วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 06, 2559

ความประพฤติแบบวางอำนาจ เจ้าอารมณ์ ใครขืนตำหนิจะต้องถูก ‘เอาคืน’ ความไม่รับผิดชอบ ของยุคทหารครองเมือง





“หรือจะเอาแบบโหด คุณก็รู้ว่าเราจัดให้ได้ แบบไหนก็ได้”

เป็นคำพูดของเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยต่อนายโจชัว หว่อง แกนนำนักศึกษาฮ่องกง เมื่อเขาขอติดต่อกับทนายในประเทศไทยระหว่างถูกกักกันตัวที่สนามบินสุวรรณภูมิ

ทางการไทยไม่ยอมให้เขาเข้าประเทศไปร่วมงานครบรอบ ๔๐ ปี ๖ ตุลา ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากมีคำขอจากรัฐบาลจีนให้กักตัวไว้

(https://www.facebook.com/WorkpointNews/videos/vb.153951094974177/317760811926537/?type=3&theater)

เป็นการพูดที่สามหาว อหังการอย่างยิ่ง สำหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่ประจำสนามบินนานาชาติแสดงต่อคนเดินทางเข้าออก หรือแม้แต่ผ่านสถานที่อันเป็นสาธารณะสำหรับประชาชนทั่วโลก

พวกคนในเครื่องแบบของไทยเอาแบบแผนการทำตัวกร่าง วางอำนาจแบบนี้มาจากไหน ถ้าไม่ใช่การครองเมืองของทหารได้สร้างบรรยากาศของการข่มขู่ ข่มเหง ให้แพร่หลาย โดยวางเฉยไม่มีการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและความมั่นคง เมื่อใดที่ปรากฏว่ามีการละเมิดต่อบุคคลเกิดขึ้น

เมื่อเพียงหนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมานี่เอง มีรายงานข่าวว่าเจ้าของร้านสนุกเกอร์ย่านบางพลัดถูกทหารกลุ่มหนึ่งทำร้ายบาดเจ็บ เนื่องจากไม่พอใจที่ก่อนหน้านี้เจ้าของร้านดังกล่าวเข้าไปขอร้องให้ลดเสียงดังจากการทะเลาะเบาะแว้งกันเองซึ่งรบกวนลูกค้าอื่นๆ ลงหน่อย





เพียงคำพูดว่า “ลูกพี่ลดเสียงลงสักนิดนะครับ” ก็ทำให้ทหารไม่ทราบสังกัดเหล่านั้นไม่พอใจ “ออกอาการนักเลง อวดเบ่ง และพูดว่า ‘กูเป็นทหาร’ ก่อนจะไล่ลูกค้าภายในร้านออกไปทั้งหมดแล้วก็ออกจากร้านไป”

(http://www.matichon.co.th/news/303382)

จากนั้นสองในสี่ทหารนอกเครื่องแบบจึงย้อนกลับไปทำร้ายเจ้าของร้านจนหน้าตาฟกช้ำบวมเป่ง

ความประพฤติแบบวางอำนาจ เจ้าอารมณ์ ใครขืนตำหนิจะต้องถูก ‘เอาคืน’ เช่นทหารกร่างที่บางพลัดนั่นไม่เพียงพบเกลื่อนในหมู่ทหารข้างถนน ทหารระดับเดินบนพรมที่เรียก บิ๊กๆ ทั้งหลาย ก็ได้เห็นบ่อยในยุค คสช. สองปีกว่ามานี้ ตั้งแต่ลูกพี่ตัวใหญ่สุดลงมานั่นเลย

ความสำคัญผิดว่าพวกตนวิเศษเลิศเลอ หรือเพียงสร้างวาทกรรมให้ ‘ดูดี’ เพื่อการครองอำนาจต่อไปอย่างยาวนาน นี่ทำให้ตัวใหญ่ๆ ของ คสช. มักออกอาการยกตนข่มท่านและผลักความผิดหรือสิ่งใดที่ดูไม่ดีไปให้ผู้อื่นเป็นนิจสิน

อย่างเช่นสถานการณ์ฝนตกหนักน้ำท่วมถนนหนทางและบ้านเรือนทั่วหัวระแหง ล่าสุดวันนี้ (๖ ตุลา) ที่สีคิ้ว โคราช น้ำหลากท่วมถนนจนรถราไม่สามารถสัญจรได้ โดยที่ทางกรมอุตุฯ ระบุว่ายังจะมีฝนตกหนักอีกต่อไป หนักสุดราวในวันที่ ๘ นี้





พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ที่ลิ่วล้อและพวกเกาะแข้งเกาะขาพากันประโคมผลักดันจะให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีกหลังจากมีการเลือกตั้ง (โดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง) กลับพูดถึงสถานการณ์น้ำนี้ด้วยการป้ายความผิดให้รัฐบาลที่แล้วอีกจนได้

“ชี้น้ำท่วมไม่ใช่ความผิดของประชาชน ผิดที่คนมาเป็นนายกฯ ก่อนหน้านี้ ผิดในการบริหารบ้านเมืองไม่สำเร็จ”

(https://twitter.com/wassanananuam/status/783645236555763712)

พิจารณาตามเนื้อถ้อยลายลักษณ์อักษร หรือ literally ‘ประชาชน’ ย่อมไม่เกี่ยวกับความผิดเรื่องน้ำท่วมเช่นนี้อยุ่แล้ว ประชาชนเป็นผู้เสียหายทั้งขึ้นทั้งล่องเท่านั้น รัฐบาลคือผู้รับผิดชอบ และน้ำท่วมปีนี้ ผู้รับผิดชอบก็คือรัฐบาลชุดนี้ของประยุทธ์

การเที่ยวไปป้ายความผิดให้กับรัฐบาลก่อนๆ มันแสดงว่าผู้พูดเต็มไปด้วยความเจ้าเล่ห์ และปราศจาก spine ไขสันหลังที่จะยอมรับความจริง

ความจริงอาจเป็นไปตามที่ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยี่อวกาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ (GISTDA) กล่าวไว้ว่า “ขณะนี้มีปริมาณน้ำในทุ่งในพื้นที่ทั่วประเทศประมาณ ๑ ล้านไร่

หรือน้อยกว่าปี ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นปีที่เกิดมหาอุทกภัย มีปริมาณน้ำในทุ่งบนพื้นที่ถึง ๑๗ ล้านไร่”

และถึงเดือนตุลาคมปริมาณน้ำในทุ่งอาจเพิ่มขึ้นเป็น ๒ ล้านไร่ ถือว่าอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีปกติ แต่ก็จะกระทบถึงพื้นที่เกษตรกรรมในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด ๑๕ ล้านไร่

นี้คือความจริงที่ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องพูดถึง คำนึงถึง และชี้ช่องทางการบริหารจัดการ ว่าจะทำอย่างไรได้ในการลดความเดือดร้อนที่เป็นอยู่ปกตินั้นแหละ

มิใช่สักแต่บ้วนวจีออกมา “ฝนตกหนัก น้ำก็ท่วมเป็นธรรมดา” แล้วเที่ยวโบ้ยบ้ายว่าเป็นเรื่องบริหารงานผิดพลาดของรัฐบาลอื่น




ถ้าหากว่าปัญหาฝนตกหนักหน่อยน้ำก็ท่วมไปทั่วเช่นขณะนี้ เกิดจากการบริหารงานผิดพลาดของรัฐบาลที่แล้วจริง (ซึ่งข้อมูลต่างๆ ยังไม่สามารถปรักปรำเช่นนั้นได้) มันก็เป็นพันธะหน้าที่ของรัฐบาลชุดที่เผชิญสถานการณ์จะต้องแก้ไขและผ่อนคลายความเดือดร้อนของประชาชนและของประเทศ อยู่ดี

หากจะศึกษาจากประวัติศาสตร์ ภาวะหนี้สาธารณะของประเทศที่เกิดจากวิกฤตต้มยำกุ้ง การคลังล้มเหลว และพันธะหนี้ต้องชำระไอเอ็มเอฟ อันเป็นผลงานอัปลักษณ์ตกทอดมาจากรัฐบาลชวน หลีกภัย ได้รับการแก้ไขอย่างเรียบร้อยในรัฐบาลชุดต่อมาของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร สองสมัย

เช่นนี้ก็ควรแก่การชื่นชม ยกย่อง และถือเป็นเยี่ยงอย่างของการปกครองที่ดี หรือ good governance ยิ่งกว่าจะคอยกล่าวหาผลักโทษไปให้แก่รัฐบาลที่ผ่านมา




ooo