วันศุกร์, ธันวาคม 02, 2559

เวทีสนทนา 'มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์' ... 'ส่องอคติสื่ออเมริกัน...เลือกข้าง เลือกตั้งประธานาธิบดี' (มีคลิป)



ผู้ร่วมสนทนา (จากซ้าย) เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี, พิภพ อุดมอิทธิพงศ์, ชัยรัตน์ ถมยา

ส่องอคติสื่ออเมริกัน...เลือกข้าง เลือกตั้งประธานาธิบดี

12/02/2016
ที่มา มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์


การเสวนาฉบับเต็ม





เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ จัดเวทีสนทนาชวนร่วมสังเกตการณ์บทบาทสื่อสหรัฐ ในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีแล้วย้อนมองสะท้อนสื่อไทย กับ พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ นักแปลและนักวิจารณ์สื่อ เจ้าของเฟสบุ๊คเพจ Pipob Udomittipong ที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก และชัยรัตน์ ถมยา บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ ไทยรัฐทีวี ดำเนินรายการโดย เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี ผู้เกาะติดการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาครั้งนี้มาโดยตลอด

เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี: สวัสดีครับ วันนี้เราคุยกันเรื่องบทบาทของสื่อมวลชน เรื่องการเลือกข้าง ในการเลือกตั้งอเมริกา รวมถึงทบทวนกันว่าในการเลือกตั้งสหรัฐ ปี 2016 มีบทเรียนอะไรบ้างสำหรับสื่อมวลชนไทย มีโจทย์อะไรบ้างที่สังคมไทยได้เรียนรู้ วันนี้ผมอยู่กับวิทยากรสองท่าน ที่ติดกับผม หลายคนคุ้นกันดี มีคนติดตามทางเฟสบุ๊คหลายหมื่นคน ผมเองก็ติดตามอยู่ สเตตัสหลายอันให้โจทย์ดีๆ กับสื่อมวลชนไทย พี่พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ สวัสดีครับ ถัดจากนั้น ผมเห็นพี่ชัยรัตน์ ตั้งแต่ไอทีวี ไทยพีบีเอส ช่อง 3 จนวันนี้อยู่ไทยรัฐทีวี พี่ชัยรัตน์ ถมยา สวัสดีครับ

เริ่มต้นจาก พี่แต่ละคนเริ่มต้นมีประสบการณ์ หรือดูข่าวการเลือกตั้งสหรัฐ มายาวนานแค่ไหน ตั้งแต่ยุคประธานาธิบดีคนไหน ส่วนผมเริ่มสนใจปี 2008 เอง

ชัยรัตน์ ถมยา: ที่จริงติดตามมานานแล้ว แต่ครั้งที่ได้เข้าไปดู และสังเกตการณ์จริงๆ ตั้งแต่รุ่นที่ John Kerry เป็นผู้แทนของเดโมแครต ที่ชิงกับ George W. Bush ปี 2004 ตอนนั้นได้มีโอกาสไปสัมผัสบรรยากาศการประชุมของพรรคเดโมแครต ที่บอสตัน แมสซาซูเซตส์ เป็นครั้งแรกที่ได้เจอกับประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐคือบารัค โอบามา ซึ่งในการประชุมครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่โอบามาได้แสดงให้คนเห็นว่าเขานี่แหละคือผู้นำคนใหม่ในอนาคต และได้ลงไปทำข่าวจริง ๆ จังๆ ในช่วงที่โอบามาได้รับเลือกทั้งสองสมัยและมาครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งหนึ่ง ล่าสุดที่ได้ไปทำข่าวการเลือกตั้ง ติดตามมาประมาณ 16 ปี

เจนวิทย์ : ปีนี้บรรยากาศที่ฟลอริดาเป็นอย่างไร และที่นิวยอร์คในค่ำคืนการประกาศผลเป็นอย่างไรบ้าง

ชัยรัตน์: ที่ฟลอริดา ผมลงพื้นที่ที่เมืองแทมป้า ซึ่งอยู่ในเขตการเลือกตั้ง ฮิลส์โบโร เป็นจุดที่ทุกคนเรียกว่า เป็นมาตรวัดทางการเมือง ซึ่งครั้งนี้อย่างที่ทุกคนรู้ว่าโพลล์มันหักปากกาเซียน ฮิลส์โบโรก็ถูกหักปากกาเซียนเช่นกัน เพราะทั้งหมดในการทำนาย ใครที่ชนะในเขตฮิลส์โบโรส่วนใหญ่แล้วจะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เพราะเหมือนเป็นการจำลองสหรัฐ เล็กๆ ไปไว้ในเขตนั้น อย่างเช่นในเขตตัวเมืองจะมีคนเชื้อสายแอฟริกันอเมริกันอยู่ กับละติโน ส่วนรอบนอกชานเมืองจะเป็นกลุ่มคนผิวขาว เพราะฉะนั้นจะมีความหลากหลายของมันอยู่ และที่ผ่านมาเค้าทำนายผลถูก มีพลาดอยู่ครั้งเดียวตอนที่บิล คลินตัน ชนะ จอร์จ ผู้พ่อ อันนี้ฮิลส์โบโรทายผิด คือไปเลือกจอร์จ ผู้พ่อ นอกนั้นเลือกได้ถูกมาตลอด แต่ว่าครั้งนี้ก็มาผิดอีกครั้งหนึ่ง เพราะปรากฏว่าเขตนี้ฮิลลารี คลินตัน ชนะ เป็นสีน้ำเงิน การที่ได้ไปพูดคุยกับผู้คนก็ยังหลากหลาย มีทั้งสองฝ่ายทั้งคนที่สนับสนุนทรัมป์และสนับสนุนฮิลลารี คลินตัน

ชัยรัตน์เล่าว่าถ้าเทียบบรรยากาศกับสี่ปีที่ผ่านมา ความกระตือรือร้นของคนที่จะไปลงคะแนน แตกต่างอย่างสิ้นเชิง เมื่อสี่ปี แปดปีก่อนจะมีพวกอาสาสมัคร และเดโมแครตส่วนใหญ่จะใช้วิธีไปเคาะประตูตามบ้าน ถามว่าไปลงคะแนนหรือยัง “ตอนนั้นโซเซียลมีเดียเพิ่งเริ่มใหม่ๆ ประกาศว่ามีใครอยากจะมาช่วยโอบามาหาเสียงมั้ย ปรากฏว่ามีคนขึ้นรถตามเขามาจำนวนหนึ่ง แชร์รถกันมาเลย วิ่งจากเท็กซัสมายัง battleground states คือรัฐสมรภูมิต่างๆ ขนกันมาปักหลักอยู่เป็นเดือนนะครับ มาช่วย แต่ในครั้งนี้ถ้าไปดูอาสาสมัครของเดโมแครตของฮิลลารี จะต่างกัน คือส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ จะไม่มีคนมาจากรัฐโน้นรัฐนี้ ไม่มีการทุ่มทุนขนาดนั้น เพราะฉะนั้นจะเห็นความต่างในเรื่องความกระตือรือร้นของคนที่อยากผลักดันให้ผู้สมัครของตนได้ถูกรับเลือกเข้าไปเป็นประธานาธิบดี อันนี้เห็นความแตกต่างค่อนข้างชัดเจนมากๆ”

