วันเสาร์, พฤศจิกายน 05, 2559

ภารกิจสำคัญของ คสช. “เราต้องทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เข้มแข็งในยุคเรา” - สแกนเข้ม “โลกไซเบอร์” ส่งสปายฝังตัวทุกจุด สกัดกั้นขบวนการหมิ่น 112





สแกนเข้ม “โลกไซเบอร์” ส่งสปายฝังตัวทุกจุด สกัดกั้นขบวนการหมิ่น 112


มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 พฤศจิกายน 2559


“เราต้องทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เข้มแข็งในยุคเรา”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวให้คำมั่นต่อภารกิจอันสำคัญของ คสช. โดยเฉพาะการป้องกันข้อความหมิ่นสถาบันบนโลกออนไลน์ ถือเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นได้เพียงปลายนิ้วและทุกที่ทุกเวลา

จึงหนีไม่พ้นงานด้านไซเบอร์ ในห้วงเวลา “เปลี่ยนผ่าน” อันสำคัญ

การเผยแพร่ข้อความบนโลกไซเบอร์มีอย่างต่อเนื่อง ผ่านเว็บไซต์-แอพพลิเคชั่น ที่เผยแพร่ข้อความหมิ่นสถาบันและเข้าข่ายผิดประมวลกฎหมายอาญา ม.112

ภายหลังรัฐบาลได้หารือผู้บริหารกูเกิล ยูทูบ และไลน์ มาแล้ว โดยทั้งหมดพร้อมให้ความร่วมมือไทยในการติดตามการส่งต่อ-เผยแพร่ข้อมูลผิด ม.112 โดยให้ทางการไทยทำหนังสือชี้แจงมา เป็นรายกรณีไป และมีกำหนดการหารือกับเฟซบุ๊กด้วย

ฝ่ายความมั่นคงได้ประเมินเส้นทางของการเผยแพร่ ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ คนตั้งใจทำข้อมูล ต่อมาคือคนที่ไม่ได้จัดทำข้อมูลแต่ตั้งใจส่งต่อ และกลุ่มคนไม่ได้ตั้งใจส่งแต่ชอบเรื่องการเมือง

ที่สำคัญได้แบ่งกลุ่มคนดูต่อคลิปว่าจำนวนเข้าชม (View) เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นยอดดูจากเจ้าหน้าที่ที่เฝ้าระวัง เก็บหลักฐาน เพื่อส่งต่อดำเนินคดีและปิดกั้นเว็บไซต์นี้ต่อไป พร้อมประเมินเกณฑ์อายุคนใช้โซเชียลมีเดียอยู่ที่ 50 ปีลงมา ส่วนคนอายุ 50 ปีขึ้นไป ใช้โซเชียลมีเดียไม่มากนัก

โดยกองทัพจะตรวจสอบข้อมูลแหล่งที่มา ช่องทางต่างๆ เพื่อจัดส่งให้ ส่วนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะเป็นเรื่องทางเทคนิค และด้านคดีความจะเป็นหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรม

ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ “ฝังตัว” ไปในที่ต่างๆ บนโลกออนไลน์ หรือเป็น “สปาย” ในโลกออนไลน์ที่มีจุดเสี่ยง เป็นร่างนิรนามไปในที่ต่างๆ บนโลกออนไลน์

“เฟซบุ๊ซไลฟ์ เราก็ดูเช่นกัน หรือการโพสต์สเตตัส ก็เห็นมีคนกดเป็นใบหน้าแดงๆ หรือโกรธ ต่อสิ่งที่แสดงออกมา สะท้อนว่าคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มคนหมิ่นสถาบัน” เจ้าหน้าที่ด้านไซเบอร์เผย

กลุ่มที่ 2 คือ ประชาชนที่อยากรู้อยากเห็น ก็ดูจากการ “Dislike” ที่มีมากกว่า “Like” ซึ่งฝ่ายความมั่นคงต้องทำให้ข้อมูลเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ ไม่น่าติดตาม โดยให้ข้อมูลอีกด้านมา “ชี้แจง-ตอบโต้-ประชาสัมพันธ์” ตามกรณีว่าต้องใช้รูปแบบใด

และกลุ่มสุดท้าย คือ แฟนคลับ ทั้งในและนอกประเทศ

ล่าสุดมีการเผยแพร่ข้อมูลถึงทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่ไม่ถูกต้อง ระหว่างพื้นที่ราชพัสดุกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และการนำเสนอถึงผลความสำเร็จของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อีกทั้งการเผยแพร่ข้อมูลส่วนพระองค์ที่เป็นเท็จ ซึ่งทำให้ประชาชนตกใจ เจ้าหน้าที่ต้องชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องให้ประชาชนได้รับทราบ ซึ่งตรวจพบว่าเป็นคนไทยที่ส่งข้อมูลไปให้คนต่างชาติทำเผยแพร่ต่อ

