วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 27, 2559

ชาวเน็ตแห่ให้กำลังใจคนทำงานด้านดนตรี-บันเทิง หลังหลายรายประกาศขายรถ-เครื่องมือ(ชมภาพ)





ชาวเน็ตแห่ให้กำลังใจคนทำงานด้านดนตรี-บันเทิง หลังหลายรายประกาศขายรถ-เครื่องมือ(ชมภาพ)

27 ต.ค. 2559
Kanomjeeb.com


เจ้าของเฟซบุ๊กชื่อ “ชัย ฟิวเจอร์ แบนด์” โพสต์ภาพและข้อความลงเฟซบุ๊ก เพื่อเผยแพร่เรื่องราวที่กลุ่มคนซึ่งทำงานด้านดนตรีและบันเทิง กำลังประสบอยู่ในขณะนี้ โดยเจ้าตัวระบุว่า..

“นี่พึ่งย่างเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 ก็เห็นพี่น้องวงการเราเริ่มออกมา บอกขายเครื่องมือทำมาหากินและขายรถกันบ้างแล้ว เห็นแล้วหดหู่ใจเหลือเกิน คำถามต่อไปคือว่า ใครจะซื้อ ซื้อไปทำอะไร เพราะเชื่อว่ายิ่งนานไป ก็จะน่ามีคนออกมาบอกขายมากขึ้นเรื่อย ๆ ปล. ขออนุญาติเจ้าของเพจที่เเคปรูปมาด้วยนะครับ”























ประเภท : ทันเหตุการณ์
ที่มา : ชัย ฟิวเจอร์ แบนด์


ooo


รายงาน: ผู้ประกอบการวงดนตรีขอรัฐบาลช่วยเหลือภาระหนี้สิน หลังงดยาว

Thu, 2016-10-27 17:32
ที่มา ประชาไท

ทวีศักดิ์ เกิดโภคา: สัมภาษณ์/เรียบเรียง


"ผมคิดอยู่เป็นสัปดาห์ว่าจะทำอย่างไรดี เราจะแก้ปัญหาของเราอย่างไร และเราจะตอบคำถามกับสังคมอย่างไร สุดท้ายก็เลยโพสต์ไปว่า ผมจะขายเครื่องเสียง คือเลิกกิจการที่เราทำมา 30 ปีไปโดยปริยาย เพราะไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร ที่เราพูดเรื่องนี้ไม่ใช่ว่าเราไม่เสียใจต่อการสวรรคต ไม่ใช่เราไม่รักในหลวง แต่ว่าเราทำอาชีพนี้ และมันเป็นเรื่องปากท้อง มันไม่ใช่การประชด เราโตมา พ่อแม่เราสอนมาตลอดให้รักในหลวง ใครๆ เขาก็รักท่านกันทั้งนั้น

-เจ้าของกิจการให้เช่าเครื่องขยายเสียง เครื่องดนตรี และเวที เจ้าหนึ่งในจังหวัดชลบุรี หรือคุณบี (นามสมมติ)-



ภายหลังจากการประกาศของสำนักพระราชวังเรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร สวรรคต เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2559 เวลา 15 นาฬิกา 52 นาที เสด็จสวรรคต ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยพระอาการสงบ สิริพระชนมพรรษาปีที่ 89 ทรงครองราชสมบัติได้ 70 ปี ต่อมาได้มีมติของคณะรัฐมนตรี ให้วันที่ 14 ต.ค. 59 เป็นวันหยุดราชการ เพื่อให้ประชาชนน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายอาลัยส่งดวงพระวิญญาณพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และขอความร่วมมืองดจัดมหรสพ และการจัดงานรื่นเริงเป็นระยะเวลา 1 เดือน

ในห้วงเวลาแห่งความสูญเสียครั้งสำคัญของสังคมไทย ย่อมส่งผลต่อประชาชนทุกหมู่เหล่าอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ ทั้งผลกระทบที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ความโศกเศร้าและสภาพจิตใจของประชาชนชาวไทย ในอีกส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันที่ความสูญเสียครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อปัญหาปากท้อง สภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มผู้ประกอบการวงดนตรี เวที แสง สี เสียง และการแสดงมหรสพ

