วันเสาร์, ตุลาคม 15, 2559

ลักษณะแห่งกฏหมายหมิ่นฯ ที่หลายครั้งกลายเป็น ‘กฏหมู่’ เช่นนี้จะยังคงสืบทอดเจตนารมณ์ต่อไปในรัชกาลใหม่หรือไม่





นิดๆ หน่อยๆ ในวันที่สองของการส่งเสด็จพระเจ้าอยู่หัวในโกศ สู่สวรรคาลัย

พสกนิกรพากันหลั่งไหลเข้าสู่บริเวณหน้าพระบรมมหาราชวังและท้องสนามหลวงอย่างเนืองแน่น กระทั่งยามค่ำเลยสี่ทุ่มก็ยังปักหลักกันอยู่ภายในบริเวณท้องสนามหลวงจำนวนไม่น้อย จนเกิดเหตุโต้เถียงกับเจ้าหน้าที่เทศกิจที่เข้าไปแจ้งให้ขยับออกจากบริเวณเพราะจะต้องทำความสะอาด

ปรากฏเป็นคลิปทางสื่อโซเชียล ร้อนถึงหนังสือพิมพืไทยรัฐต้องส่งทีมงานไปทำข่าว

ได้ความว่าเป็นการเข้าใจผิด เจ้าหน้าที่เทศกิจต้องการให้ขยับจากด้านสะพานพระปิ่นเกล้าฯ ไปนอนกันตรงด้านวัดพระแก้วหน้าพระลาน เพื่อการดูแลความปลอดภัยได้สะดวก สุดท้ายผู้อำนวยการเขตพระนครต้องออกมายืนยันว่าประชาชนสามารถค้างแรมในบริเวณสนามหลวงได้เป็นกรณีพิเศษ ในช่วงราชพิธีสำคัญนี้

(http://www.thairath.co.th/content/754347)

กรณีนี้มั่นใจไม่มีข้าราชการผู้ใดถูกเด้งด้วย ม.๔๔

นอกจากนี้มีแถลงแจ้งของคณะกรรมการกระจายเสียงฯ หรือ กสท. ออกมาอีก จากผลการประชุมพิเศษเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ย้ำเตือนเรื่องห้ามเสนอรายการบันเทิงใดๆ ตลอด ๓๐ วัน แต่ครั้งนี้ลงลึกรายละเอียดเกือบจะถี่ยิบ

แน่นอนข้อแรก “จะต้องไม่เป็นการแสดงถึงการบันเทิงใจ การเล่นเต้นรำทั้งปวง การสนุกรื่นเริง ล่อแหลม รุนแรง ตลอดจนแสดงถึงกริยาที่ไม่สำรวม แสดงอารมณ์เกินกว่าสมควร”

ข้อสอง “ผู้ดำเนินรายการ พิธีกร ผู้ประกาศ และบุคคลผู้ร่วมรายการแต่ละสถานี จะต้องแต่งกายให้เรียบร้อยเหมาะสม ใช้โทนสี ขาว ดำ ห้ามลวดลาย และใช้โทนสีดำมากกว่าสีขาว...”

ข้ามไปข้อสี่ “ภาพ และสีที่ใช้ในการออกอากาศรายการของสถานีให้ปรับระดับของสีให้มีความเหมาะสมต่อการร่วมถวายความอาลัย”

ข้อห้า “กรณีการนำเอารายการจากต่างประเทศมาเผยแพร่ออกอากาศผู้รับใบอนุญาตจะต้องตรวจสอบเนื้อหา และรูปแบบการนำเสนอให้เป็นไปตามข้อ ๑ – ๔”

อีกสองข้อเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องผู้ประกอบการมากกว่าบรรดาผู้เสพสื่อ ขอรวบรัดตัดตอนไปยังเกล็ดข่าวจากสำนักพิมพ์ต่างประเทศ ที่คิดว่าน่าสนใจ





เรื่องแรกภาพข่าวยาฮูนิวส์แสดงรูปผู้คนที่ไปชุมนุม ณ ท้องสนามหลวง กลุ่มใหญ่พร้อมใจกันชูธนบัตรใบละร้อยบาท เป็นที่เข้าใจว่าล้วนต้องการแสดงความโศกาอาดูรต่อองค์พระผู้ผ่านพิภพในพระบรมโกศ โดยเชิดชูพระบรมสาทิสลักษณ์อันปรากฏอยู่บนธนบัตร มิได้ยืนกรานว่าค่าเงินบาทยังแข็งแต่อย่างใด