เจนวิทย์ : มีคนบอกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เห็นความหวัง เหมือนปี 2008 ดูสิ้นหวัง ดูเงียบๆ สื่อมวลชนทั้งไทยและหลายๆ ประเทศทั่วโลกทุกคนมุ่งไปที่จาวิตส์เซ็นเตอร์ (Javist Center) ในค่ำคืนนั้นเพราะคิดว่าฮิลลารี make sure แน่ๆ แต่เกิดอะไรขึ้นในค่ำคืนนั้น

ชัยรัตน์: เพราะโพลล์ออกมาก็พุ่งไปที่ฮิลลารี แต่ว่าอีกเหตุผลหนึ่งสำหรับสื่อต่างชาติที่ไปที่จาวิตส์เซ็นเตอร์เพราะทุกคนต้องเลือก เพราะมีแค่ทีมเดียว อันนี้คือความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในการทำข่าว เราต้องเลือกแล้วล่ะว่าคืนนั้นเราจะไปอยู่ที่ไหน เราจะไปอยู่สองที่ในคืนเดียวกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นแนวโน้มล่าสุดที่ดูกันมา ไม่ว่าจะเป็นผลโพลล์ มันชัดเจนมากว่าฮิลลารีน่าจะเป็นผู้ชนะ แต่พอฟลอริดาประกาศ ตอนแรกทุกคนตื่นเต้น ในจาวิตส์เซ็นเตอร์เสียงยังดังเชียร์กันตลอดเวลา แต่พอฟลอริด้าประกาศปั๊บ เป็นสีแดงปึ๊บ ทุกคนเริ่ม เกิดอะไรขึ้น แต่ว่าทุกคนยังมีความหวังนะครับ เพราะว่าตอนนั้นแค่ฟลอริดารัฐเดียว และแพ้กันนิดเดียว ร้อยละหนึ่ง สิ่งที่ทุกคนช็อกมากกว่าก็คือ พอเริ่มนับคะแนน ตอนแรกสูสีกัน แต่ตอนหลัง ในรัฐที่คิดว่าฮิลลารีน่าจะมาชัวร์ๆ มิชิแกนคิดว่าได้แน่ๆ ปรากฏว่าทรัมป์นำตลอด ไม่มีช่วงไหนที่ฮิลลารีขึ้นไปนำทรัมป์เลย ตามมาด้วยเพนซิลวาเนีย วิสคอนซิน ซึ่งเป็นระเบียงอุตสาหกรรม ที่เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนคาดว่าน่าจะเป็นสีฟ้า แต่ปรากฏว่าทรัมป์นำ ตอนนั้นทุกคนเงียบ แล้วจะทำยังไง บรรยากาศในเซ็นเตอร์ตอนนั้น ทางเดโมแครตก็พยายามกระตุ้น ปลุกเร้าให้คนรู้สึกว่าเรายังมีความหวัง มีการพยายามกระตุ้นคนด้วยการเอา speakers มาให้กำลังใจ คืนนั้นก็มีแคธี แพรรี่ซึ่งเป็นแฟนตัวยงของฮิลลารีนะครับ ขึ้นมาพูดว่าเรายังมีความหวังนะ แต่ในความเป็นจริงทุกคนที่ดูอยู่ จะเห็นภาพคนนั่งกัดเล็บ มองจอ แบบว่าเหมือนกับไม่เชื่อในสิ่งที่เกิดขึ้น ตอนนั้นมันเครียดมาก นั่นเป็นบรรยากาศที่เกิดขึ้นในค่ำคืนนั้นที่จาวิตส์เซ็นเตอร์




ภาพลักษณ์ของทรัมป์ที่ถูกนำเสนอโดยสื่อ



เจนวิทย์ : ครับ มาที่พี่พิภพ ที่ช่วยให้สติสื่อไทยมาก ในขณะที่บางทีเราเอนไปทางฮิลลารี พี่พิภพจะบอกว่า อ๋อ ไม่ ทรัมป์ยังมีส่วนเป็นต่อ นะครับ คือมีบาลานซ์ที่ดีมาก พี่พิภพพูดถึงประสบการณ์ก่อน ติดตามการเลือกตั้งอเมริกามากี่ปีแล้ว

พิภพ: พูดตามตรง โดยส่วนตัวไม่ได้สนใจมากมาย เพียงแต่ว่าที่เข้ามาเขียน ผมเข้ามาติงบางจุด เพราะผมเห็นว่าบางทีสื่อก็เหวี่ยงไปในด้านหนึ่งมากเกินไป อย่างเช่น ไป cover เรื่องคลินตันมาก หรือว่าไป cover ตัวโดนัลด์ ทรัมป์ แต่ไป cover ในส่วนที่เลวของเขาทั้งหมด สิ่งที่คนไทยไม่ได้เห็นก็คือ appeal [เสน่ห์] ของทรัมป์ เขาชนะตรงที่เขา appeal กับคนชั้นล่าง การเลือกตั้งครั้งนี้ชัดเจนมากว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างชนชั้น คนที่ไม่มีดีกรี college ส่วนใหญ่เลือกทรัมป์สูงมาก ทั้งชายและหญิง ผู้ชาย 62 ต่อ 38ผู้หญิง 54 ต่อ 40 กว่าๆ “อันนี้หมายถึงผิวขาว คือจะพูดผิวอะไรก็แล้วแต่ จริงๆ ต้องพูดถึงผิวขาว เพราะผิวขาวมัน 70% เป็นชนส่วนใหญ่ซึ่งมีอิทธิพล ส่วนตัวไม่ได้สนใจอะไรมากเพียงแต่ว่าเวลาเห็นสื่อนำเสนอ และผมเห็นว่าภาพไม่ครบ เช่น กรณีคลินตัน ถ้าเราดู favorability [ความชื่นชอบ] เปรียบเทียบให้ดูทั้งสามคน จะเห็นว่า สีแดงคือส่วนที่คนเกลียด ล่างสุดคือ (Bernie) Sanders ส่วนที่คนเกลียดน้อยกว่า คนชอบเค้าเยอะมากนะฮะ ดูคะแนนเค้าพุ่งจาก 5% ขึ้นไปอย่างนี้ นี่คะแนนของทรัมป์ คนที่เกลียดเดิมเยอะนะ 70% ค่อยๆ ลดลง แต่ดูของคลินตันซิเติบโตอย่างต่อเนื่อง คือว่าเกลียดเท่าไร เกลียดเท่านั้น”

เจนวิทย์ : แสดงว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้คนเกลียดเธอเพิ่มมากขึ้น?

