วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 08, 2559

สังคมแบบไหนที่การกดไลก์เป็นอาชญากรรม? คนใช้เฟซบุ๊กโดนด้วย! ตำรวจเริ่มมาตรการใหม่เรียกตัวคนกดไลก์-ติดตาม สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล




ที่มาภาพจาก pixabay

คนใช้เฟซบุ๊กโดนด้วย! ตำรวจเริ่มมาตรการใหม่เรียกตัวคนกดไลก์-ติดตาม สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล


Thu, 2016-12-08 15:32
ที่มา ประชาไท

หลังปรากฏการณ์ BBC Thai และไผ่ ดาวดิน ตำรวจเริ่มเรียกประชาชนธรรมดาผู้ใช้เฟซบุ๊กไป “ปรับทัศนคติ” บางกรณีบุกถึงบ้าน คุยครอบครัว ระบุชัดเพราะกดไลก์ติดตามเฟซบุ๊ก สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์-ผู้ลี้ภัย-นักวิเคราะห์การเมือง

เป็นข่าวครึกโครมสำหรับการดำเนินคดีกับจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน หนึ่งในสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 จากการแชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 ตามมาด้วยการให้สัมภาษณ์ของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ที่เน้นย้ำถึงการดำเนินการตามกฎหมายกับ BBC Thai

นอกเหนือจากนั้นยังมีปรากฏการณ์ “ดึงเพดานเสรีภาพต่ำ” ที่เกิดขึ้นอย่างเงียบๆ ในช่วง 5 วันที่ผ่านมา นั่นคือ การดำเนินการเรียกปรับทัศนคติประชาชนผู้ใช้เฟซบุ๊กที่เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าอาจกระทำการเข้าข่ายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ เท่าที่รวบรวมข้อมูลในปัจจุบัน พบว่ามี 6 รายที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียก โดยทั้งหมดมาจากกรณีกดติดตามหรือกดไลก์บางสเตตัสเฟซบุ๊กของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 4 ธ.ค. 2559

ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งชื่อ พิมพ์ (นามสมมติ) ซึ่งเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปอท. เพื่อเรียกเข้าไปพูดคุยปรับทัศนคติ โดยเจ้าหน้าที่ระบุสาเหตุว่า เนื่องจากพิมพ์ไปกดไลก์ กดแชร์โพสต์ที่หมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ พิมพ์ ระบุด้วยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบค้นที่อยู่ของตนเองมาล่วงหน้าและได้สอบถามกับตนเองว่าอยู่ตามที่อยู่นั้นจริงหรือไม่ เมื่อพิมพ์ระบุว่าอยู่ต่างจังหวัด เจ้าหน้าที่ได้ถามกลับมาว่าจะกลับเมื่อไร และเดินทางกลับมาอย่างไร ท่าทีดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้เธอรู้สึกเป็นกังวล และไม่สบายใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตนเองหรือไม่

“เราก็เป็นแค่คนหนึ่งที่สนใจการเมืองบ้าง แล้วพอดีมีข่าวกรณีบทความ BBC แล้วก็เห็นอาจารย์สมศักดิ์โพสต์เรื่องนี้ในเฟซบุ๊ก ปกติเราก็กดติดตามไว้ กดไลก์ไว้ แต่ไม่แชร์ ตั้งใจว่าหลังเลิกงานจะกลับมาอ่าน คืออยากรู้ไงว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง หลังจากนั้นประมาณ1-2 วัน ก็มีโทรศัพท์ โทรเข้ามาเลย เป็นผู้ชาย แนะนำตัวว่าโทรมาจาก ปอท. โทรมาบอกว่า ผมต้องการคุยกับคุณ เนื่องจากที่คุณมีการกดแชร์ กดไลก์ข้อความที่สุ่มเสี่ยง และหมิ่นเหม่”

“ทีนี้เราก็เริ่มรู้สึกว่า อะไรเนี่ย มันรู้สึกว่าเราไม่ปลอดภัยทันที หลังจากนั้นเขาก็ถามซักใหญ่เลยว่า ตอนนี้อยู่ที่ไหนอยู่กรุงเทพหรือเปล่า พอเราบอกว่าอยู่ต่างจังหวัด เขาก็ถามว่าจะกลับมาเมื่อไหร่ เขาต้องการเข้ามาคุยกับเราเพื่อให้เกิดความปรองดอง”