ต่อมาในวันที่ 18 ต.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม. ในเรื่องการจัดงานรื่นเริงบันเทิง โดยขอให้งดเว้นในช่วง 30 วันแรกนับจากวันที่ 14 ต.ค. โดยให้พิจารณาตามความเหมาะสม โดยให้กระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงได้หารือกันว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร เพราะมีผลกระทบหลายๆ ด้าน พร้อมระบุด้วยว่า ไม่อยากให้ใครเดือดร้อน แต่ต้องดำเนินการด้วยความเหมาะสม อาจจะต้องงดในส่วนที่เป็นมหรสพหรือความบันเทิง ดนตรี ร้องรำทำเพลง แต่การจัดประชุม งานมงคลสมรส ทอดกฐิน ลอยกระทง งานบำเพ็ญกุศล หรือศาสนกิจตามประเพณี สามารถกระทำได้ในรูปแบบที่เหมาะสม และเชื่อว่าทุกคนเข้าใจอยู่แล้ว แต่เรื่องการเลี้ยงสังสรรค์ที่ทำในอาคารเฉพาะกลุ่ม ที่จัดปกติเนื่องจากได้เตรียมการไว้แล้ว ก็ต้องลองพิจารณา ถ้าจำเป็นก็ดำเนินการได้ รวมถึงการรับนักท่องเที่ยวหรือผู้เข้าร่วมประชุม สามารถจัดได้ตามความเหมาะสมโดยคำนึงถึงความรู้สึกประชาชนและสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้เป็นหลัก

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 ต.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) ว่า กระทรวงวัฒนธรรมได้ประชุมหารือกับผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัฒนธรรม ผู้แทนจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีข้อสรุป ดังนี้ ประเพณีลอยกระทง เห็นสมควรให้จัดตามประเพณีท้องถิ่นที่สืบทอดกันมา เช่น ทำบุญ ตักบาตร ปฏิบัติธรรม ฟังเทศน์ ตามประเพณีของแต่ละท้องถิ่น ยกเว้นการประกวดนางนพมาศและการจัดคอนเสิร์ต ส่วนการเฉลิมฉลอง เช่น จุดพลุ ตะไล ดอกไม้ไฟ ควรจุดอย่างระมัดระวัง ในสถานที่ที่เหมาะสม และต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการ ส่วนเทศกาลกฐินให้พิจารณาตามความเหมาะสม งดเฉพาะส่วนที่เป็นมหรสพหรือความบันเทิง แต่ยังสามารถจัดงานตามประเพณีได้ โดยการปฏิบัติในการถวายผ้าพระกฐินพระราชทานปี 2559 ให้ตั้งโต๊ะหมู่ ตั้งเครื่องราชถวายราชสักการะ มีพิธีเปิดกรวยกระทงดอกไม้ ธูปเทียนแพถวายราชสักการะเหมือนเดิม บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี คำกล่าวถวายผ้าพระกฐินใช้คงเดิม ส่วนการแต่งกายในงานกฐินพระราชทาน ประธานและข้าราชการแต่งชุดปกติขาวไว้ทุกข์ตามระเบียบราชการ ส่วนภาคเอกชนใส่สูทสากลไว้ทุกข์ หรือผ้าไทยพระราชทานแขนยาว ส่วนประเพณีอื่นๆ เช่น คริสต์มาส ดำเนินการได้ตามความเหมาะสม วันขึ้นปีใหม่ เน้นการสวดมนต์ข้ามปี งานตรุษจีน ให้เป็นไปตามประเพณีคนไทยเชื้อสายจีน และประเพณีสงกรานต์ ดำเนินการตามประเพณีท้องถิ่น

ต่อกรณีดังกล่าว ประชาไทสัมภาษณ์ผู้ประกอบการวงดนตรี 3 วงจาก 3 จังหวัด ซึ่งทั้งหมดรับและเข้าใจถึงความจำเป็นของสถานการณ์ ยินดีให้ความร่วมมือกับรัฐเรื่องการงดเว้นการแสดงมหรสพ แต่ได้สะท้อนปัญหาภาระหนี้สิน บางรายถึงขั้นประกาศขายกิจการ วอนรัฐบาลออกมาตรการชะลอการชำระหนี้สินกับสถาบันการเงิน

----




ภาพ: ดัดแปลงจากภาพถ่ายโดย newdavich, CC BY-NC 2.0


“มาจนถึงวันนี้ วงผมโดนยกเลิกงานไปถึงวันที่ 1 พ.ค. 2560 รวมแล้วทั้งหมดถูกยกเลิกไปแล้ว 70-80 งาน” ผู้ประกอบการวงดนตรีแห่งหนึ่งในจังหวัดประจวบศีรีขันธ์

ดูจะเป็นเรื่องที่ปฏิเสธได้ยากว่า นี่คือผลกระทบต่ออาชีพผู้ประกอบการวงดนตรีซึ่งกำลังเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ วงดนตรีของคุณเอ (นามสมมติ) เป็นวงดนตรีขนาดกลาง รับงานแสดงดนตรีทั่วไปตามงานบวช งานแต่งงาน งานจัดเลี้ยงพนักงานของบริษัทต่างๆ และงานเทศกาลประจำปีในจังหวัดประจวบศีรีขันธ์ รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียง โดยในการออกงานแต่ละครั้งเขาจะมีเงินเหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดประมาณ 7,000 บาท โดยเรตค่าจ้างออกงานแต่ละครั้งอยู่ที่ 25,000 – 60,000 บาท ซึ่งเงินที่รับมาทั้งหมดจะต้องนำไปจ่ายค่าเช่าเครื่องดนตรี ค่าเช่าเวที ค่าจ้างนักร้อง นักดนตรี และแด๊นเซอร์

เขาเล่าต่อไปว่า วงดนตรีของเขาไม่ได้เลี้ยงลูกน้องไว้จำนวนมาก มีเพียงแค่ไม่กี่รายที่อยู่ทำงานประจำ การออกงานแต่ละครั้งจะเป็นการตกลงจ้างงานกับส่วนอื่นๆ อีกต่อหนึ่ง เพื่อให้ครบองค์ประกอบของวงดนตรี แต่หลังจากที่งานจ้างเริ่มถูกยกเลิกไปเรื่อยๆ จนถึงเดือน พ.ค. ปีหน้า ทำให้ทีมงานที่เคยร่วมกันมาเริ่มกระจายตัวออกไปหางานอื่นทำจนเกือบหมด และเป็นเรื่องยากที่จะกลับมารวมกันอีกครั้ง เพราะยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการจ้างงานอีกครั้งเมื่อไหร่

เขามองว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยเห็นว่า ช่วงที่ไม่มีการจ้างงานแสดงทำให้หลายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการจัดแสดงมหรสพขาดรายได้จำนวนมาก และส่วนใหญ่ผู้ที่ทำอาชีพในลักษณะดังกล่าว จะทำเป็นอาชีพหลักอาชีพเดียว เช่น อาชีพให้เช่าเครื่องขยายเสียง เครื่องดนตรี และเวที นักดนตรี นักร้อง แด๊นเซอร์ และผู้ประกอบการรับเหมาโต๊ะจีน

“พอผมเริ่มโพสต์ว่า อยู่ไม่ไหวแน่ๆ ถ้าไม่มีงานยาวขนาดนี้ คือจริงๆ 30 วันเราน้อมรับและพร้อมให้ความร่วมมือ แต่ถ้ายาวไปถึงหลังสงกรานต์ขนาดนั้น เราอยู่ไม่ได้ ไหนจะส่งลูกเรียน ส่งบ้าน ส่งรถ พอพูดไป คนก็ว่า ทำไมไม่ไปหางานการอย่างอื่นทำ ผมถามหน่อยเถอะว่า งานมันหาง่ายขนาดนั้นเลยเหรอ สิ่งที่เราอยากรู้ตอนนี้คือ รัฐบาลจะช่วยอะไรได้บ้างไหม เพราะเห็นว่าห้ามไม่ให้ชาวนาปลูกข้าว เขาก็ยังให้เงินชดเชย” คุณเอ กล่าว

เขาเล่าต่อไปถึงตารางงานในรอบหนึ่งปีว่า ช่วงเข้าพรรษาจะเป็นช่วงที่วงดนตรีส่วนใหญ่จะไม่มีงานจ้าง เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน การจ้างงานจะเริ่มต้นอีกครั้งหลังจากออกพรรษายาวไปจนถึงงานลอยกระทง งานปีใหม่ งานเทศกาลประจำของจังหวัด และเทศกาลสงกรานต์ แน่นอนความหวังของคนในวงการวงดนตรีอยู่ที่ช่วงหลังออกพรรษา แต่ดูเหมือนปีนี้ความหวังจะถูกยกเลิก หรือไม่ก็เลื่อนเวลาออกไปก่อน

ด้านผู้ประกอบกิจการให้เช่าเครื่องขยายเสียง เครื่องดนตรีและเวที เจ้าหนึ่งในจังหวัดชลบุรี หรือ คุณบี (นามสมมติ) ก็ได้รับผลกระทบจากการถูกยกเลิกงานเช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่ดูหนักหนาสาหัสกว่าเพื่อนในวงการคนอื่นๆ คือ เขาเพิ่งจะกู้เงินจากธนาคารสำหรับลงทุนซื้อเครื่องเสียงชุดใหญ่เพิ่มอีกหนึ่งชุด เพื่อให้เพียงพอสำหรับงานที่รับไว้ในช่วงสิ้นปีนี้ไปจนถึงต้นปีหน้า แต่หลังจากที่งานทยอยถูกยกเลิก เขาพยายามคิดหาทางออกให้กับปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นโดยการประกาศขายชุดเครื่องเสียงทั้งหมดที่มี ซึ่งนั่นถือเป็นการยุติอาชีพของตัวเองซึ่งทำมากว่า 30 ปีไปโดยปริยาย