พิภพ: ปัญหาคือสื่อ cover ไม่เหมือนกัน สื่อไม่ได้ cover อีกหลายๆ ส่วนที่ ทำไมคนเกลียดคลินตัน ทำไมคนชอบทรัมป์ สองส่วนนี้ที่ผมเห็นว่าขาดไป ก็จะติงเช่นกรณีมูลนิธิคลินตัน กรณี email server ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับคนอเมริกันที่กราฟไม่ลงเลย แต่ขึ้นต่อเนื่องเนี่ยะ ที่คนเกลียดคลินตันต่อเนื่องเพราะสองเรื่องนี้และมันโยงกันทั้งสองเรื่อง เรื่อง email กับเรื่องมูลนิธิคลินตัน ผมไม่แน่ใจว่ามีสื่อไหนทำเรื่องมูลนิธิคลินตัน นอกจากที่ผมเขียนนะ ผมต้องเขียนสองสามรอบเพราะผมรู้สึกไม่เห็นมีสื่อเขียน เพราะเป็นเรื่องใหญ่มากนะครับ และโยงกับภูมิศาสตร์การเมืองของการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย

เหตุผลอีกอย่างที่ผมบอกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเรื่องของชนชั้น ก็เพราะว่า ประธานาธิบดี บิล คลินตัน รวยอันดับสิบของประธานาธิบดีทั้งหมดที่มีในอเมริกา แล้ว บิล คลินตัน รวยหลังเลือกตั้ง คือรวยหลังเป็นประธานาธิบดี จากหนังสือส่วนหนึ่ง พูด และคนที่เชิญเขาไปพูดล้านเหรียญ บริจาคเข้ามูลนิธิล้านเหรียญ อย่างนี้ คือกระเป๋าซ้าย กระเป๋าขวา อันนี้มันเป็นเรื่องที่คนอเมริกันจำนวนมากข้องใจมากว่าไม่โปร่งใส และตัวทรัมป์ก็โหนกระแส anti-corruption เข้ามา ทั้งๆ ที่ภาพแกก็ไม่ได้สะอาด มันจะเห็นปัญหาของสื่อ เพราะฉะนั้นผมก็จะสนใจเฉพาะในส่วนที่สื่อไม่ cover





สื่อกับการเลือกข้างทางการเมือง

เจนวิทย์ : ในสภาพของสื่อมวลชนสหรัฐ ในการเลือกตั้งทุกรอบ มีการเลือกข้างทางการเมืองที่ชัดเจนมาก คือ endorsement [การรับรองอย่างเป็นทางการ] ประกาศอย่างชัดเจนมาก อยากถามทั้งสองท่านคือ มีตัวอย่างที่ดีอะไรบ้างจากสื่อมวลชนสหรัฐ ที่สื่อไทยควรเอาเป็นตัวอย่างได้ หรือมีอะไรที่อยากจะ comment และเป็นปัญหาของสื่อมวลชนสหรัฐ ในรอบนี้นะฮะ เช่น กรณี CNN หรือกรณีที่นักข่าวอยู่ในสถาบันที่ establishment บางอย่างกับนักการเมือง อยากให้ทั้งสองท่านพูดถึงตรงนี้หน่อยเรื่องการเลือกข้างทางการเมือง

ชัยรัตน์: การเลือกข้างทางการเมือง หรือ endorsement เป็นประเพณีปฏิบัติของสื่อมวลชนอเมริกา ไม่ใช่เป็นเรื่องแปลก อย่างครั้งนี้จะเห็นว่า มีหนังสือพิมพ์กว่า 200 ฉบับที่ให้การ endorse กับฮิลลารี คลินตัน มีอยู่แค่ประมาณ 20 ฉบับที่ endorse โดนัลด์ ทรัมป์ แต่ถ้าเราจะดูความเป็นมืออาชีพของเขา เราต้องเข้าใจว่า การ endorse ของเขาไปลงอยู่ที่บทบรรณาธิการ เขาจะพูดชัดเจนว่าเขาสนับสนุน แต่หน้าปกแน่นอนเขาเสนอข่าวทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่ว่า เมื่อ endorse ฮิลลารีแล้ว ปรากฏว่าข่าวที่เขาทำจะไปลงที่ฮิลลารีหมดโดยที่ไม่มีทรัมป์ หรือวิจารณ์ทรัมป์ในทางเสียๆ หายๆ โดยไม่ based บนความเป็นจริง แต่ในบทบรรณาธิการ แน่นอนเขาก็เขียนเชียร์ไป ซึ่งคนอเมริกันจะเข้าใจบริบทนี้อยู่แล้วว่า หนังสือพิมพ์นี้ให้การสนับสนุนฮิลลารีนะ ซึ่งมันจะอยู่ในบทบรรณาธิการซึ่งเป็นธรรมดาอยู่แล้วนะครับที่มันจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น

