วันเสาร์, ธันวาคม 10, 2559

หลากความเห็น พ.ร.บ.พรรคการเมือง สร้างความเข้มแข็ง หรือทำลายพรรคขนาดเล็ก




ภาพจาก โพสต์ทูเดย์


หลากความเห็น พ.ร.บ.พรรคการเมือง สร้างความเข้มแข็ง หรือทำลายพรรคขนาดเล็ก

Thu, 2016-12-08 23:19
ที่มา ประชาไท

รวมความคิดเห็นหลากภาคส่วน หลัง กรธ. เผยแพร่ ร่างกฎหมายพรรคการเมือง หลายฝ่ายหวั่นปิดกั้นพรรคเกิดใหม่ แต่มีชัย ยืนยันเขียนให้ก่อตั้งง่ายแล้ว ทหาร-ตำรวจ ก็เป็นสมาชิกพรรคได้ ด้าน ปชป. ชี้การเก็บเงินบำรุงพรรคเป็นไปได้ยาก เพราะคนชินรับเงินนักการเมือง

เมื่อวานนี้ กรธ. ได้เผยแพร่ร่าง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (พ.ร.บ.พรรคการเมือง)ซึ่งประกอบด้วย 10 หมวด 129 มาตรา โดย อุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการธิการร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่า เนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง มุ่งให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้ประชาชนควรเป็นเจ้าของพรรคการเมืองอย่างแท้จริง ทั้งนี้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังคงเป็นเพียงร่างกฎหมายที่ต้องรอการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และยังสามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ โดย กรธ. เตรียมจัดเวทีชี้แจงเนื้อหาร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากนักการเมือง และพรรคการเมือง ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในวันที่ 14 ธ.ค.2559





กกต. สมชัย เชื่อหลังประกาศใช้ พรรคการเมืองจะเหลือแค่ 10 พรรค แต่จะเป็นจะมีความเป็นสถาบัน

สำหรับวันนี้ (8 ธ.ค. 2559) ได้มีหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง หรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับกฎหมายดังกล่าว ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อมวลชน เริ่มต้นที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ร่างกฎหมายที่ออกถือว่ามีความสอดคล้องกับข้อเสนอของ กกต. ที่ต้องการให้การตั้งพรรคการเมืองมีความยากขึ้น ดำรงอยู่ได้ยากขึ้น และถูกยุบได้ยากขึ้น แต่ตั้งข้อสังเกตุถึงร่างกฎหมายดังกล่าวว่า มีลักษณะที่เอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองเก่า มากกว่าพรรคการเมืองใหม่หรือไม่ เช่น การเก็บเงินจากสมาชิกพรรค แต่พรรคเก่ามีครบแล้ว สามารถแปลงสินทรัพย์ก่อตั้งพรรคได้ ไม่ต้องเก็บเพิ่ม ทำให้ไม่เกิดการมีส่วนร่วม เพราะมีเงินจากนายทุนเดิม

สมชัยระบุด้วยว่า ได้แนะนำเจ้าหน้าที่ กกต. ให้นำตัวกฎหมายมาอ่าน ทำเป็นข้อกำหนดว่าพรรคเก่า พรรคใหม่ต้องทำอะไรบ้าง ใช้เวลาเท่าไหร่ และอาจจะทำข้อเสนอไป แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา และยังไม่มีมติอะไรที่จะเสนอความเห็นไปยัง สนช. แต่ถ้ามีเรื่องสำคัญจริงๆ คงพยายามทำให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุด

เมื่อถามว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะทำให้เกิดการปฏิรูปพรรคการเมืองหรือไม่ สมชัยกล่าวว่า ในอีก 3-4 ปีข้างหน้าหลังจากประกาศใช้กฎหมาย คาดว่าจะทำให้เหลือพรรคการเมืองไม่เกิน 10 พรรค โดยคิดจากเงินบริจาคให้พรรคการเมืองพรรคละ 2 ล้านบาท จากสมาชิกพรรค ส่วนหนึ่งจะเป็นผลดี ทำให้มีพรรคการเมืองจำนวนจำกัด ประชาชนจะทำความเข้าใจแต่ละพรรค แต่อาจมีปัญหาความไม่หลากหลาย ดังนั้นพรรคการเมืองจึงต้องปรับตัว และอาจจะมีการรวมตัวกันของพรรคการเมืองขนาดเล็ก เพื่อทำกิจกรรมทางการเมือง ส่วนที่กำหนดป้องกันไม่ให้คนนอกเข้ามาครอบงำพรรคการเมืองนั้น มองว่าแม้กฎหมายจะกำหนดไว้ เพื่อป้อมปราม แต่ต้องขึ้นอยู่กับผู้บังคับใช้กฎหมายด้วย





กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปท. ชี้เงื่อนไขการก่อตั้งพรรค สอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่แท้จริงของพรรคการเมือง

ด้านประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) เสรี สุวรรณภานนท์ ระบุว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมีจุดเด่นที่ใช้สำหรับการแก้ไขปัญหาทางการเมืองอย่างเข้มข้น และเนื้อหาส่วนใหญ่สอดคล้องกับข้อเสนอของ สปท. ด้านการเมือง ทั้งเรื่องสมาชิกพรรคการเมืองที่ให้มีการตรวจสอบ การกำหนดบทลงโทษรุนแรงกรณีซื้อขายตำแหน่ง ตั้งแต่จำคุก 5 ปี ไปจนสูงสุดถึงประหารชีวิต มีหลักการกำจัดนายทุนพรรคการเมือง เพื่อไม่ให้เข้ามาครอบงำ พร้อมการเพิ่มให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมตั้งแต่การตั้งคณะกรรมการบริหารจนไปถึงคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ตลอดจนการจ่ายค่าสมาชิกบำรุงพรรคการเมือง เพื่อให้สมาชิกร่วมกันเป็นเจ้าของพรรค

ส่วนที่มีการวิจารณ์กันว่าพรรคขนาดเล็กตั้งได้ยากนั้น เสรีกล่าวว่า ต้องยอมรับว่าการที่ กรธ. กำหนดไว้ 500 คน และให้มีทุนประเดิมพรรคการเมืองตรงกับความเป็นจริงที่พรรคการเมืองต้องมีการสนับสนุน อีกทั้งสาขาพรรคก็ต้องมีการตั้งที่เป็นกิจจะลักษณะ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพรรคการเมือง





มีชัยระบุ พรรคการเมืองก่อตั้งง่ายกว่าเดิม ขรก.-ทหาร-ตำรวจ เป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้

ขณะที่ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีชัย ฤชุพันธุ์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อฯ หลังจากมีเสียงท้วงติงว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ จะทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็กไม่สามารถอยู่ได้ เนื่องจากเรื่องทุนประเดิมสมาชิกขั้นต่ำเพื่อก่อตั้งพรรคการเมืองนั้น ว่า ตามกฎหมายพรรคการเมืองที่ผ่านมาก็ระบุอยู่แล้วว่า ต้องมีสมาชิกจำนวน 5,000 คนเป็นอย่างน้อย ซึ่งขณะนี้พรรคการเมืองที่มีไม่ถึง 5,000 คนก็กำลังถูกยุบกันอยู่ แต่สิ่งที่ กรธ. ได้เขียนไว้ก็ทำให้ง่ายขึ้น โดยพรรคการเมืองที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ต้องหาสมาชิกขั้นต่ำจำนวน 500 คน จากนั้นภายใน 1 ปี ต้องมีสมาชิก 5,000 คน และภายใน 3 ปีข้างหน้าให้ไปเพิ่มจำนวนสมาชิกให้ถึง 20,000 คน

เมื่อถามว่า มีการกล่าวในเรื่องสมาชิกซ้ำซ้อน และหากจะไปยืนยันอาจจะเป็นเรื่องยาก มีชัยกล่าวว่า ในครั้งนี้เขียนใหม่แล้วว่าใครจะเป็นสมาชิกต้องเสียเงิน ใครไม่เสียเงินค่าสมาชิกเมื่อครบกำหนดเวลาก็ต้องออกเลยใครอยากลาออกก็ออกได้ โดยส่งเรื่องมาที่นายทะเบียนได้เลย ทั้งนี้ ตนยืนยันได้เลยว่าไม่ได้เป็นการทำลายพรรคการเมืองขนาดเล็ก เพราะพรรคเล็กเองก็ต้องมีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 5,000 คน ต่ำกว่า 5,000 คน ใน 1 ปี คุณก็ต้องไป คน 500 คนสามารถมาจดทะเบียนตั้งพรรคได้ แต่ภายใน 1 ปีต้องมีสมาชิกอย่างต่ำ 5,000 คน