การเผยแพร่ข้อมูลเท็จผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ ว่า องค์การสหประชาชาติ ประกาศให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็น “วันกษัตริย์โลก (King Day)” ซึ่งจากการตรวจสอบไม่เป็นความจริง นั่นหมายความว่าแม้ข้อความที่ส่งมาจะเป็นผลบวก หากไม่ใช่ข้อเท็จจริงก็ต้องสกัดกั้นเพื่อให้สังคมเข้าใจผิดหรือสับสนได้

โดยเฉพาะการตรวจสอบผ่านเฟซบุ๊กและคลิปบนยูทูบ ทั้งกับบุคลที่ใช้ชื่อว่าต่างๆ ทั้งหมดนี้มีเป้าหมายต้องการให้คนดูเยอะๆ

โดยฝ่ายความมั่นคงประเมินยอด (View) ว่าคนดูมากน้อยอย่างไร ถ้าจำนวนยอดคนดูที่ลดลงก็แสดงว่าปฏิบัติการสกัดกั้นได้ผล

ส่วนกระบวนการเข้าบล็อกเว็บไซต์ มีส่วนที่ดูแล คือ กสทช. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่จะดูแลภาพรวมและชี้เป้าดำเนินคดีทางกฎหมาย

แต่ฝ่ายความมั่นคงเองยอมรับว่าการบล็อกข้อความหมิ่นสถาบันจากต่างประเทศทำได้ยาก เพราะมีช่องทางเข้ามาจำนวนมาก ผ่านหลายเกตเวย์ ซึ่งการควบคุมต้องทำให้เป็น Single Gateway ที่จะเป็นเครื่องกรองก่อนเข้าไทย

แต่ก็ได้รับการทักท้วง จนมีการรณรงค์กด F5 กับเว็บไซต์หน่วยงานภาครัฐและกองทัพมาแล้ว ร่วมถึงความพยายามแฮ็กเกอร์ข้อมูลของกองทัพที่สำคัญด้วย โดยทางกองทัพบกยืนยันไม่มีทางแฮ็กเกอร์ได้แน่นอน เพราะตลอด 2 ปีที่ผ่านมา มีกระบวนการจ้องแฮ็กเกอร์ตลอด แต่เกตเวย์ของ ทบ. แยกออกมาทำให้ยากต่อการเข้าถึงจากบุคคลภายนอก

โดยป้องกันเว็บไซต์หน่วยงาน ทบ. ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ เพราะมีข้อมูลความมั่นคงที่สำคัญทั้งด้านยุทโธปกรณ์ กำลังพล แผนงานต่างๆ ไม่ให้ถูกแฮ็กเกอร์ได้ โดยมีการเข้าพาสเวิร์ด เป็นระบบรักษาความปลอดภัยพิเศษ

ฝ่ายความมั่นคงได้มีศูนย์ติดตามในหลายหน่วยงานในกำกับ เรียกได้ว่า ดูจอมอนิเตอร์กัน 24 ชั่วโมง โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจะไล่ปิดเว็บไซต์ ประสานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อีกทั้ง สตช. ที่มีกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (อปท.) คู่ขนานกันปิดกั้นเว็บไซต์หมิ่นสถาบัน

ที่สำคัญฝ่ายความมั่นคงมีปฏิบัติการด้านการข่าว Information Operation หรือ IO ที่เน้นยุทธศาสตร์ “เขาโยนมา เราโยนไป” โดยฝ่ายที่ปล่อยข้อความหมิ่นสถาบันหรือข้อมูลเท็จ ฝ่ายความมั่นคงก็จะส่งข้อความชี้แจงหรือข้อความที่ถูกต้องกลับไปตอบโต้ เพื่อชี้แจงสังคมไปด้วยทีเดียว โดยมีการเรียกเป็น “ข้อมูลขาว สู้ ข้อมูลดำ”

การต่อสู้ทางไซเบอร์ทำยิ่งกว่าสงครามรบรูปแบบใด ทั้งด้านกฎหมายซึ่งเป็นงานด้านเปิด และด้านปิดทำการรบทั้งใต้ดิน พื้นดิน บนอากาศ และอวกาศ เพื่อป้องกันประเทศบนโลกไซเบอร์ที่ผ่านระบบดาวเทียมด้วย

โดยยุทธการที่ใช้ในการต่อสู้ ฝ่ายความมั่นคงจะตั้งสมมุติฐานว่าใครคือข้าศึก ใครที่สามารถทำ-เผยแพร่ข้อความหมิ่นได้ พบมีการกระทำเป็นเครือข่ายผ่านองค์กรระหว่างประเทศ