อันนี้เป็นเรื่องที่เราต้องเรียนรู้ว่าการที่เขาบอกว่าเลือกข้าง มันไม่ใช่เลือกกันแบบสุดโต่ง เขาเสนอทั้งสองฝ่ายอยู่ดี แล้วก็มีสิ่งหนึ่งที่พอหลังจากจบการเลือกตั้งครั้งนี้ก็มีคนพูดถึงกันเยอะ คือบทบาทของสื่อในการให้พื้นที่กับทรัมป์ ทรัมป์นี่ต้องบอกว่าเป็นนักการตลาดนะครับ เขาขายสินค้าได้ดีมากครั้งนี้ ส่วนหนึ่งสื่อก็ช่วยเขาด้วย สิ่งที่เขาพยายามสื่อออกไป นโยบายสุดโต่งการพูดจาปลุกเร้าทำให้เกิดความเกลียดชังหรืออะไรก็ตาม ซึ่งตอนนี้เริ่มมีผลกระทบออกมาแล้ว ปรากฏว่าสื่อก็เอาไปเล่น เพราะเป็นสีสัน มันไม่มีผู้สมัครคนไหนที่พูดแรงขนาดนั้น ในอีกด้านหนึ่งกลับเป็นว่า เป็นการเปิดพื้นที่ให้เขาสามารถสื่อไปถึงคนได้อย่างตรงจุด ถามว่าสื่อได้รับผลประโยชน์มั้ย สื่อได้รับผลประโยชน์นะครับ มีการวิเคราะห์ออกมาแล้วว่า ก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะเป็น CNN หรืออะไรก็ตาม เรตติ้งไม่ค่อยดีเท่าไร รายได้ก็ไม่ค่อยดี แต่ในช่วงการเลือกตั้งเรตติ้งกลับมาเลย คนมาดูกันเยอะขึ้นเพราะ CNN ก็เสนอสิ่งที่ทรัมป์พูด แล้วโอ้โห มันเป็นสีสันทุกวัน คุณพูดอะไรออกมาก็เป็นประเด็นที่พวกเราทุกคนอาจจะต้องหงายหลังบ้าง อะไรบ้าง แต่ต้องยอมรับว่ามันเป็นข่าว และเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในการเลือกตั้งในแบบนี้มาก่อน ซึ่งผู้สมัครพูดออกมาแบบนี้ แต่ว่าตรงจุดนี้นี่เองนะครับเป็นการเปิดพื้นที่แล้วก็ช่วยทรัมป์ไปโดยปริยาย เขามีการคิดเป็นมูลค่าเลยนะครับว่า การเสนอข่าวเกี่ยวกับทรัมป์เป็นการโฆษณาทรัมป์คิดเป็นหลายพันล้านเหรียญ ถ้าเกิดทรัมป์จะไปซื้อเวลาออกอากาศนะ เพราะฉะนั้นเหมือนกับว่าสื่อต้องกลับไปทบทวนตรงนี้หรือเปล่า ว่าคุณได้นำเสนอไป โอเคคุณได้ประโยชน์คือเรตติ้งมาเพราะพูดแรงและอยู่ในความสนใจของคน แต่ว่าจริงๆ แล้วคุณมีส่วนหรือเปล่าที่ทำให้ผลการเลือกตั้งออกมาเป็นแบบนี้




นิตยสาร Foreign Policy ประกาศให้การรับรองฮิลลารี่ คลินตัน อย่างเป็นทางการ


เจนวิทย์ : เจาะถามพี่ชัยรัตน์ Foreign Policy ซึ่งเป็นนิตยสารด้านนโยการเมือง endorsement ฮิลลารี คลินตัน ซึ่งเป็นการ endorsement ซึ่งไม่เคยประกาศรับรองใครมาก่อนในรอบการก่อตั้งนิตยสาร พี่ชัยรัตน์แซวเล่นๆ บอกว่าเป็นไปได้มั้ยว่าพวกนี้ทำนายแล้วว่าทรัมป์มีโอกาสชนะ เพราะฉะนั้นออกมาดักคอก่อนดีมั้ย คือในการ endorsement รอบนี้ของสื่อสหรัฐ มีสื่อ 2-3 ปก ที่ไม่เคย endorsement ใครมาก่อน เช่นกรณี Foreign Policy เช่น Vogue พี่ชัยรัตน์มองเคสแบบนี้อย่างไรบ้าง

ชัยรัตน์: อย่างที่บอกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เหมือนกับทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะนโยบายสุดโต่งที่ทรัมป์ประกาศออกมา ซึ่งเขาจะทำหรือไม่ทำ อันนี้ไม่รู้นะครับ แต่ว่าเขาพยายามจะขายของ ว่าง่ายๆ นะครับ ทีนี้สิ่งที่ประกาศออกไป แน่นอนมันสร้างความวิตกให้กับคนในสังคมอเมริกันว่าแล้วเราจะเดินหน้าไปอย่างไร ที่ผ่านมาต้องยอมรับ 8 ปีที่โอบามาขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีเนี่ยมันสร้างความแตกแยกขึ้นในสังคม เรื่องสีผิวก็ตาม เราอาจมองว่าอเมริกาเป็นประเทศที่ก้าวหน้า แต่ว่าจริงๆ แล้ว หลายพื้นที่เป็นอนุรักษ์นิยม ซึ่งเขาอาจรู้สึกว่าตอนนี้มีคนผิวสีขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี คือรอยร้าวในสังคมมันมีแล้ว แล้วถ้าเกิดว่ามีทรัมป์มาอีก แล้วก็มีนโยบายที่สุดโต่งแบบนี้ มันจะไปกันใหญ่ มันจะกู่ไม่กลับ ตรงนี้อาจสร้างความกังวลให้กับหลายๆ คน เพราะฉะนั้นมันก็เลยสะท้อนออกมาในลักษณะที่ว่า บางปกที่ไม่เคยให้การสนับสนุนผู้สมัครคนไหนเลย ก็ต้องออกมาพยายามโน้มน้าวผู้ที่มีสิทธิ์ว่า มันใช่จริงมั้ย ถามว่ามีความเป็นไปได้มั้ยที่ทรัมป์จะชนะ ก่อนหน้านี้มันต้องมี คือถ้าไม่มีคงไม่กลัวขนาดนี้ แต่พอมีแล้ว มันก็ออกมาอย่างที่บอกว่าคุณแน่ใจแล้วหรือ?

การประกาศรับรองของสื่อมวลชน ก็มีการวิเคราะห์เหมือนกันว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้วครับ คนอเมริกันไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์โดยการจับหนังสือพิมพ์มาอ่าน คนได้ ข้อมูลข่าวสารจากเฟสบุ๊ค จากโซเซียล เพราะฉะนั้นก็มีคำถามเกิดขึ้นมากมาย ข่าวที่ออกมาที่มีการบิดเบือนข้อเท็จจริง มันเต็มไปด้วยหน้าโซเซียลมีเดียทั้งหมด คนอเมริกันรับข่าวสารจากตรงนั้นมากกว่าจับหนังสือพิมพ์ขึ้นมาอ่าน สมัยก่อนอาจมีอิทธิพลมาก คนอ่านหนังสือพิมพ์ ดู วิเคราะห์ ตามที่หนังสือพิมพ์ว่า แต่ตอนนี้ไม่ใช่ ทุกคนรับ อะไรโพสต์ขึ้นมาฉันก็อ่าน เสพแค่ตรงนั้น ตรงนี้อาจเป็นประเด็นหนึ่งที่ว่าทำไมแม้จะมีสื่อจำนวนมากให้การสนับสนุนฮิลลารี แต่ไม่ได้มีผลอะไรเลย

