วันอาทิตย์, กันยายน 25, 2559

คลิปประชาไท : ปาฐกถา "งานทางปัญญาในสังคมอับจนปัญญา" โดย ธงชัย วินิจจะกูล ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์




https://www.youtube.com/watch?v=h1pYaMKKRXM

prachatai

Published on Sep 24, 2016

ในวาระ 40 ปี 6 ตุลาฯ ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ มีการแสดงปาฐกถาศิลปวัฒนธรรม หัวข้อ"งานทางปัญญาในสังคมอับจนปัญญา" โดยศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประวัติศาสตร์ไทย มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน

ธงชัยตั้งข้อสังเกตที่ไม่เกี่ยวข้องกันนักเพื่ออธิบายลักษณะวัฒนธรรมทางปัญญา หรือพัฒนาการวุฒิภาวะทางปัญญาของสังคมไทย โดยเริ่มว่า เขาฝันอยากเป็นนักแสดงตลก ! แม้จะไม่มีทางเป็นไปได้ แล้วชี้ชวนให้พิจารณาถึงปรากฏการณ์ที่เขาหยิบยกขึ้นมา 8 ประการเพื่อเป็นตัวสะท้อนระดับวุฒิภาวะทางปัญญาด้านต่างๆ ของสังคม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ นักแสดงตลกเสียดสี

เขากล่าวว่า หากพูดในทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง ในทางการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชอบกล่าวว่าเราติดกับดักประชาธิปไตย แต่เขากลับคิดว่าเราติดกับดักกึ่งประชาธิปไตยต่างหาก ตลอด 40 ปีที่ผ่านมาเราพยายามไปให้พ้นภาวะประชาธิปไตยครึ่งใบในรูปแบบต่างๆ ระบอบการเมืองในอนาคตอันใกล้ก็คาดได้ไม่ยากว่าจะอยู่ในกึ่งประชาธิปไตยอย่างน้อยอีก 10-20 ปี

“เรามีความทุกข์ขมขื่นผิดหวังกับประชามติ แต่ถ้าเรามีวุฒิภาวะทางปัญญาจริงเราควรเข้าใจสิ่งนี้ และมีความสุขกับการสู้ไปยาวๆ ได้ โปรดตระหนักอยู่ในใจตลอดเวลา โลกเปลี่ยนแปลงได้ และโลกเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ความเป็นจริงสังคมไทยเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐานเชิงโครงสร้างมาเท่าไรแล้ว ไม่ได้อยู่นิ่ง และความปรารถนาในชีวิตที่ดีของปุถุชนธรรมดานั่นเองจะทำให้คนสร้างสรรค์ ธรรมชาตินี้ไม่เคยตายจากมนุษย์ ทำอย่างไรให้ศักยภาพเหล่านั้นเสนอตัว แสดงตัวออกมา สู้ไปทีละนิดๆ เพราะเราเชื่อมั่นว่ามนุษย์อยากมีชีวิตที่ดี so basic ไม่ต้องการอุดมการณ์ใดๆ มาค้ำยันด้วยซ้ำ”

“ผมเรียกมันว่า historical optimism โลกไม่ต้อนรับพวกหวังสั้นๆ ม้วนเดียวจบ แต่ต้อนรับพวกเข้าใจสัจจะและค่อยๆ ก้าว”

เป็นการค่อยๆ ก้าวอย่างคงเส้นคงวาตลอดชีวิตโดยมีการมองโลกในแง่ดีเช่นนั้นเป็นพื้นฐาน ในระยะใกล้สถานการณ์อาจแย่ลงมาก แต่เชื่อมั่นเถิดว่าในระยะยาวประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยแน่ๆ เพราะคนเปลี่ยน ความหลากหลายของคนมีมากขึ้น สังคมซับซ้อนขึ้นจนไม่สามารถตกลงกับแบบอื่นได้นอกจากต้องเจรจาต่อรองอย่างสันติ ประชาธิปไตยเป็นเรื่องหนีไม่พ้นสำหรับสังคมที่ขยายตัวและซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ

อ่านต่อที่ http://prachatai.org/journal/2016/09/...

ooo

ธงชัย วินิจจะกูล เสนอข้อบ่งชี้วุฒิภาวะทางปัญญาแบบ 'พอเพียง'ของไทย-มองบวกการต่อสู้ยาวไกล

