วันศุกร์, ธันวาคม 23, 2559

“ครั้งหนึ่งที่ผมเคยถูกช่างภาพระดับโลกรังแก” จากปากคำของช่างภาพหนุ่ม ถึงช่างภาพที่ “ขโมยรูปในหลวง ร.๙”






“ครั้งหนึ่งที่ผมเคยถูกช่างภาพระดับโลกรังแก” จากปากคำของช่างภาพหนุ่ม ถึงช่างภาพที่ “ขโมยรูปในหลวง ร.๙”


ที่มา MGR Online
22 ธันวาคม 2559




อ.ถวัลย์ ดัชนี ยอดศิลปินผู้ล่วงลับ (ภาพจากแฟ้ม)


ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรดี ... ช่างภาพที่ขโมยรูปในหลวง ร.๙ เคยก่อวีรกรรมถึงขั้นเด็กหนุ่มไฟแรงแทบหมดอนาคต เมื่อเขาเป็นคนไปเป่าหู อ.ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ ว่าไปลอกภาพเขามา แล้วอาจารย์ดันเชื่อ ทำเอาหมดศรัทธาอาจารย์ในบัดดล

เฟซบุ๊ก Bhanuwat Jittivuthikarn ของ นายภาณุวัฒน์ จิตติวุฒิการ ช่างภาพวัย 30 ปี ผู้คว้ารางวัลด้านภาพถ่ายมาแล้วมากมาย บอกเล่าเหตุการณ์ที่ครั้งหนึ่ง เคยถูกช่างภาพที่ขณะนี้ตกเป็นข่าวว่าแอบอ้างเป็นผู้ถ่ายภาพ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” เสด็จออกมหาสมาคม ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม ในงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี กระทั่งสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มีมติไล่ช่างภาพคนดังกล่าวพ้นสมาชิกภาพไปแล้ว โดยเขาถูกกล่าวหาจากช่างภาพคนดังกล่าวต่อหน้า อ.ถวัลย์ ดัชนี ว่าไปขโมยภาพ ทั้งๆ ที่เขาเป็นคนถ่ายเอง กระทั่งอาจารย์เมินผลงานของเขา และเขาหมดศรัทธาต่อศิลปินแห่งชาติผู้นี้ ที่ปัจจุบันได้ล่วงลับไปแล้ว โดยข้อความที่เขาโพสต์มีดังนี้


“ครั้งหนึ่งที่ผมเคยถูกช่างภาพระดับโลกรังแก

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2008 ผมเพิ่งเรียนจบมหาลัย กำลังเป็นเด็กหนุ่มไฟแรงที่ต้องการตามล่าความฝันของตัวเอง ผมโชคดีมากที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมทำ workshop ของเพาะช่าง เป็นเวทีที่ผมจะได้แสดงผลงานร่วมกับศิลปินแห่งชาติอย่าง อาจารย์ ถวัลย์ ดัชนีย์ และ อาจารย์ กมล ทัศนาญชลี แน่นอน ผมเลือกงานที่ดีที่สุดในชีวิตผมคือ งานชุด Diaspora Smile มานำเสนอ ในงาน workshop ส่วนใหญ่เป็น จิตกร และประติมากร มีเพียงผม และ ช่างภาพระดับโลก ชาวไทย มีมาในฐานะช่างภาพ (คนที่กำลังเป็นคดีว่าขโมยรูปในหลวงของคนอื่นมาเป็นของตัว) ในระหว่าง workshop อาจารย์ ถวัลย์ และอาจารย์ กมล ได้เดินชมงานพร้อมแนะนำศิลปินรุ่นน้อง พอมาถึงคิวผม ปรากฏว่า ช่างภาพระดับโลกผู้นี้ ก็เดินแทรกเข้ามาพร้อมกับ คำถามที่ทำให้ผมหน้าซีด

“น้องถ่ายเองรึเปล่า ?”