อีกจุดหนึ่งเมื่อพูดถึงโซเซียลมีเดีย และการเปลี่ยนแปลง มีการวิเคราะห์กันว่าหนึ่งในวิธีการทำโพลล์ที่ผ่านมาใช้โทรศัพท์บ้าน ปรากฏว่าปัจจุบันคนอเมริกันแทบจะไม่ใช้โทรศัพท์บ้านแล้ว ใช้โทรศัพท์มือถือ เลยมีการตั้งคำถามกลับไปถึงวิธีการทำโพลล์ว่า สรุปแล้ววิธีการทำโพลล์ยังใช้แบบดั้งเดิมหรือเปล่า เพราะฉะนั้นการทำโพลล์ที่ได้มาอาจไม่ตรงก็ได้ นั่นเป็นข้อสังเกตอย่างหนึ่งหลังจากที่มีการผิดพลาดอย่างมโหฬารในเรื่องของโพลล์

เจนวิทย์ : ถามพี่พิภพ อยากให้พูดถึงกรณี CNN ว่ามีข้อสังเกตอะไรกับ CNN ในการเสนอข่าวรอบนี้

พิภพ : ย้อนกลับไปที่คุณชัยรัตน์พูด ตรงนี้เขาเรียกว่า earned media เข้าใจว่านับถึงเดือนสิงหา จะเห็นว่าทรัมป์ได้โฆษณาฟรีๆ ตั้งสองพันล้าน 1,800 ล้านเหรียญ นี่น่าถึงแค่เดือนสิงหาถ้าจำไม่ผิด คือทรัมป์ เป็นนักการตลาด ฉลาดในเรื่องการใช้สื่อ ประเด็นอยู่ที่ว่าสื่อ cover ทรัมป์เยอะจริงแต่ cover เรื่องอะไร และเนื้อหาที่เสนอเป็นคุณกับเขาไหม ส่วนใหญ่ไม่เป็นนะฮะ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ไม่เป็นคุณเท่าไร อันนี้ในความเห็นของผมและของหลายคน ก็แซวว่า CNN เป็น Clinton News Network โอเคโดยรวม CNN อาจเสนอข่าวทรัมป์เยอะกว่า มีตัวเลขที่ชัดเจนว่าการนำเสนอข่าวของสื่อกระแสหลักที่ cover ตัวทรัมป์เยอะมาก ประเด็นก็คือสิ่งที่เสนอ เช่น กรณี Clinton Foundation CNN ก็แตะ แต่แตะแบบเป็นช่วงๆ ไม่ทำเป็น highlight ผมเปิด CNN ทีไร contributors หรืออะไรต่างๆ ก็จะออกมาในลักษณะที่เชียร์คลินตันเป็นส่วนใหญ่ เชียร์แบบออกนอกหน้า ส่วนที่เป็นแผลเหวอะหวะ ไม่พูด หรือพูดเหมือนกันแต่พูดเพื่อไม่ให้ถูกวิจารณ์ว่าไม่เป็นกลางแค่นั้นเอง ไม่ใช่ว่าไม่พูดทีเดียว

เจนวิทย์ : พี่พิภพเขียนในเฟสบุ๊คบอกว่า CNN เป็น mainstream ของสื่อโต๊ะข่าวต่างประเทศหลายที่ในเมืองไทยด้วย

พิภพ : ใช่ อันนี้ก็เป็นปัญหา พอ agenda ของ CNN มันชัดว่าจะเป็น Clinton’s News Network เพราะฉะนั้นภาพข่าวหลายๆ ภาพในเมืองไทย ก็จะออกมาในลักษณะนี้ เราจะไม่เคยเห็นข่าววิเคราะห์เรื่องมูลนิธิคลินตันที่เป็นแผลเหวอะแหวะของฮิลลารี คลินตัน เราจะไม่ค่อยเห็นข่าวเรื่อง email server จริงๆ เรื่อง email server เป็นปัญหาตั้งแต่ก่อนลงสมัครรับเลือกตั้งอีก ที่ผมคิดว่าเป็นปัญหา คือสื่ออเมริกาจงใจที่จะไม่พูดอยู่แล้ว แต่สื่อไทยก็ไปไม่ถึง




ทรัมป์โพสต์ทวิตเตอร์ถึง Megyn Kelly ผู้ประกาศข่าว Fox News ที่ตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมของเขา


จรรยาบรรณสื่อ

เจนวิทย์ : อีกเรื่องที่อยากให้พี่พิภพขยายความ เรื่องจรรยาบรรณของนักข่าว เมื่อวานนี้เราพูดถึงผู้ประกาศข่าว Fox News ซึ่งไม่ยอมจำนน ต่อสู้กับทรัมป์อย่างดุเดือดมาก เป็นอย่างไรบ้างครับเรื่องนี้ น่าจะเป็นตัวอย่างให้กับผู้สื่อข่าวไทยด้วย

พิภพ: กรณีคุณ Megyn Kelly ก็เป็น news anchor ที่มีชื่อเสียง ไม่ใช่นักข่าวธรรมดาเป็นนักข่าวที่ใหญ่พอสมควร ตอนเขาไปปะทะกับทรัมป์ คือตอนช่วงดีเบทแรกๆ ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเมื่อปีที่แล้ว จริงๆ สิ่งที่แกทำก็เป็นสิ่งที่นักข่าวควรทำ แกก็เอาสิ่งที่ทรัมป์พูดดูถูกผู้หญิงด้วยถ้อยคำต่างๆ มาอ่านให้ทรัมป์ฟังและถามว่าคุณมีความเห็นอย่างไร เขาก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ เขาก็มีอิทธิพลมาก และ Breibart News เป็นพวกที่จุดกระแส hate crime ก็เอากระแสไป จัดการผู้หญิงคนนี้ ทวีตกันเต็มไปหมด แม้แต่คนที่เป็นทนายความของทรัมป์ ก็เอาไปทวีต จัดการ Megyn Kelly

