วันอังคาร, พฤศจิกายน 22, 2559

หนี้เสียทะยานไม่หยุด แบงก์เทขายแสนล้าน





ปิยะ พงษ์อัชฌา



โดย ฐานเศรษฐกิจ
- 21 November 2559


“เอเอ็มซีรัฐ-เอกชน”คาดปีหน้าธนาคาร-นอนนแบงก์จ่อขายเอ็นพีแอลนับแสนล้านบาทเพิ่มจากยอดสิ้นปีแค่ 6-7 หมื่นล้านบาท สะท้อนปัญหาหนี้เน่ายังรุนแรง โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อยและเอสเอ็มอีเผยสัญญาณร้ายเช่าซื้อลูกค้าชั้นดีเริ่มติดค่างวด ด้านสถาบันการเงินเล่นบทเข้มค้างชำระงวดเดียวส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาทันที

นายปิยะ พงษ์อัชฌา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ปีหน้ามีแนวโน้มที่ธนาคารพาณิชย์และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์)จะประกาศขายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ประมาณ 1แสนล้านบาท ซึ่งเป็นผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจทำให้สินเชื่อทั้งในส่วนที่นอนแบงก์และสถาบันการเงินรุกทำตลาดโดยมีการเติบโตในอัตรา 30% ก่อนหน้ากลายเป็นเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

สำหรับสิ้นปีนี้มีเอ็นพีแอลออกเสนอขายจำนวน 6 หมื่นล้านบาท โดยเจเอ็มทีซื้อเข้ามาแล้ว 1หมื่นล้านบาทที่เหลือเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมจะซื้ออีก 1 หมื่นล้านบาทซึ่งเป็นไปตามเป้า 2 หมื่นล้านบาทใช้งบลงทุน 1,200 ล้านบาทโดยสิ้นปีพอร์ตรวมจะอยู่ที่ 1.1 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันกำลังเจรจากับ 5 สถาบันการเงินคาดว่าจะไปตกลงกันในปีหน้า ซึ่งตั้งเป้าซื้อทั้งปี 3 หมื่นล้านบาท ใช้งบลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาทปัจจุบันเจเอ็มทีมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ในสัดส่วน 90%

“ปีนี้หนี้ค้างชำระ 12 งวดสถาบันการเงินเจ้าหนี้จะบันทึกค่าใช้จ่ายทางบัญชีแล้วขายออกเลยซึ่งกระชับขึ้น เมื่อก่อนหลังตัดหนี้แล้วเจ้าหนี้จะติดตามทวงถามระยะหนึ่งก่อนจะนำออกขาย แต่เป็นผลบวกกับเราโดยยังสามารถรักษาผลตอบแทนจากการลงทุนที่ 12% ที่สำคัญหลังกฎหมายทวงถามหนี้มีผลบังคับใช้ทำให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้ต้องการมืออาชีพ”

เช่าซื้อเข้มทวงหนี้

นายวีรพล ตัณสถิต กรรมการบริษัท วัชรรัตน์ คอนซัลแทนท์ จำกัด และในฐานะประธานสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ไทย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ภาพรวมหนี้เอ็นพีแอลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เห็นได้จากบัญชีปกติที่สมาชิกซึ่งเป็นบริษัทตัวแทนในการรับติดตามทวงถามหนี้ให้กับธนาคารหรือสถาบันการเงินเริ่มผ่อนชำระตึงตัว เช่น สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ลูกหนี้ค้างชำระ3งวดขอผ่อนจ่ายบางส่วนคือ 1 งวด

ขณะเดียวกันลูกหนี้ที่ผ่อนชำระมาเป็นเวลา 1-2 ปีไม่เคยมีประวัติค้างชำระแต่เริ่มมีสัญญาณค้าง 1-2 งวด และขณะนี้บางสถาบันการเงินเจ้าหนี้จะส่งลูกหนี้ที่ค้างชำระเพียง 1 งวดให้บริษัทตัวแทนฯ ซึ่งก่อนหน้านี้ กว่าจะส่งให้ทวงถามก็ต่อเมื่อลูกหนี้มียอดค้างชำระ 3 งวดโดยสถาบันการเงินเจ้าหนี้จะทำหนังสือบอกเลิกสัญญาและให้เวลาลูกหนี้ 1 เดือนเพื่อไปชำระ แต่หากภายใน 30 วันไม่มีการชำระ จึงจะส่งให้บริษัทตัวแทนฯติดตามทวงรถยนต์ซึ่งเป็นหลักประกันคืนเจ้าหนี้

“เอ็นพีแอลหลายธนาคารหรือไฟแนนซ์และนอนแบงก์มีสัญญาณน่าห่วง แต่ในสมาคมเราจะพูดคุยและประสานกันระหว่างสมาชิก 170 บริษัทซึ่งมีเจ้าหน้าที่ทั่วประเทศประมาณ 1 หมื่นคน เพื่อความสะดวกในการติดตามลูกหนี้และหลักประกัน เช่น ลูกหนี้ออกรถที่กรุงเทพแต่นำรถไปใช้ต่างจังหวัด อาจจะเป็นหาดใหญ่ หรือเชียงใหม่ เราจะให้ทีมงานแต่ละจังหวัดลงพื้นที่ดำเนินการทำให้คุมเกมและบริหารจัดการได้”