Sat, 2016-09-24 17:36

ที่มา ประชาไท


นักแสดงตลก นิยายประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ฯลฯ สะท้อนสังคมไทยติดกับดัก ‘ปัญญาแบบพอเพียง’ พร้อมให้กำลังใจผู้ต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงให้ทำใจสู้ระยะยาว ไม่มีทางลัด...“ผมเรียกว่า historical optimism โลกไม่ต้อนรับพวกหวังสั้นๆ ม้วนเดียวจบ แต่ต้อนรับพวกเข้าใจสัจจะและค่อยๆ ก้าวอย่างคงเส้นคงวาตลอดทั้งชีวิต”





24 ก.ย.2559 ในวาระ 40 ปี 6 ตุลาฯ ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ มีการแสดงปาฐกถาศิลปวัฒนธรรม หัวข้อ"งานทางปัญญาในสังคมอับจนปัญญา" โดยศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประวัติศาสตร์ไทย มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน

ธงชัยตั้งข้อสังเกตที่ไม่เกี่ยวข้องกันนักเพื่ออธิบายลักษณะวัฒนธรรมทางปัญญา หรือพัฒนาการวุฒิภาวะทางปัญญาของสังคมไทย โดยเริ่มว่า เขาฝันอยากเป็นนักแสดงตลก ! แม้จะไม่มีทางเป็นไปได้ แล้วชี้ชวนให้พิจารณาถึงปรากฏการณ์ที่เขาหยิบยกขึ้นมา 8 ประการเพื่อเป็นตัวสะท้อนระดับวุฒิภาวะทางปัญญาด้านต่างๆ ของสังคม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ นักแสดงตลกเสียดสี

เขากล่าวว่า หากพูดในทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง ในทางการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชอบกล่าวว่าเราติดกับดักประชาธิปไตย แต่เขากลับคิดว่าเราติดกับดักกึ่งประชาธิปไตยต่างหาก ตลอด 40 ปีที่ผ่านมาเราพยายามไปให้พ้นภาวะประชาธิปไตยครึ่งใบในรูปแบบต่างๆ ระบอบการเมืองในอนาคตอันใกล้ก็คาดได้ไม่ยากว่าจะอยู่ในกึ่งประชาธิปไตยอย่างน้อยอีก 10-20 ปี

“ส่วนในด้านปัญญาความรู้ เราเติบโตมาระดับหนึ่ง แต่ลงท้ายเราติดกับดักทางปัญญาระดับปานกลาง เราพอใจกับการมีปัญญาแค่พอเพียง แต่ผมอยากจะเรียกว่า สังคมอับจนปัญญา” ธงชัยกล่าว





ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่ธงชัยหยิบยกมาวิเคราะห์มีดังนี้

1.นักศึกษาไทย

จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้สอนนักศึกษาไทยระดับหลังปริญญาตรีและจากการสอบถามเพื่อนร่วมวิชาชีพหลายคน พบปรากฏการณ์คล้ายกัน ปัญหาพื้นฐานยิ่งกว่าการคิดไม่เป็นคือ นักศึกษาอ่านหนังสือไม่เป็น หมายความว่า นักศึกษาไทยอ่านหนังสือแล้วจับใจความสำคัญไม่ค่อยได้ เขามักใส่ใจกับข้อเท็จจริงรูปธรรมแต่ไม่รู้ว่ามีความหมายอย่างไรในบริบทของเรื่องที่อ่าน เมื่อไม่สามารถจับใจความสำคัญของตอนนั้นได้ ข้อเท็จจริงที่หยิบยกก็จะอยู่อย่างกระจัดกระจาย หาความหมายเพื่อโยงเชื่อมสอดคล้องกันไม่ได้ เมื่อจับใจความไม่ได้ก็วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้

“ไม่กี่ปีก่อนเรามักพูดว่าคนไทยความรู้ไม่พอ ข้อมูลไม่พอ แต่ผมคิดว่านั่นไม่ใช่ปัญหาแล้ว ข้อมูลมีเยอะมาก แต่เราไม่มีความสามารถจัดการกับข้อมูลท่วมหัวนั้น หมายถึงไม่รู้จักแยกแยะว่าอะไรสำคัญไม่สำคัญต่อโจทย์หนึ่งๆ นี่เป็นทักษะเบื้องต้นซึ่งสอนกันได้ คุณสมบัติของประชากรแบบนี้สอดคล้องกับสังคมที่เป็นอยู่ สังคมไม่ได้ต้องการคนที่อ่านหนังสือเป็น สังคมไทยต้องการทักษะแค่ระดับที่เป็นอยู่”