พิมพ์ เล่าด้วยว่าเจ้าหน้าที่พยายามหว่านล้อม และสร้างบรรยากาศในการการสนทนาให้ปลอดจากความกลัว โดยการพยายามบอกว่าตัวเองก็เป็น “คนเสื้อแดง” เหมือนกัน ทั้งที่พิมพ์เองไม่เคยนิยามตัวเองว่าเป็น “คนเสื้อแดง” และไม่เคยร่วมชุมนุมกับกลุ่มการเมืองใดๆ เลย จากความพยายามทำให้คู่สนทนารู้สึกปลอดภัยนั่นเองที่ทำให้เธอรู้สึกไม่ปลอดภัย เธอย้ำอีกครั้งว่า เจ้าหน้าที่พูดอยู่หลายครั้งว่า “ไม่ต้องกลัวนะไม่มีอะไร” ซึ่งเธอรู้สึกเหมือนกับว่านั่นเป็นคำพูดของผู้ใหญ่ที่เอาไว้ใช้หลอกเด็ก

“เราก็แค่กดไลก์ ปกติเราอ่านอะไรเราก็กดไลก์เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว และเราก็ติดตามอาจารย์สมศักดิ์ และ บก.ลายจุด ไม่รู้ว่าเพราะเรื่องนี้หรือเปล่า หรือว่าเกิดอะไรขึ้นอยู่ๆ ถึงมีคนโทรมาคุกคาม มาทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัย คือเราเป็นคนทั่วไป ไม่ได้รู้จักใครมาก ไม่มีเครือข่ายอะไร พอเกิดเรื่องก็นึกถึงอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ ก็เลยโทรไปบอกอาจารย์ก่อน ก็เลยได้มาคุยกับคนที่ทำงานด้านสิทธิหลังจากนั้น เรารู้สึกว่าเรายังโชคดีมากที่ยังพอมีคอนเน็คชั่น แล้วถ้าเป็นคนอื่นที่ไม่มีอะไรเลยเขาจะแย่แค่ไหน เขาจะทำอย่างไร จะคิดมาก จนเครียดขนาดไหน” พิมพ์กล่าว

พิมพ์ให้ข้อมูลอีกว่า เจ้าหน้าที่พยายามถามย้ำหลายครั้งว่า เธอจบจากธรรมศาสตร์หรือไม่ ซึ่งสำหรับเธอคิดว่าการเรียนจบจากที่ไหนไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ควรสนใจมากขนาดนั้น แต่เธอถูกถามคำถามดังกล่าวถึง 3 ครั้งตลอดบทสนทนา แม้ว่าเธอจะรู้สึกว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่เป็นการคุกคามอย่างหนึ่ง แต่เธอก็ยินดีไปพบเจ้าหน้าที่ตามที่ติดต่อมา โดยเจ้าหน้าที่ได้นัดพบกับเธออีกครั้งในเร็ววันนี้

ก่อนหน้ากรณีพิมพ์ 1 วัน สมศักดิ์แจ้งข่าวว่า เขาได้ข้อความจากเฟซบุ๊กที่แจ้งว่าโพสต์ของเขาเรื่องบทความใน BBC Thai เกี่ยวกับประวัติกษัตริย์องค์ใหม่ "looks like spam" คือ เหมือนจะเป็นสแปม พร้อมกับให้ยืนยันว่าโพสต์ดังกล่าวเป็นสแปมหรือไม่ แม้สมศักดิ์จะกดตอบไปว่า "ไม่ใช่สแปม" แต่เฟซบุ๊กกลับบล็อคกระทู้นั้นไปพร้อมกับมีข้อความว่า "ขอบคุณที่ feedback" สร้างความประหลาดใจให้เจ้าของโพสต์อย่างมาก ขณะเดียวกันแฟนคลับของเขาหลายรายก็เข้ามายืนยันว่าพวกเขาก็ไม่สามารถเข้าถึงโพสต์นั้นได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวตรวจสอบอีกครั้งในวันนี้ (8 ธ.ค. 59) พบว่าโพสต์ดังกล่าวของสมศักดิ์สามารถเข้าถึงได้ตามปกติแล้ว

