วันเสาร์, ธันวาคม 24, 2559

ความยุติธรรมแบบ'หลักกู'





หนักเข้าไปทุกทีสังคมเสล่อในประเทศไตแลนเดีย ระบบศาลเน่าเฟะ ความยุติธรรมอยู่ที่หลักกู โพลมีไว้ชูเชิดเฉพาะพวกนั่งหิ้ง เจ้าหน้าที่รัฐถูกตรวจสอบเพราะพ่อค้าเลี้ยง กลับได้สลิ่มตัวเอ้ให้กำลังใจ

โดยเฉพาะในกรณีที่ศาลจังหวัดขอนแก่นสั่งถอนประกัน ไผ่ ดาวดิน หรือนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักศึกษานิติศาสตร์ปีสุดท้าย ในคดีที่เขาถูกกล่าวหาความผิดอาญามาตรา ๑๑๒ เพราะแชร์บทความเรื่องประวัติรัชกาลที่ ๑๐ ของสำนักข่าวบีบีซีไทย

แต่ปรากฏว่ามีร้อยตำรวจโทหญิงผู้หนึ่งยื่นคำร้องขอเพิกถอนประกัน อ้างว่าผู้ต้องหายังแสดงความเห็นทางสื่อสังคมออนไลน์ “เย้ยหยันอำนาจรัฐ...” ความว่า “เศรษฐกิจมันเเย่แม่งเอาเเต่เงินประกัน”

ศาลขอนแก่นพิจารณาคำร้อง ‘เป็นการลับ’ แล้วสั่งเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว อ้างเหตุผลว่า “ผู้ต้องหาไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลอนุญาตไว้” เพราะ “ยังไม่ได้ลบสเตตัสในเฟซบุคในส่วนที่ถูกกล่าวหา คือบทความของ BBC Thai แล้วยังมีพฤติกรรมที่เคลื่อนไหวอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย”





จากนั้นก็ “ควบคมตัวไปทำการคุมขังที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นทันที ท่ามกลางความงุนงงของทีมทนายความ”

(https://www.facebook.com/FahroongSk/photos/a.300103950154692.1073741828.300084093490011/704093759755707/?type=3&theater และ http://www.matichon.co.th/news/404762)

มิใยที่ทนายจะโต้แย้งว่า “ไม่ได้มีข้อกำชับหรือเงื่อนไขให้ลบข้อความในเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด การลบหรือไม่ลบข้อความในเฟซบุ๊กจึงไม่น่าจะเป็นสาระสำคัญของการพิจารณาเพิกถอนการประกันตัว”

อีกทั้ง “หากข้อความในเฟซบุ๊กของนายจตุภัทร์เป็นข้อความที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ย่อมถือเป็นส่วนหนึ่งของพยานหลักฐานในคดี การลบข้อความดังกล่าวนั้นก็เท่ากับเป็นการทำลายพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดหรือบริสุทธิ์ของนายจตุภัทร์เอง ซึ่งอาจกระทบต่อสิทธิในการต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่”

เหล่านี้เป็นเหตุผลที่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ชี้แจงไว้เป็นลายลักษณ์อักษร รวมทั้งประเด็นที่ว่า

“จึงอาจถือเป็นการใช้ดุลพินิจจำกัดกรอบการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ถูกรับรองไว้ตามกฎหมาย อันเป็นการสร้างภาระหน้าที่หรือเงื่อนไขให้แก่นายจตุภัทร์เกินจำเป็น ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๑๒ วรรคท้าย”

(http://www.tlhr2014.com/th/?p=3116)

แม้กระทั่งข้อหาที่ว่า “ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ” ไม่เพียง ‘คลุมเคลือ’ ในแง่มุมแห่งกฎหมาย หากแต่ ‘มั่วซั่ว’ ในด้านจิตสำนึกมนุษยชน

แนวการพิจารณาคดีด้วยการเอา ‘คุณธรรม’ ทางการเมืองส่วนตนเป็นที่ตั้งเช่นนี้ ซึ่งมีมาตั้งแต่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๙ (ดู Somsak Jeamteerasakul ที่ https://www.facebook.com/somsakjeam/posts/1179219872131290) โดยมีคำเก๋ไก๋เรียกแทนว่า ‘ตุลาการภิวัฒน์’

มันทำให้ “ศาลไม่เป็นองค์กรที่ได้รับการเชื่อถือยอมรับจากทุกฝ่าย” และ “เป็นความหายนะของสังคมไทย” ต่อไปอีกนาน

