วันเสาร์, กันยายน 03, 2559

ทำไมการไล่รื้อ "ชุมชนป้อมมหากาฬ" จึงสำคัญกับทุกคน?





ที่มา เวปสุขใจดอทคอม

รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ เท่ากับ ลบ ประวัติศาสตร์ของ กรุงเทพฯ


จาก http://www.posttoday.com/social/think/424984

ทำไมประเด็นการไล่รื้อ "ชุมชนป้อมมหากาฬ" จึงสำคัญต่อทุกคน?

เฟซบุ๊ก Sanon Wangsrangboon

ทำไมประเด็นการไล่รื้อ “ชุมชนป้อมมหากาฬ” จึงสำคัญต่อทุกคน?

ถึงแม้จะมีพี่หลายคนบอกผมว่าอย่าไปยุ่งกับประเด็นที่กฎหมายชี้ชัดไปแล้วอย่างเคสนี้ ฯลฯ แต่ตั้งแต่ที่ผมขลุกอยู่พี่ๆที่ชุมชนกว่าปีเศษและขลุกอยู่กับเอกสารปึ๊งใหญ่ๆกว่า 3 สัปดาห์เศษแบบเจาะลึกมากๆ อ่านเอกสารเก่าๆ ข้อความทางกฎหมายมากมาย ฯลฯ ผมก็ยิ่งยืนยัน นอนยัน และคิดว่ามันคือประเด็นที่สำคัญ (มากๆๆ) ที่เราควรจะยืนหยัดต่อ เพราะมิฉะนั้นแล้ว กรุงเทพฯเราคงไม่เหลืออะไรดีงามนี้ไว้แน่ๆ

และมันก็ถึงเวลาที่ต้องสื่อสารต่อทุกคนจริงๆครับ

หากเรามองผิวเผิน “ชุมชนป้อมมหากาฬ” ก็เป็นเพียงอีกหนึ่งกลุ่มที่กำลังโดนไล่รื้อไม่ต่างจาก ปากคลองตลาด, สะพานเหล็ก, และคลองถม แต่หากมองลึกลงไปอีกนิด แต่สิ่งที่กรุงเทพฯกำลังทำกับชุมชนป้อมมหากาฬนี้ ดูจะแสดงถึงอะไรหลายๆอย่างที่เราไม่ควรละเลยมากๆ ผมพอจะสรุปมาให้คร่าวๆดังนี้ครับ

1.มันเป็นการรื้อโดยยึดตามแผนพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่ปี 2502

เป็นแผนที่กรุงเทพฯต้องการสร้างเมืองเหมือนตะวันตก เพิ่มพื้นที่ส่วนกลาง แต่ไล่คนออกจากเมืองไปเรื่อยๆ (สังเกตถนนราชดำเนินที่โดนทิ้งร้าง สังเกตชุมชนที่เริ่มหายไปเรื่อยๆในเกาะรัตนโกสินทร์) เหมือนกับว่า 57 ปีให้หลังมานี้ เราไม่ได้เรียนรู้อะไรสักเท่าไรกับผลลัพธ์การพัฒนาเมืองในแบบที่เป็นอยู่ จนสิงคโปร์พัฒนาไปไกลแล้วก็ตาม หากกรุงเทพฯไล่ชุมชนป้อมมหากาฬออกไปได้ แน่นอนครับ มันจะส่งผลต่ออีก 5,500 ชุมชน ประชากรถึง 1,870,000 ครัวเรือนที่อยู่ตามคูคลองและรอบๆเมืองกรุงเทพฯ หรือเทียบแล้วมันคือ 37% เมื่อเทียบกับประชากรเมืองทั้งหมด (อ้างอิงจากรายงานของสถาบันองค์ชุมชนพัฒนาชุมชนเมื่อปี 2550)

2.กรุงเทพฯจะกลายเป็นเมืองที่ไม่มีเอกลักษณ์ใดๆเลย
เมืองเราจะไม่แตกต่างจากเมืองอื่นเลย เพราะเรากำลังเลียนแบบตะวันตก พี่ชวนัฎ ล้วนเส้ง พี่ Ashoka Fellow สถาปนิกผู้ทำงานพัฒนามาหลากหลายชุมชนให้คำจำกัดความของการรื้อชุมชนป้อมมหากาฬ ว่า "...การไล่รื้อชุมชนป้อม มหากาฬเป็นเพียงสัญญาณว่าเกมส์สร้าง ดิสนี่แลนด์รัตนโกสินทร์กำลังจะเริ่มขึ้นอีกกว่า26 ชุมชนเก่าก็จะทยอยถูกขับไสไปในนามของการขอคืนพื้นที่ ขอปรับปรุงภูมิทัศน์..." การสร้างสวนสาธารณะในที่ที่คนไปใช้สอยได้น้อยมากๆแบบนี้ (พื้นที่ป้อมมหากาฬเป็นพื้นที่ปิด โดยถูกล้อมด้วยกำแพงเมืองเก่าตลอดแนวของพื้นที่) ทำไมมันถึงไม่เกิดการศึกษา การบูรณาการ กับสภาพอากาศหรือประวัติศาสตร์ความเป็นมาของพื้นที่ กรุงเทพฯจะกลายเป็นเมืองที่ขาดเอกลักษณ์ไปจริงๆ

3.กฎหมายที่กรุงเทพฯอ้าง เป็นสิ่งที่หาทางออกได้

(คอนเฟิร์มโดยนักกฎหมายชั้นอาวุโสหลายท่านที่มาช่วยกัน) สิ่งที่กรุงเทพฯอ้างนั้น มันเป็นความเดิมของพระราชกฤษฎีกาตั้งแต่ปี 2535 ที่มีช่องทางมากมายหาก “ผู้มีอำนาจรัฐ” จะคิดหาทางออกเพื่อประชาชน และเลือกประชาชนมากกว่าการทำอะไรง่ายๆเพื่อตนเอง แต่สิ่งที่รัฐเลือกทำ คือการเลือกทางออกที่ง่ายที่สุด เพียงแค่คำว่า กฎหมายชี้ชัดไปแล้ว...

4.การพัฒนาที่ขาดความคิดสร้างสรรค์อย่างสุดโต่ง

ทำไมเราถึงไม่ดูประเทศที่พัฒนาแล้ว เมืองที่ดีมากๆอย่าง เกียวโต ที่ยังสามารถอนุรักษ์วัฒนธรรม ทำไมเราไม่มองสิงคโปร์ที่ถึงแม้เค้าไม่มีวัฒนธรรมอะไร แต่เค้าพยายามโหยหาและสร้างขึ้นมาจนคนไปเที่ยวเยอะแยะไปหมด เรามีทุกอย่างแต่เรากำลังจะไล่ทุกอย่างทิ้งออกไป เมื่อปี พ.ศ. 2549 ม.ศิลปากรนำโดยอาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ ร่วมกับกรุงเทพฯนำโดยท่านผู้ว่า อภิรักษ์ ได้ทำการวิจัย “พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่มีชีวิต” ทำกระบวนการร่วมกับชาวบ้านในชุมชนป้อมมหากาฬเป็นปี เพื่อหาทางออก สุดท้ายก็ยังติดทางตันที่กฎหมายและดูเหมือนว่ากรุงเทพฯจะไม่พยายามดำเนินการใดๆที่จะผลักดันให้งานสร้างสรรค์ชิ้นนี้เป็นจริงให้จงได้

5.ในแง่เศรษฐกิจ เรากำลังเสียโอกาสทางเศรษฐกิจมหาศาลจากการไล่ชุมชนออกจากเกาะรัตนโกสินทร์

