วันอาทิตย์, ธันวาคม 11, 2559

10 ธันวา วันรัฐธรรมนูญ สำคัญม๊ากกก เลยฉีกทิ้งเป็นว่าเล่น ร่างเหมือนเด็กเล่นขายของ... 84 ปี รัฐธรรมนูญไทย เมื่อไหร่จะหยุดรัฐประหารได้




ooo


84 ปี รัฐธรรมนูญไทย เมื่อไหร่จะหยุดรัฐประหารได้




GETTY IMAGES

10 ธันวาคม 2016
ที่มา BBC Thai

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2559 กำลังรอการโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้อยู่ ถือเป็นฉบับที่ 20 นับแต่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อ 84 ปีก่อน

ด้วยอายุเฉลี่ยของรัฐธรรมนูญไทย ซึ่งอยู่ที่เพียงฉบับละ 4 ปีเศษ ก่อให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดจะอยู่ได้นานแค่ไหน มีโอกาสจะเป็น "ฉบับสุดท้าย" ที่มีอายุยาวนานเช่นเดียวกฎหมายสูงสุดของนานาอารยประเทศหรือไม่

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้รัฐธรรมนูญไทยมีอายุค่อนข้างสั้น ก็คือการรัฐประหารของกองทัพซึ่งถือเป็นผู้เล่นสำคัญบนเกมกระดานอำนาจของเมืองไทยมาอย่างช้านาน




REUTERS รัฐประหารปี 2557


นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มองว่า ไม่มีใครตอบได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีอายุยืนยาวแค่ไหน เพราะถ้าดูตัวอย่างจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ได้รับการยอมรับทั้งในส่วนของเนื้อหาและกระบวนการ สุดท้ายก็ยังเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากไปกำหนดให้อำนาจกับฝ่ายการเมืองมากเกินไป จนก่อให้เกิดวิกฤตในที่สุด

"แต่ผมก็ยังหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ น่าจะเป็นฉบับสุดท้าย จากข้อดีทั้งการผ่านความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติ และการกำหนดให้มีกระบวนการปฏิรูปประเทศอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงเวลาที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นเรื่องแค่ระหว่างตัวบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเท่านั้น แต่เกิดขึ้นจากความเหลื่อมล้ำ ซึ่งการปฏิรูปประเทศที่เกิดขึ้น ก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้"

นายคำนูณ กล่าวว่าการออกแบบกลไกเพื่อป้องกันปัญหาที่เคยเกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ให้อำนาจการเมืองตกอยู่กับนักการเมืองทั้งหมด กีดกันฝ่ายอื่นๆ ออกไป จะช่วยป้องกันรัฐประหารในระยะสั้นได้ โดยการกำหนดช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ที่ให้ผู้นำเหล่าทัพเข้ามาเป็น สมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่ง ทำให้ภาคราชการโดยเฉพาะทหาร เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการแผ่นดินผ่านทางรัฐสภา




GETTY IMAGES คำบรรยายภาพรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 ถูกยกเลิกตอนคสช.ประกาศยึดอำนาจ


ด้าน รศ.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช กล่าวว่า ไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่ารัฐธรรมนูญนี้จะเป็นฉบับสุดท้าย เนื่องจากรัฐธรรมนูญของไทยขาดความเป็นสถาบัน ประชาชนไม่รู้สึกหวงแหน เห็นได้จากเกิดรัฐประหารขึ้นเมื่อใด ก็มักถูกฉีกทิ้งทุกครั้งไป ต่อให้กองทัพเข้ามาปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เขามองว่าคงจะทำได้เฉพาะช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรก ที่ ส.ว.ทั้งหมดยังมาจากการแต่งตั้งโดย คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ และอำนาจของกองทัพยังเข้มแข็งเท่านั้น

"แต่พอพ้น 5 ปีนี้ไป ผมเชื่อว่าจะเริ่มมีการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในรัฐธรรมนูญนี้ ที่เขียนไว้เพื่อทำให้รัฐราชการเข้มแข็ง ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตยและกระแสโลกาภิวัตน์"

สำหรับโอกาสเกิดรัฐประหารในอนาคต รศ.ยุทธพร มองว่า เป็นไปได้เสมอ ตราบใดที่กองทัพและศาล ในฐานะผู้ถืออาวุธและกฎหมาย ยังไม่ได้รับการปฏิรูปอย่างจริงจัง โดยเฉพาะกองทัพที่ถือเรื่องระบบอาวุโสและรุ่นเป็นหลัก ทำให้ยากที่นายทหารซึ่งมีหัวคิดก้าวหน้าจะขึ้นมามีตำแหน่งสูง ๆ






ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2559


ขณะที่ รศ.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หากมองในเชิงประวัติศาสตร์ เขาไม่เชื่อว่ารัฐธรรมนูญนี้จะเป็นฉบับสุดท้าย เนื่องจากปัญหาของตัวรัฐธรรมนูญเอง ทั้งในส่วนของเนื้อหาที่มีจุดบกพร่องหลายอย่าง และการกำหนดให้แก้ไขได้ยาก ก็เป็นการเปิดช่องให้ถูกฉีกในอนาคตด้วยการรัฐประหารของกองทัพอยู่แล้ว

"ที่ให้ผู้นำเหล่าทัพมาเป็น ส.ว.ชุดแรก ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันอะไร เพราะเวลาจะรัฐประหาร ผู้นำเหล่าทัพเขาไม่ได้สนรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เมื่อปี 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ยึดอำนาจจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในขณะที่ตัวเองก็ยังเป็น ส.ส.ประเภท 2 ที่มาจากการแต่งตั้ง"

นักประวัติศาสตร์รายนี้มองว่า เหตุการณ์ในอดีตบอกเราว่า การจะรัฐประหารหรือไม่ เป็นอำนาจตามอำเภอใจของชนชั้นนำ รัฐธรรมนูญป้องกันไม่ได้ เขาจึงไม่เชื่อว่าฉบับนี้จะเป็นฉบับสุดท้าย และไม่เชื่อว่าจะไม่เกิดการรัฐประหารขึ้นอีก





การเมืองเรื่องตัวเลข

นับแต่คณะราษฎรได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) มาเป็นระบอบประชาธิปไตย (Democracy) ให้สถาบันพระมหากษัตริย์มาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ นับแต่วันที่ 24 มิ.ย.2475 ก็มีการประกาศใช้กฎหมายสูงสุดที่เรียกว่า "รัฐธรรมนูญ" ในประเทศไทยมาแล้วทั้งสิ้น 19 ฉบับ แบ่งเป็นรัฐธรรมนูญ "ฉบับถาวร" 11 ฉบับ และ "ฉบับชั่วคราว" (ที่บางครั้งเรียกว่าธรรมนูญการปกครอง) อีก 8 ฉบับ

ประเทศไทยเคยมีการรัฐประหารมาแล้วทั้งสิ้น 13 ครั้ง โดย 9 ครั้งได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในขณะนั้นทั้งฉบับ มีเพียง 4 ครั้งเท่านั้น ได้แก่การรัฐประหารโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในปี พ.ศ.2476. โดย พล.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ในปี พ.ศ.2476, โดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ในปี พ.ศ.2491 และโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี พ.ศ.2500 ที่ไม่มีการประกาศยกเลิก

กฎหมายสูงสุดของไทย ที่มีระยะเวลาใช้บังคับสั้นที่สุด คือ พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475 ใช้บังคับระหว่างวันที่ 27 มิ.ย.2475 - 10 ธ.ค.2475 รวมระยะเวลาเพียง 5 เดือน 13 วัน ก่อนถูกยกเลิกเมื่อมีการประกาศใช้ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม" ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ฉบับแรกของประเทศ

กฎหมายสูงสุดของไทย ที่มีระยะเวลาใช้บังคับยาวนานที่สุด คือ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม" โดยใช้บังคับระหว่างวันที่ 10 ธ.ค.2475 - 9 พ.ค.2489 รวมระยะเวลา 13 ปี 4 เดือน 29 วัน โดยถูกยกเลิกเนื่องจากมีการประกาศใช้ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2489"