วันพุธ, พฤศจิกายน 30, 2559

จากอนาล็อกถึงดิจิทัล: ประเทศไทยในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Thailand after King Bhumibol in perspective) - BBC Thai





Thailand after King Bhumibol in perspective

https://www.facebook.com/BBCThai/photos/a.1527194487501586.1073741828.1526071940947174/1854314141456284/?type=3&theater


ooo


จากอนาล็อกถึงดิจิทัล: ประเทศไทยในช่วงเปลี่ยนผ่าน





พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงฉายพระรูปในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2551


รศ. ดร. ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์นักรัฐศาสตร์
ที่มา BBC


"ระเบียงทัศน์" คือ พื้นที่สาธารณะแลกเปลี่ยน ความคิดเห็น อย่างเป็นเหตุเป็นผล ในประเด็นความเป็นไปในไทยและโลก บีบีซีไทย ไม่จำเป็น ต้องเห็นด้วย กับความคิดเห็นดังกล่าว

ในยุคดิจทัลที่ข้อมูลข่าวสารทั่วถึง ถ้วนหน้า และทันทีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้คนมักให้ความสนใจกับเหตุการณ์ ณ วันนี้หรือวันวาน มากกว่าอดีตหรือประวัติศาสตร์ที่ไกลตัว จึงนับเป็นเรื่องยากที่คนนอกจะเข้าใจบทบาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงมีต่อผู้คนในประเทศไทยอย่างยาวนาน เพราะมิติของกาลเวลาแตกต่างกันในแต่ละยุคสมัย และสภาวะแวดล้อมที่ต่างกันระหว่างคนในและคนนอก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์ยาวนานถึงเจ็ดสิบปี แต่มีคนจำนวนมาก ที่มักมองพลวัตรการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทย กลับไปแค่สิบปี หรือเกือบยี่สิบปี อย่างกับการเมืองไทยเพิ่งเริ่มเมื่ออดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ขึ้นสู่อานาจและเกิดการรัฐประหารที่ตามมา ซึ่งนำไปสู่การแตกแยกและความรุนแรงทางการเมืองระหว่างฝ่ายสีเหลืองและสีแดง





การที่จะเข้าใจว่าประเทศไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ต้องเข้าใจว่าประเทศนี้ผ่านอะไรมาบ้าง ผู้ที่สนใจการเมืองไทยจำเป็นต้องเข้าใจบริบทของกาลเวลาและสถานการณ์ที่ต่างกันแต่ละยุคสมัย ไม่ยึดติดกับเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาหรืออนาคตอันใกล้ การจะทำเช่นนี้ได้ เราควรยึดกรอบการวิเคราะห์ 3 แนวทาง ดังนี้  

ประการแรก ต้องตระหนักว่าการครองราชย์ถึงเจ็ดทศวรรษนั้นเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยในช่วงเวลาดังกล่าว นานจนผู้คนมองข้ามว่าพระองค์มิได้เตรียมพระองค์เพื่อเป็นกษัตริย์แต่อย่างใด กาลครั้งหนึ่งพระองค์ทรงเป็นแต่เพียงพระอนุชาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระบรมฉายาลักษณ์ และภาพยนตร์เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ แสดงให้เห็นถึงความรักความใกล้ชิดระหว่างทั้งสองพระองค์ที่มีต่อกัน พระเชษฐาและพระอนุชาทรงเป็นเพื่อนสนิทอย่างแทบจะแยกออกจากกันไม่ได้ ช่วงเวลาที่ทั้งสองพระองค์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ก็เป็นยุคที่ระบบกษัตริย์อยู่ในช่วงตกต่ำด้วย 



