วันอาทิตย์, ตุลาคม 09, 2559

'คนจริง ความจริง 6 ตุลา 19' บทสัมภาษณ์ 'พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์'





บทสัมภาษณ์ หัวข้อ คนจริง ความจริง 6 ตุลา 19
ผู้ให้สัมภาษณ์ รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สัมภาษณ์โดย C.S. Patrick และ Wairemu
วันที่ 30 กันยายน 2559

**ปล. บทสัมภาษณ์นี้ได้รับการแก้ไขคำ และ เปลี่ยนช่วงบทความเพื่อความเหมาะสมและความต่อเนื่องของบทความ แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงรายละเอียดหรือใจความสำคัญของเนื้อหา

ผมเรียนอยู่รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ปี2 โดยเป็นนักกิจกรรมตั้งแต่ชั้น ปี 1 ซึ่งตอนปีแรกที่ผมเข้าไป ก็ไปอยู่ที่พรรคจุฬาประชาชน บริเวณศาลาพระเกี๊ยวไปช่วยงานต่างๆของพรรค พอปี 2 ผมก็กลับเข้ามาในคณะ ซึ่งมีกลุ่มปรึกษาปัญหาการเมือง และผมก็เป็นกรรมการกลุ่ม แต่พอมีการเคลื่อนไหวใหญ่ เดินขบวนประท้วง ทุกสถาบันก็จะมารวมกัน ไม่ใช่เฉพาะที่ธรรมศาสตร์ ตอนที่ชุมนุมขับไล่จอมพลถนอม ตั้งแต่ที่สนามหลวง นักศึกษาทั่วประเทศก็มาร่วมอยู่แล้ว จนกระทั่งมาวันที่ 2-3 ที่ได้ย้ายเข้ามาภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เหตุการณ์การเคลื่อนไหวใน 6ตุลา ไม่ได้มีเฉพาะนักศึกษาธรรมศาสตร์ แต่มีนักศึกษาจากทั่วทั้งประเทศ ซึ่งเป็นกระแสในการเคลื่อนไหวมา 2-3 ปีแล้ว ตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ซึ่งแน่นอนว่า นักศึกษาของ มธ. เป็นกลุ่มนักศึกษาที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุด แต่ก็มียังมีการที่อื่นทั่วๆไป แม้แต่ที่จุฬาฯ ก็ยังมีกลุ่มเคลื่อนไหวอยู่ทุกคณะ ถ้าให้มองย้อนกลับไปในสมัยนี้อาจจะยากที่จะมองออก แต่ในสมัยก่อนกลุ่มนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว มีทุกที่ทุกคณะ มีทั้งตั้งแต่ระดับคณะ ระดับส่วนกลาง ในระดับส่วนกลางก็มีพรรคการเมืองของนักศึกษา “พรรคจุฬาประชาชน” ซึ่งอยู่ที่ศาลาพระเกี้ยว แต่ตามคณะก็มีกลุ่มต่างๆเคลื่อนไหว ตลอด 2 ปี ก็เคลื่อนไหว เรื่องชาวนา เรื่องกรรมกร สลัม ฯลฯ เพื่อความเป็นธรรม เรื่องค่าเช่า พืชผล ถ้าเป็นประเด็นชาวนาก็เรื่อง กรรมสิทธิ์ที่ดิน เป็นหลัก หลายอย่างที่เรามีในวันนี้ก็เกิดจากช่วงนั้น เช่น กฎหมายแรงงานก็มีจะมามีในช่วง 2517-2518 กฎหมายควบคุมค่าเช่าก็เหมือนกันก็พึ่งมามีในช่วงนั้น

นักศึกษาที่เคลื่อนไหวก็มีหลายระดับ แต่เป็นกิจกรรมการเคลื่อนไหวปกติ กอรปกับช่วงนั้นมีการเมืองเยอะ ก็เลยทำการเมืองเยอะไปตามกระแส แต่พวกที่มีความคิดจิตสำนึก ละเอียดอ่อนขึ้นก็มีมากขึ้น ไปจนกระทั้งมีความคิดเป็นสังคมนิยมที่ชัดเจน เชื่อในลัทธิอย่างชัดเช่นก็มี มันมีหลายด้าน แต่ผู้ที่เคลื่อนไหวระดับแกนนำ แน่นอนว่ามีแนวโน้มไปทางฝ่ายซ้าย ลัทธิสังคมนิยม ผมก็เป็นคนลัทธิสังคมนิยมมาตั้งแต่มัธยมปลาย