เมื่อถามว่า ตอนนี้เริ่มมีองค์กรอิสระเคลื่อนไหวเริ่มไม่พอใจนั้น มีชัยกล่าวว่า อย่าเพิ่งไปกังวล ร่างที่ กรธ. ทำขึ้นมาเป็นเพียงตัวร่าง ส่วน สนช.จะแก้ไขอย่างไรก็ยังไม่ทราบเลย สิ่งที่ กรธ. ทำนั้นก็ทำตามรัฐธรรมนูญ หาก กรธ. ไม่ทำก็อาจจะถูกตำหนิได้ และหากไม่มีทางเลี่ยงก็แปลว่าสิ่งที่เราทำนั้นไม่มีทางเลี่ยง แต่ถ้ามีทางเลี่ยงได้ สนช. เขาอาจจะเลี่ยงได้ก็เลี่ยงไปไม่มีใครว่าอะไร

เมื่อถามว่า กรธ. เองจะมีปัญหาหรือไม่ หากมีการปรับเปลี่ยนอย่างมาก ในระหว่างที่อยู่ในการพิจารณาของ สนช. มีชัยกล่าวว่า ไม่น่ามีปัญหา เพราะเป็นอำนาจของ สนช. ไปห้ามคงไม่ได้ กรธ.จะดูตอนสุดท้ายว่ามันจะขัดต่อหลักการหรือไม่ ถ้าขัดเราก็อาจจะทักท้วงบ้าง ถ้าไม่ขัดก็ต้องยอมรับเพราะเป็นอำนาจเขา ต้องยอมรับภารกิจซึ่งกันและกัน

เมื่อถามว่า ในเรื่องกฎหมายพรรคการเมือง ในส่วนของข้าราชการประจำที่มาเป็นสมาชิกพรรค ที่ไม่ได้เขียนไว้ให้ชัดเจน และอาจจะมีทหารไปตั้งพรรคการเมืองแล้วเกณฑ์เอาทหารไปเป็นสมาชิกเพื่อให้ครบจำนวนนั้น มีชัยกล่าวว่า ทุกวันนี้ข้าราชการทุกคนมีสิทธิเป็นสมาชิกพรรคการเมืองต่างๆ ได้ ทหาร ตำรวจ เป็นได้หมด ไม่เคยห้าม ไม่ว่าจะ ครม. หรือกฎหมายก็ไม่เคยห้ามเป็นได้อยู่แล้ว แต่กฎหมายข้าราชการการเมือง ไม่ให้ข้าราชการประจำไปเป็น แต่กฎหมายห้ามไปเป็นคณะกรรมการบริหารพรรค ถ้าอยากเป็นก็ลาออก เราเองก็ไม่ได้เขียนเรื่องพวกนี้ไว้

เมื่อถามว่ามองหรือไม่ว่าในอนาคตอาจจะมีพรรคการเมืองใหม่ที่เกิดมาพร้อมรัฐธรรมนูญใหม่ มีชัยกล่าวว่า ถ้ามีก็ดี จะได้มีทางเลือกเยอะๆ ให้ประชาชน ใครตั้งพรรคแล้วทำให้เกิดความความนิยม ความน่าเชื่อถือของประชาชนได้ก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีของประชาชนได้ไม่จำเป็นต้องถูกล้อมกรอบอยู่กับพรรคเก่าๆ





ทีมกฎหมายประชาธิปัตย์ ระบุการให้สมาชิกพรรคจ่ายเงินบำรุงทุกปี เป็นเรื่องยาก เพราะ ปชช. ชินกับการรับเงินนักการเมือง
ในฝั่งของพรรคการเมืองเองก็ได้มีการออกแสดงท่าที ต่อ พ.ร.บ.พรรคการเมืองด้วยเช่นกัน เริ่มต้นที่ พรรคประชาธิปัตย์ นำโดย องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์วันนี้ว่า เมื่อดูจากภาพรวมของกฎหมาย ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์เองไม่มีปัญหาอะไร เนื่องจากพร้อมที่จะปรับสภาพ และเตรียมรับมือกับกติกาที่เปลี่ยนแปลงไป โดยทางพรรคเองอาจจะมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น เนื่องจากต่อติดต่อกับสมาชิกพรรคที่มีอยู่แต่เดิมมากถึง 2 ล้านกว่าคน หากติดต่อทางไปรษณีย์ก็จะต้องใช้เงินเกืแบ 10 ล้านบาท บาท ซึ่งจะเป็นปัญหาและอุปสรรคของเราในการติดต่อประสานงาน ซึ่งต้องรอดูว่า กรธ. จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้ด้วย

