วันพุธ, ตุลาคม 26, 2559

ประชาไท คุยกับอนุสรณ์ อุณโณ ปรากฏการณ์ ‘ล่าแม่มด’ ที่ทางของความเศร้า-ความโกรธ





คุยกับอนุสรณ์ อุณโณ ปรากฏการณ์ ‘ล่าแม่มด’ ที่ทางของความเศร้า-ความโกรธ


Tue, 2016-10-25 22:14
ประชาไท

สองสัปดาห์ก่อน หลังข่าวการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชอันนำมาซึ่งความเศร้าโศกอย่างหาที่สุดมิได้แก่พสกนิกรชาวไทย ปรากฏการณ์ย่อยที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทยก็ทยอยผุดขึ้นในหลายพื้นที่ด้วยเช่นกัน นั่นคือ การที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยซึ่งรับข่าวสารทางโซเชียลมีเดียเข้ารุมล้อมบ้านตามหาตัวผู้ที่โพสต์ข้อความไม่เหมาะสม ไม่แสดงความเคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือเขียนข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กระทั่งมีการรุมทำร้ายผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำการดังกล่าวโดยประชาชนด้วยกันเอง

“มาตรการทางสังคม” ได้เกิดขึ้นในหลายจังหวัด ภูเก็ต พังงา เกาะสมุย ก่อนที่จะลามไปยัง ชลบุรี ระยอง จันทบุรี กระทั่งในกทม.ก็มีเรื่องชวน ‘ดราม่า’ เมื่อหญิงสูงวัยมีประวัติจิตเภทโดยตบปากอย่างแรงจากการพูดคนเดียวบนรถเมล์

อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิชาการด้านมานุษยวิทยาสังคมวิทยาและยังเคยทำการศึกษาวิจัยเรื่องแนวคิดทางการเมือง ลักษณะการรวมกลุ่มของประชาชนในจังหวัดภาคใต้ในช่วงทศวรรษแห่งความขัดแย้งทางการเมืองได้อธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวในภาพรวม ซึ่งสะท้อนมาจากอารมณ์โศกเศร้าที่แปลเป็นความโกรธเกรี้ยว รวมทั้งประเมินสถานการณ์การข้างหน้าและเสนอทางออกจากความรุนแรงในลักษณะนี้

คิดอย่างไรกับกระแส ‘การล่าแม่มด’ ในช่วงที่ผ่านมา ?

ไม่รู้จะใช้คำว่าล่าแม่มดดีไหม เพราะมันทำให้เราไปคิดถึงปรากฏการณ์บางอย่าง แต่คิดว่ามันคือความโกรธเคืองที่เกิดขึ้นแล้วนำไปสู่ความรุนแรงที่เป็นหมู่ชน เอาเข้าจริงแล้วก่อนหน้านี้มันมีความโกรธเคืองอยู่ระดับหนึ่ง แต่คำถามคือทำไมมันปะทุขึ้นมาในช่วงนี้ เพราะว่าความขุ่นเคืองตรงนั้นไปบรรจบกับความเศร้าโศกเสียใจ ความเศร้าโศกเสียใจมีอยู่แล้ว แต่พอถูกกระทบกระทั่งมันก็แปลกลายเป็นความโกรธเคืองแล้วก็นำไปสู่การทำร้ายผู้คน

บางคนอาจถามว่าทำไมมันถึงเกิดกับภาคใต้เป็นส่วนใหญ่ ก่อนที่จะกระจายตัวไปในพื้นที่อื่นๆ ภาคใต้มีลักษณะเฉพาะที่พอจะอธิบายได้

หนึ่ง คือ ความรู้สึกรักและภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นผลพวงของกระบวนการที่เกิดขึ้นในระดับประเทศ ไม่แตกต่างจากคนภาคอื่น พระราชอำนาจนำของพระมหากษัตริย์เกิดอย่างเข้มข้นในช่วงสองทศวรรษเศษที่ผ่านมา

สอง มันไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งและการแข่งขันทางการเมืองค่อนจะสูง เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้รับความนิยมมากในภาคใต้อิงอาศัยหรือให้ภาพการเป็นพรรคการเมืองที่จงรักภักดีมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา และตัวแทนอีกปีกการเมืองหนึ่งของประชาธิปัตยอย่าง กปปส. อิงอาศัยสถาบันกษัตริย์ในความขัดแย้งทางการเมืองอย่างชัดเจน เมื่อคนในภาคใต้บ่งชี้ตัวเองเข้ากับพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะเดียวกับก็ได้รับการกล่อมเกลาที่เกิดขึ้นในระดับภาพใหญ่ของประเทศจึงทำให้คนใต้จึงมีความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ค่อนข้างสูง บวกกับการมองว่าคนที่ไม่รักเจ้าเป็นฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามทางการเมืองของตน เมื่อเห็นคนที่โพสต์อะไรแบบนั้น เขาก็จะมองว่านี่ไม่ใช่พวกเดียวกันทางการเมืองแถมยังไม่รักสถาบันอีก จึงเกิดกระแสอย่างที่เห็นขึ้นในอัตราที่รวดเร็ว