ยุคสฤทธิ์-ถนอม-ประภาส เป็นยุคที่เปลี่ยนแปลงทางสังคมที่สำคัญ เป็นการพัฒนาอุสาหกรรมเป็นครั้งแรก เป็นการที่คนไทยเปลี่ยนแปลงจากเกษตรกรรม ในเมืองก็เกิดโรงงาน เกิดกรรมกร มีคนยุคใหม่ ก่อนหน้านั้น ถอยหลังไป ในเมืองก็มีแต่ ข้าราชการ แล้วก็ลูกจ้างเอกชนจำนวนน้อยมาก ส่วนใหญ่ก็จะเป็นห้องแถว ร้านค้า พ่อค้า กลุ่มคนชาวจีนอยู่กัน แต่ในยุคสฤทธิ์-ถนอม-ประภาส ก็เข้ามาเปลี่ยนแปลง เกิดสังคมสมัยใหม่ มีบริษัทข้ามชาติเข้ามา มีกลุ่มทุนเข้ามา มีการศึกษาสมัยใหม่ ธรรมศาสตร์ที่เป็นระบบเปิดที่ภายหลังก็เป็นระบบปิด

รุ่นผมเป็นรุ่นที่โตมากับสังคมที่เป็นสังคมสมัยใหม่ ไม่ได้เป็นสังคมเกษตรในยุคก่อนๆ แต่ในเวลาเดียวกันก็โตมากับเผด็จการทหาร จำความได้เปิดโทรทัศน์ดูก็เจอ ถนอม-ประภาส ใส่สูท สวมชุดทหาร เดินไปเดินมาแล้ว เหมือนในยุคนี้ที่คุณเกิดมาโตขึ้นมาก็เจอคุณประยุทธ์แล้ว จำความได้ โตขึ้นมาก็เจอคุณประยุทธ์สวมชุดทหารแล้ว

กระแสต่อต้านถนอม-ประพาส มีมาตลอดเวลา เป็นประแสอยู่ตลอดเวลา แล้วหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้นก็ไม่เหมือนในสมัยนี้ หนังสือพิมพ์ในสมัยนั้นยังมีความกล้าที่จะวิพากษ์ วิจารณ์ ซึ่งก็จะมีกระแสความไม่พอใจ ถนอม-ประภาส ในสื่อมวลชน อาจารย์มหาวิทยาลัย นักศึกษาอยู่ ซึ่งเกิดจากการที่สังคมถูกกดอยู่ภายใต้เผด็จการทหาร

ในยุคนั้นเปิดทีวีมา ก็เจอแต่ข่าวสงครามเวียดนาม ถ้าเป็นข่าวในประเทศ ก็มีแต่ข่าวภารกิจต่างๆของ ถนอม-ประภาส ซึ่งในหมู่ประชาชนก็มีการเล่าลือเกี่ยวกับการคดโกง การคอรัปชั่นในหมู่ตระกูลทหารใหญ่

ในสมัยแต่ก่อน ชุดความคิดที่ นักการเมืองโกงมากกว่าทหารมันยังไม่มี ตอนนั้นสิ่งที่เห็นก็คือทหาร ทหารที่เป็นตัวปัญหา ซึ่งปัญหามันไม่ได้ซับซ้อนเหมือนทุกวันนี้ แต่ทุกวันนี้บอกว่าไม่ชอบทหาร แต่ก็ไม่ชอบนักการเมือง ระหว่างทหารกับนักการเมือง นักการเมืองมันเลวกว่า ยังไงทหารไม่เลวเท่านักการเมือง มันเกิดสภาพแบบนี้ขึ้นมา มันซับซ้อนขึ้น มันยากขึ้น โจทย์มันยากขึ้น สมัยนั้นยังไม่มีแบบนี้ ยังไม่มีผีนักการเมือง

ผมร่วมอยู่ในเหตุการณ์ชุมนุม 6ตุลา ตั้งแต่เริ่มในสนามหลวง จนย้ายเข้ามาภายในมาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งการชุมชุมนี้เกิดขึ้นจากการที่จอมพลถนอม กลับมาเข้ามาในประเทศไทย ได้นานพอสมควรแล้ว มีการประท้วงด้วยการออกแถลงการณ์ แจงแถลงการณ์ ขึ้นป้ายประกาศทั่วเมือง แต่ไม่ได้ชุมนุม จนกระทั่งมีการชุมนุมเมืองมีการแขวนคอลูกจ้างการไฟฟ้า 2 คน ที่นครปฐม ที่ออกไปปิดโปสเตอร์ต่อต้าน แต่ภายหลังก็คือตำรวจนครปฐมที่เป็นคนนำไปแขวนคอ พอมีการแขวนคอ นักศึกษาก็ดลยมีการชุมนุมกัน พอชุมนุมที่สนามหลวงในช่วงแรกก็มีปัญหาด้านความปลอดภัย เนื่องจากในตอนนั้น ก็มีกลุ่มกระทิงแดงแล้ว และกลุ่มนวพลที่มีการจัดตั้งโดยกลุ่มทหาร มาก่อกวน เช่น คนที่เดินทางกลับ ก็ถูกทำร้ายด้วยการทุบศรีษะ ปาระเบิดใส่กลุ่มผู้ชุมนุม