จากนักท่องเที่ยว 15 ล้านคนที่เข้ากรุงเทพฯต่อปี (ข้อมูลปี 2554) เงินสะพัดในกรุงฯอย่างน้อย 69,000 ล้านบาท เงินเหล่านี้ตกไปอยู่กับวัด กับสถานที่ที่สร้างขึ้นมาหมด มันจะดีกว่ามั้ยหากเราพัฒนาการท่องเที่ยวจากรากหญ้าขึ้นมาเป็นการท่องเที่ยวท้องถิ่น เพราะมันไม่ใช่เพียงพัฒนาด้านเศรษฐกิจ แต่มันคือการพัฒนาประชาชนให้กลายเป็นพลเมือง (พละของเมือง) พัฒนาการศึกษา (เรียนรู้ภาษาอังกฤษ) และทำให้เมืองมี “ชีวิต” ขึ้นจากคนพื้นถิ่น

6.ประวัติศาสตร์ถูกลบทิ้ง

ความเป็นมาของชุมชน วิถีชีวิตการอยู่อาศัยแบบชุมชนดั้งเดิม เช่น การอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ การมีราวตากผ้ารวมที่ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่นี่คือการแสดงออกถึงความเชื่อใจ เพราะผ้าบ้านไหนก็ไม่เคยหาย การอยู่อาศัยเป็นครอบครัวใหญ่ที่เหมือนทุกคนเป็นพี่น้องกันอย่างแท้จริง บ้านไม้โบราณที่เป็นร่องรอยทางสถาปัตยกรรมโบราณ ที่ชาวบ้านยังสามารถบอกเล่าเรื่องราวได้เป็นอย่างดีก็จะหายไปเช่นกัน

มี Change.org ที่พี่ๆจากมูลนิธิเล็กประไพช่วยทำไว้ มันยังมีเสียงไม่มากนัก และเราต้องการเสียงมากกว่านี้อีกมากๆๆๆ อยากให้ทุกคนเข้าไปคลิกดู (ข้อความจะเน้นไปทางประวัติศาสตร์สักเล็กน้อยครับ แต่ความสำคัญไม่ต่างจากที่ผมพิมพ์ด้านบนนี้เลย)

ที่มาจากเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10154043701329054&set=a.10150401127669054.381663.784794053&type=3&theater






เนื้อหาเพิ่มเติม

ยังคงเป็น “มหากาพย์” ที่ต้องติดตามกันต่อไปว่าจะจบอย่างไรกับกรณี ชุมชนป้อมมหากาฬ ที่ด้านหนึ่ง กทม. ยืนยันว่าจะต้องเวนคืน ย้ายผู้คนออกให้ได้ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 15 สค.59 ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่กทม. ได้ทำการติดตั้งประกาศรื้อถอน 3 ก.ย.นี้ ดีเดย์รื้อย้ายชุมชน"ป้อมมหากาฬ"
คุยกับ คุณวลัยลักษณ์ ทรงศิริ นักวิชาการ มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์

คนเคาะข่าว ปมพิพาท"ชุมชนป้อมมหากาฬ" 16/08/2016 https://youtu.be/mtetxVTZk-4

ทำไมการไล่รื้อ “ชุมชนป้อมมหากาฬ” จึงสำคัญต่อทุกคน? https://youtu.be/kPoqE4xalCU

รายการจุดชนวนข่าว รื้อย้ายชุมชนป้อมมหากาฬ? https://youtu.be/y8oBCzCQEdA

เสวนา "รื้อป้อมมหากาฬ คือทำลายประวัติศาสตร์กรุงเทพ" https://youtu.be/GNIHFP8tvRo

พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ป้อมมหากาฬ https://youtu.be/a6NHB4MlYrQ

เวทีสาธารณะ : ลมหายใจสุดท้าย ป้อมมหากาฬ https://youtu.be/i2RWuyFFW2c

ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร ตอน '' ศึกป้อมมหากาฬ '' https://youtu.be/tzIdsQpgzMs

ทุบโต๊ะข่าว : กทม.เตรียมปิดประกาศไล่ชุมชน "ป้อมมหากาฬ"-นักวิชาการชี้ละเมิดสิทธิ์ https://youtu.be/blUKv2TQ9ZU

ห้องข่าวฉุกเฉิน รับอรุณ :: ศึกป้อมมหากาฬ https://youtu.be/FWd8YsgPUZE

"ป้อมมหากาฬ" ชานพระนครแห่งสุดท้าย https://youtu.be/xy-jnG5SCP0

ขอคืนพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬ : วิวัฒนาการพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬ

https://youtu.be/IhqvGFC18xQ

https://youtu.be/IOU7jazYzzU

https://youtu.be/ZSbrrm7lCl0

ก่อนวิถีจะเสื่อมสูญ ตอน1 ชานพระนครแห่งสุดท้าย https://youtu.be/C_nfKtVsamk

ก่อนวิถีจะเสื่อมสูญ ตอน 2 มรดกชุมชนป้อมมหากาฬ https://youtu.be/_AH6-1m3P1s

ก่อนวิถีจะเสื่อมสูญ ตอน 3 ลมหายใจสุดท้ายของชุมชนป้อมมหากาฬ https://youtu.be/xC7MpM0yb9Y

คนหลังข่าว : แนวทางแก้ไขปัญหา ชุมชนป้อมมหากาฬ https://youtu.be/ZKeEsQmGdI0







ooo


รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ เท่ากับ ลบ ประวัติศาสตร์ของ กรุงเทพฯ




วัดราชนัดดารามฯ พ.ศ.๒๔๖๓ และ ๒๕๑๑ ตามลำดับ Image Source : Kanno Rikio, Japan
จากเพจ https://www.facebook.com/77PPP


ความเจ็บปวดที่ชุมชนป้อมมหากาฬ "เมืองประวัติศาสตร์ต้องมีชุมชน"

บทความโดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
เรียบเรียงเมื่อ 16 เม.ย. 2559, 20:19 น.
เข้าชมแล้ว 180 ครั้ง

หลังจากเงี่ยหูฟังมาโดยตลอดของยุคสมัยที่มีกฎหมายสูงสุดกลายเป็นมาตรา ๔๔ และรัฐธรรมนูญทั้งฉบับกำลังถูกร่างแล้วร่างเล่าและยังไม่เห็นภาพของกฎหมายสูงสุดของประเทศที่จะทำให้ชีวิตวัฒนธรรมของชาวไทยดำเนินไปอย่างสันติสุขเสียที

หลังจากกรุงเทพมหานครเริ่มไล่รื้อย่านตลาดเก่าและตลาดใหม่ ที่ทำมาหากินของชาวบ้านชาวเมืองไปแทบจะหมดเพื่อพัฒนาพื้นที่ตามเกณฑ์การจัดระเบียบพื้นที่ต่างๆ ก็มาถึงลำดับการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ งานสำคัญที่ยังทำไม่เสร็จตลอดระยะเวลาเข้าปีที่ ๒๔ แล้ว

แม้ปัญหาจะยืดเยื้อเปลี่ยนแปลงผู้รับผิดชอบมามากมายจนแทบจะไม่รู้จุดเริ่มต้นหรือจุดสิ้นสุดของปัญหาการไล่รื้อชุมชนที่นับวันจะกลายเป็นนโยบายแสนจะล้าหลังไปแล้วว่า ควรมีกระบวนการแก้ปัญหาที่ใดหรือทำอย่างไรจะไม่ให้เกิดความเสียหายต่อทั้งกระบวนการพัฒนาพื้นที่ย่านเมืองเก่า การท่องเที่ยวเมืองประวัติศาสตร์ และทำลายภาพลักษณ์ของประเทศด้วยความรุนแรงในการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมมากไปกว่านี้