“ผมไม่ได้มองเป็นทฤษฎีสมคบคิดเพื่อชี้นิ้วว่าใครหรือกลุ่มใดตั้งใจให้เป็นเช่นนั้น แต่ภาวะเงื่อนไขวัฒนธรรมทางปัญญาเป็นอย่างไร ทำไมมันจึงไม่เกิดแรงผลักดันหรือจูงใจให้เกิดการอ่านหนังสือเป็น การท่องอาขยานค่านิยม 12 ประการเป็นตัวสะท้อนภาวะนั้นอย่างดี”

2.สื่อมวลชน

สื่อมวลชนกับผู้บริโภคสะท้อนซึ่งกันและกัน สื่อมีโอกาสและอาจต้องการเป็นตะเกียงส่องทาง แต่ความจริงแล้วเขาต้องสะท้อนตลาด เราอาจว่าสื่อต่างๆ นานาแต่เคยคิดหรือไม่ว่า สังคมไทยไม่มีเงื่อนไขให้เขาพัฒนาคุณภาพ เพราะพัฒนาไปก็ขายไม่ได้ ทั้งการเลือกข่าว การเขียนข่าว โปรแกรมทีวี เหล่านั้นล้วนสะท้อนวุฒิภาวะทางปัญญาของสังคมด้วยกันทั้งสิ้น เขาไม่ได้ไม่ฉลาดแต่สุดท้ายตลาดช่วยเกลี่ยให้มันอยู่ในภาวะ “ปานกลาง” ไม่ได้บอกว่าสื่อฝรั่งมีคุณภาพดีมาก โลกตะวันตกมีหนังสือพิมพ์ห่วยๆ ด้วย เพราะทุกสังคมมีตลาดหลากหลายด้วยกันทั้งสิ้น สิ่งที่ต่างกันคือ ในสังคมที่มีวัฒนธรรมทางปัญญาพัฒนาพอควร สื่อที่เน้นการซุปซิปนินทา เน้นสีสัน เรื่องมหัศจรรย์นั้นไม่มีอิทธิพลทางสังคมการเมืองนัก สื่อแบบนี้เรียกว่า สื่อ fringe หรือสื่อที่อยู่ตามตะเข็บ เช่นเดียวกับพวกสื่อฝ่ายซ้ายที่มีเฉพาะคนที่สนใจตามอ่าน สื่อที่มีขนาดใหญ่โตที่สุดได้แก่ สื่อคุณภาพไปถึงระดับกลางๆ หรือที่เรียกว่าแทบลอยด์ สำหรับหนังสือพิมพ์ไทยที่เราเรียกกันว่า ‘คุณภาพ’ นั้นโดยส่วนตัวเห็นว่ามันอยู่ระหว่างกึ่งคุณภาพและกึ่งแทบลอยด์ คอลัมนิสต์ส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับแสดงความเห็นอย่างผิวเผินแล้วอาศัยสำนวนภาษาทำให้หวือหวา

“นสพ.อย่างผู้จัดการ สื่อแบบนี้เป็น fringe ในสังคมตะวันตก แต่ในสังคมไทยกลับมีอิทธิพลมหาศาล”

3.มหาวิทยาลัย


เรื่องนี้มีเรื่องให้พูดเยอะมากได้ถึง 3 ชั่วโมง จึงขอยกมาพูดเพียงสั้นๆ ว่าแม้การจัดอันดับในโลกไม่ว่าโดยประเทศไหนล้วนมีปัญหาและข้อโต้แย้งได้หมด แต่ปรากฏการณ์เกิดขึ้นตรงกันว่ามหาวิทยาลัยไทยที่ดีที่สุด คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยมหิดล นั้นทุกสำนักจัดอันดับตรงกันว่า มันไม่เคยอยู่เลยระดับกลางๆ ได้เลย ขณะที่มหาวิทยาลัยไทยส่วนใหญ่ไม่อยู่ในสารบบการจัดอันดับด้วยซ้ำเพราะอยู่ในระดับต่ำเกินไป สาเหตุของเรื่องนี้ต้องอภิปรายกันอีกมาก เราอาจโทษอาจารย์ โทษอธิการบดีได้ทั้งสิ้น หรือว่าแท้จริงแล้วสังคมไทยไม่มีแรงกระตุ้น ไม่มีความต้องการมหาวิทยาลัยที่ดี เป็นไปได้ไหมที่สังคมไทยไม่มีปัจจัยกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยไทยไปพ้นจาก 'มหาวิทยาลัยในระดับพอเพียง' การเริ่มมหาวิทยาลัยไทยผลิตบัณฑิตรับใช้รัฐกึ่งอาณานิคม รัฐราชการ และแม้แต่ในยามที่ผลิตคนมารับใช้ตลาดก็เป็นตลาดของรัฐราชการ