เรื่องต่อมาสำนักข่าวบีบีซีออกคลิปเตือนนักท่องเที่ยวชาวบริทิชที่อยู่ในประเทศไทย ว่ามีสิ่งใดที่ควรทำ กับเรื่องไหนบ้างอย่าได้ทำ ตลอดช่วงเวลาแห่งการแสดงความอาลัยอาวรณ์อย่างน้อย ๓๐ วัน อย่างนาน ๑ ปี





จอห์น ซัดเวิร์ธ พูดถึงการแต่งกายว่า “ชุดว่ายน้ำควรจะยังโอเคตามชายทะเลสถานที่ท่องเที่ยวหลักๆ” แต่รัฐบาลยูเคแนะประชาชนของตน “ถ้าเป็นไปได้ให้สวมเสื้อผ้าขลึมๆ ทึมๆ” เพราะรัฐบาลไทยขอให้ประชาชนของตนแต่งดำ

“เสื้อแขนยาวสีมืดๆ” นายซัดเวิร์ธพูดในคลิป

ด้านการบันเทิง สำนักงานต่างประเทศและเครือจักรภพแนะว่าบาร์และภัตตาคารอาจจะปิด และร้านสะดวกซื้อไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล ทว่านายซัดเวิร์ธเสริมในคลิปว่า “เครื่องดื่มแอลกอฮอลยังพอมีบริการ แต่คุณควรจะลดปริมาณการดื่มลงสักเล็กน้อย”

“อย่าเมาเกินไป อย่าจัดงานใหญ่โต มันอาจทำให้ผู้คนไม่พอใจ” สาวใหญ่บาร์เท็นดี้กล่าวในคลิป

ด้านการสนทนา บีบีซีเจาะจงกล่าวถึงกฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ ของไทยว่าเข้มงวดที่สุดในโลก มีโทษจำคุกสูงถึง ๑๕ ปี ใครก็ได้จะใช้ฟ้องใครก็ได้ รวมทั้งชาวต่างชาติ แล้วตำรวจจะต้องทำการสอบสวนเสมอ

“อารมณ์ขันและการหยามหมิ่นต่อสถาบันกษัตริย์ที่พูดออกมาแล้วมีใครได้ยิน แม้กระทั่งคนขับแท็กซี่ อาจทำให้คุณพบกับความยุ่งยากลำบากหนักหน่วงได้”

(http://www.bbc.com/news/world-asia-37651953)

สำหรับคนไทยเอง กระทั่งในวันนี้ (๑๕ ต.ค.) ก็มีเหตุการณ์ล่าแม่มดด้วยกฏหมายหมิ่นฯ เกิดขึ้นที่ภูเก็ต





ฝูงชนจำนวนมากยกขบวนกันไปชุมนุมหน้าร้านค้าแห่งหนึ่งในตัวเมืองภูเก็ต ยามดึกหลังเที่ยงคืนประตูร้านปิด เนื่องจากมีการระบุบนหน้าเฟชบุ๊ค ‘เสียงประชาชนคนภูเก็ต’ ว่า “เจ้าของบ้านนี้ได้โพสต์ข้อความในเชิงหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ทำให้คนภูเก็ตไม่พอใจ ออกมารวมตัวชุมนุมกัน”

(http://hilight.kapook.com/view/143479)

“เวลา ๐๑.๑๒ น. มีข้าราชการท้องถิ่นเข้ามาช่วยเจรจากับชาวบ้านพร้อมระบุว่า เพื่อความสบายใจของทุกคน ตนจะเดินทางไปแจ้งความเองเลยที่โรงพัก เพื่อแจ้งจับคนที่หมิ่นสถาบัน โดยแจ้งข้อหาตาม ม.๑๑๒ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์”

ลักษณะแห่งกฏหมายหมิ่นฯ ที่หลายครั้งกลายเป็น ‘กฏหมู่’ เช่นนี้จะยังคงสืบทอดเจตนารมณ์ต่อไปในรัชกาลใหม่หรือไม่ ขออย่าได้ให้ต้องรอดู