รู้จัก “ตรอกพระยาเพชรฯ” และความเป็นชุมชนย่านชานพระนคร

เมื่อผู้สื่อข่าวไปถามผู้อำนวยการท่านหนึ่งของกรุงเทพมหานครถึงเรื่องการไล่รื้อชุมชนที่อาจจะเสี่ยงต่อการสูญหายไปของชุมชนเก่าแก่ภายในย่านเก่าของกรุงเทพมหานคร ท่านให้คำตอบกลับมาว่า บริเวณชุมชนที่ใกล้กับป้อมมหากาฬนั้นไม่มีรากเหง้าหลงเหลืออีกแล้ว หากจะมีก็ต้องให้เห็นภาพประจักษ์ดังเช่น “บ้านสาย” ที่เคยถักสายรัดประคดแต่เลิกไปหลายปีแล้วเพราะไม่มีผู้ทำ แต่บริเวณนั้นเป็นพื้นที่ของเอกชนที่ลูกหลานได้รับพระราชทานที่ดินจากพระมหากษัตริย์ในการเป็นผู้บูรณะวัดเทพธิดารามฯ หรือต้องเห็นคนนั่งตีบาตรแบบ “บ้านบาตร” ย่านตีบาตรพระมาตั้งแต่เริ่มสร้างกรุงฯ และปัจจุบันยังมีผู้สืบทอดการตีบาตร คนบ้านบาตรต่อสู้กับโรงงานปั๊มบาตรราคาถูกด้วยตนเอง ไม่มีหน่วยงานใดไปช่วยเหลือ ทุกวันนี้ยังตีบาตรกันอยู่ ๓-๔ รายด้วยลมหายใจรวยริน และแน่นอนพื้นที่นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งกรุงเทพมหานครไม่มีส่วนได้เสียหรือรับผิดชอบร่วมจัดการให้คนอยู่กับย่านเก่าแต่อย่างไร



ชุมชนป้อมมหากาฬ ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ช่างภาพ George Lane,
United States, จากเพจ https://www.facebook.com/77PPP


จะให้เข้าใจกันมากกว่านี้ ต้องขอส่งผ่านความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมืองกรุงเทพมหานครในบริเวณที่เป็นเมืองกรุงเทพฯ แต่แรกเริ่มในพื้นที่ย่านประวัติศาสตร์ กรุงเทพมหานครเป็น “เมืองประวัติศาสตร์” แห่งหนึ่งที่ยังมีชีวิต [Living Historic City] ซึ่งแม้จะมีร่องรอยกลิ่นอายชุมชนย่านเก่าแก่ทั้งหลายอยู่ แต่ดูเหมือนจะไม่มีการศึกษาหรือกล่าวถึงเป็นชิ้นเป็นอันที่เป็นการศึกษาจากภายใน ชุมชนที่ยังมีชีวิตเหล่านี้ต่างเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยที่กรุงเทพฯ ได้เปลี่ยนแปลงมากว่า ๒๐๐ ปี จากเมืองตามขนบจารีตแบบเมืองโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั่วไป มาเป็นเมืองในแบบสมัยใหม่ตั้งแต่เมื่อราวรัชกาลที่ ๔ ลงมา และปรับเปลี่ยนไปมากเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ราชสำนักที่เคยอุปถัมภ์งานช่างงานฝีมือ การมหรสพต่างๆ ของผู้คนรอบพระนครก็เปลี่ยนแปลงไป จนต้องมีการผลิตและค้าขายด้วยตนเอง ซึ่งก็มักต้องพบกับทางตันและทำให้งานช่างฝีมือเหล่านี้ที่ไม่ได้รับการเอื้อเฟื้อจากราชสำนักขุนนาง คหบดีอีกต่อไปแล้วถึงแก่กาลจนแทบจะหายไปหมดสิ้น จากย่านสำคัญต่างๆ ในกรุงเทพฯ เหลือไว้แต่เพียงผู้สูงอายุที่เคยทันงานช่างต่างๆ และคำบอกเล่าสืบต่อกันมา

นอกกำแพงเมืองส่วนที่ต่อกับคูคลองเมืองนั้นเรียกว่า “ชานพระนคร” เป็นพื้นที่ซึ่งเคยนิยมอยู่อาศัยเป็นธรรมเนียมปกติสืบทอดกันมาตามขนบชุมชนแบบโบราณตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาต่อกับกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะเป็นเมืองริมน้ำและเมืองลอยน้ำที่มีการคมนาคมและซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าโดยใช้เรือเป็นพาหนะ ผู้คนจึงนิยมอาศัยทั้งบนเรือ ในแพ และบ้านริมน้ำมากกว่าบริเวณพื้นที่ภายในที่ต้องใช้การเดินบนบก




ชุมชนป้อมมหากาฬ พ.ศ. ๒๕๑๕ ช่างภาพ Nick DeWolf, Image Source:
Steve Lundeen, Nick DeWolf Photo Archive, United States,
จากเพจ https://www.facebook.com/77PPP


บริเวณ “ชานพระนคร” ด้านหน้ากำแพงเมืองใกล้ป้อมมหากาฬมาจนจรดริมคลองหลอดวัดราชนัดดาเป็นที่อยู่อาศัยของข้าราชการและชาวบ้านมาหลายยุคสมัยมีการปลูกสร้างอาคารเป็นแนวยาวตลอดตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศจรดแนวคูคลองวัดเทพธิดารามในปัจจุบัน ในยุคตั้งแต่ราวครั้งรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา บริเวณนี้

ผู้คนเรียกกันว่า “ตรอกพระยาเพชรฯ”

“ตรอกพระยาเพชรฯ” เคยเป็นนิวาสสถานของพระยาเพชรปาณี (ตรี) ข้าราชการกระทรวงวังและเป็นชาวปี่พาทย์โขนละครเป็นแหล่งกำเนิดลิเกทรงเครื่อง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเขียนถึงสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ใน “สาส์นสมเด็จ” ถึงต้นกำเนิดของลิเกว่า อาจจะเป็นพระยาเพชรปาณี (ตรี) คิดตั้งโรงลิเกเก็บค่าดูและเล่นเป็น “วิก” ตามแบบละครเจ้าพระยามหินทรที่มีวิกละครอยู่ที่ท่าเตียน และเล่นเป็นเรื่องต่างๆ เหมือนอย่างละครไม่เล่นเป็นชุด โดยเอาดิเกร์แบบชาวมลายูผสมกับละครนอกของชาวบ้านเริ่มเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๔๐

ลิเกของพระยาเพชรปาณีเป็นลิเกแบบทรงเครื่องคือส่วนที่เป็นสวดแขกกลายเป็นการออกแขก มีผู้แสดงแต่งกายเลียนแบบชาวมลายูออกมาร้องเพลงอำนวยพร ส่วนที่เป็นชุดออกภาษากลายเป็นละครเต็มรูปแบบ วงรำมะนายังคงใช้บรรเลงตอนออกแขก แต่ใช้ปี่พาทย์บรรเลงในช่วงละคร เดินเรื่องฉับไว เครื่องแต่งกายหรูหราเลียนแบบข้าราชสำนักในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ และเอาใจความชอบแบบชาวบ้าน

