วันพุธ, ตุลาคม 26, 2559

อาการของ “คนที่ฟูมฟาย คลั่ง เสียสติ เขายังติดอยู่ในขั้น Anger"






น่าจะเพราะข้อเขียนของ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เมื่อคืนที่สิบเอ็ดหลังจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสวรรคต ทำให้ลูกพ่อขุนฯ คนหนึ่ง ‘ของขึ้น’

ศิษย์รามฯ คนนี้จะมีพวกพ้องและพลพรรคเบื้องหลังมากน้อยแค่ไหน มิอาจรู้ได้ แต่ข้อเขียนของเขาบนเฟชบุ๊คก่อให้เกิดการสั่นคลอนอารมณ์ทางการเมืองในกระแสประชาธิปไตยไม่น้อยทีเดียว

ประดุจดั่งว่ากระแสโศกาอาดูร (ขั้น Anger ตามทฤษฎี ‘Five Stages of Grief’ เสนอโดย อจ.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์)* ทำให้ฝ่ายราชาธิปไตยประกาศใช้ความรุนแรงกับฝ่ายประชาธิปไตย

“เตรียมตัวให้พร้อม พี่น้อง ม.รามฯ ลูกพ่อขุนฯ เสร็จราชพิธีพระศพพ่อ ร.๙ เราจะไปทุบ ปรีดี ที่ธรรมศาสตร์”

คนเดียวกันให้รายละเอียดสถานที่ตั้งอนุสาวรีย์ของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ๒ แห่ง ทั้งที่ท่าพระจันทร์และที่วิทยาเขตรังสิต เสร็จแล้วลงท้ายว่า

“ปีหน้า ถ้าทหารไม่ทุบทิ้ง พวกกูจะทุบเอง”







เป็นอาการของ “คนที่ฟูมฟาย คลั่ง เสียสติ เขายังติดอยู่ในขั้น Anger ไล่ล่าแม่มดทั้งพวกเดียวกัน คนที่ไม่รู้เรื่อง คนเห็นต่าง ไปถึงเสื้อแดง ทักษิณ พวกล้มเจ้า คนไทยในตปท. โกรธแค้นไล่ล่าย้อนไปถึงปรีดี พนมยงค์ คณะราษฎร การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ฯลฯ” อย่างที่ อจ.พิชิตว่า ไม่น่าจะผิด

(https://www.facebook.com/pichitlk/posts/1178442068890276)

ปฏิกิริยาจากอาจารย์ธรรมศาสตร์อีกคน เกษียร เตชะพีระ แจ้งว่า “เรียนท่านผู้ต้องการทุบทราบ

ถ้า ที่ต้องการทุบทำลาย คือสัญลักษณ์บุคลาทิษฐานแห่งผลงานทางประวัติศาสตร์ ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ แล้ว ก็ยังมีอีกเป็นร้อยที่ต้องตามไปทุบนะครับ โปรดดูรายชื่อเอาเองแล้วกัน”

(รายชื่อที่ อจ.ให้ไว้กว่าร้อย และหลายคนมีอนุสาวรีย์อยู่ตามสถานที่ต่างๆ ทั่วไป https://www.facebook.com/kasian.tejapira/posts/10210795335822373)

อะไรทำให้ลูกพ่อขุนฯ คิดลบล้างประวัติศาสตร์สมัยใหม่อันสำคัญยิ่งของประเทศไทย ‘ด้วยฝ่ามือ’

ถ้าไม่ใช่อุดมการณ์ “เจ้าแผ่นดินทรงครอง หรือปกเกล้าปกกระหม่อม” ที่ ดร.เอนกเพิ่งเขียนขึ้นสองสามย่อหน้า ทว่าพลิกผันไปจากหลัก ‘สองนคราประชาธิปไตย’ อันโด่งดังของเขาไปจนไกลสุดกู่

เขาอธิบายปรากฏการณ์เสด็จสู่สวรรคาลัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชว่า “การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ทำให้นักการเมืองไม่ว่าที่มาจากการเลือกตั้งหรือจากการยึดอำนาจ เข้ามาปกครองแทนพระมหากษัตริย์

แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ยังอยู่ต่อมา เข้มแข็งเติบใหญ่ขึ้นด้วยซ้ำ...จนบางครั้งอดถามตัวเองว่า ในความเป็นจริงนั้น การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี ๒๔๗๕ นั้นคืออะไรกันแน่”

เขาให้คำตอบไว้สามอย่าง หนึ่งและสองเป็นแนวเดียวกับพวกที่บอกว่า ๒๔๗๕ “ชิงสุกก่อนห่าม” เพียงเขียนด้วยสำนวน ‘คงแก่เรียน’ มากหน่อยเท่านั้น

ว่าเป็นความตั้งใจที่จะนำประชาธิปไตยมาสู่ประเทศไทย แต่ก็เป็นเพียงเจตนารมณ์ “จะจริงจังแค่ไหนถกเถียงกันได้ แต่ก็ไม่สำเร็จหรือยังไม่สำเร็จ”

ถึงข้อสาม เขาแหวกแนวออกไปสุดซอยเลยว่า “คือการเปลี่ยนประเทศจากระบอบกษัตริย์ไปสู่ระบอบกษัตริย์ แค่นั้นเอง...

เป็นระบอบกษัตริย์ใหม่ที่พระเจ้าแผ่นดินทรงครองแผ่นดิน...ได้ผล ชอบธรรม ต่อเนื่อง ผสมผสานกับการเมืองแบบใหม่ กับราชการ กับประชาชน กับภาคเอกชน อย่างที่ไม่มีในทฤษฎีสมัยใหม่ของฝรั่ง”







ดร. เอนกไม่ได้ยืนยันให้หมดเปลือกว่าระบอบใหม่ที่ว่านี้จะต่อเนื่องอย่าง “ได้ผล ชอบธรรม และผสมผสาน” ไปตลอดรัชกาลหน้า รัชกาลโน้น และอสงไขยด้วยหรือไม่

แต่จากปฏิกิริยาขานรับของ ‘ลูกพ่อขุนฯ’ มันชี้แนะไปอีกทาง ถอยกลับไปศตวรรษที่ ๒๐ ยังพอทำเนา ห่วงแต่ว่าจะถอยต่อถึงศตวรรษที่ ๑๙ โน่นสิ

จะให้ดีลองมาดูแนวคิดของนักวิชาการรุ่นใหม่ หน้าใหม่เสียบ้าง Veerayuth Kanchoochat เป็น Associate Professor of Political Economy อยู่ที่ GRIPS หรือ the National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS), Tokyo, Japan.

เขาเขียนบทความเรื่อง ‘Thailand 10.0: why the nation’s political and military elite need a reset to succeed.’ ด้วยมุมมองของคนไทยที่อยู่ภายนอกวัฒนธรรมรวมศูนย์ของกรุงเทพฯ เห็นว่า





“ประเทศกำลังเผชิญกับปมเงื่อนพะว้าพะวังระหว่างการเจริญเติบโตกับความมั่นคง” ตลอดสามยุคสมัยที่ประเทศไทยอยู่ใต้ปกครองของทหาร ระเบียบสังคมได้รับการปกป้องแต่ก็ต้องเสียการเติบโตทางเศรษฐกิจไป

รัฐบาลทหารสามยุคที่เขาอ้างก็คือ รัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ (๒๕๔๙-๕๐) รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (๒๕๕๑-๔ ซึ่งถือว่าเป็นรัฐบาลที่ตั้งโดยทหาร) และปัจจุบันรัฐบาลประยุทธ์

“กระนั้นเมื่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้าไปบริหาร ยุทธศาสตร์เพื่อการเติบโตมักนำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมือง เปิดทางให้แก่การรัฐประหาร”

ปัญหาของรัฐบาลพลเรือน “ไม่ว่าพรรคไหนที่ได้เสียงข้างมาก สร้างการเติบโตและกระจายรายได้อย่างดีจนทำให้ได้รับเลือกตั้งซ้ำ จำเป้นจะต้องทำสิ่งต่อไปนี้

จะต้องใกล้ชิดกับผู้ออกเสียงในชนบท ปรับโครงสร้างและจัดระเบียบระบบราชการ (รวมไปถึงในกองทัพด้วย) ก้าวต่อไปในเรื่องเจรจาการค้าเสรี เพิ่มรายจ่ายสาธารณะ แต่การทำสิ่งเหล่านั้น ไม่ช้าก็เร็วต้องเจอกับการออกมาชุมนุมประท้วงบนท้องถนน

ทำไมน่ะหรือ ก็เพราะว่ากลเม็ดสร้างฐานเสียงมันจุดชนวนการเมืองเรื่องชนชั้น (ด้วยการกระตุ้นความมุ่งมาดปรารถนาของผู้ออกเสียงในชนบท) ลดความสำคัญของการผูกพันของทหารกับเทคโนแครทลงไป (เหมือนจับยักษ์ยัดกลับใส่ตะเกียงวิเศษ)

และ จะรู้สึกหรือไม่ก็ตาม มันท้าทายการเป็นผู้นำสูงสุดของสถาบันกษัตริย์ (ด้วยการเรียกร้องที่จะเป็นที่พึ่งของคนยากจนอีกทางหนึ่ง)”

“ความขัดแย้งทางการเมือง มันอยู่ในสายเลือดแห่งเส้นทางที่พรรคการเมืองจะได้รับเลือกตั้ง และชนะเลือกตั้งซ้ำ”

(https://theconversation.com/thailand-10-0-why-the-nations-p…)

บทวิเคราะห์เหล่านี้จะไม่อยู่ในจินตนาการของนักวิชาการรุ่นเก่าเก๋ากึกอย่าง ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ หรือ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีผู้ที่ “ฉุนคนปูดข่าวเศรษฐกิจไทยทรุด”

สาเหตุที่ฉุนเพราะ ดร.สมคิด ไม่สมหวังที่มีคนพูดเรื่องเศรษฐกิจไทยกำลังโซเซหลังจากพยายามทรงตัวมาสองปีแล้ว ‘เอาไม่อยู่’ อ้างว่า “ไม่รู้กาละเทศะ ไม่ควรพูดในภาวะที่ประเทศเป็นอย่างนี้ เพราะ “ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงเศร้าโศกและอ่อนไหว”

สิ่งที่ ดร.สมคิด ต้องการแค่ให้รอข่าวดี “ตัวเลขเดือนกันยายน” จะดีขึ้น “แม้เดือนแรกของไตรมาส ๔/๒๕๕๙เศรษฐกิจชลอตัวบ้างแต่ก็ไม่ได้ย้ำแย่”

(http://www.matichon.co.th/news/335037)

มีบ้างไหมที่นักวิชาการด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล คสช. จะมองไปข้างหน้าและให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงสำหรับศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการเสนอแนะหนทางก้าวหน้า ดังที่ ดร.วีรยุทธ์เสนอเหล่านี้

“สำหรับประเทศไทย ๑๐.๐ จะเฟื่องฟูได้ ทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ไม่ว่ารัฐบาลทหารหรือพลเรือนจะต้องฉีกตัวออกไปนอกกรอบแห่งความเคยชินอย่างสบายๆ แสดงให้เห็นพลังแห่งมนุษยชนที่ต่อกรกับสถานะเดิม”

“รัฐบาลของทหารฮุนต้ามีสิทธิประสบความสำเร็จในความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมได้เหมือนกัน ถ้ากล้าที่จะตัดงบประมาณกลาโหม ปรับกระบวนระบบราชการ และยอมให้มีการแข่งขันกันมากขึ้นในทางอุดมการณ์และทางการเมือง”

“รัฐบาลพลเรือนที่สามารถสร้างความมั่นคงขึ้นได้ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม จะต้องผสานชนชั้นกลางในกรุงกับผู้ออกเสียงในชนบท กลุ่มเทคโนแครทโบราณกับฝ่ายสนับสนุนแนวกระตุ้นการเติบโต ต้องยืนหยัดไม่ย่นย่อในโครงการกระจายรายได้อย่างหักโหม เช่นการปรับเปลี่ยนระบบภาษีแบบก้าวหน้า”