“ผมคิดอยู่เป็นสัปดาห์ว่าจะทำอย่างไรดี เราจะแก้ปัญหาของเราอย่างไร และเราจะตอบคำถามกับสังคมอย่างไร สุดท้ายก็เลยโพสต์ไปว่าผมจะขายเครื่องเสียง คือเลิกกิจการที่เราทำมา 30 ปีไปโดยปริยาย เพราะมันไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร ที่เราพูดเรื่องนี่ไม่ใช่ว่าเราไม่เสียใจต่อการสวรรคต ไม่ใช่เราไม่รักในหลวง แต่ว่าเราทำอาชีพนี้ และมันเป็นเรื่องปากท้อง ไม่ใช่การประชด เราโตมา พ่อแม่เราสอนมาตลอดให้รักในหลวง ใครๆ เขาก็รักท่านกันทั้งนั้น”

“คุณคิดดูแล้วกัน ผมรับงานครั้งหนึ่งก็หลัก 3-4 แสน คือเป็นงานใหญ่เลย แบบจัดคอนเสิร์ตทัวร์ได้เลย ต้นทุนการลงทุนมันก็สูงตามไปด้วย แล้วที่มันเป็นปัญหาจริงๆ คือ ก่อนหน้านี้ผมไปขยายขอบเขตงาน ไปซื้อเครื่องเสียงเพิ่ม เพราะก่อนหน้านี้งานเข้ามาเยอะมาก กลัวว่าเครื่องเสียงจะไม่พอรับงานจึงไปกู้ธนาคารมา พอมาถึงวันนี้เราแทบไม่เหลืออะไรเลย สุดท้ายก็ต้องประกาศขายทั้งหมด ซึ่งก็ยังไม่รู้จะขายได้หรือเปล่า เพราะคนซื้อก็คงไม่รู้ว่าจะซื้อไปทำอะไรช่วงนี้” คุณบี กล่าว

สิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดสำหรับคุณบีตอนนี้ ไม่ใช่เรื่องการสูญเสียอาชีพ แต่เป็นเรื่องจะหาเงินมาใช้หนี้ธนาคารได้อย่างไร ในเมื่อรายรับจากการให้เช่าเครื่องเสียงตอนนี้กลายเป็นเพียงตัวเลขกลมๆ คือ 0 บาท

ด้านผู้ประกอบกิจการวงดนตรีอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดสิงห์บุรี หรือคุณซี (นามสมมติ) ได้ให้ข้อมูลเช่นเดียวกันว่าถูกยกเลิกงานทั้งหมด 20 งาน ภายในช่วงเวลาหนึ่งเดือนที่รัฐบาลประกาศให้งดการจัดแสดงมหรสพ แต่กรณีดังกล่าวเขาเห็นว่าเป็นเรื่องที่เขายินดีที่จะทำอยู่แล้ว แม้การที่รายได้หายไปจำนวนมากย่อมส่งผลกระทบต่อเขาโดยตรง แต่เขายินดีทำเพื่อเป็นการแสดงความอาลัยต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ แต่สิ่งที่ทำให้เขาเริ่มกังวลขึ้นมาอีกครั้ง คือการออกมาให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งให้ความหมายอย่างเดียวคือ งานทุกเทศกาลยังคงจัดได้ แต่ห้ามมีการแสดงดนตรี

“ผมเชื่อว่าคนทำวงดนตรีเดือดร้อนเรื่องนี้กันเยอะมาก เท่าที่เรารู้จักก็กระทบหมด แล้วที่เราไม่รู้อีกตั้งเท่าไหร่ คนเดือดร้อนกันเยอะ แต่ไม่มีใครกล้าออกมาพูด เพราะกลัวว่ามันจะดูไม่ดี ไม่ถูกกาลเทศะ เราจึงอยากให้มีการพูดคุยกันจริงๆ ระหว่างผู้ประกอบการวงดนตรีกับรัฐบาลว่า จะผ่อนปรนกันได้บ้างหรือไม่ เพราะไม่อย่างนั้นเราอยู่ไม่ได้เหมือนกัน หรือถ้าผ่อนปรนอะไรไม่ได้เลย เป็นไปได้ไหมที่จะช่วยพูดคุยกับสถาบันการเงินต่างๆ ให้ขยายกำหนดการชำระหนี้ของผู้ประกอบการวงดนตรีออกไปก่อน เหมือนช่วยต่อลมหายใจกันไปอีกนิด อยากให้รัฐบาลให้ช่วยประคับประคองเราด้วย เพราะเราไม่มีทางเลือกอื่น” คุณซี กล่าว