เมื่อถามว่า จากร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ทำให้เป็นปัญหากับพรรคการเมืองขนาดเล็กหรือไม่ องอาจ กล่าวว่า เมื่อออกมาเป็นกฎหมายแล้ว ทุกพรรคการเมืองก็ต้องปฏิบัติตามนั้นอยู่แล้ว แต่ก็ทำให้การดำเนินการของพรรคการเมืองเกิดความยุ่งยากเพิ่มมากขึ้น แต่ในส่วนพรรค ปชป. ก็พร้อมที่จะรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหลายสิ่งหลายอย่างที่กำหนดไว้ในร่างพ.ร.บ. พรรค ปชป. ก็ปฏิบัติตามนั้นอยู่แล้ว เช่น ให้สาขาพรรคมีส่วนพิจารณาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่เราปฏิบัติตามข้อบังคับพรรคอยู่แล้ว ส่วนการเสนอข้อคิดเห็นไปยังเวที กรธ. ในวันที่ 14 ธันวาคม นั้น จะเสนอในสิ่งที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ส่วนจะมาร่วมในเวทีดังกล่าวหรือไม่ คงต้องพิจารณาก่อน เพราะตอนนี้ยังไม่มีการเชิญจาก กรธ.

ด้าน วิรัตน์ กัลยาศิริย์ หัวหน้าคณะทีมกฎหมายพรรคปชป. กล่าวว่า มองเรื่องการเสียค่าสมาชิกพรรคทุกปีเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียงอยู่ ประชาชนบางส่วนยังไม่รู้หน้าที่ของตนเอง ก็ยังชินกับการรับเงินจากพรรคการเมือง ซึ่งหากต้องหาจำนวนสมาชิกพรรคให้ได้ 20,000 รายชื่อ ภายภายใน 4 ปี แต่สมาชิกไม่เสียค่าสมาชิกพรรค 1-2 ปี ก็หมดสภาพการเป็นสมาชิกพรรคทันที ตรงนี้อาจทำให้รายชื่อสมาชิกพรรคหายไปไม่ถึงจำนวน 20,000 รายชื่อตามที่กำหนด พรรคก็อาจจะถูกยุบได้





นิพิฏฐ์ ชี้ กรธ. ร่างกฎหมายย้อนแย้ง ก่อนหน้าเคยบอกว่าต้องการให้พรรคการเมืองมีความหลากหลาย แต่กลับร่างกฎหมายบีบให้เหลือพรรคการเมือง แค่ 5-6 พรรค


ในขณะที่ นิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง ฉบับนี้ว่า เป็น กฎหมายที่มุ่งเน้นเฉพาะพรรคการเมืองที่จะส่งคนสมัครรับเลือกตั้งเป็นหลัก ซึ่งไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของพรรคการเมืองโดยทั่วไป เพราะพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาไม่ได้มุ่งจะสมาชิกเข้ามาในสภา พรรคการเมืองพรรคเป็นการรวมตัวของกลุ่มบุคคลเพื่อนโยบายในบางเรื่อง เช่น นโยบายเรื่องป่าไม้ ทะเล สิ่งแวดล้อม โดยไม่ได้เน้นเรื่อง ส.ส.ซึ่งกรธ.ก็ยอมรับว่าถ้าพรรคการเมืองไหนไม่สามารถตั้งขึ้นมาเพื่อส่งส.ส.ได้ก็กลายสภาพเป็นกลุ่ม ชมรม จึงทำให้คำจำกัดความพรรคการเมืองอ่อนแอ และแคบมาก จึงเห็นว่า เป็นร่างที่ล้าหลังชัดเจน

