วันจันทร์, พฤศจิกายน 28, 2559

สถาบันกษัตริย์ของไทยเด่นเป็นสง่าในบรรดาราชวงศ์ในอุษาคเนย์ - บีบีซีไทย





สถาบันกษัตริย์ของไทยเด่นเป็นสง่าในบรรดาราชวงศ์ในอุษาคเนย์


โดย ดร. เหงวียน วัน ฮุย (Dr Nguyen Van Huy)
ที่มา เวปบีบีซีไทย

27 พฤศจิกายน 2016


ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สถาบันกษัตริย์ของไทยมีความพิเศษยิ่ง ราชวงศ์ของไทยยั่งยืนยาวมาเกือบ 300 ปี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2263 ส่วนราชวงศ์อื่น ๆ ไม่ว่าในเวียดนาม กัมพูชา ลาว พม่า อินโดนีเซียและมาเลเซีย ไม่มีราชสำนักใดที่จะมีอายุยืนยาวเท่านี้ แม้ว่าจะใช้ความพยายามกันในทุกที่แต่ไม่มีที่ไหนที่มีความรุ่งโรจน์อย่างที่ราชวงศ์ของไทยมี และในวันนี้นอกไปจากประเทศไทยแล้ว กัมพูชาและบรูไนนับเป็นอีกสองประเทศเท่านั้นที่ยังคงมีสถาบันพระมหากษัตริย์

กัมพูชา

แม้จะยังใช้ชื่อว่าเป็น ราชอาณาจักรกัมพูชา แต่สถาบันกษัตริย์ของกัมพูชาในวันนี้ มีอยู่แต่ในนามเท่านั้น อำนาจทั้งหมดตกอยู่ในมือของบุคคลคนเดียวนั่นคือ ฮุนเซ็น ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2528 หรือ 31 ปีมาแล้ว และยังไม่มีเค้าว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในอีกสองสามปีข้างหน้านี้



พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ทรงเป็นกษัตริย์กัมพูชาถึง 50 ปี


ที่จริงแล้ว ฮุนเซ็นต้องการจะสานต่อบทบาทของพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ (ซึ่งทรงเป็นกษัตริย์กัมพูชาถึง 50 ปี ระหว่างปี 2498 - 2547) และดำรงอำนาจราชวงศ์ให้เป็นผู้นำกัมพูชาไปอีกนาน ทั้งลูกชายและญาติพี่น้องของเขาได้รับการสนับสนุนให้เข้าดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ในหน่วยงานต่าง ๆ ของพรรค รัฐบาล กองทัพ ตำรวจ และหน่วยงานด้านความมั่นคง ถ้าไม่มีเหตุการณ์ใดที่จะทำให้เกิดการพลิกผัน ตระกูลของฮุนเซ็นก็คงจะกลายเป็นราชวงศ์ในรูปแบบใหม่ของการเมืองกัมพูชาในช่วงหลายปีข้างหน้านี้

แล้วเกิดอะไรขึ้นกับราชวงศ์นโรดม พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหมุนีอันที่จริงเป็นเพียงหุ่นเชิด ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ทั้งที่ไม่ทรงต้องการ พระองค์เองทรงเป็นศิลปินและผู้ศึกษาด้านวัฒนธรรม ทรงต้องการเพียงจะใช้ชีวิตอยู่ในฝรั่งเศสในฐานะเป็นนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในเรื่องวัฒนธรรมเขมรมากกว่าที่จะเป็นกษัตริย์หุ่นเชิด แต่ทรงถูกฮุนเซ็นกำราบเสียอยู่หมัดตั้งแต่เมื่อปี 2540 ในขณะที่ญาติพี่น้องในเชื้อสายราชวงศ์นโรดมต่างก็มีความสุขกับชีวิตอันสงบและสิ่งที่ต่างคนมีอยู่ ไม่มีใครอยากจะไปแข่งขันกับ "ราชา" ฮุนเซ็นแต่อย่างใด





บรูไน

บรูไนเป็นราชอาณาจักรเล็ก ๆ ที่มีพื้นที่เพียง 5.765 ตารางกิโลเมตรและประชากร 436,000 คน ภายใต้การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชของสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ พระราชาธิบดี บรูไนเป็นประเทศปิดสำหรับโลกภายนอก แต่อยู่ได้เพราะมีแหล่งน้ำมันนอกชายฝั่งทะเลในทะเลจีนใต้ จากข้อมูลของนิตยสารฟอร์บ สุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ ทรงเป็นหนึ่งในบุคคลที่จัดว่าร่ำรวยที่สุดในโลก ด้วยทรัพย์สินมูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

ลาว

ทุกวันนี้พระราชวังหลวงพระบางยังได้รับการทำนุบำรุงให้ดำรงอยู่ในฐานะเป็นสถานที่สำหรับนักท่องเที่ยว สถาบันกษัตริย์ของลาวปกครองประเทศในเวลาที่สั้นที่สุดในเอเชียคือ 30 ปี จากปี 2488 - 2518 ที่จริงแล้วสถาบันกษัตริย์ของลาวน่าจะถือได้ว่าเป็นสิ่งที่อยู่ในจินตนาการก็คงจะว่าได้เพราะว่าไม่เคยมีอำนาจอย่างแท้จริง ในช่วงที่ฝรั่งเศสปกครอง (2488 -2498) ฝรั่งเศสเป็นผู้ตัดสินใจทุกอย่าง ถัดมาก็เป็นเวียดนามและสหรัฐฯในช่วงของสงครามหนที่สองของอินโดจีน (2503-2518) ปี 2498 ถึง 2503 เป็นช่วงเวลาที่สองพี่น้องคือเจ้าสุวันนะพูมาที่ยืนอยู่ข้างอเมริกัน กับเจ้าสุภานุวงศ์ที่อยู่ข้างฮานอยขับเคี่ยวกันหนักเพื่อแย่งชิงอำนาจ มาวันนี้เชื้อสายของราชวงศ์ลาวกระจายตัวกันอยู่ในหลายประเทศ พวกเขายังคงแตกแยกและขัดแย้งกันไม่ต่างไปจากในอดีต