ปรากฏการณ์เรียกปรับทัศนคติผู้ใช้เฟซบุ๊กในลักษณะเดียวกันยังมีเกิดขึ้นอีกในหลายพื้นที่ เช่น ในจังหวัดสุโขทัยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งเป็นเพศชาย อายุ 23 ปีมาสอบสวน หลังจากพบว่ามีการใช้เฟซบุ๊กไปกดติดตาม สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ ไผ่ ดาวดิน โดยเจ้าหน้าที่ได้ให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายดังกล่าวทำการคำขอขมาต่อ “การกระทำอันไม่เหมาะสม” ต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 และพระราชินี พร้อมทั้งยืนยันว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำอันรู้เท่าไม่ถึงการณ์และไม่ได้มีเจตนาคิดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยถือว่าเป็นการเสร็จสิ้นกระบวนการปรับทัศนคติ

ผู้สื่อข่าวได้รับการยืนยันข้อมูลอีกว่าด้วยว่า มีการเรียกพบในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นกับผู้ใช้เฟซบุ๊กอีกรายหนึ่ง เป็นเพศชาย อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร โดยเขาถูกเรียกตัวไปพบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กองปราบปราม หลังจากกดไลก์โพสต์สเตตัสของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล หลังเข้าพบหารือกับตำรวจเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ใจก็กลับออกมาโดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาแต่อย่างใด

นอกจากนี้ยังมีผู้ใช้เฟซบุ๊กอีก 2 รายในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และสมุทรปราการ ได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากกองปราบปรามว่ามีพฤติกรรมหมิ่นเหม่จากการกดไลก์สเตตัสของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และต้องการนัดวันเวลาในการเข้าพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งนี้แหล่งข่าวไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดในส่วนอื่นๆ

ขณะเดียวกัน ชนกนันท์ รวมทรัพย์ หรือ การ์ตูน หนึ่งในสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งขณะนี้กำลังเข้าอบรมกับภาคประชาสังคมในต่างประเทศให้ข้อมูลว่า หลังจากเกิดกรณีจับกุม ไผ่ ดาวดิน เธอได้โพสต์สเตตัสในเฟซบุ๊กโดยมีใจความสำคัญคือ ข้อเสนอให้มีการยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 และขอให้ยุติการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ โดยหลังจากที่เธอโพสต์สเตตัสดังกล่าวได้มีทหารไปพบกับครอบครัวของเธอที่อยู่ในไทย โดยบอกกับครอบครัวของเธอว่า เธอมีโอกาสที่จะถูกกักตัวที่สนามบินเมื่อเดินทางกลับมาประเทศไทย หรืออาจจะถูกกักตัวในขณะที่เดินทางไปขึ้นศาลในคดีส่องโกงราชภักดิ์ ในวันที่ 23 ธ.ค. 2559 เนื่องจากโพสต์ดังกล่าวมีลักษณะที่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

ทั้งนี้ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มีผู้กดติดตามประมาณ 286,000 ราย (16.00 น. 8 ธ.ค.) หลังมีข่าวการเรียกบุคคลเผยแพร่สู่สาธารณะราว 1 ชม.กว่า ปรากฏว่าผู้ติดตามลดลงเหลือ 283,400 ราย (17.20 น. 8 ธ.ค.)

หมายเหตุ มีการอัพเดทเนื้อหา (18.43 น.)


ooo
ความเห็นอ.สมศักดิ์ต่อข่าว...

มาตรการสิ้นคิด เพื่อปิดกั้นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกษัตริย์ใหม่

ความจริง วันสองวันนี้ ผมรู้สึก "อุ่นใจ" (เพราะมี "ป๋ามา") เลยนึกว่า จะกลับไปใช้เวลาอ่านหนังสือให้มากขึ้น และพยายามทำต้นฉบับบทความต่างๆและหนังสือที่ค้างไว้นานที่ไหนได้ เพิ่งเห็นข่าวนี้ http://www.prachatai.org/journal/2016/12/69155

ก็ได้แต่รู้สึกสังเวชนะ ตามรายงานของ "ประชาไท" นี้ มีผู้โดนเรียกหรือโดนตำรวจไป "เยี่ยม" 6 ราย อันเนื่องจากมาตามข่าวคราวที่ผมโพสต์เกี่ยวกับกษัตริย์องค์ใหม่


Somsak Jeamteerasakul

.....



IMPORTANT—The Thai junta's war on truth in the Rama X era is escalating. Thai authorities are harassing Facebook followers of exiled academic Somsak Jeamteerasakul, the most respected and widely followed critic of the military dictatorship.

I have a much smaller following than Ajarn Somsak, and I am considered less of a threat because I am less respected in Thailand and I post in English rather than Thai, but it is reasonable to assume that people commenting on my page are also at risk.

