วันศุกร์, พฤศจิกายน 11, 2559

มีรายงานการข่มเหงชนเสื้อสายต่างด้าว และชาวมุสลิม เนื่องจากชัยชนะของทรั้มพ์แล้ว + รวมทั้งมีข่าวแรงขึ้นของกระบวนการ 'แยกแคลิฟอร์เนียกับระบบรัฐบาลกลาง' #CALEXIT ด้วย





วันที่สองของชัยชนะเลือกตั้งประธานาธิบดี ดอแนลด์ ทรั้มพ์ กลับมาเป็นคนเดิมสมัยหาเสียง ด้วยการใช้ทวิตเตอร์ตอบโต้ โจมตีใครก็ตามที่เขาไม่พอใจ โดยเฉพาะสื่อมวลชน

“เพิ่งผ่านการเลือกตั้งที่เปิดเผยและประสพความสำเร็จ นี่มีพวกนักประท้วงอาชีพ ยุยงโดยพวกสื่อ มาต่อต้าน มันไม่แฟร์อย่างยิ่ง”

แท้จริงพวกที่ออกมาประท้วงสองวันที่ผ่านมาในแคลิฟอร์เนียและนิวยอร์ค ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาและชนกลุ่มน้อยผิวสี ที่ทรั้มพ์เคยดูหมิ่นและให้ร้าย แม้แต่นักเรียนระดับไฮสกูลในซาน ฟรานซิสโก ที่ออกมาเดินประท้วงทรั้มพ์กันบนท้องถนน ส่วนใหญ่ก็เป็นเด็กผู้หญิง

การประท้วงเช่นนี้ ผู้สันทัดกรณีในแวดวงสื่อให้ความเห็นว่า เหมือนกับที่เกิดขึ้นในอังกฤษหลังจากโหวต ‘Brexit’ ผ่านประชามติ สักสองอาทิตย์ก็จะสงบลง

แต่การกลับมาต่อล้อต่อเถียงของทรั้มพ์ประดุจดังยังเป็นผู้สมัครกำลังหาเสียง มันทำให้ความหวาดหวั่นของฝ่ายสนับสนุนฮิลลารี่ อันมีประชากรเพศหญิง คนเชื้อสายแม็กซิกัน และผู้นับถือศาสนามุสลิม ถึงการถูกกดขี่ที่จะได้รับจากรัฐบาลของประธานาธิบดีทรั้มพ์ ยิ่งแจ่มแจ้งสมจริงมากขึ้น

กลุ่มสิทธิมนุษยชนชาวมุสลิมในสหรัฐแถลงเมื่อวันพฤหัสบดี (ที่ ๑๐ พ.ย.) ว่ามีรายงานสตรีมุสลิมถูกทำร้ายอย่างน้อยสองรายในแคลิฟอร์เนีย (ที่ ซาน ดิเอโก และ ซาน โฮเซ่) กลุ่มนี้เรียกร้องให้ทรั้มพ์ประณามการกระทำดังกล่าว

แม้นว่าจะมีการใช้ความรุนแรงจากผู้ต่อต้านทรั้มพ์ต่อผู้สนับสนุนว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่สองสามราย แต่รายงานข่าวรอยเตอร์แจ้งว่ามีการข่มเหงชนเสื้อสายต่างด้าว และชาวมุสลิม เนื่องจากชัยชนะของทรั้มพ์หลายรายเช่นกัน

(http://www.reuters.com/…/us-usa-election-attacks-idUSKBN135…)

ที่น่าห่วงก็คือการที่เด็กผิวสีเลือดต่างด้าวในโรงเรียนประถมถูกข่มเหงกลั่นแกล้ง แบบที่เรียกว่า ‘bullying’ เกิดขึ้นหลายรายในช่วงนี้

มิใยที่นางฮิลลารี่ คลินตัน กล่าวไว้ในปาฐกถายอมรับความพ่ายแพ้ในวันรุ่งขึ้นหลังจากการลงคะแนน เจาะจง “ถึงเด็กๆ ผู้หญิงที่กำลังดูอยู่นี้ ขออย่าได้ชงักสงสัยเลยว่าพวกหนูเป็นผู้มีคุณค่า มีพลัง และมีความเหมาะสมเปี่ยมล้นในทุกๆ ทางเลือกและโอกาสในโลกใบนี้ ที่จะขวนขวายใฝ่หาและได้รับในสิ่งที่แต่ละคนใฝ่ฝัน”