“หากเป็นไปตามร่างของ กรธ. จุดมุ่งหมายที่พูดมาตลอดว่า ต้องการความหลากหลาย ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ได้ต้องการให้พรรคใดพรรคหนึ่งผูกขาด ไม่ต้องการให้เด่นอยู่พรรค 2 พรรค ก็จะไม่เป็นไปตามที่เขาต้องการ ยิ่งทำให้พรรคการเมืองเหลือน้อย และไม่เป็นไปตามที่ต้องการปฏิรูป เมื่อกฎหมายพรรคการเมืองออกมาแล้วก็ต้องรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เช่น มีการให้มี ส.ส. 2 ระบบ แต่มีโอกาสเลือกได้ใบเดียว จะให้พรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งอย่างพรรคอย่าง ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ที่ไม่มี ส.ส. เขตเลย แต่ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 5 คน พรรคเหล่านี้จะไม่มีโอกาสเกิดอยู่แล้ว เพราะสมาชิกก็อาจจะไปอยู่ในกลุ่มการเมืองอื่น ซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองเหลือเพียง 5-6 พรรค”นายนิพิฎฐ์ กล่าว

เมื่อถามว่า คิดว่าทางกรธ.จะมีการเปลี่ยนแปลงอีกหรือไม่ นิพิฎฐ์ กล่าวว่า คงยาก ตนคิดว่า กรธ. มีธงอยู่แล้วทั้งนั้น แม้กระทั้งตัวรัฐธรรมนูญเอง แม้จะให้มีการแสดงความคิดเห็น ก็ยังเหมือนเดิม เช่นการเลือกตั้ง ส.ส. ส่วนการเปิดเวทีของ กรธ. ให้แสดงความคิดเห็นในวันที่ 14 ธันวาคมนั้น ทางพรรคคงไม่ไปเพราะเป็นการประกาศโดยรถแห่เชิญชวน ถ้าแจ้งมาเป็นลายลักษณ์อักษร พรรคก็จะแจ้งว่ามีข้อเสนออย่าบ้างไง ถ้าไม่เชิญเป็นทางการ ใครที่ไปร่วมในเวทีดังกล่าว ก็ต้องรับผิดชอบส่วนตัว อย่างไรก็ตาม แม้ กรธ. บอกว่าสามารถปรับแก้ได้ ก็เชื่อว่า เป็นเรื่องยากที่ กรธ. จะแก้





ณัฐวุฒิ ย้ำการเก็บเงินบำรุงพรรค คือการตัดสิทธิคนบางส่วนออกจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง

ในฟากฝั่งของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. ได้ระบว่า หลังร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติทุกพรรคการเมืองก็พยายามปรับตัวให้เข้ากับกติกาใหม่อยู่แล้ว แม้จะมีข้อวิพากษ์วิจารณ์บางประเด็น แต่ในฐานะผู้เล่นย่อมไม่มีทางเลือกอื่น สำหรับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง บางข้อเป็นข้อสังเกตเช่นให้สมาชิกพรรคจ่ายค่าบำรุงพรรค โดยหลักการแล้ว การเป็นสมาชิกพรรคควรเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มให้กว้างที่สุด เพราะการเก็บค่าบำรุง จะทำให้คนบางส่วนเกิดข้อจำกัดและขาดสิทธิตรงนี้ไป

ณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า การบังคับให้ต้องหาสมาชิกให้ได้เท่านั้นเท่านี้ตามกรอบเวลา คงไม่กระทบพรรรคใหญ่ แต่พรรคก่อตั้งใหม่ และพรรคเล็กอาจกลายเป็นข้อจำกัดที่มีปัญหาได้ ส่วนเรื่องการตรวจสอบรายชื่อที่มีความซ้ำซ้อนจะกลายเป็นภาระซ้ำเติม เพราะจนถึงขณะนี้แต่ละพรรคก็ยังไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้ ดังนั้นจะทำให้แต่ละพรรคมีเวลาน้อยไปอีก จึงเป็นที่มาของข้อสังเกตว่าเมื่อถึงงเวลานำไปปฏิบัติจริงจะเป็นปัญหาหรือไม่

“ส่วนตัวเห็นด้วย ในส่วนการให้บทบาทกับสาขาพรรค ในการร่วมกำหนดตัวผู้สมัครรับเลือกตั้ง เพราะไม่ให้อำนาจเกิดกระจุกตัว ตรงนี้ทุกพรรคอาจจะไม่คุ้นเคย และมองว่าอาจเป็นปัญหาในการปฏิบัติ และเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นการทำให้ทุกพรรคการเมืองต้องพิสูจน์ตัวเองว่า การยึดหลักประชาธิปไตยไม่ใช่แค่คำประกาศ หรือแค่คำพูดแต่ต้องทำให้ได้จริงด้วย และประชาชนสามารถสัมผัสได้” ณัฐวุฒิ กล่าว