 
พระเชษฐาและพระอนุชาทรงเป็นเพื่อนสนิทอย่างแทบจะแยกออกจากกันไม่ได้



หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์ถูกยกเลิก แทนที่ด้วยระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อรัชกาลที่ 7 ทรงสละราชบัลลังก์ กลุ่มอำนาจใหม่ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนซึ่งต่อสู้ชิงอำนาจกันต่างพอใจที่จะได้กษัตริย์พระองค์ใหม่ที่ยังทรงพระเยาว์ เมื่อรัชกาลที่ 8 สวรรคตโดยไม่คาดหมายในปี พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ยังทรงเป็นเพียงวัยรุ่น แต่ทรงจำเป็นต้องขึ้นครองราชย์แทนพระเชษฐาอย่างแทบไม่มีทางเลือก 

ชาวไทยรู้ว่าพระเจ้าอยู่หัวของเขาไม่ได้ทรงต้องการเป็นกษัตริย์แต่เริ่มแรก แต่เมื่อทรงครองราชย์แล้ว กลับทรงมุ่งมั่น และทรงงานหนัก ในภารกิจการสร้างชาติ ทรงเดินทางอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อยเพื่อเยี่ยมราษฎรในทุกท้องที่ทุรกันดาร ไม่ว่าจะเป็นเทือกเขาสูงหรือป่าทึบที่เสี่ยงต่อโรคมาลาเรียและอันตรายอื่นๆ เพื่อที่จะให้ราษฎรได้รับการบริการของรัฐและได้รับประโยชน์ต่อโครงการพัฒนาต่างๆ พระราชกรณียกิจเหล่านี้ทำให้ทรงได้รับความรักความศรัทธาจากประชาชนอย่างท่วมท้น ส่งผลเป็นพระราชอำนาจทางศีลธรรมที่ประชาชนได้มอบให้แก่พระองค์โดยตรง 







พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงริเริ่มก่อตั้งและสนับสนุนสาธารณกุศลต่าง ๆ มากมาย ทรงลงพระนามาภิไธยในกฎหมายนับไม่ถ้วน ทรงสนับสนุนการศึกษาและเสด็จพระราชทานปริญญาด้วยพระองค์เอง ประชาชนเองเห็นถึงความมุ่งมั่น ความวิริยะอุตสาหะ และความเสียสละความสุขส่วนพระองค์ที่ทรงทำมาต่อเนื่องยาวนาน เพื่อช่วยให้ประเทศไทยซึ่งยังมีปัญหาความยากจนและอื่น ๆ ให้พ้นจากภัยอันตรายจากการเมืองโลกที่คุกรุ่นในขณะนั้น ทรงเดินทางไปยังประเทศต่างๆ เพื่อสร้างมิตรภาพ ให้ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนให้พ้นภัยจากสงครามเย็น แต่หลังจากการเดินทางครั้งล่าสุด ในปี พ.ศ. 2510 ก็ไม่ได้เสด็จออกจากประเทศไทยอีกเลยนับเป็นเวลาถึง 49 ปี ตราบจนกระทั่งเสด็จสวรรคต จะมียกเว้นก็แต่เพียงช่วงระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น ที่เสด็จข้ามสะพานไปสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อทรงเปิดสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งแรก ในปี พ.ศ. 2537

ประการที่สอง ประชาชนซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้เห็นการทรงงานอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อยของในหลวงรัชกาลที่ 9 ตลอดเจ็ดสิบปี พระองค์และประชาชนมีความผูกพันต่อกันอย่างใกล้ชิด พระองค์จึงทรงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งที่ช่วยให้ประเทศไทยสามารถผ่านช่วงอันตรายในยุคสงครามเย็น ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านต้องประสบภาวะสงคราม บ้านแตกสาแหรกขาด 







ในช่วง เมษายน-พฤษภาคม พ.ศ. 2518 ประเทศกัมพูชา เวียดนามใต้ และลาวโดนระบอบคอมมิวนิสต์ยึดครอง ส่วนประเทศพม่าอยู่ภายใต้รัฐทหารมานานกว่าทศวรรษแล้วในขณะนั้น ในช่วงอันตรายนี้ อุดมการณ์ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ มีผลต่อความมั่นคงทางจิตใจของคนไทย ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียว ช่วยให้ประเทศไทยผ่านสถานการณ์อันยากลำบากนี้มาได้