และ “สำหรับสตรีทุกคน โดยเฉพาะที่ยังเยาว์วัยซึ่งได้ทุ่มเทศรัทธาแก่การเลือกตั้งครั้งนี้ และกับตัวฉัน ขอให้ทราบว่า...ถึงเราจะยังไม่สามารถทะลายเพดานแก้วอันเหนียวแน่นและสูงลิบที่สุดให้แตกกระจายได้ แต่สักวันหนึ่งจะมีคนทำให้สำเร็จได้ และหวังว่าจะมาถึงในเวลาสั้นกว่าที่เราคิดขณะนี้”

นั่นหลังจากเธอขอให้ผู้สนับสนุนเปิดโอกาสให้ประธานาธิบดีคนใหม่ ได้จัดการปกครองของเขาตามอาณัติแห่งการได้รับเลือกตั้ง

(https://www.washingtonpost.com/…/hillary-clinton-didnt-gi…/…)







นั่นทั้งที่ฮิลลารี่ได้รับคะแนนเสียงรายหัว ‘popular votes’ มากกว่าทรั้มพ์ ๒๕.๖ ต่อ ๒๕.๕ เปอร์เซ็นต์ แต่คะแนนตัดสินอยู่ที่เสียงตัวแทน ‘electoral votes’ ๔๘ ต่อ ๔๗ เปอร์เซ็นต์ โดยมีคนไม่ไปเลือกตั้ง หรือไม่ได้ออกเสียงถึง ๔๖.๙ เปอร์เซ็นต์

ขณะที่นักการเมืองสายการบังคับบัญชาของพรรครีพับลิกันในสภาคองเกรส ที่เป็นไม้เบื่อกับความสามหาวปากไม่มีหูรูดของทรั้มพ์ระหว่างการรณรงค์หาเสียง และปริ่มๆ จะตัดขาดจากผู้สมัครในสังกัดของพรรคคนนี้ ต่างเปลี่ยนท่าทีหันมาสมัครสมานหวานชื่นต่อกัน





อีกทั้ง ถึงแม้พรรคเดโมแครทจะได้สมาชิกคองเกรสเพิ่มจากเดิม แต่ไม่มากพอที่จะช่วงชิงสถานะเสียงข้างมากไปจากพรรครีพับลิกันได้ โดยเฉพาะในวุฒิสภาดังที่ลุ้นกันมา แต่เดโมแครทก็สามารถส่งสตรีเลือดผสมสามคนเข้าไปสู่วุฒิสภาได้ คือ

คามาล่า แฮริส (เลือดผสมคนดำกับอเมริกันอินเดียน) จากแคลิฟอร์เนีย แคทธรีน คอร์เทซ แมสโต เชื้อสายลาติน จากรัฐเนวาด้า และแทมมี่ ดั๊กเวิร์ธ เลือดผสมอเมริกัน-ไทย จากอิลลินอยส์

เช่นเดียวกับคามาล่า แฮริส ที่ประกาศจะต่อสู้กับประธานาธิบดีทรั้มพ์อย่างสุดเหวี่ยงในประเด็นผู้อพยพ วุฒิสมาชิกหญิงเดโมแครทเก่าแก่ที่ฟัดเหวี่ยงกับทรั้มพ์อย่างหัวเห็ดมาตลอดฤดูหาเสียง ยังคงต่อกรไม่ลดละในวันที่สองหลังชัยชนะของทรั้มพ์

เอลิซาเบ็ธ วอเร็น แห่งแมสซาชูเส็ท ไปพูดที่สมาพันธ์แรงงาน เอเอฟแอล-ซีไอโอ ประกาศงัดข้อกับประธานาธิบดีคนใหม่เพื่อปกป้องชนเชื้อสายลาติน ผิวดำ มุสลิม ผู้อพยพ และคนพิการ ที่ทรั้มพืเคยหยามเหยียดไว้

เธอบอกว่า “ทรั้มพ์กระตุ้นให้เกิดเมือกพิษของความเกลียดชังและความหวาดกลัว” แล้วยัง “แสดงจุดยืนที่บ่อนทำลายค่านิยมแก่นกลางของระบอบประชาธิปไตยอยู่เสมอ” ระหว่างการหาเสียง เธอจะไม่ยอมให้มีการผ่อนปรนระเบียบกำกับสถาบันการเงิน ซึ่งเธอได้ต่อสู้ทัดทานพลังของพรรครีพับลิกันมาอย่างได้ผล