เพลงรานิเกลิงหรือเพลงลิเกคิดขึ้นโดย นายดอกดิน เสือสง่าในยุคลิเกทรงเครื่องช่วงรัชกาลที่ ๖ แพร่หลายไปทั่วภาคกลางอย่างรวดเร็ว มีวิกลิเกเกิดขึ้นทั้งในพระนครและต่างจังหวัดนำเนื้อเรื่องและขนบธรรมเนียมของละครรำมาใช้ แต่เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีความขาดแคลนไปทั่ว ลิเกทรงเครื่องก็หมดไป วงรำมะนาที่ใช้กับการออกแขกก็เปลี่ยนไปใช้วงปี่พาทย์แทน ต่อมานายหอมหวลนาคศิริ ได้นำเพลงรานิเกลิงไปร้องด้นกลอนสดดัดแปลงแบบลำตัด ทำให้เป็นที่นิยมจนมีชื่อเสียงและมีลูกศิษย์มากมาย วิกลิเกที่โด่งดังมาตลอดยุคสมัยของความนิยมในมหรสพชนิดนี้คือ “วิกเมรุปูน” ซึ่งอยู่ทางฝั่งวัดสระเกศฯ และไม่ไกลจากวิกลิเกดั้งเดิมของพระยาเพชรปาณี ที่ใกล้ป้อมมหากาฬ

ตัวอย่างร่องรอยของผู้คนที่เกี่ยวเนื่องในการแสดงมหรสพลิเกในย่านตรอกพระยาเพชรฯ คือสถานที่ผลิตเครื่องดนตรีไทย ตั้งเสียงระนาด และขุดกลองคุณภาพดีในช่วงรัชกาลที่ ๖ ที่ควรจดจำ คือ นายอู๋และนางบุญส่ง ไม่เสื่อมสุข ที่เป็นผู้สร้างกลองเป็นพุทธบูชา ในหลายวัดและที่สำคัญคือ กลองที่ “ศาลเจ้าพ่อหอกลอง” กรมการรักษาดินแดน ข้างกระทรวงมหาดไทยบ้านของนายอู๋และนางบุญส่ง ไม่เสื่อมสุข สืบทอดมาจากบิดาอีกทอดหนึ่ง ท่านทั้งคู่เป็นตาและยายของคุณธวัชชัย วรมหาคุณ ผู้นำชุมชนป้อมมหากาฬ ผู้ซึ่งอายุห้าสิบกว่าปีแล้ว ดังนั้น บ้านหลังนี้จึงอยู่อาศัยสืบทอดตกกันมาไม่ต่ำกว่าในยุครัชกาลที่ ๕ หรือน่าจะใกล้ เคียง ซึ่งควรจะมีรากเหง้าอยู่อาศัยมาไม่ต่ำกว่าร้อยปีแล้ว

พื้นที่ดังกล่าวของบ้านเรือนในป้อมมหากาฬมีเจ้าของที่ดินหลายโฉนดหลายแปลงทั้งของเอกชนและของวัดราชนัดดาฯ เมื่อต้องถูกพระราชบัญญัติเวนคืนที่ดินเพื่อใช้สำหรับสร้างสวนสาธารณะให้กับโครงการเกาะรัตนโกสินทร์ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเมื่อครั้งหลังยังมีกรรมการเกาะรัตนโกสินทร์ที่ต้อง “ปรับภูมิทัศน์” พื้นที่ต่างๆ ในย่านเมืองประวัติศาสตร์ โดยไม่เห็นความสำคัญของชุมชนที่อยู่อาศัยมาแต่เดิมและคงอยู่ในสภาพทรุดโทรมเพราะติดปัญหาในด้านทุนทรัพย์ซ่อมแซมในรุ่นลูกหลานและเปลี่ยนมือเนื่องจากการย้ายออกไปของกลุ่มตระกูลและการย้ายเข้าของผู้มาใหม่ ซึ่งเป็นปกติของการอยู่อาศัยในย่านเมือง

การออกพระราชบัญญัติเวนคืนในยุคดังกล่าวนั้น น่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาสืบตกทอดมาถึงทุกวันนี้คือ

“ไม่ได้ศึกษารอบด้านในเรื่องประวัติศาสตร์สังคมของชุมชนต่างๆจนละเลยจนกระทั่งถืออภิสิทธิ์ไม่เคารพสิทธิชุมชนหรือกฎเกณฑ์ทางสังคมที่ถือเอากรรมสิทธิ์ทางกฎหมายปัจจุบันเป็นหลักแบบมัดมือชก” เช่นนี้



บรรยากาศภายในชุมชนป้อมมหากาฬในปัจจุบัน


เป็นที่น่าหดหู่เมื่อเกิดปัญหาการไล่รื้อชุมชน ซึ่งกรุงเทพมหานครให้ข่าวว่าจะกำหนดให้เสร็จสิ้นในเดือนพฤษภาคม๒๕๕๙ นี้ โดยไม่ได้เริ่มเจรจากับชุมชนแต่อย่างใด

ชุมชนตามธรรมชาติแห่งนี้ไม่สามารถเติบโตหรือสืบทอดการอยู่อาศัยในพื้นที่ชานพระนครได้มานานแล้วเพราะการไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการปกครองของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากปัญหาทางกฎหมายจากพระราชบัญญัติเวนคืนและการควบคุมไม่ให้มีผู้คนเพิ่มจากที่มีอยู่เดิม

แต่พื้นที่เหล่านี้ยังมีผู้คนที่สืบทอดความทรงจำของคนตรอกพระยาเพชรปาณี วิกลิเกแหล่งมหรสพชานพระนครอยู่ และยังคงสภาพความร่มรื่นชื่นเย็นในบรรยากาศแบบเมืองประวัติศาสตร์ในอดีตที่ยังมีชีวิตชีวา

หากกรุงเทพมหานครยังยืนยันว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินจากพระราชบัญญัติเวนคืนที่ศาลปกครองได้ตัดสินไปแล้ว โดยไม่สนใจสิทธิแบบจารีตและสิทธิชุมชนที่ควรจะได้รับการพูดคุยถกเถียงในช่วงเวลาที่การท่องเที่ยวชุมชนและการท่องเที่ยวเมืองประวัติศาสตร์กำลังเป็นที่เข้าใจแก่ผู้คนทั่วไปและเห็นประโยชน์ในการเก็บรักษามรดกวัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์ที่มีผู้คนอยู่อาศัยได้จริงและมีชีวิตชีวานั้นไว้

หากจะเหลียวมองดูการทำงานการจัดการกับชุมชนในพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับที่ทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ปรับเปลี่ยนวิธีปฏิบัติต่อชุมชนต่างๆ มาเป็นเวลาสักระยะแล้ว เพื่อทำให้ผู้คนสามารถอยู่อาศัยในพื้นที่ประวัติศาสตร์ได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีระบบระเบียบและสร้างความเป็นชุมชนด้วยการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อดูแลตนเอง ก็จะช่วยให้พื้นที่เหล่านี้ไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปเป็นการสร้างตึก สร้างสนามหญ้าที่ไม่มีจิตวิญญาณหรือบรรยากาศของสภาพความเป็นเมืองประวัติศาสตร์แต่อย่างใด

พวกเราสูญเสียสิ่งมีค่าในพระนครเก่าของเราไปแล้วมากมายและไม่สามารถเรียกคืนได้เนิ่นนานแล้ว อย่าปล่อยให้ชาวบ้านที่ย่านป้อมมหากาฬต่อสู้เพียงลำพัง การย้ายออกไปนั้นง่ายดาย แต่หากย้ายไปแล้ว หมดสิ้นสภาพย่านเก่าที่มีชีวิตวัฒนธรรมให้เหลือเพียงความทรงจำในแผ่นป้ายหรือกระดาษนั้น ไม่นับว่าเป็นประโยชน์ต่อแผ่นดินและผู้คนแต่อย่างใด

หากมีการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นมรดกแห่งความบอบช้ำและความสูญเสียที่พวกเราต้องรับไม้ต่อแทนชาวชุมชนป้อมมหากาฬ เป็นมรดกแห่งความทุกข์ยากที่ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งมอบไว้ให้ผู้คนในเมืองกรุงเทพฯ และปัญหาอันไม่มีวันจบสิ้นนี้ พวกเราทั้งสิ้นต้องเป็นผู้รับผิดชอบร่วมกันสืบต่อไปนานเท่านาน

เป็นตราบาปแก่ใจที่ไม่สามารถพูดคุยให้เกิดความก้าวหน้าในการจัดการเมืองประวัติศาสตร์ที่มีปัญหายืดเยื้อยาวนาน จนแทบจะไม่น่าเชื่อว่าเรากำลังสู้ทนในสิ่งเหล่านี้เพื่ออะไร

ความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรม : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๑๐๙ (ม.ค.-มี.ค.๒๕๕๙)


จาก http://lek-prapai.org/home/view.php?id=5133



ภาพแมว แถว ป้อมมหากาฬ

ooo


ย้อนรอย 234 ปี “ป้อมมหากาฬ”...ลมหายใจชุมชนที่กำลังรวยริน

เปิดประวัติศาสตร์สองร้อยกว่าปี “ป้อมมหากาฬ” ที่ก่อเกิดผูกพันเป็นชุมชนสำคัญแห่งหนึ่งกลางเมืองหลวง แต่ชุมชนแห่งนี้จะอยู่หรือไป เป็นดั่งตะกอนแห่งความกังวลใจของใครต่อใครในชุมชมนั้น...







ป้อมมหากาฬ ป้อมปราการแห่งพระนคร

ป้อมมหากาฬและกำแพงเมือง ตั้งอยู่บริเวณริมคลองรอบกรุง ใกล้เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ โดยมีกำแพงเมืองต่อไปเป็นแนวยาวตามถนนมหาไชย จนสุดที่ร้านน้ำอบนางลอย “ป้อมมหากาฬ” เป็นป้อมที่ใช้รักษาพระนครสร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 อยู่ทางด้านทิศตะวันออก ส่วนกลางของกำแพงเมือง สร้างขึ้นพร้อมกับอีก 14 ป้อม แต่ไม่ปรากฏมีวังของเจ้านายอยู่บริเวณริมป้อม เข้าใจว่าคงจะอยู่ในความดูแลของวังอื่นอยู่แล้ว กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนป้อมมหากาฬพร้อมด้วยกำแพงเมืองเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 66 ตอนที่ 65 วันที่ 22 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2492

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม ป้อมมหากาฬเป็นป้อมขนาดใหญ่ทรงแปดเหลี่ยม วัดจากฐานรากชั้นนอกด้านทิศเหนือจรดฐานด้านทิศ ใต้กว้าง 38 เมตร ความสูงจากพื้นดินถึงปลายใบเสมา 4.90 เมตร และจากพื้นดินถึงหลังคาป้อม 15 เมตร โครงสร้างก่ออิฐฉาบปูน รากฐานอยู่ใต้ระดับผิวดิน ลักษณะเป็นป้อม 3 ชั้น มีบันไดทางขึ้นสู่ชั้นที่ 1 และ 2 กำแพงป้อมเป็นแบบใบเสมาเหลี่ยมขนาดใหญ่ทั้งหมด ยกเว้นกำแพงปีกกาที่ต่อออกมาจากกำแพงป้อมชั้นที่ 2 มีลักษณะใบเสมาปลายแหลมเหมือนกำแพงเมือง

ตัวป้อมชั้นบนสุดมีลักษณะเป็นหอรูปแปดเหลี่ยม มีประตูทางเข้า 1 ประตู หลังคาโครงไม้มุงกระเบื้องทรงคล้ายฝาชีหรือใบบัว คว่ำ 2 ชั้น ที่ป้อมชั้นล่างมีปืนใหญ่ตั้งประจำช่องเสมาเป็นจำนวน 6 กระบอก กำแพงเมืองที่ต่อจากป้อมมหากาฬไปตามแนวถนนมหาไชยนั้น มีลักษณะเป็นกำแพงมีเชิงเทิน ใบเสมาชนิดปลายแหลม ยาว 180 เมตร ถูกตัดขาดเป็นช่วงๆรวม 4 ช่วง กำแพงช่วงยาวมีช่องประตูรูปโค้งแบบประตูช่องกุดใต้เชิงเทิน 3 ประตู สองข้างช่องประตูเป็นบันไดขึ้นสู่ชานบนกำแพง ในพุทธศักราช 2524 กรมศิลปากรได้บูรณะป้อมและกำแพงเมือง เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี และได้ก่อคอนกรีตแนวเชิงเทินเชื่อมช่วงกำแพงที่ขาดเข้าด้วยกันตามแบบเดิม









ตามแนวกำแพง ตั้งแต่ป้อมมหากาฬยังมีพื้นที่ชานกำแพงเหลืออยู่อย่างสมบูรณ์ (พื้นที่ชานกำแพง คือพื้นที่ยื่นล้ำจากกำแพงเมืองลงสู่แม่น้ำหรือลำคลองคูเมือง เป็นพื้นที่ให้เรือแพจอดเป็นท่าเรือ และผู้คนมาอาศัยปลูกเรือนที่อยู่อาศัยอยู่รายรอบตัวเมือง) เป็นพื้นที่ที่เคยเป็นท่าเรือ และมีบ้านเรือนของผู้คนอยู่เป็นชุมชนมาช้านาน โดยเฉพาะชุมชนนี้ยังมีบ้านเรือนแบบโบราณ มีทางเดินตรอกที่ติดต่อระหว่างกัน

บริเวณชานกำแพงเมืองที่เคยเป็นท่าเรือสำหรับขุนนางและเจ้านายที่เดินทางมาตามลำคลองเข้าเมืองและออกไปนอกเมือง เพราะเป็นบริเวณที่จะต่อไปยังที่อื่น เช่น ตามลำคลองมหานาค คลองแสนแสบ และคลองโอ่งอ่างไปยังชุมชนรอบเมืองอื่นๆ ชุมชนชานกำแพงเมืองป้อมมหากาฬนี้เป็นกลุ่มที่อยู่ต่อเนื่องกันมายาวนานมากกว่า 50 ปี โดยเข้ามาผสมผสานกับผู้คนที่อยู่มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ปลูกเรือนเก่าที่ยังหลงเหลืออยู่ในขณะนี้ มีวัดเทพธิดาราม และวัดราชนัดดาราม เป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อ รวมทั้งมีศาลเจ้าซึ่งสถิตอยู่ที่ป้อมมหากาฬเป็นที่กราบไหว้บูชาของคนในชุมชน

ชุมชนป้อมมหากาฬชานพระนคร ชุมชนขนาดย่อมที่อยู่หลังกำแพงป้อมมหากาฬกินพื้นที่ตั้งแต่หัวถนนมหาไชยไปจรดชายคลองหลอดวัดราชนัดดา มีเนื้อที่ 4 ไร่ 300 ตารางวา ชุมชนขนาดกระทัดรัดประมาณ 50 กว่าหลังคาเรือน เมื่อเดินผ่านเข้าไป ‘ประตู 4’ หรือตรอกพระยาเพชรปาณี ก็จะพบชุมชนขนาดย่อมที่กล่าวถึง ชุมชนป้อมมหากาฬซึ่งเป็นชุมชนแห่งสุดท้าย ท่ามกลางกระแสไล่รื้อถึงวันนี้ เป็นเวลานานกว่า 24 ปีแล้ว กับการยืนยันต่อสู้ของชาวบ้านต่อการ “ไล่รื้อ” จากกรุงเทพมหานคร