เวียดนาม

ราชวงศ์เหงวียนของเวียดนามไม่ได้อยู่ในสภาพที่ดีไปกว่าราชวงศ์ของลาวเท่าใดนัก พวกเขาสูญเสียอำนาจที่แท้จริงไปในปี 2427 แม้ว่าราชวงศ์เหงวียนจะยังคงดำรงอยู่จนถึงช่วงที่กษัตริย์เบ๋าได๋ทรงประกาศสละราชสมบัติในปี 2488 ก็ตาม

หลังจากปี 2497 รัฐบาลคอมมิวนิสต์ในเวียดนามเหนือได้ขจัดทุกอย่างที่ยังเป็นอิทธิพลหลงเหลือของระบบกษัตริย์ แต่ในเวียดนามใต้ หลายคนที่เป็นบุคคลสำคัญภายใต้กษัตริย์บ๋าวได๋ยังรักษาบทบาทในส่วนของทหารและรัฐบาลเอาไว้ได้ ทว่าหลังวันที่ 30 เม.ย.2518 ทั้งหมดนั้นก็ปิดฉากลงเมื่อกองกำลังฝ่ายคอมมิวนิสต์ยึดประเทศได้ทั้งหมด สิ่งที่ยังคงหลงเหลืออยู่ของราชวงศ์เหงวียนยังคงเห็นได้ก็เฉพาะในสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมและพิธีการในการรับประทานอาหารเท่านั้น



กษัตริย์เบ๋าได๋ ทรงประกาศสละราชสมบัติในปี 2488


มาเลเซีย
สหพันธรัฐที่ประกอบไปด้วยรัฐต่าง ๆ 13 รัฐและดินแดนอีก 3 แห่ง มีสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของระบบสหพันธรัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ได้รับการคัดเลือกจากบรรดาผู้ปกครองที่สืบทอดกันมาของรัฐต่าง ๆ 9 รัฐ และกษัตริย์ดำรงตำแหน่งนาน 5 ปี ในความเป็นจริงเราไม่น่าจะถือว่าสถาบันกษัตริย์ของมาเลเซียเป็นสถาบันกษัตริย์ที่แท้จริงเนื่องจากไม่ได้มีการสืบทอดสันตติวงศ์กันทางเชื้อสาย และสถาบันเป็นเพียงสัญลักษณ์ ไม่มีใครมีอำนาจแท้จริงเหนือทั้งประเทศ

เมียนมา

พม่าเคยเป็นอาณาจักรที่มีอำนาจมากของคนเชื้อสายพม่าหรือบะมาร์ แต่อ่อนแอลงและแตกออกเป็นอาณาจักรย่อยสองอาณาจักร จากศตวรรษที่ 10 ชาวพม่าสร้างอาณาจักรที่รุ่งเรืองรอบ ๆ แม่น้ำอิระวดี โดยอยู่ระหว่างพื้นที่อิทธิพลของจีนและอินเดีย แต่เพราะไม่ปฏิรูป อาณาจักรพม่าจึงพลาดท่าให้กับอังกฤษพ่ายแพ้ในสงคราม พ.ศ. 2367 พื้นที่ของพวกเขาหดเล็กลงและสูญเสียให้กับอังกฤษใน พ.ศ. 2429 ตั้งแต่นั้นสถาบันกษัตริย์ของพม่าก็สูญสิ้นพระราชอำนาจไปให้กับบรรดาขุนศึกที่พากันผุดโผล่ขึ้นครองอำนาจในแทบทุกพื้นที่

สรุป

การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชก่อให้เกิดภาวะสุญญากาศในประเทศไทย ทั้งนี้เพราะบทบาทอันโดดเด่นของพระองค์รวมทั้งการที่ทรงเป็นสะพานเชื่อมระหว่างรัฐบาลกับประชาชน จะมีใครที่จะมีพระบารมีอย่างเช่นพระองค์ในอันที่จะช่วยรักษาสมดุลระหว่างการเมืองและผลประโยชน์ของประชาชนได้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้






ในวันนี้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้เป็นทางออกสำหรับการปกครองในประเทศต่าง ๆ อีกต่อไป แต่ทว่าก็ยังสามารถจะเป็นสัญลักษณ์ที่ "ช่วย" ได้ในทางการเมือง เนื่องจากว่าสถาบันไม่ได้มีอำนาจอย่างแท้จริง ตำแหน่งจึงอาจจะเป็นเพียงเรื่องของจินตนาการ แต่ก็ยังถือได้ว่าจำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงความอลหม่านหรือสงครามกลางเมืองในประเทศ

ดร. เหงวียน วัน ฮุย เป็นนักวิชาการอิสระด้านชาติพันธุ์ ในกรุงปารีส ฝรั่งเศส