แต่สังคมก็ยังจมปลักกับค่านิยมดักดาน ดังเช่นรัฐมนตรีช่วยว่าการศึกษาคนใหม่ (เก่ามาจากสำนักนายกฯ ด้วยผลงาน ‘ไม้ค์ทองคำ’) ทันทีที่รับตำแหน่งก็จัดการเปลี่ยนคำเรียกผู้อำนวยการโรงเรียนกลับไปเป็นแบบโบราณ ให้เรียกว่า ‘ครูใหญ่’ และ ‘อาจารย์ใหญ่’





เพียงสองสามวันให้หลัง มีโพลของวิทยาลัยสวนดุสิตออกมาหนุนทันทีว่า ประชาชนชื่นชอบการปรับปรุงคณะรัฐมนตรีชุด ‘ประยุทธ์ ๔’ กันเหลือหลาย ในหมู่รัฐมนตรีใหม่ ๑๒ คนนั้น ‘ท้อป ๕’ นำโดย ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ได้รับความนิยมถึงร้อยละ ๗๐.๕๘

(http://www.posttoday.com/politic/472002)

แหม่ อะไรมันจะให้คล้องจองไปเสียทั้งนั้น แม้กระทั่งนายตำรวจคนหนึ่งซึ่งพบว่าตลอดเวลาที่อยู่ในตำแหน่งสูงหลายปี มีรายได้พิเศษจากบริษัทผลิตสุราและเบียร์ยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งของไทยถึงเดือนละ ๕ หมื่นบาท เป็นที่วิพากษ์อย่างแรง จนกระทั่ง ปปช. จำต้องแถลงว่าได้เปิดการสอบสวนกรณีดังกล่าว

ไม่ทันไรอีกเหมือนกัน ปรากฏข่าวใหญ่ว่า น.ส.จิตภัสร์ (ภิรมย์ภักดี) กฤดาการ ไปร่วมงานวันสถาปนากองบัญชาการตำรวจนครบาลครบ ๙๔ ปี แล้วเอามาเขียนลงเฟชบุ๊คว่า

“ขอแสดงความยินดีและเป็นกำลังใจให้ พลตำรวจโท ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล...รุก รบ จบเร็ว ทำดี ทำได้ ทำทันที ค่ะ”

(http://www.matichon.co.th/news/405110)





น.ส.จิตภัสร์ คนนี้ เป็นบุคคลไม่ธรรมดา ตำแหน่งติดตัวคือ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย เป็นหนึ่งในหัวโจกม็อบเป่านกหวีดปิดกรุงเทพฯ ของ กปปส.

ถ้ายังไม่ลืมนะ เธอร่วมวงในการยกพวกไปด่าตำรวจที่หน้า สตช. แล้วมีการงัดป้ายทำลายตัวอักษรทองเหลืองของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ครั้นต่อมาภายหลังจากเสร็จสมอารมณ์หมาย ทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลเลือกตั้งได้เรียบร้อยแล้ว เธอต้องการจะเข้ารับราชการตำรวจ ด้วยความกรุณาปราณีของเฮียใหญ่ คสช. ทั่นรองประวิตร ส่งเสริมให้ทำการบรรจุเข้าเป็นผู้กองยอดรัก

หากแต่กำลังพลตำรวจที่ยังจำได้ว่าเคยโดนการ์ด กปปส. สกรัมทำร้าย เจ็บก็เยอะ ตายก็มี เลยเคลื่อนไหวคัดค้านจนพวกผู้บังคับบัญชาหน้าม้าน ยอมถอย การบรรจุหนูตั๊นเข้าตำรวจจึงยังค้างเติ่ง เสพสมบ่มิสมมาจนกระทั่งบัดนี้

การไปร่วมงาน ๙๔ ปี นบ. ของหนูตั๊นครั้งนี้ มิใช่แค่สดุดี “เสนาบดีกระทรวงนครบาลพระองค์แรก ต้นราชสกุลกฤดากร” ยังเป็นการยิงป้อปคอร์นนัดเดียวได้งานสองด้าน

หนึ่งนั้นได้มูลค่าเพิ่มจากการเป็นผู้ใช้นามสกุลกฤดาการ จากอาการชื่นมื่นของผู้บัญชาการตำรวจนครบาล

อีกหนึ่งนั่นในฐานะที่นามสกุลจริงของเธอคือ ‘ภิรมย์ภักดี’ เจ้าของ ‘บุญรอดบริวเวอรี่’ ได้ใจพลตำรวจโท ศานิตย์ มหถาวร ผู้ที่เคยอยู่ใน ‘payroll’ (รับเงินเดือน) ของเบียร์ช้าง คู่แข่งเบียร์สิงห์

วันหน้าฟ้าแจ้ง คิดจะเปลี่ยนยี่ห้อ ก็ได้นะ