I have been concerned for a long time that this could happen, so several years ago I set my friends list and followers list on Facebook to private. So if you are my Facebook friend or follower, your identity remains protected. My other privacy settings are zero, so that anybody can read and comment on my Facebook page, even if you are not a FB friend or follower. You can read my page even if you don't have a Facebook profile at all. 

The junta's behaviour is a sign of extreme desperation. Prayuth is very afraid. He is bound to be overthrown sooner or later, but unfortunately many Thais will probably be jailed or killed as he fights for his survival. Please keep reading my page, and take part in the discussion if you can do so safely, but be smart and please don't put yourself at risk.

Everybody in Thailand should be using Tor by now, and concealing their Facebook identity, and taking other steps to protect themselves. If you are not doing this yet, please start. Things will get much worse before they get better.




ooo


ชวนอ่านบทความเมื่อ ปีที่แล้ว


สังคมแบบไหนที่การกดไลก์เป็นอาชญากรรม?




พนักงานสอบสวนนำตัวฐนกร ผู้ต้องหาคดีโพสต์แผนผังทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ฝากขังผลัดแรกที่ศาลทหาร ที่มาภาพ: http://m.manager.co.th/Crime/detail/9580000137045


Date: 21 ธันวาคม 2015
โดย สฤณี อาชวานันทกุล
Thai Publica


ผู้เขียนเพิ่งเขียนเรื่อง ““พัฒนาการ” ของการตีความ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์” (อ่านย้อนหลังได้จากหน้านี้) ไปเมื่อไม่ถึงสามเดือนก่อน น่าเศร้าที่ “พัฒนาการ” ดังกล่าวปรากฎเพียงสั้นๆ ประหนึ่งผีพุ่งไต้ที่สว่างวาบชั่วครู่ยามก่อนจะลับหายจากขอบฟ้า

ผู้เขียนกำลังพูดถึงกรณีที่คุณฐนกร ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายหนึ่ง ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 ทหารคุมตัวไปสอบปากคำหลายวันโดยไม่เปิดเผยสถานที่ และไม่อนุญาตให้ทนายความเข้าพบ

มูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง หรือเครือข่ายพลเมืองเน็ต (หมายเหตุ: ผู้เขียนปัจจุบันเป็นประธานกรรมการมูลนิธิ) สรุปกรณีดังกล่าวในแถลงการณ์ของเครือข่ายฯ เรื่อง “รัฐบาลต้องสนับสนุนการตรวจสอบของประชาชน” วันที่ 17 ธันวาคม 2558 (อ่านออนไลน์ได้จากเว็บเครือข่ายฯ) ตอนหนึ่งว่า

“…ฐนกรถูกแจ้งความดำเนินคดี …โดยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในฐานความผิด “นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ” ตามมาตรา 14 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, “ยุยงปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 และ “ดูหมิ่นกษัตริย์” ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา จากการกระทำ 3 เหตุการณ์ ได้แก่ “1. กดไลก์ [LIKE] รูปภาพในเฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาเป็นการดูหมิ่นสถาบันฯ 2. คัดลอกและแชร์รูปภาพประชดเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยงในเฟซบุ๊ก และ 3. คัดลอกและแชร์รูปภาพแผงผังเปิดโปงทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งเป็นการต่อต้านการทำงานของรัฐและปลุกปั่นยุยงให้เกิดความไม่สงบ”





ผู้เขียนเห็นด้วยกับจุดยืนของเครือข่ายพลเมืองเน็ต ดังแถลงการณ์ดังกล่าวว่า “แม้การเผยแพร่เนื้อหาที่เข้าข่าย “ยั่วยุปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 และ “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา อาจถูกศาลตัดสินให้เป็นความผิด แต่การแสดงออกถึงความรู้สึกต่อเนื้อหาดังกล่าว [เช่น การกดไลก์] ไม่มีฐานความผิดตามกฎหมาย อีกทั้งไม่ถือเป็นการสนับสนุน เพราะการสนับสนุนต้องเกิดขึ้นก่อนหรือเกิดขึ้นขณะที่กระทำความผิด และผู้สนับสนุนต้องมีการกระทำบางอย่างในการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการกระทำความผิด ซึ่งการกดไลก์นั้นไม่เข้าเงื่อนไขใดเลย”

ผู้เขียนคิดว่า ลำพัง “สามัญสำนึก” ก็บอกเราได้ว่าการกดไลก์ไม่น่าจะผิดกฎหมายอะไรเลย เพราะมันเป็นเพียงการแสดงความรู้สึกเท่านั้น ซึ่งความรู้สึกนี้บ่อยครั้งก็ไม่ใช่ “ถูกใจ” ด้วยซ้ำไป หลายคนอาจ “ไม่ถูกใจ” แต่เลือกที่จะกดไลก์เพจหรือข้อความนั้นๆ เพียงเพื่อจะได้กลับมาติดตาม (ทำให้ลิงก์เพจ/ข้อความยังเวียนวนอยู่ในฟีด (feed) หน้าจอ) หรือเป็นสัญญาณบอกผู้สร้างเพจ/ข้อความว่า “ฉันแวะมาแล้วนะ” บางคนไล่กดไลก์ดะข้อความของเพื่อนเพียงเพราะอยากให้กำลังใจ ไม่เคยกดเข้าไปอ่านด้วยซ้ำ ไม่นับเหตุผลอื่นๆ อีกร้อยแปดพันเก้า

ถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วทำไมเฟซบุ๊กจึงส่งข้อมูลการกดไลก์ของเราไปขึ้นหน้าฟีดของคนอื่น (คนที่เป็น ‘เพื่อน’ หรือเฟรนด์ของเราในเฟซบุ๊กบางทีจะเห็นข้อความ “X กดถูกใจ [ลิงก์ข้อความ]”) ทำไมไม่บอกให้เรารู้ว่าส่งไปที่ไหน และทำไมจึงไม่ให้เรามีสิทธิควบคุม – จะสั่งห้ามไม่ให้เฟซบุ๊กเผยแพร่กิจกรรมการกดไลก์ของเราก็ไม่ได้?

คำตอบคือ กิจกรรมของเราทุกคน โดยเฉพาะการกดไลก์และแชร์ คือหัวใจของโมเดลการหารายได้ของเฟซบุ๊ก สาเหตุหลักที่เราสามารถใช้บริการต่างๆ ของเฟซบุ๊กได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย คือ เฟซบุ๊กทำรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการขายพื้นที่โฆษณา และเอากิจกรรมของเราแต่ละคนไปเป็นส่วนหนึ่งของการโฆษณา

ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าเรากดไลก์แชมพูยี่ห้อหนึ่ง เฟซบุ๊กก็สามารถเก็บค่าโฆษณาจากบริษัทแชมพูเจ้านั้น ด้วยการขึ้นข้อความแจ้ง ‘เพื่อน’ เราบนเฟซบุ๊กว่า เรากดไลก์ยี่ห้อนี้แล้วนะ ราวกับมาสะกิดว่า “ดูสิ เพื่อนคุณในเฟซบุ๊กเขา “ถูกใจ” แชมพูยี่ห้อนี้นะ คุณก็น่าจะลองดูบ้าง”

การจัดลำดับเนื้อหาต่างๆ ที่เราแต่ละคนเห็นในฟีด (หน้าหลักเมื่อล็อกอินเข้ามา) แทบทั้งหมดเป็นผลลัพธ์จากการขายโฆษณาของเฟซบุ๊ก ซึ่งซอฟแวร์ก็ประมวลผลอัตโนมัติจากกิจกรรมการกดไลก์กดแชร์ของเราแต่ละคน

ดังนั้นเมื่อมองในแง่ธุรกิจ แน่นอนว่าเฟซบุ๊กย่อมไม่อยากให้เรามีอำนาจควบคุมการเผยแพร่ข้อเท็จจริงที่ว่าเรากดไลก์อะไรไปบ้าง เพราะมันจะทำให้โมเดลธุรกิจนี้ใช้การไม่ได้ – ถ้าเราและคนจำนวนมากสั่งปิด ไม่ให้ข้อมูลเรื่องการกดไลก์ไปขึ้นฟีดคนอื่น บริษัทห้างร้านต่างๆ ก็จะใช้ข้อมูลนี้ในการเอาเราไปโฆษณากับ ‘เพื่อน’ ของเราในเฟซบุ๊กไม่ได้

ในเมื่อกิจกรรมการกดไลก์ของเราเป็นส่วนหนึ่งของโมเดลการหารายได้ของเฟซบุ๊ก จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทุกครั้งที่เรากดไลก์ เฟซบุ๊กจะไปบอกให้ใครรับรู้บ้าง