ชัยชนะต่อฝ่ายคอมมิวนิสต์และการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษเป็นผลสำเร็จสำคัญที่สุดของประเทศไทยภายใต้รัชกาลที่ 9 การที่ทรงเป็นศูนย์กลางจิตใจของประชาชนเป็นคุณต่อสถานการณ์บ้านเมืองในเวลานั้นอย่างยิ่ง ในสถานการณ์และสถานะเดียวกันผู้อื่นอาจจะไม่ทุ่มเทให้ประเทศชาติเท่าพระองค์ จริงๆ แล้วก็ไม่ทรงมีความจำเป็นต้องทำเช่นนั้นเลย เมื่อคนไทยเห็นเพื่อนบ้านรอบข้างต้องประสบชะตากรรมอย่างไร จึงรู้สึกว่าเป็นมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งที่ทำให้เขาไม่ต้องลำบากเช่นนั้น การสวรรคตของพระองค์จึงนำความเศร้าโศกเสียใจต่อพสกนิกรอย่างมหาศาล ชาวไทยส่วนใหญ่เกิดในรัชกาลที่ 9 การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ภูมิพลอดุลยเดช จึงมิใช่เป็นเพียงการสิ้นสุดการครองราชย์ของพระองค์ แต่เปรียบเสมือนการสิ้นสุดของส่วนหนึ่งของชีวิตจิตใจประชาชนเช่นกัน







ประการสุดท้าย ความสำเร็จในรัชกาลนี้ที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจสังคมการเมืองไทยเข้มแข็งและอยู่รอด ได้สร้างปัจจัยที่ท้าทายตนเองในเวลาเดียวกัน

การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง การศึกษาที่แพร่หลายทั่วถึงมากขึ้น และการเชื่อมต่อกับโลกภายนอก ทำให้ประชาชนต้องการมีสิทธิ์มีเสียง และได้รับการยอมรับให้มีส่วนร่วมในการปกครอง แม้ประชาธิปไตยเบ่งบานขึ้น แต่ก็ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด จนถึงยุคของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งความขัดแย้งการเมืองเรื่องสีกลายเป็นวิกฤตการเมืองของไทยในคริสต์ศตวรรษที่ 21

ถึงแม้จะถูกศาลสั่งยุบพรรคถึงสองครั้ง พรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ภายใต้การนำของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณก็ชนะการเลือกตั้งทุกครั้ง พรรคล่าสุดคือพรรคเพื่อไทยซึ่งนำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของอดีตนายกทักษิณ ชนะเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2554 ได้รับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี จนถูกทหารรัฐประหารในเวลาต่อมา







การพุ่งเป้าวิกฤตการเมืองไทยไปที่การเมืองเรื่องสีเพียงอย่างเดียว อาจทำให้เข้าใจภาพใหญ่การเมืองไทยคลาดเคลื่อนและไม่ครบถ้วน ประชาธิปไตยและการเมืองไทย ไม่ได้อยู่ ๆ ก็เฟื่องฟู ขึ้นมาเมื่ออดีตนายกทักษิณขึ้นสู่อำนาจ ต้องไม่ลืมวิธีการบริหารบ้านเมืองที่ผูกขาด ตลอดจนข้อครหาเรื่องความฉ้อฉลและผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งหลายที่เอื้อแก่ญาติพี่น้องและพวกพ้อง

