วันศุกร์, ธันวาคม 30, 2559

วิธีคิดของพวกสิ้นไร้ หนีความจริง และไม่ยอมแก้ปัญหา





เพิ่งรู้ โคโยตี้ จ้ำบ๊ะ และคนรักสถาบัน สายพันธุ์เดียวกัน

จากการที่น้อง ‘เฮีย’ เขียนเฟชบุ๊คสำนวนโจ๋ใส่พระเมธีธรรมาจารย์ “วันนั้นเฮียและพวกของเฮีย จะได้เจอกับม็อบน้ำหมาก ม็อบโคโยตี้ ม็อบจ้ำบ๊ะ ม็อบชีวภาพ ม็อบคนรักสถาบัน”

ต้องบอกว่า “I hear you, สมี Freedom”

ที่จริงเขาเขียนด่าสาดเสียเจ้าคุณประสาร โทษฐานทักท้วง สนช.รวบรัด ‘ลักไก่’ ผ่าน พรบ.สงฆ์ ๓ วาระรวด





สมีแกใช้ถ้อยคำรุนแรงแบบเด็กแว้นแก๊งแมงกะไซ อาทิ “สันดานเดิม” “มักมาก” “เผือก” ล้วนสะท้อนตัวตน สุวิทย์ ทองประเสริฐ อย่างดี

รวมทั้งชนิด ‘สลิ่ม’ คล้าสสิก ที่ว่า “ก็ออกไปหาประเทศอยู่ใหม่ไป๊” ด้วยการห้อยโหน “พระราชอำนาจของพระเจ้าอยู่หัว” ทำให้รัชกาลที่ ๑๐ ต้องราคินตั้งแต่ยังไม่ทันเสด็จเข้าพิธีราชาภิเษก

อันที่จริงการพูดว่า “ถ้าไม่ชอบใจก็ไปอยู่ที่อื่น” นั่นเป็นวิธีคิดของพวกสิ้นไร้ หนีความจริง และไม่ยอมแก้ปัญหา (อันนี้ต่างกับผู้ที่ถูกบีบคั้นกดดันให้ต้องไป)

เป็นลักษณะการไสส่งผู้ที่ท้วงติงการกดขี่บีบคั้นและเอารัดเอาเปรียบ เช่นเดียวกับปัญหาอื่นๆ ในประเทศ ที่เกิดในยุค ‘ทหารครองเมือง’

โดยเฉพาะซึ่งหนักหนากว่าปัญหาเทวทัตลิ่วล้อ คสช. ก็คือปัญหาจากตุลาการลิ่วล้อ คสช.

ต่อการนั้น ‘ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน’ ได้รวบรวมกระบวนการบิดเบี้ยวหลักกฎหมาย (สากล) ที่ศาลไทยภายใต้ระบอบ คสช. ก่อเวรไว้ตลอดปี ๒๕๕๙ รวม ๑๑ บทบาทด้วยกัน

(http://www.tlhr2014.com/th/?p=3156)

แต่ที่นี้ขอกล่าวจำเพาะกรณี การถอนประกัน ไผ่ ดาวดิน และสั่งฝากขังอีก ๑๒ วันเป็นผัดที่สาม ตามข้อความโพสต์เฟชบุ๊คของ ‘ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ New Democracy Movement - NDM’ ที่ว่า

“27 ธันวาคม 2559 ศาลอุทธรณ์แอบสั่งให้ฝากขังไผ่ จตุภัทร ผลัดที่ 3 เป็นเวลาอีก 12 วัน โดยอ้างว่าไผ่ได้รับทราบพร้อมลงลายมือชื่อแล้ว

แต่ภายหลังสอบถามเจ้าตัวยืนยันว่ารับทราบแค่คำสั่งไม่ให้ประกัน ผ่านระบบวิดีโอมายังเรือนจำเท่านั้น ไม่รู้เรื่องฝากขังผลัด 3 มาก่อน





กลายเป็นว่าในคดีนี้ ผู้ที่ปฏิบัติตามกระบวนการพิจารณาคดีอย่างถึงที่สุดกลับเป็นฝ่ายจำเลย ในขณะที่ศาลผู้สถิตยุติธรรมกลับแสดงพฤติกรรมอันน่าตั้งคำถามถึงการศึกษาและจรรยาบรรณวิชาชีพ”

“ด้านศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตั้งข้อสังเกตว่า ตามมาตรา 87 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญากำหนดให้ศาลพิจารณาฝากขังทุก 12 วัน เพื่อให้ศาลได้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของพนักงานสอบสวนเพื่อไม่ให้ควบคุมบุคคลไว้เกินกว่าจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี และเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถูกควบคุมตัวคัดค้านเหตุของพนักงานสอบสวนได้

การดำเนินกระบวนการฝากขังโดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาคัดค้าน จึงเป็นกระบวนการที่มิชอบด้วยกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม่มีการสอบถามผู้ต้องหา

แต่คำสั่งอนุญาตคำร้องฝากขังลงวันที่ 27 ธ.ค. 59 กลับระบุว่ามีการสอบถามผู้ต้องหาแล้วและผู้ต้องหาไม่คัดค้าน คำสั่งอนุญาตดังกล่าวจึงพิจารณาบนฐานข้อเท็จจริงที่ ‘ไม่ถูกต้อง’ ตรงกับความเป็นจริง และก่อให้ เกิดความเสียหายต่อผู้ต้องหา

แม้จะมีการไต่สวนเพื่อสอบถามผู้ต้องหาอีกครั้งในวันที่ 28 ธ.ค. 59 ก็ไม่ทำให้สิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วชอบกฎหมายขึ้นมาในภายหลังได้”

(http://prachatai.org/journal/2016/12/69436)

ทั้งนี้ ถึงแม้นายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา บิดาของนายจตุรภัทร์ หรือ ไผ่ ดาวดิน กล่าวว่าจะ “ร้องเรียนไปยังคณะกรรมการตุลาการกลางเพื่อรับทราบเรื่องที่เกิดขึ้น” ก็ตาม

หากแต่การกระทำในทางบิดเบี้ยวหลักการแห่งกฎหมาย ‘Rules of Law’ เกิดขึ้นแล้วหลายต่อหลายครั้ง ภายใต้การกำกับบงการของ คสช. ประดุจดังคำของ อจ.พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีนิติศาสตร์ มธ. ที่ว่า

“ไม่มีความเลวใดที่จะยิ่งไปกว่า ความเลวร้ายที่ได้กระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย”