัติของนักปกป้องมนุษยชนที่แท้จริงนั้น องค์การสหประชาชาติ (United Nations) โดยที่ประชุมใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2541 ได้มีมติให้มี “ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบของบุคคล กลุ่ม และหน่วยงานในสังคม เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน อันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล” หรือ “ปฏิญญาว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” (The Declaration on Human Rights Defenders) ซึ่งได้ให้คำจำกัดความถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนไว้ว่า

“ทุกคนมีสิทธิทั้งโดยปัจเจก และจากการสมาคมกับบุคคลอื่น ในการส่งเสริมและสนับสนุนการคุ้มครองและการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ” ซึ่งสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Office of the High Commissioner for Human Rights - OHCHR) ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า

ภารกิจของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมีอะไรบ้าง ดังต่อไปนี้
1) เป็นตัวแทนแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนให้แก่กลุ่มหรือบุคคล รวมทั้งส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รวมถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
2) รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน
3) ทำให้แน่ใจว่าผู้ละเมิดสิทธิได้รับโทษตามกระบวนการทางกฎหมาย
4) ให้การสนับสนุนผู้เสียหายที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน
5) สนับสนุนการพัฒนานโยบายของรัฐบาลด้านสิทธิมนุษยชน
6) สนับสนุนการปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน
7) สนับสนุนการอบรมและการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชน


ทั้งนี้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ยังได้เพิ่มเติมว่า

- แม้ว่าการเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจะไม่ต้องมีคุณสมบัติใดๆ เป็นพิเศษ เราทุกคนสามารถเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้ แต่ต้องคำนึงถึงหลักการที่ระบุไว้ในปฏิญญาว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนมีหน้าที่รับผิดชอบเฉกเช่นเดียวกับการมีสิทธิต่างๆ

- นักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องยอมรับหลักสิทธิมนุษยชนสากล จะเลือกปฏิบัติหรือปกป้องสิทธิใดสิทธิหนึ่งเป็นพิเศษและต่อต้านหรือไม่ยอมรับสิทธิด้านอื่นไม่ได้

- การถกเถียงที่สำคัญคือ การถกเถียงว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้ปกป้องสิทธิของผู้อื่นหรือไม่ จะไม่มีการถกเถียงว่าการกระทำนั้นถูกหรือผิด เช่น กลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เรียกร้องสิทธิให้กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนไม่ควรจะถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อรัฐเพียงเพราะพวกเขาต่อสู้เพื่อสิทธิของกลุ่มการเมืองที่มีความเห็นต่าง

- วิธีการเรียกร้องสิทธิต้องเป็นไปด้วยแนวทางสันติวิธี

นอกจากนั้นไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป (European Union), Protection International (PI), Frontline Defenders, Amnesty International หรือ Human Right Watch ต่างก็เห็นตรงกันก็คือสันติวิธีหรือการไม่ใช้ความรุนแรงว่าเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของการเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

แต่เมื่อหันมามองการแก้ปัญหาหรือท่าทีของ ออง ซาน ซู จี ต่อกรณีปัญหาโรฮิงญานี้ ออง ซาน ซู จี ไม่เคยยอมรับการดำรงอยู่ของโรฮิงญา เนื่องเพราะเธอมองเห็นประโยชน์ของคนพม่ามากกว่าความเป็นมนุษย์ของโรฮิงญา เพราะการที่เธอมาถึงวันนี้ได้ก็เพราะชาวพม่าสนับสนุนเธอหรือเลือกเธอเข้ามา แม้ว่าเธอจะไม่ได้เป็นประธานาธิบดีเนื่องด้วยเหตุของข้อห้ามรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่โดยพฤตินัยแล้วเธอคือประธานาธิบดีตัวจริง

นอกเหนือจากการที่เธอต้องเดินเกมการเมืองที่จะไม่ให้กระทบกับการสนับสนุนจากประชาชนที่เป็นฐานอำนาจของเธอแล้ว เธอยังต้องวางหมากที่จะไม่ให้กระทบกับกองทัพที่ถึงแม้ว่าจะดูเหมือนกลับเข้ากรมกองไปแล้วแต่แท้จริงแล้วยังพลังที่พร้อมจะกลับมาทุกเวลา

และที่สำคัญปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่กับชาวโรฮิงญาในปัจจุบันก็คือกองกำลังทหารนั่นเอง

ฉะนั้น หากจะตอบโจทย์ที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นว่าเธอคือวีรสตรีหรือนางมารร้ายก็ต้องอยู่ที่ว่าเราจะมองจากมุมไหน ถ้ามองจากมุมของการเป็นนักการเมือง การเป็นชาวพม่า การต่อสู้กับกองทัพพม่าจนประชาชนได้เลือกผู้นำเป็นของตนเองในปัจจุบัน แม้ว่าจะไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะยังติดขัดด้วยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่ทหารวางยาไว้ แน่นอนว่าเธอคือวีรสตรี

แต่หากมองจากมุมของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเธอคือนางมารร้าย เพราะเธอขาดคุณสมบัติสำคัญคือการไม่ยอมรับสถานะของความเป็นคนของชาวโรฮิงญา และนิ่งเฉยในการใช้ความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา ซึ่งรางวัลที่เธอได้รับในด้านสิทธิมนุษยชนทั้งหลายสมควรที่จะถูกเพิกถอนไปเสียให้สิ้น

สรุปสั้นๆว่า “เธอคือนักการเมืองมิใช่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน” นั่นเอง

-----------

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 7 ธันวาคม 2559