ในกรณีคุณ Megyn Kelly ก็น่าสนใจตรงที่สู้แบบไม่ได้ออกมาตอบโต้ ในแง่นักข่าวก็มีจรรยาบรรณของเขา ไม่ได้ออกมาชี้แจงอะไร สิ่งเขาทำคือเขานัดคุย แต่ off record เขาก็ไม่ได้เปิดเผยว่ามีการพูดคุยกัน หลังจากนั้นก็มีการตั้งคำถามในลักษณะ critical แบบนี้อีก แต่ก็จะเห็นว่าท่าทีของทรัมป์อ่อนลง อ่อนลงเพราะหนึ่ง Megyn Kelly เขาก็ไม่ได้นักข่าวธรรมดา สองอ่อนลงเพราะเขาเห็นว่าไปรบกับผู้หญิงคนนี้เค้าก็ไม่มีประโยชน์ เพราะผู้หญิงคนนี้เขาสู้ ซึ่งถ้าเป็นจริงอย่างที่ Megyn Kelly เคยพูดว่าจริงๆ ทรัมป์ก็ทำท่าจะจีบเขาด้วย อันนี้ยิ่งแสดงให้เห็นว่า เขาก็ยิ่งไม่กล้า ทำแล้วมันเสียทั้งคู่ ในแง่ผู้สื่อข่าว ผมคิดว่ามีหลายอย่างที่เราสามารถแสดงจุดยืนของเราได้โดยไม่เป็นการ…เค้าไม่ได้ไปเผชิญหน้ากับโดนัลด์ ทรัมป์ เขาไม่ได้ไปด่าโดนัลด์ ทรัมป์กลับ แต่เขาสามารถรักษาจุดยืนของเขาไว้ได้ ผมว่าประสบการณ์ของ Megyn Kelly น่าสนใจมาก เขาไม่ได้ถอย และไม่ได้สู้จนตัวตาย แต่เขามีวิธีแก้ปัญหาของเขา





สื่อไทยกับบทเรียนจากการเกาะกระแสสื่อหลักอเมริกัน

เจนวิทย์ : ทีนี้อยากกลับไปที่พี่ชัยรัตน์ ในฐานะผู้สื่อข่าวที่ทำข่าวต่างประเทศมานาน โต๊ะข่าวต่างประเทศในไทยเป็นอย่างไรบ้าง ดูเหมือนสื่อไทยอยู่กับ CNN เยอะ พี่ชัยรัตน์มีวิธีการบาลานซ์ระหว่างสื่อกระแสหลักกับข่าวที่เป็นรองๆ ในอเมริกาอย่างไรบ้าง หรือจัดการกับข่าวเหล่านี้อย่างไร

ชัยรัตน์: สื่อไทยควรมีการเปลี่ยนความคิดใหม่ว่า CNN ไม่ใช่ทุกอย่าง เราจะติดภาพ สมัยก่อนเนื่องจากพอเริ่มมีข่าวต่างประเทศมาแล้วมี CNN ที่เป็นช่องข่าวขึ้นมาเราก็ตื่นเต้น มามีการนำเสนอข่าว 24 ชั่วโมง เป็นอะไรใหม่ เราจะรู้สึกว่าข่าวต่างประเทศต้องตาม CNN อย่างเดียว แต่ว่าในฐานะที่ทำงานที่ไทยรัฐทีวี CNN เสนอข่าวเราสามารถนำข้อมูลเขามา แต่เราต้องเช็คทุกแหล่งข่าวที่มีอยู่ ปกติสำนักข่าวต่างๆ จะรับจากเอเจนซี่อยู่แล้ว จากเอพี รอยเตอร์ส หรือว่าการที่เรามีสื่อออนไลน์ เราสามารถเช็คข่าวได้เร็วกว่าเดิม และมีหลายมุมมองมากกว่าเดิม เราควรใช้หลายสื่อ แต่บางครั้งวิธีการทำงานของสื่อบางสำนักรู้สึกว่าง่าย อ่านหรือแปลจากที่เดียวก็จบ ดึงภาพ CNN ขึ้นจอและแปลตามนั้น CNN ว่ายังไง ฉันก็ว่าอย่างนั้น เพราะฉันซื้อมาแล้ว เอาง่ายเข้าไว้ ก็มีซึ่งผมคิดว่าต้องมีการเปลี่ยนแนวความคิดใหม่ เปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่ จะมาเสนอแค่สื่อเดียวไม่ได้ ต้องมีการเช็ครอบด้าน ต้องมีการใช้ทุกอย่างที่มีอยู่ ซึ่งตอนนี้เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย ผมยังจำได้ทำข่าวเมื่อสิบกว่าปีก่อนยากมาก กว่าจะไปหาข้อมูลจากแหล่งโน้นแหล่งนี้ เอเอฟพีส่งมายังส่งมาเป็นตัวพริ้นต์เป็นเครื่อง ตื้ด ตื้ด ตื้อ มา แล้วมาฉีกกระดาษ เราต้องมาอ่านว่าเกิดอะไรขึ้น เดี๋ยวนี้มีออนไลน์สามารถเข้าไปตรวจดูทั้งโซเซียลมีเดียว่าคนรู้สึกอย่างไร มีการ interact อย่างไร พอโพสต์ไปแล้ว คอมเม้นท์ที่มาเป็นอย่างไร ว่าไปแล้วคือเราต้องทำการบ้านมากขึ้น





เจนวิทย์: ผมอยากกลับเข้าสู่ส่วนที่สาม ชวนคุยเรื่องการพลิกของโพลล์ ในวันที่ 7 พฤศจิกายน change of winning หรือโพลล์ทุกโพลล์ ฮิลลารี คลินตันชนะหมด สื่อไทยนำเสนอตัวเลขสถิติของ Nate Silver 69.4 ฮิลลารีชนะแน่นอน แต่ปรากฏว่า Nate Silver มาแก้ตัวตอนเช้าบอกว่า Voter Turnout ที่เป็น working class เยอะผิดปกติ หรือ CNN ให้ฮิลลารีอยู่ที่ 268 ขาดอีกสองเสียงชนะ electoral college ทั้งหมดนี้เป็นการหักปากกาเซียนหมดเลย คำถามคือมีบทวิจารณ์บอกว่าวันรุ่นขึ้นซึ่งเป็น 7 พฤศจิกายน ทุกโพลล์ทุก Chance of winning ให้ฮิลลารีชนะหมด แต่ 8 พฤศจิกายนทำให้ poll ทั้งหลายต้องกลับไปตั้งคำถามกับตนเองว่ามีความผิดพลาดอะไรเกิดขึ้น อยากชวนพี่พิภพกับพี่ชัยรัตน์คุย คือมีคนบอกว่าสื่อมีส่วนในการทำให้โพลล์รอบนี้ไม่นิ่ง พลิกผัน หักปากกาเซียนขนาดนี้ เพราะสื่อมวลชนไฮไลท์ทรัมป์ ไฮไลท์ความชั่วร้าย ด้านมืดของทรัมป์ จนฐานเสียงของทรัมป์ไม่กล้าตอบความจริงว่าตัวเองเลือกทรัมป์และทำให้ภาพลักษณ์ของคนที่เลือกทรัมป์ดูแย่ สื่อมวลชนมีส่วนกับเรื่องนี้หรือไม่อย่างไร อยากฟังความเห็นของทั้งสองท่าน