สาม ผู้คนอาจมองว่าการแก้ปัญหาของคนในภาคใต้มีลักษณะที่จะใช้ความรุนแรงในภาพใหญ่กว่าภาคอื่น เช่น กรณีของภูเก็ตเมื่อตอนที่เกิดความไม่พอใจเหมืองแร่แทนทาลั่มก็มีการรวมตัวกันไปเผา การล้อมการปิดกั้นศาลากลาง ที่ว่าการอำเภอ สถานีตำรวจ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ

เรื่องนี้อาจอธิบายได้ว่าในแง่หนึ่งเขาไม่ได้เชื่อถือกลไกรัฐในการแก้ปัญหาแต่เชื่อในการดำเนินการโดยมือของเขาเอง พวกเขาไม่ค่อยมีความกลัวรัฐส่วนกลางเมื่อเปรียบเทียบกับภาคอื่นๆ ในแง่ของประวัติศาสตร์ ภาคใต้ตอนบนที่ไม่นับ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เวลารัฐส่วนกลางไปปกครองนั้นไม่ได้มีลักษณะของการขูดรีดกดขี่ข่มเหงอำมหิตสักเท่าไรเมื่อเปรียบเทียบกับล้านนาหรือล้านช้าง ถ้าเราไปดูนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นรัฐหัวเมือง จะพบว่ามีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐส่วนกลางมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา แทบไม่มีกบฎ ความกลัวต่อความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐมันไม่อยู่ในสำนึกทางประวัติศาสตร์ของคนในภาคใต้ และรัฐส่วนกลางเองก็ไม่เคยใช้ความรุนแรงกับหัวเมืองในภาคใต้ในช่วงสองศตวรรษที่ผ่านมา

ที่กล่าวว่าไม่อยากใช้คำว่า “ล่าแม่มด” นั้นเสนอว่าควรใช้คำใด ?

ใช้คำว่าอะไรก็ได้ จะ ศาลเตี้ย หรือ ล่าแม่มด ก็ได้หมด ปรากฏการณ์ทั้งหมดมันเกิดจากการไม่เชื่อในระบบหรือกระบวนการยุติธรรมปกติ มันคือการลุแก่อำนาจของคนบางกลุ่มที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดซึ่งค่อนข้างจะบ่งชี้ถึงคุณลักษณะทางอำนาจในสังคมไทยที่อิงกับการใช้ชีวิตประจำวันของคน เพราะจริงๆ แล้ว สังคมไทยไม่ได้อยู่ด้วยระเบียบกฎเกณฑ์หรือกฎหมายสักเท่าไร มันอยู่ที่ว่าคุณมีอำนาจหรือเส้นสายสักเท่าไร ใครสามารถละเมิดกฎหมายได้เท่าไรก็จะยิ่งมีอำนาจมาก มันเป็นภาพสะท้อนของสังคมไทยโดยรวมไม่ได้จำกัดเฉพาะภาคใต้ คนที่ไม่เชื่อในกระบวนการแบบปกติก็พร้อมที่จะลุแก่อำนาจ เราไม่เชื่อในอำนาจที่อยู่ในโครงสร้างหรืออำนาจตามบทบาทหน้าที่ คนที่มีอำนาจมากกว่าคือคนที่สามารถละเมิดกฎเกณฑ์แบบปกติได้ เป็นคนที่สามารถทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องรับผิด สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในสังคมไทย การล่าแม่มดก็เป็นภาพสะท้อนอันหนึ่ง

บทบาทของพรรคการเมืองในปราปฏการณ์นี้มีมากน้อยแค่ไหน ?

ในกรณีนี้ มีไม่มากเพราะเขารู้ว่ามันเป็นเกมที่อันตรายพอสมควร และในช่วงเวลาที่ผ่านมาเป็นช่วงที่นักการเมืองถูกกดปราบให้อยู่หงิมๆ คุณไม่สามารถแสดงบทบาทหรือมีปากมีเสียงอะไรได้เพราะระบบการเมืองของประเทศไม่ได้อยู่ในจุดที่นักการเมืองหรือพรรคการเมืองเป็นกำลังหลัก เขาจึงไม่สามารถแสดงตัวได้อย่างเปิดเผย หรือออกนอกหน้า ได้แต่จับตาดูว่ารัฐบาลทหารจะเอายังไง สิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ได้เป็นแรงผลักหรือการยุยงปลุกปั่นของพรรคการเมือง แต่เป็นผลของขบวนการที่ต่อเนื่องแล้วเข้มข้น และปะทะขึ้นมาในจังหวะที่บรรจบกับพอดี

มันมีงานเขียนทางมนุษยวิทยาของเรนาโต โรซาลโด (Renato Rosaldo) สอนอยู่ที่ชิคาโก้ เขาเขียนหนังสือชื่อ Culture and truth: The remaking of social analysis เขาพูดถึงความเศร้าเสียใจ (grief) กับการล่าศรีษะมนุษย์ในหมู่ชาวอีลองกอสในหมู่เกาะลูซอนทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ เขียนเป็นวิทยานิพนธ์ เขาศึกษาอยู่นานแต่ก็ไม่เข้าใจสักทีว่าอะไรที่ทำให้ความเศร้าโศกเสียใจอันเกิดจากการเสียคนที่รักผลักให้ชาวอีลองกอสมีความโกรธแค้นแล้วนำไปสู่การล่าหัวของคนเผ่าอื่น มันมีคำอธิบายที่เป็นนามธรรมหรือปรัชญาว่า มันต้องเป็นการกิน soul stuff หรือจิตวิญญาณที่มันอยู่ในหัว ก็ว่ากันไป แต่โรซาลโดก็ยังไม่พอใจการอธิบาย วันหนึ่งเขาเดินไปเห็นพ่อคนหนึ่งนั่งกอดศพลูกสาวตัวเองนัยน์ตาแดงก่ำด้วยความโกรธ แล้วอีกซักพักก็ออกไปล่าหัวมนุษย์ เขาก็ยังไม่เข้าใจ จนกระทั่งมีประสบการณ์ด้วยตัวเองถึงจะเข้าใจว่าความเศร้าโศกเสียใจจากการสูญเสียมันนำไปสู่ความโกรธแค้นและเข่นฆ่าผู้อื่นได้ยังไง มันเริ่มต้นจากการเสียพี่ชายแล้วก็เห็นพ่อยืนเสียใจและโกรธ แต่ตอนนั้นเขาก็ยังไม่เข้าใจ จนกระทั่งเขาเจอกับตัวเอง ตอนที่ตัวเองไปวิจัยอีกครั้งที่ฟิลิปปินส์ ภรรยาของเขาชื่อมิเชล โรซาลดา ซึ่งเป็นนักมานุษยวิทยาสอนอยู่ที่ชิคาโก้เหมือนกันก็ไปศึกษาชนเผ่าอิฟูกัลซึ่งอยู่อีกแห่งหนึ่งในตอนใต้ของฟิลิปปินส์เหมือนกัน วันหนึ่งมีคนมาบอกว่ากับโรซาลโดว่ามิเชลพลาดเดินตกหน้าผาแล้วก็เสียชีวิต โรซาลโดรีบไปและเห็นภรรยาตัวเองนอนเสียชีวิตอยู่ในหุบเหวข้างล่าง แวบแรกตัวของโรซาลโดรู้สึกเสียใจที่สูญเสีบภรรยาไป แต่หลังจากเสียใจมันเป็นความโกรธที่ตามมา โกรธที่หนึ่งก็คือทำไมถึงได้สะเพร่าตกลงไป คนอื่นก็เดินกันตั้งเยอะแยะไม่เห็นตก อย่างที่สอง ซึ่งอาจจะฟังโรแมนติกมากเพราะว่าหลังจากนั้นไม่กี่ปีโรซาลโดก็แต่งงานใหม่ เป็นการโกรธและตัดพ้อว่าเธอเห็นแก่ตัวเกินไป ตัดช่องน้อยแต่พอตัว ทิ้งฉันไว้อยู่ลำพัง ฉันจะอยู่อย่างไร จะต้องเศร้าโศกเสียใจขนาดไหน เขาเลยถึงบางอ้อว่า ความเศร้าโศกเสียใจจากการสูญเสียคนที่ตัวเองรักมันกลายเป็นความโกรธแค้นและนำไปสู่การใช้ความรุนแรงกับผู้อื่นได้อย่างไร