ชุมชนเก่าแก่ ลมหายใจที่ยังหลงเหลือ

บริเวณชุมชนแห่งนี้ถือเป็นย่าน ‘ชานพระนคร’ แหล่งชุมชนเก่าแก่ติดพระนครที่แทบไม่หลงเหลืออยู่แล้วในปัจจุบัน แต่เดิมมีการขุดคลองรอบกรุงเพื่อขยายพระนครให้กว้างออกไป และอำนวยความสะดวกในการคมนาคมทำให้เกิดมีการลงหลักปักฐานอยู่อาศัยกันเป็นชุมชนริมน้ำตามย่านต่างๆ จนกลายมาเป็นย่านชานพระนครที่กระจายอยู่ทั่วไปในเขตเมืองชั้นในของเกาะรัตนโกสินทร์

ป้อมมหากาฬแห่งนี้เคยเป็นท่าเรือสำคัญสำหรับชาวบ้าน ขุนนาง และเจ้านายที่เดินทางมาตามลำคลองเข้าและออกไปนอกเมือง เพราะเป็นบริเวณที่จะต่อไปยังที่อื่นตามคลองมหานาค คลองแสนแสบ และตามคลองโอ่งอ่างไปยังรอบเมืองอื่นๆ รวมทั้งเป็นที่อยู่อาศัยของข้าราชการ และชาวบ้านมาหลายยุคสมัย มีการปลูกสร้างอาคาร เป็นแนวยาวตลอดตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศจรดแนวคูคลองวัดเทพธิดารามในปัจจุบัน ต่อมาเรียกกันว่า ตรอกพระยาเพชรฯ เพราะเคยเป็นบ้านพักของพระยาเพชรปาณี (ตรี) ข้าราชการกระทรวงวังและเป็นชาวปี่พาทย์โขนละคร ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดลิเกทรงเครื่องนั่นเอง

นอกจากบ้านพักของพระยาเพชรปาณี บ้านของตำรวจวัง ที่นี่ยังเคยเป็นที่ผลิตเครื่องดนตรีไทย และกลองในสมัยรัชกาลที่ 6 อีกด้วย บ้านเรือนไทยดั้งเดิมของหมื่นศักดิ์แสนยากรที่มีหน้าจั่วแบบ ‘จั่วใบเรือ’ ‘จั่วลูกฟัก’ ฝาเป็นฝาลูกฟักตามแบบฉบับมาตรฐานของเรือนไทยเดิมของภาคกลาง

ด้วยความที่ชุมชนที่นี่มาจากหลายครอบครัวมีเครือญาติที่มีพื้นเพมาจากจังหวัดนครราชสีมา อ่างทอง รวมทั้งสงขลา ทำให้ลักษณะการประกอบอาชีพก็มีความหลากหลายแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นงานหัตถศิลป์ เช่น เครื่องปั้นดินเผา ปั้นเศียรพ่อแก่สำหรับไหว้ครู หรือแม้แต่การทำกรงนก ทั้งหมดล้วนเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมที่เคียงคู่มากับป้อมมหากาฬแห่งนี้ ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และรักษาไว้หากนานวันไปอาจจะเสื่อมสูญและสูญหายไปกับกาลเวลา






จั่วลูกฟัก


จั่วใบเรือ




ทำไมต้องถูกไล่รื้อ อะไรหรือคือสาเหตุ?

ตั้งแต่ พ.ศ.2535 กรุงเทพมหานครได้ออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ส่งผลให้ชุมชนป้อมมหากาฬจะต้องถูกไล่รื้อเพื่อนำพื้นที่ไปสร้างเป็นสวน สาธารณะ ตามแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ 1 ปี กรุงเทพมหานครตกลงจ่ายค่าสินไหมทดแทนในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ชาวบ้านที่มีที่ทางจึงยอมรับค่าเวนคืน ในปี 2538 กรุงเทพมหานครประกาศว่าจะนำรถมาไถทั้งชุมชน ทำให้ชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่งออกมายอมรับค่าเวนคืน ก่อนที่จะนำเงินจำนวนนั้นไปซื้อที่อยู่ในโครงการที่กรุงเทพมหานครจัดเตรียมไว้

เมื่อพื้นที่บริเวณดังกล่าวไม่ได้มีระบบสาธารณูปโภครองรับทั้งในการใช้ชีวิต และรายได้ ทำให้ชุมชนรวมตัวกันเจรจากับกรุงเทพมหานครเพื่อแก้ไขปัญหา นำไปสู่การขอคืนเงินและกลับไปอาศัยในพื้นที่เดิม จากนั้นมาที่นี่ก็กลายเป็นปมขัดแย้งที่เรื้อรังมากว่า 2 ทศวรรษ

ปี 2548 ชาวชุมชนได้มีการมีการจัดทำข้อเสนอพร้อมแบบการจัดผังชุมชน โดยวิธีปันที่ดิน จากทั้งหมด 4 ไร่ แบ่งการปลูกสร้างบ้านเรือน 1 ไร่ ส่วนที่เหลือใช้สร้างสวนสาธารณะ พร้อมทั้งการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย และกิจกรรมในการพัฒนาชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อยืนยันว่า (1) สวนสาธารณะ (2) โบราณสถาน และ (3) ชุมชน สามารถอยู่ร่วมกับโบราณสถานและคูคลองได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นยังมีการอนุรักษ์บ้านไม้โบราณเพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมของเมือง





ล่าสุดการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2559 ได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการรื้อย้ายชุมชนภายในป้อมมหากาฬขึ้นมาใหม่โดยเพิ่มเติมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เข้ามาด้วย เพื่อทำตามพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินที่ออกมาตั้งแต่ปี 2535

ไม่ว่าเรื่องราวมหากาพย์เรื่องนี้จะจบลงเช่นไร อยากให้หลายคนได้ตระหนักถึงคุณค่าของเมืองเก่ามิใช่มีแต่เพียงโบราณสถาน อิฐ หิน ปูน ทราย เท่านั้น หากจะมีความหมายมากไปกว่านั้น เพราะสถานที่แห่งนี้ยังเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิตอยู่ การได้รับรู้เรื่องราวผ่านผู้คนจากอดีตที่ผ่านมา ถึงรากเหง้าและความเป็นมาของเราที่ยังหลงเหลือให้เห็นได้อนุรักษ์ไว้ เฉกเช่นชุมชนป้อมมหากาฬชานพระนครซึ่งเป็นแห่งเดียวที่เหลืออยู่และสืบสานวิถีชีวิตดั้งเดิมมาแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ถึงแม้ชุมชนเก่าหลายแห่งที่ต้องจากไปกับการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง แต่ก็หวังว่าประวัติศาสตร์ชาติไทยเกี่ยวกับผู้คนที่ยังมีชีวิตเหล่านั้นจะไม่ถูกกลบเลือนและหลงลืมไปด้วย











ooo

มหากาฬโมเดล เอาจริง รื้อจริง ไล่จริง งานนี้ “ชายหมู” ไม่ดรามา!