ตัวอย่างที่เห็นชัดมีมากมาย นับตั้งแต่การบิดเบือนกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของตน หรือการให้สัมปทานต่าง ๆ แก่พวกพ้อง อย่างไรก็ตาม ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของทักษิณควรต้องเคารพ กฎกติกาและผลการเลือกตั้ง ต้องเรียนรู้หาทางที่จะชนะเสียงของประชาชน ทั้งนี้ สังคมก็พึงตระหนักจากสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกเช่นกันว่า เพียงการเลือกตั้งนั้นไม่เพียงพอที่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตย ทำงานได้และเป็นที่ยอมรับแก่ทุกฝ่าย ประชาธิปไตยต้องมีมากกว่าการเลือกตั้ง แต่ถ้าไม่เลือกตั้งโดยประชาชนก็เป็นประชาธิปไตยไม่ได้

สถานการณ์ของประเทศไทยก็คือการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ตลอดเจ็ดทศวรรษนี้ ได้เสริมสร้างให้ประเทศไทยได้เจริญเติบโตก้าวหน้าพัฒนาเป็นประเทศสมัยใหม่ แต่ข้างหน้าก็มีสิ่งท้าทายสำคัญหลายประการภายใต้พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่เช่นกัน







เพื่อที่จะดำรงเสถียรภาพและความมั่นคงต่อไปในอนาคต ประเทศไทยจำเป็นต้องยอมให้ฝ่ายต่าง ๆ ได้มีส่วนร่วมเจรจาสร้างข้อตกลงทางการเมืองอันใหม่ร่วมกัน เราจำเป็นต้องมีระบอบรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้ระบบประชาธิปไตยและระบบกษัตริย์มีความสมดุลซึ่งกันและกัน เพื่อที่สถาบันการเมืองจะได้มีความเข้มแข็งขึ้นตามครรลองประชาธิปไตย และสถาบันพระมหากษัตริย์สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมสมัยใหม่ได้

ขบวนการเพื่อสร้างฉันทานุมัติใหม่นี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยความเป็นผู้นำของรัฐบาลทหาร ไม่มีผลงานใดของรัฐบาลจะสำคัญต่อประเทศยิ่งกว่าการเป็นตัวกลางในการสร้างความปรองดอง ให้ฝ่ายต่าง ๆ เข้ามาเจรจากัน ตลอดจนหว่านล้อมหรือผลักดันให้ทุกฝ่ายเห็นผลประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่าผลประโยชน์ของฝ่ายตน

เมื่อเราย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ที่ผ่านมาตลอดช่วงรัชกาลที่ยาวนาน จะเห็นว่าประเทศไทยจะอยู่รอดปลอดภัยก้าวเข้าสู่ความทันสมัยไม่ได้เลยถ้าไม่มีในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพลังด้านจริยธรรม และผู้นำในความเสียสละเพื่อประเทศชาติ และชาวไทยไม่มีใครเสมอเหมือน ทรงนำประเทศผ่านพ้นภัยต่าง ๆ ด้วยพระบารมีส่วนพระองค์ด้วยพลังความรักความศรัทธาของประชาชน เราควรตระหนักถึงความจำเป็นของยุคสมัย ถ้าไม่มีในหลวงรัชกาลที่ 9 ปวงชนชาวไทยจะไม่มีวันนี้ 







แน่นอนต่อจากนี้ไป ประเทศไทยคงต้องมีการปฎิรูป ปรับตัว เปลี่ยนแปลงตามเงื่อนไขและสภาวะความจำเป็นที่ยุคสมัยกำหนด แต่ใครก็ตามที่จะประเมินประเทศไทยในช่วงเปลี่ยนผ่าน หลังเจ็ดสิบปีภายใต้รัชกาลที่ 9 ไม่ควรนำบรรทัดฐานยุคดิจิทัลมาตัดสินเหตุบ้านการเมืองที่มีความเป็นมาจากยุคอนาล็อก



รองศาสตราจารย์ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ เป็นผู้อำนวยการสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ และสอนวิชาเศรษศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

(สนิทสุดา เอกชัย อดีตบรรณาธิการหน้าบทความ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ถอดความเป็นภาษาไทย)

...

เรื่องเกี่ยวเนื่อง...