หากเรามาดูเปรียบเทียบกับกรณีของไทย คนไทยรู้สึกเศร้าโศกเสียใจที่สูญเสียพระมหากษัตริย์ที่ตนรักไป และมันก็กลายเป็นความโกรธเพราะมันมีแฟคเตอร์ตัวอื่นเข้ามา นั่นคือการดูแคลนความโศกเศร้า หรือรู้สึกว่าความตายนั้นมันถูกดูหมิ่น ความโศกเศร้าจึงผันไปเป็นความรุนแรงต่อคนที่ดูหมิ่น ในงานชิ้นนี้โรซาลโดยังพูดถึง cultural force of emotion คือพลังทางวัฒนธรรมของอารมณ์ คือ ปกติแล้วเราจะคิดว่าอารมณ์ความรู้สึกมันเป็นสัญชาติญาณเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่สิ่งที่โรซาลโดพยายามจะชี้คือมันมีพลังทางวัฒธรรมของอารมณ์อยู่ มันผูกอยู่กับความสัมพันธ์ของคนที่เรารักและอยู่ดีๆ มันก็หักสะบั้นลง




แฟ้มภาพ กรณีภูเก็ต (ภาพจากผู้ใช้ เฟซบุ๊กชื่อ Mint Idea-Tv)


มีความกังวลว่าเหตุการณ์จะลุกลามไปจนเกิดเป็นความเกลียดชังแบบที่เกิดขึ้นเมื่อ 6 ต.ค.2519 หรือไม่ ?

ผมคิดว่ามันไม่น่าจะถึงตรงนั้น มันน่าจะเป็นความรุนแรงประปรายและกระจัดกระจาย ไม่ได้มีการจัดการให้เป็นองค์กรแนวเดียวหรือเชื่อมโยงกัน เพราะกลุ่มที่เกิดมันกระจัดกระจายไปทั่ว อีกประการคือ มันยังไม่ได้รับการหนุนจากรัฐ หรือกลไกที่รัฐสนับสนุน เช่น เมื่อก่อนเรามีกลุ่มต่างๆ ที่รัฐเข้าไปเกี่ยว แต่ตอนนี้มันเหมือนเป็นการปะทะขึ้นมาของความโกรธเคืองซึ่งมีหลายปัจจัยบรรจบกัน แต่มันยังไม่ถูกทำให้เป็นแบบแผนหรือขวนการอันเดียวกันโดยรัฐ เพราะฉะนั้นการที่จะนำไปสู่ 6 ตุลาไม่น่าจะเกิดได้เพราะมันอาศัยการ organize การจัดตั้งอะไรหลายๆ อย่าง ต้องมีการกรุยทางมาตามลำดับ มีการกระพือโหมโดยสื่อของรัฐ แต่ปัจจุบันเราไม่ได้มีสภาพการณ์เช่นนั้น เอาเข้าจริงแล้วรัฐอยากจะรักษาสภาพทุกอย่างให้อยู่ในความปกติที่สุด อย่าลืมว่าเราอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน และรัฐอยากให้การเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นอย่างราบรื่นที่สุด การเมืองปะทุมันไม่ได้เป็นที่พึงประสงค์ของรัฐ ความวุ่นวายจะยิ่งสื่อให้เห็นว่ารัฐจัดการไม่ได้ เราก็จะเห็นได้ว่าคนอย่างสรรเสริญ แก้วกำเนิด ออกมา บอกว่าไม่ใส่เสื้อดำก็ไม่เป็นไร พยายามจะ calm down คนที่โกรธแค้นอยู่ในตอนนี้ เขาต้องการให้ช่วงเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นอย่างราบรื่นที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือถ้าเกิดมีปัญหาจริงๆ ก็ใช้กระบวนการทางกฎหมาย ใช้มาตรา 112 เอาเข้าซังเตไป แต่อย่าให้กระเพื่อมมีมวลชนวุ่นวาย มันเป็นภาพที่ไม่สวย และทำให้การเปลี่ยนผ่านดูไม่ราบรื่น

คิดว่าโซเชียลมีเดียมีบทมากแค่ไหนในปรากฏการณ์นี้ ?

โซเชียลมีเดียมีบทบาทอย่างสำคัญเลยในการทำให้กระแสของความเกลียดชังขยายตัวค่อนข้างเร็วและไร้การควบคุม มันใส่อะไรลงไปได้เรื่อยๆ นับเป็นความอันตรายข้อหนึ่งของโซเชียลมีเดีย เพราะพอมันไร้การควบคุมมันก็เปิดโอกาสให้กับการปลุกระดมและการให้ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ครบถ้วน ขาดการกำกับดูแล อันนี้ก็อาจจะเป็นปัญหาข้อหนึ่ง แต่การแก้ปัญหาคงไม่ใช่การให้รัฐเข้ามามอนิเตอร์ แต่มันอยู่ที่การสร้างวุฒิภาวะของคนไทยว่าคุณจะต้องมีความระมัดระวังความรอบคอบ มีวุฒิภาวะที่จะอยู่กับข้อมูลข่่าวสารและการชักจูงโน้มน้าว มันไม่มีใครดูแลได้หรอก สังคมไทยจะต้องโตกว่านี้ถึงจะอยู่กับโซเชียลมีเดียได้ดีกว่านี้ ไม่อย่างนั้นเราก็จะเจอการล่าแม่มดแบบนี้

เราอาจจะเห็นว่ามันคนโดนล่าเพราะเรื่องสีเสื้อ แต่พอเราเดินไปตามท้องถนนก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร แต่พอคุณเริ่มเปิดเฟซบุ๊กเมื่อไร มันอย่างกับจะเป็นสงคราม จะฆ่าแกงกัน ไม่ใส่เสื้อดำออกนอกบ้านไม่ได้ จริงๆ แล้วมันไม่ถึงขนาดนั้น เพราะโลกความจริงมันอยู่กันด้วยหลายสิ่งหลายอย่างมาก อย่างไรก็ดีพอมันถูกกระตุ้นในโซเชียลมีเดีย มันก็จะพาโลกในโซเชียลมีเดียออกไปสู่โลกภายนอกอีกทีหนึ่ง ทำราวกับว่าโลกข้างนอกจะต้องเป็นอย่างนั้น คนที่ถูกกระตุ้นก็รู้สึกว่าจะต้องไปจัดการคนที่ไม่ใส่เสื้อดำ มันเป็นช่องทางการกระจายข้อมูลข่าวสารที่บิดเบี้ยวไร้การตรวจสอบ ทำให้เกิดกลุ่มเฉพาะที่รับข้อมูลที่ไปในทางของตัวเอง จึงพากันรวมตัวกันออกไปทำในสิ่งที่ไม่พึงประสงค์

ประเมินว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างนี้ไปอีกนานไหม ?

ผมคิดว่าความโศกเศร้าโดยตัวของมันเองจะค่อยๆ คลี่คลายไปตามลำดับ ยิ่งเมื่อมีพิธีบรมราชาภิเษกเพื่อเฉลิมฉลองการครองราชย์ของกษัตริย์องค์ใหม่เร็วเท่าไร มันก็จะแทนที่ความเศร้าเสียใจได้เร็วเท่านั้น แต่ตอนนี้ทางฝ่ายผู้ปกครองยังไม่พร้อมที่จะแทนที่อารมณ์ทางสังคมด้วยการเฉลิมฉลอง ก็ต้องปล่อยให้อารมณ์ของความสูญเสียดำรงอยู่ไปก่อน อารมณ์ของสังคมตอนนี้เป็นเรื่องของการไว้ทุกข์ไว้อาลัยให้กับการสูญเสีย แต่เมื่อมีจังหวะใหม่ อารมณ์ของสังคมใหม่ที่ใหญ่กว่าเข้ามาแทนที่ ก็อาจยังมีความรู้สึกที่สูญเสียอยู่ แต่ในแง่ของระดับรัฐ เขาจะต้องจัดการให้เกิดอารมณ์ของการเฉลิมฉลองให้กลายเป็นอารมณ์ใหม่ของสังคม เพราะไม่ว่าอย่างไรประเทศก็ต้องเดินหน้าต่อไป ความเศร้าโศกเสียใจอาจจะหดแคบลง หรือมีที่ทางที่เหมาะสม แต่จะไม่ใช่อารมณ์ใหญ่ของสังคมอีกต่อไป

มีตัวอย่างบางคลิปในโซเชียลมีเดียที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนร่วมในการล่าแม่มดด้วย คิดเห็นอย่างไร ?

ผมคิดว่ามันเป็นการลุแก่อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ ในแง่หนึ่งก็เข้าใจได้ว่ามันเป็นการยอมจำนนต่อกระแสกดดันของมวลชน แต่ผมว่าเขาก็มีทางเลือกที่จะไม่ทำเช่นนั้น เช่นการทำตามขั้นตอนกฎหมายปกติ แต่ก็ไม่ ผมคิดว่าในตอนนั้นเขาไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้รักษากฎหมาย แต่เป็นส่วนหนึ่งของมวลชน

จะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร ?