ซอยพอร์ตเล็กลง-จูงใจประมูล

นายเมธ์ ปุ่มเป้า กรรมการ บริษัท ลีดเดอร์ กรุ๊ป จำกัดกล่าวว่า ปีนี้สถาบันการเงินเจ้าหนี้ส่วนใหญ่มีการซอยพอร์ตเอ็นพีแอลให้ไซซ์เล็กลงจากปีก่อนจัดพอร์ตละ 500-1,000 ล้านบาทปรับลดเป็นพอร์ตละ 100 ล้านบาทโดยเพิ่มความถี่ในการนำออกประมูลเป็นรายไตรมาส เช่น ปีนี้ผ่านมา 3ไตรมาสมีการประกาศประมูลทรัพย์ 6,000- 7,000 ล้านบาทต่อ 1 สถาบันการเงิน แต่ยังมีบางแห่งที่ยังคงนำทรัพย์ประมูลขายเป็นรายปีหรือปีละ 1 ล็อตเท่านั้น ซึ่งสินเชื่อที่นำออกประมูลจะมีทั้งธนาคารพาณิชย์ นอนแบงก์ เป็นสินเชื่อรายย่อยไม่มีหลักประกัน ประเภทบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล บ้าน และเช่าซื้อรถยนต์

คุณภาพเอ็นพีแอลค่อนข้างดี

สำหรับคุณภาพเอ็นพีแอลนั้นค่อนข้างดี เพราะสถาบันการเงินเจ้าหนี้นอกจากจะคัดกรองคุณสมบัติอย่างเข้มข้นแล้ว การนำเอ็นพีแอลออกขาย พบว่า เป็นเอ็นพีแอลที่ยังไม่ฟ้องคดีบ้าง มีอายุ 8 เดือน 10 เดือน จากที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะค้างชำระเกิน 12 เดือนขึ้นไป หรือฟ้องดำเนินคดีแล้วจึงนำออกประมูล แต่ปีนี้เอ็นพีแอลมากกว่า 50% ไม่ได้ฟ้องคดี ส่วนตัวมองว่าสถาบันการเงินเจ้าหนี้ต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการเอ็นพีแอล เพราะการฟ้องคดีมีต้นทุนเฉลี่ยทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 4,500 บาทต่อทุทนทรัพย์ 5 หมื่นบาท

ในส่วนของลิดเดอร์กรุ๊ปปัจจุบันมีพอร์ตสินเชื่อกว่า 7,000 ล้านบาทลูกหนี้ในความดูแล 8 หมื่นรายโดยการเข้าซื้อขึ้นอยู่กับจังหวะ ปีนี้ซื้อมาแล้ว 2,60 0ล้านบาทเพราะมีเอ็นพีแอลให้เลือกซื้อ ส่วนหนึ่งเพราะ 3-4 ปีที่ผ่านมาทั้งธนาคารและนอนแบงก์รุกทำตลาดสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน และเชื่อว่าเอ็นพีแอลผลพวงจะเพิ่มถึงกลางปี 2560 ทำให้เอ็นพีแอลทะลักเข้ามาซึ่งสถาบันการเงินเจ้าหนี้บริหารจัดการไม่ไหว บางแห่งเสนอให้เพิ่มการดูแลลูกหนี้ได้ถึง 800 บัญชีจากเดิมพนักงาน 1 คนดูแล 500 บัญชี

เน้นปรับโครงสร้างหนี้

นอกจากนี้วิธีการบริหารลิดเดอร์กรุ๊ปจะเน้นปรับโครงสร้างหนี้เป็นหลัก ยกเว้นในรายที่อิดออด ดื้อ มีงานทำแต่ไม่ยอมจ่ายหนี้คือจงใจไม่จ่ายหน้าทั้งบัตรเครดิตและรถยนต์ แต่กลุ่มนี้จะมีประมาณ 5%ที่บริษัทจำเป็นต้องดำเนินคดี

“ เอ็นพีแอลที่ประมูลซื้อเข้ามาในพอร์ตนั้น จะมีอายุหนี้ 5 ปีเช่น ลูกหนี้ 100 รายจะตามเจอตัวลูกหนี้ 30% ซึ่งใน 30% นี้เขาจะจ่ายชำระหนี้ประมาณ 60-70% เราไม่เน้นค้าความหรือฟ้องคดีกับลูกหนี้ ยกเว้นในรายที่มีงานทำมีรายได้แต่จงใจไม่จ่าย ส่วนลูกหนี้ที่ปิดบัญชีเราทำหนังสือให้เขาแจ้งบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติหรือเครดิตบูโรเพื่อบันทึกประวัติใหม่ซึ่งเมื่อถึงเวลาเขาจะขอสินเชื่อครั้งต่อไปทางธนาคารก็จะเห็นประวัติทางการเงินที่ไม่มีบัญชีค้างชำระแล้ว”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,211 วันที่ 20 – 23 พฤศจิกายน 2559