พิภพ: คือมันเป็นเรื่อง manufacturing consent เป็นคำที่นอม ชอมสกี้ใช้ ย้อนกลับไปที่ Bernie Sanders วัน Super Tuesday ที่เป็นวันหาเสียงในช่วง primary โค้งสุดท้าย ในขณะที่เวทีของ Sanders มีคนมาเป็นหมื่น เวทีของทรัมป์ไม่มีคนเลย เวทีของคลินตันมีคนหลักพัน แต่กล้องของสื่อไปที่เวทีทรัมป์ เวทีของคลินตัน เพราะอะไร เพราะสื่อคิดว่าสามารถที่จะปั้นแต่งมติมหาชนได้ สื่อคิดว่าสามารถ manufacture consent ของประชาชนได้ สิ่งที่สื่อไม่ได้ไฮไลท์เลย หรือแม้แต่เดโมแครตไม่ได้ไฮไลท์ คือว่า Sanders มีคนนิยมมาก และคนจากชั้นล่างเยอะมากที่นิยมสนับสนุนแก ทำไม อันนี้เป็นปัญหาสื่อไม่ได้สะท้อนข้อเท็จจริงในสังคม ฉันใดก็ฉันนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเลือกตั้งคือ สื่อจำนวนมากไม่สะท้อนมติมหาชน

มีสื่อฉบับสัมภาษณ์พวกที่อยู่ใน Rust Belt พวกที่เป็น Blue Collars มีแต่ว่ามีน้อย ส่วนมากสื่อไฮไลท์เรื่องทรัมป์เป็นอย่างโน้นอย่างนี้ ทรัมป์พูดอย่างโน้นอย่างนี้ หรือคลินตันพูดอย่างโน้นอย่างนี้ ไปไฮไลท์เรื่องอะไร ดีเบทสามครั้ง ซึ่งผมเคยเขียนแล้ว สถิติเนี่ยชัดเจนมากว่าไม่มีผลต่อการลงคะแนนเสียงเลย แต่สื่อไปเน้นตรงนั้น

พิภพกล่าวว่าชัยชนะของทรัมป์ครั้งนี้มาจากคนผิวขาว ผู้ใช้แรงงาน หรือ white working class นอกเขตเมืองใน Rust Belt ซึ่งสื่อส่วนใหญ่ละเลยที่จะไปสัมภาษณ์ “Rust Belt เป็นเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เคยเฟื่องฟู ผลิตรถยนต์อุตสากรรมเหล็ก แต่หดตัว ถดถอย ประชากรย้ายออก และเมืองเสื่อมโทรม ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญ” นอกจากนี้ พวก Rust Belt พวกคนชั้นล่าง อาจไม่อยากพูดความจริงกับคนที่มาถาม survey “เพราะสื่อทุกสำนักประนามทรัมป์หมด นะฮะ misogynist เหยียดผู้หญิง เหยียดเชื้อชาติ ทุกอย่างในโลกผมว่ารวมอยู่ที่ทรัมป์หมด เพราะฉะนั้นถ้าสมมุติว่ามีคนมาถามผมว่า ผมจะเลือกทรัมป์มั้ย ถ้าผมพูดไปผมจะเป็นพวกเดียวกับทรัมป์หรือเปล่า? ไม่ตอบดีกว่าใช่มั้ย คือพวก working class มันถูกสื่อ marginalized มาก ถูกปัดให้ไปอยู่ชายขอบ คุณเลือกทรัมป์ คุณเป็นพวกเดียวกับทรัมป์ เขาก็ไม่พูดความจริงสิ หรือเขาอาจบอกว่ายังไม่ตัดสินใจ

อันนี้แหละผมว่าเป็นปัญหาสื่อกระแสหลักที่มองข้าม และสื่อพยายามคิดว่าตัวเองสามารถผลิต ควบคุม กำกับความเห็นของประชาชนได้ เวทีไม่มีสักคน สามารถถ่ายภาพให้เห็นคนข้างหน้าไม่กี่คน ทำให้มันดูใหญ่ขึ้นมาได้ ในขณะที่ Sanders คนมาเป็นหมื่น ไม่ไปถ่าย ทำไมไม่ไปถ่าย อันนี้มันไม่สะท้อนมติมหาชน แต่เป็นการปั้นแต่งมติมหาชน ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะสื่อไทย แต่เป็นปัญหาของสื่อกระแสหลักที่คิดว่าตัวเองสามารถ manufacture ความเห็นของประชาชนได้ ในโลกยุคใหม่อย่างที่เห็นกรณีที่เกิด fake news อะไรต่างๆ โซเซียลมีเดียก็มีดี และไม่ดีแหละนะฮะ ที่สำคัญอีกอย่างคือพวกสื่อกระแสรอง เช่นสื่อในเน็ต พวก Google, Facebook คือช่วงนี้เถียงกันมาก คนก็รู้ว่ามันเป็น fake news เพราะมาจาก feed news ของ Facebook มาจาก feed news ของ Google เอง แล้วคุณ feed มาทำไม ง่ายนิดเดียว เพราะ Google เขาเขียน algorithm [ชุดของคำสั่งที่ตั้งไว้] ว่าใครที่อ่านข่าวนี้นานแค่ไหน เขารู้นะ อันนั้นเป็นข่าวยอดนิยม และจะ feed ข่าวนั้น เขาไม่ได้ดูว่าเป็นข่าวจริงไม่จริง อิทธิพลของสื่อกระแสรอง ผมว่ามันอาจไม่รองเท่าไรแล้วล่ะ”

เจนวิทย์ : คำถามที่อยากถามได้ไอเดียจากอาจารย์ประจักษ์ (ก้องกีรติ) การทำข่าวของสื่อมวลชนไทยต่อการเลือกตั้งสหรัฐในรอบนี้มีกรอบอคติบางอย่าง เช่นข่าวประท้วง สื่อมวลชนไทยนำเสนอว่าเป็นความพยายามในการล้มการเลือกตั้ง เรื่องนี้พี่พิภพและพี่ชัยรัตน์มองอย่างไรบ้าง ทั้งในแง่การพาดหัว เนื้อเรื่อง คือตอนนี้มีความรู้สึกว่า เราอยากเห็นความล้มเหลวของประชาธิปไตยในสหรัฐ จริงๆ เชิญครับ