ประการแรก คือ เราต้องเรียกร้องการคืนมาของกฎเกณฑ์ระเบียบปกติ เราต้องเรียกร้องการกลับมาของการใช้กฎหมาย ในการแก้ไขปัญหา ไม่เปิดโอกาสให้ใครก็ตามสูงส่งมาจากไหนมาละเมิดกฎเกณฑ์กติกาที่เราใช้ในการอยู่ร่วมกัน ไม่เช่นนั้นแล้วเราก็จะไม่มีหลักประกันอะไรให้กับชีวิตของผู้คน ไม่มีใครบอกคุณได้ว่าวันหนึ่งคุณใส่เสื้อสีแจ๊ดออกไปเพื่อปฏิบัติหน้าที่บางอย่างทั้งที่คุณก็ไม่ได้รู้สึกอยากจะละเมิดใคร แต่ไอ้บ้าที่ไหนก็ไม่รู้มาตีหัวคุณ แล้วจะเอาผิดที่ไหนได้ถ้าคุณใช้วิธีการแบบนี้ร่ำไป มันไม่ได้ ใครผิดก็ต้องใช้กระบวนการยุติธรรมปกติ มันต้องไม่เปิดโอกาสแม้ว่าเขาจะใช้ข้ออ้างที่ดูดีสูงส่งมาละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของคนในฐานะที่เป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยได้ เราต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน มันต้องคล้ายๆ กับจัดสรรความโศกเศร้าให้มีที่ทางหรือแสดงออกอย่างเหมาะสม แล้วก็สำรวม โอเคว่าความโศกเศร้านั้นมีแน่และไม่ควรถูกทำให้หายไป แต่จะทำยังไงให้ความเสียใจได้รับการแสดงออกอย่างเหมาะสมและถูกที่ทาง

ประการที่สอง คือ ต้องไม่ให้ความเสียใจเป็นข้ออ้างในการกระทำสิ่งใดๆ ในการละเมิดกฎหมายหรือขั้นตอนปกติ ไม่ใช่แค่การไปละเมิดหรือตั้งศาลเตี้ย แต่หมายถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย ในสังคมไทยมีหลายกรณีมากที่การละเมิดกฎเกณฑ์ปกติมีข้ออ้างที่สูงส่งมีศีลธรรมเต็มไปหมดเลย เป็นคนดีบ้างล่ะ เศร้าโศกเสียใจบ้างล่ะ แต่ผมว่าเราควรจะลด โอกาสในการอ้างคุณงามความดีเหล่านี้มาละเมิดกฎเกณฑ์ปกติ

ประการที่สาม คือ ใช้กลไกกฎหมายตามปกติ ไม่เปิดให้ใครลุแก่อำนาจ เอากฎหมายมาไว้ในมือและใช้ความรุนแรงกับผู้อื่น ที่สำคัญคือต้องมีการดำเนินคดีกับคนที่ละเมิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ไม่ว่าจะในนามของอะไรก็ตามแต่ ต้องเอามาลงโทษ ไม่ให้เขาลอยนวลพ้นผิด มิเช่นนั้นแล้วก็จะได้ใจแล้วก็ปฏิบัติอยู่ร่ำไป ตำรวจจะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ไม่ได้ คุณเป็นผู้พิทักษ์สัมติราษฎร์ ผู้พิทักษ์กฎหมาย คุณก็ต้องบังคับใช้กฎหมาย ตอนนั้นคุณอาจจะทำไม่ได้ แต่มันก็มีคลิปมีหลักฐานที่จะใช้ดำเนินคดีในภายหลังได้ เพราะถ้าเขาลอยนวลพ้นผิดได้ด้วยข้ออ้างแบบนี้ ต่อไปใครๆ ก็ทำ แล้วสังคมจะอยู่อย่างไร

การเมืองสีเสื้อมีผลในการทำให้ความรุนแรงทวีคูณขึ้นไหม ?