ท้ายที่สุดด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยจึงย้ายเข้ามาจัดการชุมนุมในธรรมศาสตร์ พอย้าย้เข้ามาข้างใน ก็กระจายชุมนุมภายในพื้นที่ที่มี ก็มีกิจกรรม มีการปราศรัยตลอดทั้งวัน ที่ลานโพธิ์ก็มีการแสดงละคร แขวนคอ เพื่อล้อไปกับการแขวนคอของคนงาน 2 คน ที่นครปฐม แต่การล้อที่ลานโพธิ์ ถูกนำไปแต่งภาพ และใส่ร้ายว่านักศึกษาเป็นคนทำ อันเป็นที่มาของ 6ตุลา19

และมันเป็นขั้นตอนการว่างแผนอย่างดีมาก อันที่จริงก่อนที่จะมีความพยายามในการนำถนอมกลับเข้ามาภายในประเทศ มีความพยามทำแล้ว แต่ไม่สำเร็จ คือการนำประภาสเข้ามาก่อน คือประภาสพักอยู่ที่ไต้หวัน ส่วนถนอมอยู่ที่สิงคโปร์ รอบแรก เป็นเดือนสิงหาคม 2519 นำจอมพลประภาสเข้ามาก่อนโดยอ้างปัญหาด้านสุขภาพ ก็กลับมา นักศึกษาชุมนุมไล่ประท้วง จอมพลประภาสก็กลับออกไป แต่ด้วยการวางแผนที่ไม่ดี การสนธิกำลังที่ไม่ดี จึงไม่สามารถนำจอมพลประภาสเข้ามาได้ จึงทำให้ดูเหมือนนักศึกษาชนะในรอบนั้น และหลังจากนั้นจึงมีความพยายามอีกครั้งโดยการนำจอมพลถนอมเข้ามา ซึ่งอ้างว่าเข้ามาดูใจพ่อที่กำลังจะเสียชีวิต ซึ่งก็จุดติด โดยในการประชุมแกนนำนักศึกษาก็มีการเตือนว่า จะมีการปราบนักศึกษาอย่างหนัก ดังนั้นการชุมนุมครั้งนี้จึงไม่ปลอดภัย แต่ด้วยสถานการณ์ที่มันยื้อออกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมีการแขวนคอ 2 คนนั้น หลังจากเกิดการแขวนคอนักศึกษาก็ทนไม่ไหว พอมีการแสดงละครที่ลานโพธิ์ ก็เข้าเกมที่เค้าวางแผน พอย้อนกลับไป อันที่จริงแล้วมันคือการวางแผนมาแล้วอย่างดีมาก ซึ่งนักศึกษาก็รู้ความเสี่ยงพอสมควร แต่ก็คาดไม่ถึงความโหดเหี้ยม คาดเพียงแต่ว่า จะมีเพียงรัฐประหาร ยึดอำนาจแล้วมีการล้อมจับ

แม้กระทั้งคนที่มาแขวนคอก็เตรียมเชือกมาอย่างดี มันไม่ใช่การบังเอิญโกรธขึ้นมา ณ ตอนนั้นเลยไปหาเชือกอะไรก็ไม่รู้แถวนั้นมาผูก มันมาพร้อมกับเครื่องมือ เป็นชุดมาเรียบร้อยแล้ว เพื่อแขวนคอโดยเฉพาะ และก็มีแนวโน้ม ในเช้าวันนั้นที่ประชาชน มวลชนมาประชุมแล้วโกรธแค้น เรื่องหมิ่นเจ้า แล้วไปทำจนเลยเถิด ในที่สุดก็อาจเป็นแผนการที่วางไว้แล้ว จงใจที่จะให้เกิดเหตุการณ์ แบบนี้ขึ้น