ช่างภาพระดับโลกถาม

“ครับถ่ายเองครับ” ผมตอบ

“ไม่น่าใช่นะ งานแบบนี้ ผมเคยเห็นช่างภาพต่างประเทศถ่าย คุณไปขโมยไฟล์เขามารึเปล่า”

ช่างภาพรุ่นใหญ่ พูดกับผมต่อหน้า อาจารย์ ถวัลย์

“ผมไปถ่ายมาที่ อินเดียครับ” ผมตอบยืนยัน

“น้องถ่ายเอง แต่ให้อีกคนจัดกล้องให้ใช่มั้ย”

คำถามของเขาทำให้อาจารย์ ถวัลย์ เดินผ่านงานผมไปโดยแถบไม่พูดอะไร สวนผมก็ฝันสลาย เหมือนโอกาสที่จะแจ้งเกิดในวงการศิลปะไทยดับไปในพริบตา

ผมคิดแล้วคิดอีกว่า ทำไมเข้าถึงทำกับผมเช่นนี้ เขาเป็นช่างภาพที่ประสบความสำเร็จแล้ว ส่วนผมมันแค่เด็กเพิ่งเรียนจบ ทำไมเขาต้องรังแกผมด้วย ?

“มันทำอย่างนี้เพราะงานมึงมีดีไง มันกลัวงานมึงเด่นกว่างานมัน” อาจารย์เพาะช่างตัวเล็กๆ คนหนึ่งเดินมาคุยกับผม

ในปีนั้น ผมส่งรูปชุดนี้เข้าประกวดรางวัลของ ปตท มีกรรมการท่านหนึ่ง บอกผมว่า งานผม ถูกคัดออก เพราะ อาจารย์ ถวัลย์ บอกว่า งานชุดนี้ ไปลอกช่างภาพต่างประเทศมา แสดงว่า อาจารย์ถวัลย์เชื่อช่างภาพคนนั้นมากกว่าผม ที่เป็นเจ้าของผลงาน หลังจากนั้น ผมหมดศรัทธาในตัวอาจารย์ถวัลย์ และไม่เคยเข้าหาแกอีกเลย

ผมท้อมาก แต่ด้วย ภาพชุดนี้มันเกี่ยวเนื่องกับการได้ช่วยผู้ลี้ภัยชาวธิเบต มันทำให้ผมคิดได้ ผมทำงานของผมไป ไม่ต้องเด่น ไม่ต้องดัง แต่มีศักดิ์ศรีเป็นพอ ผมภูมิใจที่งานชุดนี้ได้ช่วยทำให้ฝันของผู้ลี้ภัยชาวธิเบตในการเข้าเฝ้า องค์ทะไลลามะเป็นจริง งานชุดนี้ไม่เคยแสดงที่เมืองไทย เพราะผมรับไม่ได้หากเจอเหตุการณ์ข้างต้นอีก ลึกๆ แล้วผมยังเจ็บแค้นจากการกระทำของช่างภาพคนนั้นอยู่ ผมรู้สึกสะอิดสะเอียนทุกครั้งที่เห็นเขาในทีวี

แต่ผมรู้ว่ามันจะต้องมีวันนี้ วันที่คำกล่าวหาของเขาที่มีต่อผมมันจะทำลายเขาเอง ทุกวันนี้คนทั่ววงการถ่ายภาพรู้แล้วว่าคุณขโมยภาพคนอื่นมาเป็นของตัวเอง ทุกคนรู้แล้วว่าคุณโกหกลวงโลก จนถึงวันนี้ ผมอาจจะไม่ประสบความสำเร็จในการถ่ายภาพเท่าคุณ แต่ วันนี้แน่นอนแล้วว่าผมยังมีมีศักดิ์ศรีมากกว่าคุณ

ป.ล. ภาพของผมสี่ภาพที่ถูกกล่าวหาว่าขโมยงานคนอื่นมา

ขอขอบคุณทุกกำลังใจที่มอบให้นะครับ หากท่านใดสนใจข้อมูลเกี่ยวกับงานชุดนี้ สามารถเข้าไปชมได้ที่ เว็บนี้นะครับ http://diasporasmile.squarespace.com



อ่านประกอบ : แรงปรารถนาสะท้อนผ่าน “ใบหน้าผู้ลี้ภัยชาวทิเบต” ของ ภาณุวัฒน์ จิตติวุฒิการ