ชุมชนบ้านไม้โบราณป้อมมหากาฬ ชุมชนเก่าแก่ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระราชทานที่ดินหลังกำแพงป้อมมหากาฬให้แก่วัดและให้ข้าราชบริพารสร้างบ้านเรือนอยู่

ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -บัดนี้มีความชัดเจนแล้วว่า “กรุงเทพมหานคร” ภายใต้การกุมบังเหียนของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่มีชื่อว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร หรือ “คุณชายหมู” จะเดินหน้าเร่งไล่รื้อชุมชนเก่าแก่ชานกำแพงพระนครแห่งสุดท้าย “ชุมชนป้อมมหากาฬ” อย่างไม่ลดราวาศอก

การไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ ก่อตัวเป็นปัญหาเรื้อรังมานานกว่า 24 ปี สืบเนื่องจากแผนแม่บทสร้างสวนสาธารณะของ กทม. เมื่อหลายสิบปีก่อน จึงมีการบังคับผู้อยู่อาศัยเก่าแก่ให้ย้ายออกตามพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน พ.ศ. 2535เป็นเหตุให้ชาวบ้านส่วนหนึ่งยอมจำนนและย้ายออก แต่อีกส่วนยังคงอยู่อาศัยต่อ เพราะประสบความไม่ชอบธรรมเรื่องการจัดการของ กทม. รวมทั้ง ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ต่อสู้กันเรื่อยมา

ทั้งๆ ที่ ชุมชนป้อมมหากาฬ ถือเป็นชุมชนเก่าแก่ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระราชทานที่ดินหลังกำแพงป้อมมหากาฬให้แก่วัดและให้ข้าราชบริพารสร้างบ้านเรือนอยู่ ผู้อาศัยปัจจุบันจึงไม่ใช่ผู้บุกรุก

ความคืบหน้าล่าสุด คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีมติร่วมกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกรณีชุมชนป้อมมหากาฬ ที่มีตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ ทั้งภาควิชาการ ภาคกฎหมาย ภาคประชาสังคม เพื่อร่วมกันศึกษาพัฒนาและเสนอแนวทางต่อกรุงเทพมหานคร โดยจะเร่งดำเนินการแจ้งหนังสือถึง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์เพื่อขอให้หยุดการไล่รื้อชุมชนออกไปก่อน พร้อมทั้งเสนอข้อกฎหมายเพื่อให้ชุมชนอยู่ต่อไปได้

โดยที่ประชุมเห็นพ้องว่า พ.ร.ฎ. เวนคืน พ.ศ. 2535 เป็นประเด็นสำคัญที่จำเป็นต้องมีการศึกษาและปรับปรุงแก้ไข โดย อภิชาต พงษ์สวัสดิ์ จากสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย อธิบายว่า กฎหมายสามารถเปลี่ยนแปลงได้หากมีเหตุผลทางวิชาการรองรับ กลายๆ ว่า สถานการณ์ไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬอาจยุติและปรับแผนพัฒนา

“ยืนยันว่า พ.ร.ฎ. เวนคืนนั้น โดยหลักการสามารถแก้ไขวัตถุประสงค์ได้ อยู่ที่ว่าจะมีความจริงใจที่จะแก้หรือไม่ โดยมีแนวทางแก้หลายแนวทาง หนึ่งคือ แก้วัตถุประสงค์ให้ใช้พื้นที่เป็นสวนสาธารณะในรูปแบบพิพิธภัณฑ์บ้านไม้โบราณและรักษาโบราณสถาน สอง คือ แก้ทั้งฉบับ แต่กทม. อาจต้องลงงบประมาณใหม่อีกครั้ง เพราะต้องจ่ายค่าชดเชยใหม่ในราคาที่ดินในวันประกาศใช้ พรฎ. ส่วนตัวยินดีเป็นคณะทำงานด้านกฎหมายว่าจะแก้ไข พ.ร.ฎ.ดังกล่าวอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่ กทม. ติดขัดมาตลอด”







ทว่า ท่าทีของ กทม. ให้หลังเพียงไม่กี่วันรีบขนขบวนนำป้ายมาปิดประกาศทั่วพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬ ขอให้ชาวบ้านย้ายออกไปตามเส้นตายเดิมที่ขีดไว้วันที่ 3 กันยายน 2559 นำโดย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) อ้างว่า กทม.จะต้องดำเนินการตามคำสั่งศาล และตามกฎหมายที่สั่งการตลอดจนความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่กำหนดให้ กทม.ปรับปรุงภูมิทัศน์ป้อมมหากาฬให้เป็นพื้นที่สาธารณะ

และ ศักดิ์ชัย บุญมา ผู้อำนวยการกองจัดกรรมสิทธิ์ สำนักการโยธา กทม. ย้ำเจตนารมณ์ของ กทม. ว่าการรื้อถอนเป็นไปตามหน้าที่ ตั้งเป้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้ง 56 หลัง ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ อ้างอิงหนังสือที่ กท 0908/1733 ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2559 เรื่องขอความร่วมมือในการรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่เวนคืนบริเวณป้อมมหากาฬ เนื่องจาก กทม. มีความจำเป็นต้องเข้าใช้พื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกฎหมายที่สั่งการ และตามนโยบายของรัฐบาลในการปรับปรุงพื้นที่ เพื่อจัดสวนสาธารณะเพื่อให้ประชาชนพักผ่อนหย่อนใจพร้อมทั้งอนุรักษ์โบราณสถานของชาติสำหรับการเรียนรู้หาประวัติศาสตร์ และใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อนันทนาการประกอบกิจกรรมการละเล่นทางวัฒนธรรม และเป็นแหล่งท่องเที่ยวของกรุงรัตนโกสินทร์

ส่วนแนวทางการพัฒนาพื้นที่ของ กทม. ถูกโจมตีว่าเป็นการรังแกประชาชนตาดำๆ ที่ปักหลักอยู่ในพื้นที่ชุมชนเก่าแก่บริเวณป้อมมหากาฬกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ หลายฝ่ายมีความคิดเห็นสอดคล้องกันว่าชุมชนแห่งนี้มีคุณค่าและคู่ควรแก่การอนุรักษ์ เช่นเดียวกับ ชุมชุมเก่าแก่ในต่างประเทศที่ได้รับการพัฒนาส่งเสริมให้ผู้คนอยู่ร่วมกับโบราณสถานได้

ชุมชนป้อมมหากาฬ ถือเป็นชุมชนบ้านไม้โบราณเก่าแก่มีอัตลักษณ์โดดเด่นทางสถาปัตยกรรม สะท้อนการอยู่อาศัยแบบดั้งเดิมในเมือหลวง แม้กาลเปลี่ยนผ่านแต่วิถีความเป็นอยู่ยังไม่แปรสภาพไปตามยุคสมัย มีการอนุรักษ์อาชีพดั้งเดิม เป็นแหล่งประวัติศาสตร์แหล่งความรู้ทางโบราณคดี

โดยที่ผ่านมามีหลายฝ่ายยื่นมือให้ความช่วยเหลือในการเรียกร้องให้ทบทวนและยุติแผนการไล่รื้อ เพราะเล็งเห็นตรงกันว่าชุมชนป้อมมหากาฬ เป็นชุมชนเก่าแก่มีประวัติศาสตร์ยาวนานควรค่าแก่การอนุรักษ์ ที่สำคัญมีศักยภาพในตนเอง จึงเกิดการต่อสู้ขับเคลื่อนพลังของภาคประชาชนและให้กำเนิด 'Mahakan Model (มหากาฬโมเดล)' รวมทั้งร่วมสร้างพื้นที่สาธารณะ ‘พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต' บ้านไม้โบราณป้อมมหากาฬ ตั้งปราการต้านการไล่รื้อที่ของ กทม. เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับพื้นที่สาธารณะและโบราณสถานได้

มหากาฬโมเดล พยายามนำเสนอทางออกสำหรับทุกฝ่ายเพื่อเปลี่ยนแปลงเมืองอย่างเป็นมิตร มากกว่าการไล่รื้อผู้อยู่อาศัยเก่าแก่และปรับภูมิทัศน์อย่างไรอารยะ ภัททกร ธนสารอักษร สถาปนิกหนุ่ม ผู้ขับเคลื่อน มหากาฬโมเดล กล่าวในงานเปิด พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต บ้านไม้โบราณป้อมมหากาฬ ว่า แนวคิดมหากาฬโมเดลพัฒนามากจากโครงการวิจัยเพื่อจัดทำแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนบ้านไม้โบราณ ป้อมมหากาฬ ของสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแก่ชุมชน ด้วยการพัฒนาคนในชุมชนและพื้นที่ สร้างสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แห่งใหม่ที่ชุมชนมีส่วนร่วม

“ผมอยากให้ที่นี่เป็นที่ที่เป็นอยู่ แต่เป็นอย่างถูกต้องและถูกพัฒนาอย่างดี ผมจึงมองว่าจะทำอย่างไรให้ชุมชนแถวนี้เข้มแข็งก่อน เราจึงจะสามารถอนุรักษ์เมืองที่ควรจะเป็นได้อย่างในอนาคต...