ก็น่าจะมีผล ที่ผ่านมาฝ่ายหนึ่งก็มักผูกโยงภาพว่าอีกฝ่ายว่าเผาบ้านเผาเมืองต้องการล้มสถาบันอยู่แล้ว แต่ตอนนี้มันน่ากลัวกว่าการเมืองเสื้อสี เพราะว่าตอนนี้มันขยายลุกลามไปทั่ว คนที่แต่เดิมอาจจะไม่ได้สมาทานขั้วใดขั้วหนึ่งเป็นการเฉพาะ อาจจะไม่ใช่เหลืองจัด แต่พอเห็นคนถูกกล่าวหาว่าหมิ่นก็พร้อมที่จะกระโจนเข้าไป พร้อมที่จะใช้ความรุนแรงด้วย ตอนนี้มันอันตรายกว่าการเมืองเสื้อสี มันถูกโหมด้วยอารมณ์ ความคลุ้มคลั่งค่อนข้างจะเยอะ มันน่ากลัวเพราะอะไร เพราะมันขาดการจัดตั้ง มันจึงคาดคะแนไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ ผมว่าตอนนี้ประเทศไทยอยู่สภาวะสุ่มเสี่ยง อ่อนไหว และเปราะบางมาก

คิดว่าสังคมาถึงจุดสูงสุดของความรุนแรงแล้วหรือยัง ในอนาคตจะแรงขึ้นหรือเบาลง ?

ผมคิดว่ามันจะทรงตัวอยู่แบบนี้ไปประมาณสัปดาห์สองสัปดาห์ แล้วก็จะค่อยๆ ลดลง ผมไม่คิดว่ามันจะขยายใหญ่ เว้นเสียแต่ว่ามีพวกที่เคลื่อนไหวทางการเมืองเข้ามาผสม แต่ผมคิดว่า คสช. ซึ่งเป็นผู้สร้างความสงบเงียบให้กับการเปลี่ยนผ่านไม่ต้องการสิ่งนั้น มันจึงน่าจะถูกจำกัดไว้ระดับหนึ่ง ในแง่หนึ่งเราอาจจะเอาผิดคนเหล่านั้นไม่ได้ มีการเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ คนที่ถูกใช้ความรุนแรงก็อาจจะซวยไป เอาความผิดอะไรใครไม่ได้ แต่ขนาดของมันจะไม่ไปใหญ่กว่านี้สักเท่าไร จะประปราย กระจัดกระจายทั่วๆ ไป แต่สิ่งที่สำคัญคือมันไม่มีหลักประกันในชีวิต ผู้คนก็คงต้องระมัดระวังตัวเองกันไป ตอนนี้คุณอยู่ในสังคมที่ไม่มีหลักประกันอะไร ถ้าเกิดทำผิดแล้วพวกที่ใช้วาทกรรมใหญ่ๆ มาใช้วาทกรรมนั้นกับคุณ โอกาสที่เขาจะหลุดรอดมีสูงมากๆ ถ้าเขาอ้างว่าเขาทำในนามของความรัก ความดี ความเศร้าโศกเสียใจจากความสูญเสีย คุณก็พร้อมที่จะได้รับความรุนแรงที่มันเกินพิกัดและเกินไปจากกระบวนการยุติธรรมปกติ คงไม่สามารถนำคนเหล่านั้นมาดำเนินคดีตามขั้นตอนปกติได้ในช่วงเวลานี้

แปลว่าทุกส่วนต้องเงียบกันต่อไป ?

เพราะว่าสังคมถูกครองโดยความเศร้าโศกเสียใจ และส่วนหนึ่งก็กลายเป็นความคลุ้มคลั่งไป คนที่อยู่ในอำนาจรัฐก็ไม่กล้าที่จะเข้ามาจัดการอะไร สิ่งที่จะประคองตัวเองให้รอดคืออย่าไปทำอะไรที่มันขวางลำ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ณ ตอนนั้นไม่มีหลักประกันอะไรให้กับคุณหรอก เมื่อความเศร้าโศกเสียใจคลี่คลายไป และเมื่ออารมณ์ของสังคมถูกแทนที่ด้วยวาระใหม่นั่นคือการขึ้นครองราชย์ซึ่งจะต้องมีการเฉลิมฉลอง ความเศร้าโศกเสียใจก็จะต้องถูกจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของมันใหม่ ซึ่งก็จะช่วยให้ความรุนแรงลดลงไปตามลำดับ

เราจะป้องกันไม่ให้การล่าแม่มดเกิดขึ้นในอนาคตอีกได้อย่างไร ?

ในที่สุดแล้วเราต้องไม่สร้างความผูกพันที่มากล้นเกินไป เราต้องไม่สร้างหรือทำให้คนคนหนึ่งผิดธรรมชาติไป เช่น จะอยู่ได้ยาวนาน เราต้องไม่สร้างบุคคลที่มีลักษณะพิเศษไปจากมนุษย์ธรรมดาแล้วผูกตัวเองกับเขา เพราะเมื่อมันเจอกับข้อเท็จจริงของชีวิต คุณจะไม่สามารถรับความจริงที่เกิดขึ้นได้ มันจะนำมาสู่อารมณ์ที่พุ่งพล่านเดือดดาล เราต้องทำให้คนในสังคมอยู่กับสภาพความเป็นจริงของชีวิต หนึ่ง คือ มนุษย์ทุกคนคือปุถุชนคนธรรมดา มีดีชั่วปะปนกัน ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจธรรมชาติมนุษย์ สอง คือ การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นเรื่องปกติสามัญ การเกิดแก่เจ็บตายมันเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ก็ต้อง to be fair กับผู้สูญเสียด้วย คือไม่ควรจะใช้โอกาสนี้ในการทับถมหรือทำร้ายจิตใจกัน เราควรจะเคารพผู้คนในฐานะมนุษย์ธรรมดาที่เศร้าโศกเสียใจได้ อย่าไปถากถางเยาะเย้ย ต้องให้เกียรติผู้ที่สูญเสียด้วย สังคมอารยะจึงจะอยู่ด้วยกันได้ ไม่อย่างนั้นมันก็จะลำบาก สาม คือ เมื่อมีความเศร้าโศกเสียใจ ควรจะแสดงออกอย่างพอเหมาะพอควรไม่คลุ้มคลั่ง นี่พูดภาษาพระเลยนะ มันตลกมากที่พูดเรื่องนี้ต้องพูดแบบพระ แต่มันเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องหยิบคำพระมาระดับหนึ่ง คือ เราต้องจัดวางความเศร้าโศกเสียใจให้มันถูกต้อง พอเหมาะพอควร รู้ว่าความจริงของชีวิตคืออะไร

อีกเรื่องหนึ่งคือรัฐ ถ้ามีการสูญเสียขนาดใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสถาบันทางสังคม รัฐจะต้องรีบเข้ามาคลี่คลายหรือจัดการกับความเศร้าโศกเสียใจให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่ใช่ปล่อยให้เรื่องราวเกิดขึ้นกระจายเต็มไปหมดโดยที่แทบจะไม่จัดการอะไรเลย ความสูญเสียมีหลายระดับ ในระดับบุคคล มันไม่เป็นไร แต่พอมันเป็นระดับสถาบันทางสังคม หรือสถาบันทางการเมือง มันกระทบกันไปหมด รัฐจะต้องเข้ามาจัดการในทันที จะต้องเข้ามาบอกแนวทางปฏิบัติ ออกมาห้ามปรามโดยเร็ว อย่าปล่อยให้เรื่องมันเกิดจนถึงจุดที่ไม่สามารถจัดการได้ ตอนนี้รัฐยังจัดการช้าเกินไป และยังคิดไม่เป็นระบบ

ช่วงนี้มีคำที่ฮิตคือ #ดึงสติกันหน่อย อยากให้ช่วยทิ้งท้ายเพื่อดึงสติคนในสังคม

เป็นธรรมดาที่เราจะเสียใจเมื่อสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก แต่ก็ต้องตระหนักว่า ความสูญเสียนี้เป็นสิ่งธรรมดาที่เราต้องเผชิญไม่วันใดก็วันหนึ่ง เพราะฉะนั้นในฟากหนึ่งเราก็ไม่เสียสูญความเป็นมนุษย์ที่จะเสียใจได้ แต่ในอีกฟากหนึ่งเราก็ต้องไม่สูญเสียความเป็นมนุษย์ที่จะคิดและมีวิจารณญาณได้ ในขณะเดียวกันก็ไม่ปล่อยให้ความสูญเสียมันไปปิดกั้นการใช้ความคิดวิจารณญาณในการตอบสนองต่อบุคคลที่อาจจะกระทำการที่เราคิดว่าไม่เคารพความสูญเสียของเรา มันอาจจะมีเหตุผล เงื่อนไข เหตุปัจจัย ลักษณะเฉพาะอยู่ข้างหลังก็ได้ อย่างเร่งด่วนตัดสินใจโดยใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง ต่อให้การกระทำที่เรารู้สึกว่าไม่เคารพหรือดูหมิ่นต่อความสูญเสีย หรือผู้สูญเสีย เราก็ไม่อยู่ในสถานะที่จะไปพิพากษาหรือลงทัณฑ์เขาได้ ประเทศนี้มันมีระบบกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมที่จะทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว ก็ปล่อยให้มันได้ทำหน้าที่ของมันไป เพราะสุดท้ายแล้วกระบวนการเหล่านั้นมันจะมาป้องกันไม่ให้ความสูญเสียเกิดขึ้นอีก อันจะนำมาซึ่งความโกรธแค้นที่มีต่อกันไปไม่มีที่สิ้นสุด