ถาวร ระบุกฎหมายจะเขียนโทษหนักอย่างไรก็ไม่สำคัญ หากไม่บังคับใช้ก็ไม่มีประโยชน์

ในส่วนของ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. เองก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นกับร่างกฎหมายดังกล่าว โดย ถาวร เสนเนียม อดีตแกนนำกปปส. และอดีต ส.ส. สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ตามที่กฎมายที่ระบุให้พรรคการเมืองมีคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครเลือกตั้ง โดยมีตัวแทนจากคณะกรรมการบริหารไม่เกินกึ่งหนึ่ง ร่วมกับตัวแทนสาขาและตัวแทนจังหวัดว่า เป็นเรื่องที่พรรคประชาธิปปัตย์ทำมาอยู่แล้ว แต่เรียกว่าคณะกรรมการคัดเลือก มีที่มาจากที่ประชุมใหญ่ อันประกอบด้วย ประธานสาขาพรรค 100 กว่าคน อดีต ส.ส. อดีตเลขาธิการพรรค และกลุ่มตัวแทนประชาชน เรื่องนี้จึงไม่ได้กังวล

“แต่ในส่วนบทเฉพาะกาล ที่ระบุให้มีการยืนยันสถานะสมาชิกพรรคใน 180 วันนั้น ปกติแล้วทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะอัปเดตรายชื่อสมาชิกแต่ละพรรคให้เป็นปัจจุบันอยู่แล้ว ถ้าจะทดสอบให้สมาชิกยืนยันความสมัครใจอีกครั้ง เพราะเหตุมีข้อบังคับใหม่ ให้เสียค่าบำรุงพรรคนั้น เรื่องอย่างนี้ถ้าให้เวลาเพียง 6 เดือน ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์มีสมาชิก 2 ล้านกว่าคน ถ้าเขากำหนดมาเราก็ต้องทำให้ได้ เพราะเราเป็นฝ่ายประชาชน ทำเท่าที่ได้ จริงๆ แล้วเรามีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าพวกท่านอยู่แล้ว อย่าสอนพวกเราเลย ควรเอาเวลาไปคุมเข้มพรรคการเมืองที่เน่าดีกว่า” ถาวร กล่าว

ส่วนข้อที่ระบุว่าห้ามคนภายนอกพรรค เข้ามาแทรกแซงกิจการของพรรคนั้น ถาวร เห็นว่าต้องเป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว ที่ผ่านมาขอยกตัวอย่างว่า ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เกี่ยวข้องอะไร ถึงมาแทรกแซงพรรคเพื่อไทย ทั้งๆ ที่เขาเป็นคนภายนอกที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปแล้ว ก่อให้เกิดความวุ่นวายกับบ้านเมือง

“ดังนั้นก็ใช้คำว่า “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ไม่ได้ ส่วนข้อกำหนดนี้จะทำให้พรรคปลอดนายทุนหรือไม่นั้น ถ้าอ่านตามตัวอักษรก็ไม่มีนายทุน แต่ในความเป็นจริงคนที่อยู่นอกประเทศอาจจะให้เงินสนับสนุนพรรคใดพรรคหนึ่งทางอ้อมก็ทำได้ เป็นเพราะว่าการบังคับใช้กฎหมายไม่ถึง ไม่ว่าจะเขียนข้อห้ามให้มีโทษหนักอย่างไร ถึงขั้นประหารชีวิตก็เขียนได้ แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับการบังคับใช้ ถ้าเจ้าหน้าที่องค์กรอิสระ หรือ กกต. ไม่บังคับใช้ ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ที่มีการยุบพรรค หรือแจกใบแดงแต่ละครั้ง ก็เกิดจากภาคประชาชน และพรรคการเมืองเป็นคนจัดการริเริ่ม กลายเป็นว่า กกต. ทำงานในเชิงรุกไม่ดี ต่อให้เขียนกฎหมายแรงขนาดไหน ใส่เข้ามาเลย แต่ว่าพวกคุณต้องบังคับใช้กฎหมายเข้มข้นด้วย” ถาวร กล่าว

เรียบเรียงทั้งหมดจาก: มติชนออนไลน์ 1 , 2 , 3 , 4 , 5 ,6 , ผู้จัดการออนไลน์ 1 , 2 , 3 , สำนักข่าวไทย