วันพุธ, กันยายน 21, 2559

ทศกัณฐ์ “หยอดขนมครก, ขับโกคาร์ท” ไม่สง่างาม แต่ทิ้งลูกตัวเอง, แย่งเมียคนอื่น รับได้ สง่างาม? (เราโตแล้ว เราแยกได้ว่าอะไรคือความจริงอะไรคือวรรณคดี – คำ ผกา)




ทศกัณฐ์หยอดขนมครก ใน MV เที่ยวไทยมีเฮ https://www.youtube.com/watch?v=8VO9PzDDX-M

ทศกัณฐ์ “หยอดขนมครก, ขับโกคาร์ท” ไม่สง่างาม แต่ทิ้งลูกตัวเอง, แย่งเมียคนอื่น รับได้ สง่างาม?

โดย พล อิฎฐารมณ์

ที่มา เวปศิลปวัฒนธรรม
21 กันยายน พ.ศ.2559

ดราม่าอีกแล้วครับ! สิ่งใดที่ถูกเชิดชูว่าเป็น “ไทย” (แม้ที่มาจะไม่ค่อยไทยเท่าไรนัก) มักจะแตะต้องกันไม่ค่อยได้ วันนี้ก็เหมือนเดิม เมื่อศิลปินยุคใหม่จับเอาตัวละครโขนอย่าง “ทศกัณฐ์” มาเป็นตัวแสดงนำใน MV ส่งเสริมการท่องเที่ยวชื่อ “เที่ยวไทยมีเฮ” ที่ได้ บัณฑิต ทองดี กำกับ และมี เก่ง-ธชย ประทุมวรรณ มาร้องร่วมกับ ฟิล์ม-บงกช เจริญธรรม โดยให้นักร้องอย่างเก่งแต่งเป็นทศกัณฐ์ท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่างๆ ของไทย

แต่หลังจากที่ MV ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ก็มีผู้ทรงคุณวุฒิท่านหนึ่งไปร้องเรียนต่อสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (วิทยาลัยนาฏศิลป์) ว่าการกระทำดังกล่าวดูจะไม่เหมาะสม

รายงานข่าวจากเว็บไซต์ MTHAI กล่าวว่า คุณลัดดา ตั้งสุภาชัย อดีตศิลปินกองการสังคีต กรมศิลปากร ผู้ร้องเรียนได้กล่าวถึงที่มาที่ไปของการร้องเรียนในครั้งนี้ว่า “ไม่ได้ติดใจการพาทศกัณฐ์หรือนางในวรรณคดีไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ แต่ติดใจที่ ทศกัณฐ์ ซึ่งถือว่าเป็นราชาแห่งยักษ์ทั้งปวง รวมถึงยังเป็นตัวละครในวรรณคดีที่สง่างาม น่าเกรงขาม ทำกิจกรรมไม่เหมาะสม เช่น หยอดขนมครก, ขับโกคาร์ท, ถ่ายเซลฟี่, ขี่บั้งไฟ เป็นต้น”

ผู้เขียนเองไม่ได้เติบโตมาในยุคเดียวกับคุณลัดดา จึงอาจจะถือหลักการว่าด้วยความ “เหมาะสม” คนละชุด เลยไม่เห็นว่า การหยอดขนมครกขับโกคาร์ท, ถ่ายเซลฟี่, ขี่บั้งไฟ เป็นการกระทำที่เลวร้ายทำให้ “ศักดิ์ศรี” ความเป็นยักษ์ (หรือคน? เพราะชาวศรีลังกาก็มีการถกเถียงกันว่าใครเป็น “ยักษ์” ในตำนานซึ่งถือเป็นชาวลังกาดั้งเดิมกันแน่ ระหว่างชาวสิงหลและชาวทมิฬ) ของทศกัณฐ์ลดต่ำลง

ในทางกลับกันบทบาทตามท้องเรื่องรามเกียรติ์เองที่แสดงให้เห็นว่าตัวทศกัณฐ์มิได้ “สง่างาม” อะไร อย่างน้อยก็ในสายตาของผู้เขียน เพราะทศกัณฐ์เป็นพวกหูเบา เชื่อคำโหร จึงทิ้งลูกตัวเอง (ซึ่งพบบ่อยในวรรณคดีหลายเรื่อง หรือจะเป็นมาตรฐานทางสังคมประการหนึ่งที่ควรยอมรับ?)

นอกจากนี้ ทศกัณฐ์ ยังพยายามแย่งชิงหญิงที่มีสามีแล้วมาเป็นของตน ซึ่งหญิงนั้นก็ไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นนางสีดา ลูกสาวที่ตัวเองทอดทิ้งไปนั่นเอง (แม้ว่าทศกัณฐ์จะไม่รู้ว่านางสีดาเป็นลูกก็ตาม) เพียงแค่นี้ก็น่าจะบอกได้แล้วว่า ทศกัณฐ์ตามท้องเรื่องที่เล่ากันก็ไม่ใช่ตัวละครที่สง่างามเท่าใดนัก

แต่หาก “ความสง่างาม” ของทศกัณฐ์คือความเลวบริสุทธิ์ จะมีแง่มุมมุ้งมิ้งไม่ได้ ข้ออ้างนี้ก็คงจะพอฟังได้ว่า ศิลปินยุคใหม่ไปทำลายความเลวบริสุทธิ์ของตัวละครตัวนี้เข้าจนสิ้นความสง่า (ในแง่นี้) ซึ่งผู้ทักท้วงอาจจะมองว่า ตัวร้ายในวรรณคดีจำเป็นต้องเลวบริสุทธิ์ คนฟังถึงจะ “อิน” กับเรื่องการสู้รบระหว่าง “ธรรมะ” และ “อธรรม”

ถ้าเป็นเช่นนั้น เพื่อความสง่างามของตัวละครฝ่ายพระเอกทั้งหลาย (ที่อาจจะต้องดีบริสุทธิ์เช่นกัน) ผู้ที่ต้องการเชิดชูคอนเซปต์ “ธรรมะชนะอธรรม” อาจจะต้องเสนอให้มีการชำระเรื่องรามเกียรติ์เสียใหม่ เพราะหลายตอนฝ่ายธรรมะเองก็ประพฤติตนไม่ต่างไปจากฝ่ายอธรรมะเอาเสียเลย

ooo