นอกจากนี้ ผู้สร้างเนื้อหาที่เรากดไลก์ก็สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือลบเนื้อหานั้นๆ ได้ทุกเมื่อ โดยที่เราไม่รู้เรื่องด้วย (ซึ่งเรื่องนี้ก็มี “ดราม่า” ให้เห็นมาแล้วมากมาย อย่างเช่นกรณี “เพจดัก” ที่ตั้งชื่อเพจเก๋ๆ ดึงดูดความสนใจ ล่อหลอกให้คนมากดไลก์ พอมีคนไลก์ถึงหลักร้อยหรือหลักพันก็เปลี่ยนชื่อเพจ เปลี่ยนเนื้อหาเสียดื้อๆ)





บทความใน WIRED อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ใช้กดไลก์ทุกสิ่งที่ขวางหน้าเป็นเวลา 48 ชั่วโมงติดต่อกัน ที่มาภาพ: http://www.wired.com/2014/08/i-liked-everything-i-saw-on-facebook-for-two-days-heres-what-it-did-to-me/

ในเมื่อเราไม่รู้ว่ากดไลก์แล้วมันจะไปโผล่ที่ไหน สั่งเฟซบุ๊กให้เลิกเผยแพร่ก็ไม่ได้ ควบคุมเนื้อหาที่กดไลก์ก็ไม่ได้ เพราะเนื้อหานั้นสามารถถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อโดยผู้สร้าง การที่ตำรวจหรือใครจะอ้างว่า การกดไลก์อาจเป็นการแสดง “เจตนา” ที่จะเผยแพร่เนื้อหาที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย จึงเป็นการตีความแบบ “หลุดโลก” ชนิดที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ในสังคมสมัยใหม่ และเท่าที่ผู้เขียนค้นคว้า ก็ไม่พบว่ามีประเทศไหนตีความหลุดโลกแบบนี้

ถ้าจะอ้างว่า คนที่กดไลก์หรือโพสความคิดเห็นประกอบอาจผิดฐานเป็น “ผู้สนับสนุน” การกระทำความผิด ก็เป็นการอ้างแบบหลุดโลกไร้สาระเช่นกัน เพราะผู้สนับสนุนตามหลักกฎหมายอาญาจะต้องมี “การกระทำ” ที่ชัดเจนว่าเป็นการ “ช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวก” ให้แก่ผู้กระทำผิด เฉพาะ “ก่อนหรือขณะความผิดเกิด” เท่านั้น ขณะที่การกดไลก์หรือโพสความคิดเห็นย่อมเกิดขึ้นหลังจากที่เกิด “การกระทำความผิด” ไปแล้ว

“การกระทำความผิด” หมายถึงการลงมือโพสของผู้สร้างเนื้อหาคนแรก สิ่งที่ปรากฎออนไลน์ให้คนมากดไลก์ หรือโพสความเห็นประกอบในเวลาต่อมา เป็นเพียง “ภาพบันทึก” ความผิดเท่านั้น มิใช่ตัว “การกระทำ” อันเป็นปัจจุบันแต่อย่างใด การกดไลก์ กดแชร์ หรือแสดงความเห็นหลังจากนั้นจึงไม่อาจเข้าข่ายผู้สนับสนุนได้เลย

ผู้เขียนเห็นว่า การตีความกฎหมายชนิดหลุดโลกเกินเลยตัวบทไปมาก ดังในกรณีของคุณฐนกร กำลังทำให้คำว่า “ติชมโดยสุจริต” และ “เจตนา” ไร้ความหมาย ทั้งที่อย่างแรกคือแก่นสารของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพการแสดงออก อย่างหลังคือหัวใจของระบบกฎหมายอาญา




ปกหนังสือ 1984 โดย George Orwell ฉบับแปลไทยล่าสุด ตีพิมพ์โดย สนพ. สมมติ


สังคมที่คนจำนวนมากไม่คิดว่าการตีความเช่นนี้มีปัญหา น่าจะกำลังคืบคลานเข้าใกล้การเป็นสังคมดิสโทเปียแบบในนิยายเรื่อง 1984 ซึ่งเสนอว่า ลำพังการมี “ความคิด” ที่รัฐไม่ชอบ ก็นับเป็นความผิดตามกฎหมาย หรือที่เรียกว่า “thoughtcrime” แล้ว

ผู้เขียนหวังว่า ศาลทหารจะไม่รับรองการตีความกฎหมายชนิดหลุดโลกเช่นนี้ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อโจมตีที่ว่า คสช. กำลังพาสังคมไทยเข้าสู่โลกใน 1984 มากขึ้นทุกขณะ.