4.ความรู้ด้านมนุษยศาสตร์

ความรู้ด้านมนุษยศาสตร์นั้นได้แก่ ศาสนา วรรณคดี ปรัชญา ฯลฯ มนุษยศาสตร์มีรากร่วมกันทั่วโลกคืออยู่ใกล้ชิดกับวัฒนธรรมในโลกมาหลายร้อยปี, มีลักษณะย้อนมองหาตัวเอง ไม่แปลกที่ประเทศไหนก็ต้องสนใจศึกษาเรื่องตัวเอง, มนุษยศาสตร์ของทุกสังคมในโลกเคยผ่านระยะที่ผลิตความรู้เหล่านั้นเพื่อให้เกิดความภูมิใจ ความรักชาติด้วยกันทั้งสิ้น แต่ความแตกต่างระหว่างสังคมที่มีหรือไม่มีวุฒิภาวะทางปัญญา คือ จะผลิตซ้ำความรู้เดิมหรือก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับความรู้ในสังคมตัวเอง, เป็นความรู้ที่เปิดหูเปิดตาต่อโลกกว้างหรือเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางอย่างมากจนกลายเป็นความคับแคบ, และจะก้าวข้ามมนุษยศาสตร์แบบไม่วิพากษ์วิจารณ์ได้หรือไม่

ภารกิจของมนุษยศาสตร์ คือ ทำให้ปัจเจกชนแต่ละคนมีความสามารถในการแยกแยะ วิเคราะห์ สังเคราะห์จัดการกับข้อมูลท่วมหัว มอบเครื่องมือทางความคิดในการจัดการกับความรู้ต่างๆ ที่ประดังเข้ามาทุกวี่วัน ความสามารถและเครื่องมือเหล่านี้จึงไม่ใช่ความรู้ประยุกต์ที่ใช้ในการผลิตสินค้าหรือบริการ ฯลฯ การฝึกฝนทางมนุษยศาสตร์เป็นฐานของอุดมศึกษาทุกสาขาวิชา แต่ไม่สามารถประยุกต์สร้างผลผลิตที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ เรียกว่า อยู่บนหอคอยงาช้างนั่นเอง ซึ่งมันก็สำคัญเพราะมันทำให้คนคิดเป็น แต่ของสังคมไทยนั้นต่างไป ประวัติศาสตร์ของมนุษยศาสตร์ในตะวันตกเป็นฐานของการปะทะเพื่อการปรับตัวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ยุค enlightenment ของตะวันตก แต่ของไทยเป็นการปรับตัวเข้าสู่ความเป็นกึ่งอาณานิคม เราคิดว่าของฝรั่งดีกว่าของเรา แต่ขณะเดียวกันการปรับตัวของมนุษยศาสตร์ของเราก็เป็นฐานที่มั่นของความเป็นไทยเพื่อต้านทานตะวันตก ยืนยันเอกลักษณ์ของตัวเอง แสดงความเหนือกว่าของศาสนา ปรัชญา วรรณคดีของไทย ยืนยันระเบียบทางสังคมแบบสูงต่ำของไทยว่าดีอยู่แล้ว พูดง่ายๆ มนุษยศาสตร์กลายเป็นป้อมปรากการในการค้ำจุนระบบเดิม แม้ปรับตัวเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ แต่ก็ยังค้ำจุน establishment จึงติดกับดักภารกิจเน้นความภูมิใจและหลงตัวเอง นี่คือ กับดักของภูมิปัญญาระดับพอเพียง ภารกิจนี้อาจเหมาะกับปลายศตวรรษ 19 ถึงต้นศตวรรษ 20 แต่ตอนนี้มันลากยาวมาจนถึงศตวรรษที่ 21





5.นักแสดงตลกเสียดสี

ความแตกต่างระหว่างหม่ำ จ๊กม๊ก กับพวก จอห์น วิญญู, จอห์น โอลิเวอร์, จอน สจ๊วต คือ อย่างแรกเป็นนักแสดงตลก อย่างหลังคือนักแสดงตลกเสียดสี ซึ่งอย่างหลังนี้ไม่เห็นในผังรายการทีวีไทย แต่สำหรับสังคมฝรั่งพวกนี้อยู่ในรายการช่วงไพรม์ไทม์

การแสดงตลกของไทยมีแบบแผนการพัฒนาเหมือนกับทั่วโลก นั่นคือ มีตลกผู้ดีกับชาวบ้าน ลักษณะที่ต่างกันระหว่างสองอย่างนี้ คือ อะไรล้อเล่นได้และอะไรห้ามล้อเล่น ตรงนี้ไทยไม่เหมือนกันกับประเทศตะวันตก การล้อเลียนอำนาจได้แก่ เจ้า พระ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นเรื่องปกติในวัฒนธรรมชาวบ้านในทุกสังคม ล้อเป็นประจำพร้อมๆ กับเคารพนับถือด้วย ซึ่งจะอธิบายก็ดูจะยาวเกินไปว่าทำไมชาวบ้านสามารถจัดการความย้อนแย้งนี้ได้ ตัวอย่างที่รู้จักกันดีคือ ศรีธนญชัย

แคทธารีน โบวี่ พบว่าพระเวสสันดรชาดกเวอร์ชั่นชาวบ้าน นอกจากการให้ทานแล้วยังล้อเลียนทำให้อำนาจเป็นเรื่องตลก ดังนั้นตัวเด่นมากคือ ชูชก ในวัฒนธรรมของชนชั้นสูงโดยเฉพาะอยุธยา-กรุงเทพฯ โบวี่พบว่ามันกลยเป็นเวอร์ชั่นที่ชูชกเป็นคนน่าเกลียด อัปลักษณ์และสมควรถูกประณาม วัฒนธรรมล้อเลียนอำนาจอยู่ในวัฒนธรรมทั้งแบบของผู้ดีและแบบของชาวบ้านในช่วงก่อนยุคสมัยใหม่ แต่เมื่อเกิดการขยายตัววัฒนธรรมมาตรฐานเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมานี้ มันได้เบียดขับให้วัฒนธรรมชาวบ้านเป็นวัฒนธรรมที่ต่ำกว่าของกรุงเทพฯ ซึ่งไม่มีการล้อเลียนอำนาจ มันจึงกลายเป็นมาตรฐานปัจจุบันที่ตลกไทยไม่ใช่ตลกเสียดสีล้อเลียนอำนาจ ประเด็น เจ้า พระ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กลายเป็นเรื่องเกินขอบเขต ตลกของสังคมไทยสมัยใหม่ถูกจำกัดกรอบ มีแดนที่ห้ามละเมิดมากมายเหลือเกิน จึงกลายเป็นแค่ตลกโปกฮา มีแพทเทิร์นหลักอยู่ 2 แบบ คือ 1. ความโง่ เซ่อเซอะ เปิ่นเชยของคนบ้านนอก คนกลุ่มน้อย คนช้ำต่ำ 2. เอาความเบี่ยงเบนผิดเพี้ยนจากภาวะที่ถือว่าปกติมาทำให้เป็นเรื่องตลก เช่น คนพิการ คนไม่สมประกอบ กระเทย คนจีนที่พูดไทยไม่ชัด เป็นต้น ทั้งนี้แดนหวงห้ามที่เป็นสากลสำหรับตลกทั่วโลก คือ เรื่องเพศ แต่แดนหวงห้ามของไทยคือ อำนาจของชนชั้นสูง ตลกไทยไม่เสียดสีขนบของสังคม มีเพียงบางคนที่ทำเป็นบางครั้ง

6. นิยายประวัติศาสตร์

สังคมไทยไม่มีหนังสือนิยายประวัติศาสตร์ดีๆ แม้เพียงสักหนึ่งเล่ม ถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น คำตอบก็คือ เพราะประวัติศาสตร์ไทยศักดิ์สิทธิ์เกินไป (ผู้ฟังปรบมือ)

“มันต้องล้อได้สิ ต้องหาเรื่องได้สิ ต้องเล่นพิเรนห์กับประวัติศาสตร์ได้สิ แต่คุณทำแบบนั้นไม่ได้ มันก็เป็นกรอบและเพดานจำกัดจินตนาการที่อิงกับประวัติศาสตร์ เราไม่คุ้นเคยกับประวัติศาสตร์ที่ถือว่าเป็นผลผลิตของคำถาม ของการตีความ ของการให้เหตุผล ของการให้จินตานาการ เราไม่เห็นว่าประวัติศาสตร์เป็นกึ่งๆ นิยายอย่าเชื่อมากนัก เพราะความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่ผลิตกันมาเป็นปัจจัยสำคัญมากต่อการสร้างชาติและการคงอยู่ของชาติ สำคัญมากของการดำรงอยู่ของชนชั้นนำ จึงเป็นสิ่งห้ามหักล้าง โครงเรื่อง คอนเซ็ปท์ต่างๆ มักอยู่บนฐานอุดมการณ์ราชาชาตินิยม เหล่านี้จะยอมให้หักล้างไม่ได้”

เราจึงมีนิยายาประวัติศาสตร์ที่ใช้ประวัติศาสตร์แบบตายตัวอยู่ 2 แบบ คือ 1.ใช้เป็นแค่ฉากหลังของเรื่องรัก ริษยา โรแมนติก ทั้งที่นิยายรักโรแมนติกอยู่ในฉากแบบไหนก็ได้ ไม่ได้ช่วยให้เราสร้างสรรค์จินตนาการหรือทำให้เกิดความสงสัยในประวัติศาสตร์ใดๆ ทั้งสิ้น 2.ใช้เล่าเรื่องวีรกรรมปกป้องชาติบ้านเมืองให้รอดจากน้ำมือต่างชาติหรือคนทรยศภายในชาติ

“ความรู้ทางประวัติศาสตร์ของประเทศอื่นได้พัฒนาออกไปไกลโขจากกความรู้แบบศักดิ์สิทธิ์แบบที่กล่าวมา เป็นเรื่องการให้เหตุผล มุมมอง เป็นเรื่องการสร้าง narrative (เรื่องเล่า) ที่แตกต่างมองได้หลายมุม จึงไม่สามารถเอ่ยอ้างความศักดิ์สิทธิ์ได้ ขณะที่นักประวัติศาสตร์อาศัยอ้างอิงตามหลักฐานตามหลักวิชา นิยายได้อาศัยความรู้ทางประวัติศาสตร์เป็นฐาน แล้วจินตนาการออกไปเกินเลยกว่าที่มีหลักฐาน นักประวัติศาสตร์ต้องการนักเขียนนิยายประวัติศาสตร์ เขาต้องเจียมตัวรู้ข้อจำกัดตัวเองว่าไม่มีทางตีความเกินไปจากหลักฐาน นิยายประวัติศาสตร์จึงทำหน้าที่ที่นักประวัติศาสตร์ทำไม่ได้ ผมมองหานิยายแบบนี้แต่ยังไม่พบในโลกภาษาไทย”

7. การถกเถียงแบบพวกเคร่งศาสนาในหมู่นักต่อสู้ทางการเมือง

เราจะเห็นปรากฏการณ์นี้ได้ทางเว็บบอร์ดหรือทางเฟซบุ๊ก เรื่องนี้ก็สะท้อนระดับวุฒิภาวะทางปัญญาแบบพอเพียงเหมือนกัน เป็นการถกเถียงอย่างดุเดือดเอาเป็นเอาตาย ทุกถ้อยคำ โดยเฉพาะในหมู่พวกเดียวกัน เป็นกันทุกฝ่าย บ่อยครั้งการถกเถียงนี้มีความสำคัญสำหรับแอคติวิสต์เสียยิ่งกว่าการอ่านหนังสือหรือการหาความรู้ใหม่ๆ เพื่อมาตอบคำถามต่างๆ

เรื่องนี้จะขอพูดเพียงเท่านี้เพราะหากพูดมากกว่านี้อาจถูกฉกฉวยประเด็นนี้เพียงไปเป็นประเด็นต่อเนื่องเพียงเรื่องเดียว โดยลืมเรื่องอื่นๆ ที่พูดมากมายไปหมด

“ขอเน้นแค่ว่า การถกเถียงประเภทนี้เป็นการถกเถียงทางศาสนา เถียงกันเอาเป็นเอาตาย พลาดกันนิดหนึ่งไม่ได้ ใช้วิธีดูถูกเหยียดหยามคนอื่น พวกเคร่งศาสนาเขาเถียงกันแบบนี้มาก่อนพวกนักปฏิวัติเสียอีก เพราะพวกเคร่างศาสนายอมไม่ได้ให้มีการประนีประนอม มีแต่ถูกกับผิดเท่านั้น” 
 
สรุป

โดยสรุป ถ้าเราคิดว่าในทางเศรษฐกิจเราติดกับดักรายได้ปานกลาง ในทางการเมืองติดกับดักกึ่งประชาธิปไตยในหลายรูปแบบ ในด้านวัฒนธรรมสังคมไทยติดกับดักการมีปัญญาแค่พอเพียง ในทางเศรษฐศาสตร์และการเมืองนั้นมีตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรมมากมายอยู่แล้ว จึงอยากเสนอว่า เราน่าจะหาตัวชี้วัดวุฒิภาวะหรือระดับวัฒนธรรมทางปัญญาด้วยเช่นกัน ตัวอย่างที่ยกมาเป็นการเชิญชวนให้เอาสถานะของนักแสดงตลกเสียดสี, นิยายประวัติศาสตร์ ,ความนิยมในสื่อประเภทต่างๆ มาลองเป็นตัวชี้วัดว่าเราพ้นภาวะอับจนปัญญาหรือยัง ผมก็ไม่มีคำตอบ 100% แต่คิดว่าน่าจะได้

สาเหตุของการอับจนปัญญาหรือมีปัญญาอย่างพอเพียง

ถามว่าสาเหตุของปรากฏการณ์นี้เกิดจากอะไร เราอย่าเอาแต่โทษครู นายพล นายกฯ แต่น่าจะถามว่าอะไรคือ เงื่อนไขทางสังคมที่ไม่เอื้ออำนวยเลยให้เราพ้นจากกับดักทางปัญญา ปัจจัยดังกล่าวมี 3 อย่าง คือ

1.ความสัมพันธ์ทางสังคมสูงต่ำเป็นช่วงชั้นที่สถาปนาตัวเองเป็นระบบอุปถัมภ์ขององค์การทุกชนิด มันทำให้สถาบันยึดตัวบุคคลที่เป็น “ผู้ใหญ่” แทนที่จะยึดกับกฎเกณฑ์ กฎหมาย หลักการ จรรยาบรรณวิชาชีพ ทุกสังคมทุกองค์กรในโลกนี้มีทั้งสองด้าน แต่ประเด็นคืออะไรเป็นหลัก อะไรเป็นรอง

ระบบอุปถัมภ์มีผลถึงทุกอย่างแม้แต่นิติรัฐ ในความเป็นจริงนิติรัฐของไทยตั้งแต่เข้ายุคสมัยใหม่ ไม่เคยมีนิติรัฐที่ประชาชนเสมอภาคกันทุกคน แต่เป็นหลักนิติรัฐแบบอุปถัมภ์ อาจารย์เสน่ห์ จามริก เรียกสังคมแบบนี้ว่า สังคมราชูปถัมภ์

2. การเมือง การเมืองที่ค้ำจุนทางอำนาจแบบเดิมหรือแบบช่วงชั้นนี้ ไม่ว่าระบอบเผด็จการทหารหรือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในช่วง 40 ปีหลังนี้ มีความเหมือนในแง่ที่ว่า ไม่มีระบอบไหนที่กัดเซาะระบบความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ รวมทั้งระบอบหลังการปฏิวัติ 2475 ด้วย แม้มีความพยายามแต่ก็ล้มเหลว โปรดสังเกตว่า ยามใดก็ตามที่ทหารครองอำนาจ โดยเฉพาะช่วง 2 ปีมานี้ยิ่งเห็นชัด วัฒนธรรมทางปัญญาจะย้อนกลับไปสู่อนุรักษ์นิยมอย่างรวดเร็วและรุนแรงมาก การเมืองที่ดีไม่ใช่เพียงมุ่งเน้นแค่เรื่องการคอร์รัปชัน ทั้งโลกล้วนเห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจ ถ้าประชาชนเป็นใหญ่ มีโอกาสตรวจสอบผู้มีอำนาจ เปลี่ยนผู้มีอำนาจได้ตามเจตจำนง อย่างน้อย 4 วินาทีในคู่หาเลือกตั้งในทุกๆ 4 ปีก็ยังดี เพราะมันคือการเปิดประตูไปสู่การจัดสรรความสัมพันธ์ของอำนาจในสังคมว่าจะอยู่ในลักษณะไหน ถ้าเป็บแบบบ่าวไพร่ไม่มีโอกาสแม้แต่ 4 วินาทีก็ทำให้อำนาจยิ่งตรวจสอบไม่ได้ เสรีภาพเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยไม่จำเป็นเพราะมีระบบอุปถัมภ์อยู่แล้ว

3.ลัทธิราชาชาตินิยม หัวข้อนี้ขอไม่กล่าวมากกว่านี้

“โดยสรุป การต่อสู้ทางวัฒนธรรมทางปัญญาไม่มีทางลัด ต้องสู้ทีละก้าว แต่ขอได้โปรดตระหนักว่า ไม่ใช่ฟังแล้วจะต้องหมดแรง มันมีก้าวกระโดดเป็นระยะ ที่ว่าไม่มีทางลัด คือ อย่าหวังการปฏิวัติพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ม้วนเดียวเกิดการเปลี่ยนแปลง มันต้องก้าวไปเรื่อยๆ ทีละกาวๆ แล้วผลักดันให้เกิดการกระโดดบ้าง เพราะการพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินพิสูจน์มาแล้วว่าล้มเหลวแม้กระทั่ง 2475 แม้เปลี่ยนการเมืองแต่ก็เปลี่ยนระบบอุปถัมภ์ยังไม่ได้”

“ถ้าต้องการการพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ถ้าชีวิตนี้คิดว่าไม่มีสิ่งนั้นแล้วจะเก็บของกลับบ้านก็เชิญ แต่ถ้าเราตระหนักในความเป็นจริงของมนุษย์ว่ามันหลากหลาย เราไปบังคับเขาไม่ได้ ... ถ้าเคารพในปัจเจกมันต้องให้เวลา เราควรทำตัวเราทำใจเราให้พร้อมกับภาวะที่ต้องสู้กันยาวๆ เราอาจไม่ทันได้พบนักแสดงตลกดีๆ หรือหนังสือประวัติศาสตร์ดีๆ ก็ได้ เพราะเราอาจตายก่อน ถ้าคุณคิดว่าทำใจได้ เข้าใจภาวะปกติของมนุษย์ เราก็ผลักดันต่อทีละด้าน ทีละกรณี ไปเรื่อยๆ อยู่กันยาวๆ”

“เรามีความทุกข์ขมขื่นผิดหวังกับประชามติ แต่ถ้าเรามีวุฒิภาวะทางปัญญาจริงเราควรเข้าใจสิ่งนี้ และมีความสุขกับการสู้ไปยาวๆ ได้ โปรดตระหนักอยู่ในใจตลอดเวลา โลกเปลี่ยนแปลงได้ และโลกเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ความเป็นจริงสังคมไทยเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐานเชิงโครงสร้างมาเท่าไรแล้ว ไม่ได้อยู่นิ่ง และความปรารถนาในชีวิตที่ดีของปุถุชนธรรมดานั่นเองจะทำให้คนสร้างสรรค์ ธรรมชาตินี้ไม่เคยตายจากมนุษย์ ทำอย่างไรให้ศักยภาพเหล่านั้นเสนอตัว แสดงตัวออกมา สู้ไปทีละนิดๆ เพราะเราเชื่อมั่นว่ามนุษย์อยากมีชีวิตที่ดี so basic ไม่ต้องการอุดมการณ์ใดๆ มาค้ำยันด้วยซ้ำ”

“ผมเรียกมันว่า historical optimism โลกไม่ต้อนรับพวกหวังสั้นๆ ม้วนเดียวจบ แต่ต้อนรับพวกเข้าใจสัจจะและค่อยๆ ก้าว”

เป็นการค่อยๆ ก้าวอย่างคงเส้นคงวาตลอดชีวิตโดยมีการมองโลกในแง่ดีเช่นนั้นเป็นพื้นฐาน ในระยะใกล้สถานการณ์อาจแย่ลงมาก แต่เชื่อมั่นเถิดว่าในระยะยาวประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยแน่ๆ เพราะคนเปลี่ยน ความหลากหลายของคนมีมากขึ้น สังคมซับซ้อนขึ้นจนไม่สามารถตกลงกับแบบอื่นได้นอกจากต้องเจรจาต่อรองอย่างสันติ ประชาธิปไตยเป็นเรื่องหนีไม่พ้นสำหรับสังคมที่ขยายตัวและซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