ในวันนั้นกองกำลังอาวุธที่สำคัญคือ ตชด. ไม่ใช่ทหาร เป็นชุด ตชด.ที่มาจากหัวหิน เอากำลังมา แล้วข้างหลัง ตชด. คือลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดง พวกนวพล กลุ่มมวลชนติดอาวุธ หลังจากที่ ตชด.บุกผ่านรั้วเข้ามา กลุ่มที่ติดตามเข้ามา ก็ตามเข้ามาด้วย ขณะที่ ตชด.ก็ใช้ปืนในการคุมตัวนักศึกษา ให้นอนลง ถอดเสื้อ หรืออะไรก็แล้วแต่ กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดง นวพล ที่ตามมาข้างหลัง ก็ได้โอกาสไล่กระทืบ ไล่ตี ไล่แทงต่างๆ ตชด.ก็ได้แต่เพียงยืนเฉย ที่เราเห็นจากในรูปที่สนามหญ้าในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สนามหลวง มีคนถูกลากไป มีคนไล่ตี เหล่านั้นคือกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน มวลชนจัดตั้งที่ตามเข้ามา เพื่อทำเรื่องเหล่านี้โดยเฉพาะ การแขวนคอที่สนามหลวงก็ดี การเผาที่สนามหลวงก็ดี แล้วก็มาไล่กระทืบ ไล่ทรมานคนในธรรมศาสตร์ มันคือคนกลุ่มเดียวกัน ที่ถูกจัดตั้งกันมาแล้ว

วันที่เกิดเหตุการณ์ คืนวันที่ 5 ผมมาประชุมที่คอมมอนรูม ตึกเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ผมก็มาประชุมข้างล่างเป็นกลุ่มตัวแทนจากจุฬาฯ ประชุมกันหลายสิบคน คุยเรื่องการทำโปสเตอร์ คำขวัญ ฯลฯ เลิกประชุมประมาณ 4 ทุ่ม ผมก็เดินกลับออกไป กลับบ้านไปเปลี่ยนเสื้อผ้า ออกจากนี่ก็ประมาณ 5 ทุ่ม พออกไปแล้วผมก็เห็นพวกกระทิงแดง ต่างๆ ยืนกันเป็นแถว แต่ก็ไม่ทำอะไรผม ได้แต่เพียงแค่มองหน้า พอประมาณเที่ยงคืน ตี1 ธรรมศาสตร์ถูกปิดไม่ให้มีการเข้าออก โดยถูกปิดจากข้างนอก ตั้งแต่ตี 1 คืนวันที่ 5 ต่อเช้าวันที่ 6พอตื่นมาเปิดโทรทัศน์ ก็เป็นข่าวว่ามีการเกิดเหตุจราจรขึ้นภายในธรรมศาสตร์ ก็ได้โทรคุยกับเพื่อน เพื่อนก็ได้แต่บอกว่าเข้าไปไม่ได้ ข้างในถูกปิดไว้หมดแล้ว ก็เลยไปที่จุฬาฯ กลุ่มที่จุฬาฯ ก็ไปชุมนุมกันที่จุฬาฯ ตรงหน้าน้ำพุ ตรงน้ำพุเสาธง ก็มีการชุมนุมกันอยู่หลายสิบคน มีรถดับเพลิงมาจอดบริเวณนั้น ผู้มาปราศรัย คือ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ นายกองค์กรสโมสรนิสิตจุฬาฯ หลังจากทราบว่าที่ธรรมศาสตร์ได้ถูกจับไปหมดแล้ว ก็เลิกการชุมนุม หลังจากวันนั้นก็ไม่ได้เจอกันอีกเลย

หลังจากเหตุการณ์นั้นประมาณ 6 โมงเย็นก็เกิดการรัฐประหาร

40ปี จากวันนั้นจนถึงทุกวันนี้สังคมไทยก็แทบไม่เปลี่ยนไปเลย ถึงแม้จะ 40 ปี แล้ว แต่เหตุการณ์ในวันนั้นก็ยังพูดไม่ได้ เพราะคนที่อยู่ในเหตุการณ์ก็ยังอยู่ทั้ง 2 ฝ่าย ฝ่ายที่ถูกกระทำก็พูดไม่ได้ มีกฎหมายอะไรเยอะแยะไปหมด ส่วนฝ่ายที่กระทำก็พยายามที่จะไม่พูดถึง พยายามที่จะปกปิด เพราะรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นมันเลวร้ายขนาดไหน แม้แต่คนที่เกี่ยวข้องในเวลานั้น ในตอนนี้ก็ไม่มีใครยอมพูด ไม่มีใครยอมรับ

จบ

"ในปัจจุบัน แม้ข้อมูลที่เปิดเผยในภายหลังก็ไม่มีใครกล้าพูดถึง ถึงวันนี้จะ 40 ปีแล้ว แต่ยิ่งเวลาผ่านไปข้อมูลยิ่งน้อยลง ไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย"

รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันที่ 30 กันยายน 2559

#6ตุลาที่เราไม่เคยลืม #40ปี6ตุลา

ที่มา https://plus.google.com/+Kanj2010Blogspot/posts/Q5Mnioi56pf