พิภพ: ผมว่าสื่อไม่มีมิติทางประวัติศาสตร์ ถ้าเราดูไปมันไม่เคยมีสะดุด ไม่มีการเรียกอำนาจที่สาม แล้วจริงๆ การประท้วงเขาก็ชัดเจนมาก Anti-Trump คำขวัญของเขาคือ Love trumps hate. บางคนแปลไม่ได้ triumph แปลว่าชนะ ความรักชนะความเกลียด ผมอ่านครั้งแรกผมก็งง มาคิด อ๋อมันหมายถึงอย่างนี้ อีกอย่างคนที่มาประท้วงมีสักคนที่ชูป้ายคลินตันหรือเปล่า? ไม่มี ไม่มีสักคน เขาต่อต้านความเป็นทรัมป์ เขาต่อต้าน Trump’s presidency เขาไม่ได้ต่อต้านการเลือกตั้งหรือผลการเลือกตั้ง เขากลัวว่าสิ่งที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศจะทำ จดทะเบียบมุสลิมเอย ส่งคนออกนอกประเทศเอย เขากลัวว่าจะทำ และเรื่องค่านิยมต่างๆ ที่เขาสนับสนุนพวกเขาไม่ต้องการ นี่เป็นสิ่งที่ทำได้ เป็นเรื่องปกติมาก

ชัยรัตน์ : สื่อมวลชนไทยคงต้องทำการบ้านมากกว่านี้ ระบบการเมืองของสหรัฐ จะมาเปรียบเทียบในบริบทของไทยคงจะลำบาก ระบบต่างๆ มีความซับซ้อน ไม่เหมือนของไทยจะมาเปรียบเทียบกันง่ายๆ ไม่ได้ อย่างที่พี่พิภพบอกนะครับว่า การที่ออกมาประท้วงไม่ใช่ไม่รับการเลือกตั้ง เขาอาจไม่พอใจผลการเลือกตั้ง เป็นธรรมดาที่เขาจะต้องออกมาแสดงสิทธิ์แสดงเสียงของเขา การที่ออกมาเดินขบวนถือเป็นการปรามอย่างหนึ่ง เป็นการส่งสารถึงประธานาธิบดีคนใหม่ว่าสรุปแล้ว ฉันไม่ได้พอใจ เพราะฉะนั้นจะมาทำอะไรตามใจอย่างที่เธอประกาศไว้ ก็นี่ไงเดี๋ยวต้องมีกระบวนการตรวจสอบต่างๆ เพราะไม่ยอมรับในนโยบายที่เธอพูด เป็นการแสดงออกอย่างหนึ่ง เป็นการสร้างโมเมนตัมในสังคมเพื่อให้ประธานาธิบดีที่จะเข้าไปใหม่ไม่สามารถรู้สึกว่า ฉันชนะแล้ว ฉันจะทำอะไรก็ได้ เพราะระบบของสหรัฐอเมริกาไม่เหมือน ฟิลิปปินส์ที่มีอำนาจแล้วจะทำอะไรก็ได้ เพราะมีระบบ check-balance จะเห็นว่าที่ผ่านมาโอบามาไม่สามารถทำอะไรได้เยอะมากเพราะไปทีไรติด congress ทุกที กฎหมายหลายๆ อย่างไม่ผ่าน ครั้งนี้ก็เหมือนกัน ทรัมป์ก็ต้องเดินหน้าผ่าน congress เหมือนกัน

จะเห็นได้ว่าหลังการเลือกตั้งจบ ผลรู้ โทรศัพท์ถึงทรัมป์ทันทีจากฮิลลารี สังเกตได้ทั้งคู่ด่ากันมากขนาดไหนระหว่างการเลือกตั้ง ทุกอย่างจบ เพราะฉะนั้นเราเดินหน้า แต่ว่าจะทำอย่างไรให้เดินหน้าไปด้วยกันได้ ฮิลลารีพ่ายแพ้แต่ก็ยังไม่ทิ้งจุดยืน จุดยืนของฉันก็ยังเป็นแบบนี้ ๆ ฉันก็ยังสู้ต่อไป แต่ไม่มีการพูดให้ร้าย เห็นมั้ยพวกเธอไปเลือกคนที่ละเมิดทางเพศ โกงเลือกตั้ง ไม่มี ทรัมป์ไม่มี ยัยฮิลลารีขี้โกง แม่มด ไม่มีหลุดจากปากทรัมป์อีกแล้ว จบ ชมด้วยซ้ำ ฮิลลารี ทำงานหนักให้กับประเทศชาติฉันขอชื่นชม แม้ว่าประธานาธิบดีโอบามาออกมาพูดในทางที่ดี สังเกตตอนที่เจอกับทรัมป์ตอนที่ไปทำเนียบขาว ทั้งๆ ที่ด่ากันขนาดนั้น โอบามาวิจารณ์ทรัมป์หนักมากช่วงหาเสียง ทุกคนมองช๊อตนั้นเลยว่าจะนั่งกันได้หรือ? ทรัมป์ก็ด่าหนัก แต่ช๊อตนั้นทำให้คนรู้สึกว่านี่คือผลการเลือกตั้ง นี่คือ mandate นี่คือสิ่งที่ประชาชนตัดสินแล้ว

เจนวิทย์: ขอบคุณทุกท่านมากนะครับ ผมอยากจบสามเรื่อง หนึ่งโจทย์ที่เราได้ทิ้งสำหรับการเสวนาในวันนี้คือ สื่อมวลชนอาจต้องพยายามฟังเสียงส่วนน้อยมากขึ้นนะครับ โจทย์จากอเมริกา ข้อสองคือสื่อมวลชนจะทำงานอย่างไรท่ามกลางความท้าทายการเติบโตของโลกโซเซียลมีเดีย และเรื่องสุดท้ายผมกลับไปวันเลือกตั้งเสร็จใหม่ๆ นะครับ ผู้สื่อข่าวข่าวสด โทรมาหาผมถามว่าในฐานะนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวและคนที่จับเรื่องอเมริกาอยู่ คิดว่าสุดท้ายอเมริกาจะนำไปสู่การล้มการเลือกตั้งมั้ย? ผมตอบสั้นมากง่ายมากว่า อเมริกาไม่เหมือนประเทศแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขอบคุณมากครับ