วันพุธ, พฤศจิกายน 16, 2559

รัฐบาลเร่งติดตามผู้กระทำผิดมาตรา 112 ชี้นำตัวกลับยาก เหตุอธิปไตยเขา





รัฐบาลเร่งติดตามผู้กระทำผิดมาตรา 112

ที่มา เวปใหม่ BBC Thai

พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์สื่อหลายสำนัก วันนี้ (16 พ.ย.) เพื่อเปิดเผยความคืบหน้าการติดตามตัวผู้กระทำผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าด้วยเรื่องหมิ่นสถาบันกษัตริย์

ในขณะที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ประมวลสถานการณ์กรณีมาตรา 112 ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่ามีการจับกุมผู้ต้องหาแล้ว 9 กรณี ทั้งยังมีการไล่ล่า กดดัน และใช้ความรุนแรง รวมถึงการดำเนินการกรณี 112 ต่อผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต โดยล่าสุดศาลทหารมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวนักเขียนวัย 76 ปี ผู้ต้องหาคดี 112 อีกหนึ่งรายด้วย

เว็บไซต์สำนักข่าวไทยและมติชนรายงานอ้างอิงพลเอกไพบูลย์ว่าได้มีการหารือกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เรื่องการขอความร่วมมือกับทางการต่างประเทศในการนำตัวผู้กระทำผิดกลับประเทศไทย และอีกกรณีหนึ่งคือการไม่นำตัวกลับ แต่ขอให้หยุดเคลื่อนไหว เนื่องจากอาจใช้การบังคับทางกฎหมายไม่ได้ เพราะกฎหมายแต่ละประเทศแตกต่างกัน จึงต้องใช้วิธีขอความร่วมมือแทน ซึ่งทางสถานทูตได้พยายามหาวิธีเร่งจัดการเป็นการภายในเพื่อไม่ให้กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ





ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 9 พ.ย. สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้แถลงผลการดำเนินการผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 ตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. มีจำนวนทั้งหมด 27 คดี โดยเจ้าหน้าที่สามารถติดตามตัวมาดำเนินคดีได้ทั้งหมด 10 ราย และอยู่ระหว่างติดตามจับกุมอีก 17 ราย ขณะที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) เผยผลประมวลสถานการณ์การดำเนินการกรณีมาตรา 112 ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่ามีความเคลื่อนไหวของทั้งฝ่ายรัฐและมวลชนที่รวมตัวกันเองเพื่อดำเนินการต่อบุคคลต่างๆ สืบเนื่องจากการแสดงออกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างน้อย 20 กรณี และมีผู้ถูกจับกุม 9 กรณี

จากการประมวลสถานการณ์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่ารัฐบาลปรับเปลี่ยนโครงสร้างหน่วยงานความมั่นคงเพื่อติดตามสถานการณ์ในโลกออนไลน์ มีการปิดกั้นเว็บไซต์กว่า 900 ยูอาร์แอล รวมถึงการติดตามตัวผู้แสดงความคิดเห็นในต่างประเทศ ขณะที่มวลชนในหลายพื้นที่มีการรวมตัวกันไล่ล่า กดดัน และใช้ความรุนแรงต่อผู้แสดงความคิดเห็นแตกต่าง ทั้งยังมีผู้แอบอ้างตัวเป็นผู้อื่นกระทำผิดมาตรา 112 เพื่อกลั่นแกล้งกัน มีการดำเนินการผู้มีอาการทางจิต รวมถึงดำเนินการกับผู้แสดงความคิดเห็นที่ไม่ได้มุ่งถึงบุคคลตามองค์ประกอบมาตรา 112 โดยตรง





ล่าสุดมีรายงานว่าพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม นำตัวบัณฑิต อานียา นักเขียนอิสระ วัย 76 ปี มาขออำนาจฝากขังที่ศาลทหารกรุงเทพระหว่างวันที่ 16-27 พ.ย. ในความผิดตามมาตรา 112 สืบเนื่องจากกรณีที่เขาร่วมแสดงความคิดเห็นที่งานเสวนาเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญเมื่อเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว โดยหลังจบงานเสวนาครั้งนั้น เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้เชิญตัวบัณฑิตไปที่ สน.ชนะสงคราม เพื่อปรับทัศนคติ และได้แจ้งแก่บัณฑิตและทนายความว่าจะไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาใดๆ เพียงแต่จะจัดทำบันทึกการปรับทัศนคติไว้เท่านั้น ก่อนจะปล่อยตัวบัณฑิตไป แต่กลับมีการขอออกหมายจับและจับกุมตัวบัณฑิตในวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา

ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวบัณฑิตชั่วคราววันนี้ พร้อมทั้งหลักทรัพย์เป็นจำนวน 300,000 บาท โดยระบุว่าบัณฑิตไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา แต่เป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต เพื่อการปฏิรูปประเทศ และผู้ต้องหาเป็นนักเขียนอิสระ มีรายได้ไม่แน่นอน ทั้งยังมีอายุมาก ไม่สามารถหลบหนีหรือพึ่งพาตนเองได้ ประกอบกับมีโรคประจำตัวหลายโรค เสี่ยงต่อการติดเชื้ออันจะเป็นอันตรายแก่ชีวิต แต่ศาลได้พิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวพร้อมหลักทรัพย์แล้ว เห็นว่ายังไม่เพียงพอต่อการขอปล่อยตัวชั่วคราว จึงยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว

ooo

รมว.ยุติธรรม พอใจสถานการณ์หมิ่นฯ ในต่างประเทศนิ่งไปเยอะ ชี้เป็นยากนำตัวกลับ เหตุอธิปไตยเขา






ที่มา ประชาไท
Wed, 2016-11-16 17:07


16 พ.ย. 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงความคืบหน้าการติดตามตัวผู้ต้องหาคดีความผิดตามมาตรา 112 หรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในต่างประเทศกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย ว่า ตนได้หารือกับ ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) แล้ว ซึ่งแนวคิดในการขอความร่วมมือกับต่างประเทศเพราะหากใช้การบังคับทางกฎหมายอาจทำไม่ได้ เพราะกฎหมายแต่ละประเทศต่างกัน จึงใช้วิธีการขอความร่วมมือ ซึ่งมี 2 กรณีคือ เราเอาตัวเขากลับมาก็จบ และการไม่นำตัวกลับแต่ทำให้เขาหยุดเคลื่อนไหว ทั้งนี้ เราดำเนินการเรื่องการขอความร่วมมือเรื่องการขอตัวคนทำผิดกลับ เราทำมาเป็น 10 ปีแล้ว และจะทำต่อไป แต่สิ่งที่เราทำได้และยังมีโอกาสเป็นไปได้คือ การทำให้เขาหยุดเคลื่อนไหว อย่างประเทศนิวซีแลนด์ก็ดำเนินการช่วยเหลือเราอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ พล.อ.ไพบูลย์ ยังกล่าวว่า แม้การขอตัวผู้กระทำผิดกลับมาดำเนินการตามกฎหมายจะเป็นไปได้ยาก แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลไม่ได้พยายามดำเนินการ เพราะเป็นเรื่องกฎหมายภายในประเทศ จึงเป็นเรื่องยากที่จะไปละเมิดต่ออธิปไตยของประเทศนั้น ๆ แต่กำลังดูอยู่ว่า ใครที่ไปใช้ประโยชน์ในการลี้ภัย โดยอ้างเรื่องการเมือง หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ซึ่งทางการไทยได้สอบถามข้อมูลการอ้างดังกล่าว เพื่อทำข้อมูลทักท้วงกลับไป

"มันเป็นเรื่องกฎหมายภายในประเทศ มันยากต่อการไปละเมิดอธิปไตยเขา แต่เรากำลังจะดูว่าใครที่ไปใช้ประโยชน์ในการลี้ภัย อ้างเป็นการเมืองบ้าง ไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมประเทศไทยบ้าง อะไรพวกนนี้นะ เราก็พยายามถามข้อมูลว่าเขาไปยื่นอย่างไร เราจะได้ทำข้อมูลทักท้วงไป แต่ได้ไม่ได้ก็อีกเรื่องหนึ่ง กระบวนการใหม่ก็พยามจะทำหลายๆ ช่องทางอย่างนี้" พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวถึงสถานการณ์ด้วยว่า หลายประเทศนิ่งไปเยอะ เกือบทุกประเทศเขาก็นิ่ง ซึ่งจะเห็นทั้งในออนไลน์ ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ประกอบกับเราคุยกับยูทูบ คุยกับไลน์ด้วย จึงผลสมกัน ดังนั้นทั้งต้นเหตุคือแหล่งที่เขาเคลื่อนไหว และกลางทางคือพวกยูทูบอะไรพวกนี้ ส่วนปลายทางก็ใช้กฎหมายและเข้าเจรจาด้วย จึงทำให้สถานการณ์ตอนนี้ดีขึ้น

"เราพอใจ ทุกคนพอใจ" พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว

ที่มา สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น และมติชนทีวี