ย่านฮิกาชิยาม่า เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น



หูท่ง ปักกิ่ง ประเทศจีน

“....กรณีป้อมมหากาฬเป็นเรื่องของความสิ้นหวังที่นำมาสู่ทางตันของการพัฒนา เอาง่ายๆ อย่างเรื่องการแก้กฎหมาย เขาเห็นว่ากฎหมายแก้ไม่ได้ แต่มันไม่ใช่เลย แผนที่สร้างปัญหาเป็นกฎหมายระดับกฤษฎีกา ซึ่งต่ำกว่าพระราชบัญญัติจึงต้องแก้ได้ ก็เป็นที่ถกเถียงมาถึง 24 ปี กับกฎหมายกฤษฎีกาฉบับนี้ที่มีคำสั่งไล่รื้อพื้นที่และคนในชุมชนเพื่อทำสวนสาธารณะตั้งแต่ปี 2535 แม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาจะมีความหวังในปี 2548 ที่ อภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าฯ ในขณะนั้น มีการลงนาม 3 ฝ่ายที่จะมีการพัฒนาแผนให้ป้อมมหากาฬเป็นชุมชนตัวอย่าง ที่จะเป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยว สวนสาธารณะ และชุมชนอาศัยอยู่ร่วมกันได้ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต แต่ก็เงียบหายไปไม่มีการดำเนินการต่อ และเจ้าหน้าที่รัฐสมัยต่อมาก็ตอบเพียงว่าไม่สามารถทำได้เพราะขัดกับกฎหมายกฤษฎีกา ปี 2535”

ข้อเท็จจริงทั้งในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติชุมชนสามารถอยู่รวมกับสวนสาธารณะได้โดยไม่ต้องรื้อถอน ชาตรี ประกิตนนทการ หัวหน้างานวิจัยบ้านไม้โบราณชุมชนป้อมมหากาฬ อธิบายว่า เริ่มต้นให้คนในชุมชนทำหน้าที่ดูแลพื้นที่สวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์เสมือนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐแต่ไม่รับเงิน แต่ก็มีข้อโต้แย้งว่าสุดท้ายชุมชนจะพ่ายการท่องเที่ยวที่มาพร้อมทุนนิยม

“เวลาเราตามเรื่องนี้เราจะเจอคำพูดที่พูดมาตลอดว่า สวนสาธารณะกับชุมชนอยู่ร่วมกันไม่ได้ ถ้ามีสวน สาธารณะ 100 เปอร์เซ็นต์ ชุมชนก็จะทำให้สวนสาธารณะเล็กลง ถ้ามีชุมชน 100 เปอร์เซ็นต์ สวนสาธารณะก็ไม่มีทางอยู่ได้ หรือความคิดที่ว่าโบราณสถานไม่ควรจะมีคน ต้องเอาคนออกจากโบราณสถาน ซึ่งแนวคิดเรื่อง Public Space ที่ห้ามคนอาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะ เป็นความคิดที่โบราณมาก”

ฉะนั้น อย่ามัวรีรอเพราะในต่างประเทศมีตัวอย่างชุมชนเก่าแก่ที่อยู่ร่วมกับโบราณสถานมากมาย อาทิ

ย่านฮิกาชิยามา เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เมืองโบราณอายุ 1,222 ปี จากแนวคิดฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเริ่มพัฒนาเมืองเก่าให้ความสำคัญด้านประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมผ่านการวางผังเมืองใหม่ รวมทั้งปรับภูมิทัศน์ตึกสูงที่บดบังความสวยงามย่านเมืองเก่า โดยความร่วมมือจากองค์กรอนุรักษ์ต่างๆ ปรับปรุงสถาปัตยกรรมโบราณ รวมทั้งรองรับการขยายเมือง และปรับเปลี่ยนอาคารอนุรักษ์บางแห่งเป็นที่พักนักท่องเที่ยว สถานที่จัดแสดงงานศิลปะดั้งเดิม สัมผัสบรรยากาศเก่าๆ



หมู่บ้านบุกชอนฮันอก โซล ประเทศเกาหลีใต้


หูท่ง ปักกิ่ง ประเทศจีน เมืองประวัติศาสตร์อายุ 745 ปี ย้อนไปกลับไปช่วง โอลิมปิกปี 2551 พื้นที่รายรอบพระราชวังต้องห้าม ถูกปรับเปลี่ยนเป็นหมู่บ้านและอาคารพาณิชย์รองรับการพัฒนาตามนโยบายของรัฐ ส่งผลให้ประชากรกว่า 580,000 คน ต้องย้ายออกเพื่อหาที่อยู่ใหม่ ซึ่งรัฐบาลจีนจึงตัดสินใจรักษาพื้นที่ชุมชนหูท่ง เป็นย่านวัฒนธรรมแสดงวิถีชีวิตของคนปักกิ่งสมัยโบราณ เปิดสอนทำอาหาร งานฝีมือ ฯลฯ

หมู่บ้านบุกชอนฮันอก โซล ประเทศเกาหลีใต้ ย่านเก่าแก่ที่อยู่อาศัยบรรดาขุนนาง อายุ 624 ปี จากประวัติศาสตร์หลังคาบสมุทรเกาหลีถูกญี่ปุ่นยึดครอง เกิดการเปลี่ยนแปลงของบ้านและสถาปัตยกรรมเก่าแก่ รวมทั้งการขยายตัวของเมืองในเวลาต่อมา ส่งผลให้อาคารเก่าย่านนี้หายไปจำนวนมาก รัฐบาลเกาหลีใต้จับมือกับคนในพื้นที่และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งนโยบายอนุรักษ์เมืองเก่า ปรับปรุงบ้านเรือนฟื้นฟูสถาปัตยกรรมเก่าแก่อันเป็นมรดกของชาติ โดยที่พลเมืองสามารถอาศัยอยู่ได้ และรองรับนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเรียนรู้วัฒนธรรมของเกาหลีใต้

ขณะที่รัฐบาลต่างชาติ ตระหนักถึงการพัฒนาชุมชนโบราณโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ชุมชนเก่าแก่ของเมืองไทยกลับถูกการพัฒนากลืนหาย สำหรับ 'ชุมชนป้อมมหากาฬ' ใกล้เส้นตายการไล่รื้อที่เข้ามาทุกๆ งานนี้คงได้พิสูจน์ใจรัฐบาลว่าจะยอมให้ 'มหากาฬโมเดล' ที่ภาคประชาชนทุ่มกันสุดตัวเดินหน้าต่อไปหรือไม่? ครั้นจะหวังพึ่ง ชายหมู ท่านก็ชัดเจนแล้วว่าเดินหน้าเต็มกำลังอย่างไรก็ไล่รื้อกันตามระเบียบ!

ขอบคุณข้อมูล FB@Mahakan MODEL

จาก http://astv.mobi/A9UVECS