ถึงกระนั้นวุฒิสมาชิกวอเร็นก็ยังยื่นมือไปหาว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ ถ้าหากทรั้มพ์สนับสนุนกฎหมายแยกแผนกการลงทุนและบัญชีฝากรายวันออกจากกัน การปฏิรูปข้อตกลงทางการค้า ปกปักรักษาค่าตอบแทนประกันสังคม ช่วยเหลือโครงการดูแลเด็กอ่อนและค่าใช้จ่ายการเรียนมหาวิทยาลัย แล้วละก็เธอว่า “ฉันเอาด้วย”

(http://www.reuters.com/…/us-usa-election-warren-idUSKBN1352…)





ที่จะไม่เอากับทรั้มพ์เลยแม้แต่นิด เห็นจะเป็นกระบวนการ ‘Yes California’ ที่ได้ลมโหมกระพือจากการที่ทรั้มพ์ได้ชัยชนะเลือกตั้งประธานาธิบดี

‘เยส แคลิฟอร์เนีย’ เป็นกระบวนการรณรงค์เพื่อแยกตัวรัฐแคลิฟอร์เนียเป็นอิสระจากสหรัฐอเมริกา ทำนองเดียวกับที่อังกฤษแยกตัวจากอียู มาก่อนฤดูการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีปีนี้ มาร์คัส รูอิซ เอแวนส์ เป็นรองประธานของกลุ่มที่พาพวกจำนวนหยิบมือไปผสมโรงประท้วงการได้ชัยชนะของทรั้มพ์ที่หน้าตึกรัฐสภามลรัฐแคลิฟอร์เนียในนครแซ็คคราเม็นโต เมื่อคืนวันพุธ (ที่ ๙ พ.ย.)

“สัมพันธภาพระหว่างแคลิฟอร์เนียกับระบบรัฐบาลกลางไม่ได้เรื่องเสียเลย” นายรูอิซ เอแวนส์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว นสพ.แอลเอไทมส์ ด้วยว่า เงินภาษีที่แคลิฟอร์เนียจ่ายให้กับรัฐบาลกลางสหรัฐ ไม่ได้สนองกลับต่อการสร้างเสริมสาธารณูปโภคและโครงการเพื่อสาธารณะในมลรัฐ

อันที่จริงกลุ่มนี้เตรียมตัวออกมาชุมนุมเรียกร้องให้เริ่มต้นกระบวนการ ‘Calexit’ กันหลังจากเสร็จเลือกตั้ง โดยไม่ได้มุ่งหมายว่าใครจะได้รับเลือก โครงการรณรงค์จะผลักดันให้มีการออกร่างข้อเสนอภายในปี ค.ศ. ๒๐๑๘ สำหรับการทำประชามติในปี ค.ศ. ๒๐๑๙





แต่ในเมื่อ “ตอนนี้อเมริกาเลือกทรั้มพ์ไปแล้ว ก็จะไม่มีใครมาเถียงกับเราอีกว่าอเมริกากำลังประสพกับความล้มเหลว” รูอิซ เอแวนส์ เน้น

“ดังนั้นคำถามตรงนี้มีว่า คุณต้องการจะจมไปกับเรือที่ล่มละหรือ ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าเรามีเรือที่สามารถท่องไปในน่านน้ำเศรษฐกิจนานาชาติอย่างสบายด้วยตนเอง”

(http://www.latimes.com/…/la-na-election-aftermath-updates-t…)

หากใครได้เข้าไปเรียนรู้โครงการรณรงค์ของกลุ่ม ‘เยส แคลิฟอร์เนีย’ จากเอกสารที่เรียกว่า ‘Calexit Blue Book’ จะพบข้ออ้างที่ว่าแคลิฟอร์เนียให้แก่รัฐบาลกลางมากกว่าได้รับกลับมา และเศรษฐกิจของแคลิฟอร์เนียสามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างสบาย ไม่ต้องพึ่งพารัฐบาลกลาง

หลักใหญ่ใจความ แคลิฟอร์เนียติดต่อค้าขายกับนานาชาติประดุจดังประเทศใหญ่ๆ ประเทศหนึ่ง มูลค่าการค้าระดับโลกของแคลิฟอร์เนีย ติดอันดับหนึ่งในสิบ (อันดับ ๖ ต่อจากอังกฤษ เหนือฝรั่งเศส) ของหมู่ประเทศยักษ์ใหญ่เศรษฐกิจโลก