สำหรับกระแสข่าวที่มีการรายงานว่าจะมีกลุ่มเตรียมเผยแพร่ข้อมูลหมิ่นสถาบันในห้วงวันที่ 1 ธันวาคมนี้ ฝ่ายความมั่นคงก็พร้อมรับมือ ด้วยการชี้แจงข้อเท็จจริงให้สังคมได้ทราบอย่างถูกต้องและการสกัดกั้นเพื่อไม่ให้สามารถเผยแพร่ข้อมูลเท็จได้

ส่วนกรณีนักวิชาการที่ออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องสถาบัน ต้องดูว่าผลงานชิ้นใดเข้าข่ายหมิ่นสถาบันหรือผิดตาม ม.112 เป็นรายกรณีไป

โดยหลักเกณฑ์ต่องานวิชาการนั้น ฝ่ายความมั่นคงย้ำต้องเป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาการ ซึ่งผู้ที่รู้ดีคือนักวิชาการด้วยกันเอง บนหลักการทางวิชาการและวิชาชีพ

ฝ่ายความมั่นคงได้ประเมินไว้ว่า มีเครือข่ายนักวิชาการที่เคลื่อนไหวในประเด็นนี้ราว 100 คน จากนักวิชาการกว่า 100,000 คน โดยใน 100 คน เกินครึ่งอยู่ในไทย และที่เหลืออยู่ต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ได้มอนิเตอร์ความเคลื่อนไหวอยู่ตลอด

ซึ่งนักวิชาการก็จะตรวจสอบกันเองหรือให้คนไทยในประเทศนั้นๆ ช่วยกัน โดยใช้ยุทธการแบบทหาร “เขาโยนมา เราโยนไป” หรือ “ส่งข้อมูลขาว กลบ ข้อมูลดำ” เช่น กรณีที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐ ที่มีกลุ่มคนไทยได้ตอบโต้ผ่านการแจกเอกสาร ในห้องบรรยายของ นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ที่เคลื่อนไหวเรื่องสถาบันในต่างประเทศ

ในกรณีของ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เป็นอีกนักวิชาการที่ออกมาวิเคราะห์ในเรื่องสถาบันจำนวนมาก ซึ่งเป็นการวิจารณ์ที่กระทบพระเกียรติยศ กระทบกระบวนการต่างๆ ของสถาบัน ทั้งที่ไม่ได้เป็นบุคคลที่มีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบงานเหล่านั้น

“สิ่งที่นายสมศักดิ์ เจียมฯ วิเคราะห์ตีความ แม้จะเชิงหลักการ-แบบแผนก็ตาม แต่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ม.112” จนท.ฝ่ายความมั่นคง เผย

ฝ่ายความมั่นคง เผยแนวทางงานวิชาการที่จะไม่เข้าข่าย ม.112 คือต้องอ้างอิงจากหน่วยงานที่เป็นทางการ ทั้งเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์ โบราณราชประเพณี ต้องให้เหตุผลประกอบเชิงวิชาการด้วย

“เรื่องใดที่มีการหมิ่นและไปกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ต้องดำเนินการ ไม่ว่าจะเรื่องใดก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายมาตรา 112 ผมอยากบอกประชาชนว่าโลกไซเบอร์ มีทั้งเรื่องจริงและเรื่องไม่จริง หากประชาชนไม่รู้ข้อเท็จจริงก็อย่าไปเผยแพร่ข้อมูลต่อ” พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. กล่าว

โดยแนวคิดที่ฝ่ายความมั่นคงตรวจพบมีอยู่ 3 แนวคิด คือ แนวคิดเปลี่ยนการปกครองไปเป็นระบอบประธานาธิบดี ต่อมากลุ่มแนวคิดละเมิดกฎหมาย ม.112 ที่ยึดถือหลักสิทธิเสรีภาพ แต่ให้คงมีสถาบันหลักของชาติไว้ และกลุ่มขาเชียร์ ผ่านกลุ่มการเมืองที่เข้ามาพึ่งพิง เพราะเกรงจะเสียประโยชน์ ซึ่งส่งต่อไปยังมวลชนที่อยู่ภายใต้กลุ่มการเมืองและลงไปในระดับสังคมต่อไป

“การจะทำให้สถาบันยังคงอยู่ อยู่ที่ระบบการศึกษา ต้องให้เด็กได้เข้าใจ รักและหวงแหนราชประเพณีด้วย พร้อมรักสถาบันและพระบรมวงศานุวงศ์ โดยต้องมองราชประเพณีเป็นมรดกของชาติ สถาบันก็จะคงอยู่ต่อไป” จนท.ฝ่ายความมั่นคง เผย

ทั้งหมดนั้นถือเป็นภารกิจที่สำคัญของ คสช. และนำมาซึ่งยุทธการสู้รบที่เข้มข้นบนโลกไซเบอร์ในเวลานี้