วันพฤหัสบดี, กันยายน 29, 2559

วิธี 'ฟัน' ยิ่งลักษณ์จำนำข้าวด้วย ม.๔๔ ทำไมไม่รอผลคดีอาญาก่อน: ชำนาญ จันทร์เรืองอธิบาย

เข้าใจ ม. 44 กรณีจำนำข้าวอย่างง่ายๆ
ชำนาญ จันทร์เรือง

จากการที่ หน.คสช.ได้มีคำสั่งที่ 39/58 ลงวันที่ 30 ต.ค. 58 ที่ออกมาคุ้มครองการบริหารจัดการข้าวคงเหลือฯ และล่าสุดคำสั่งที่ 56/59 ลงวันที่ 13 ก.ย. 59 ที่ออกมาคุ้มครองการบริหารจัดการผลิตผลทางการเกษตรในการดูแลของรัฐและการดำเนินการต่อผู้รับผิด โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปี 57

ซึ่งในคำสั่งหลังนี้มีใจความโดยสรุปในส่วนที่เกี่ยวกับการจำนำข้าว คือ ให้กรมบังคับคดีบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งทางปกครองของหน่วยงานของรัฐแทนกระทรวงที่ได้รับความเสียหาย และให้ผู้ที่ทำหน้าที่ดำเนินการต่อผู้ที่ต้องรับผิดในโครงการจำนำข้าวได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง อาญาหรือวินัย

จึงเกิดคำถามและข้อถกเถียงตามมาอย่างกว้างขวาง ผมจึงขอทำความเข้าใจโดยพยายามยกตัวบทให้น้อยที่สุดและเขียนให้กระชับที่สุด เพื่อให้เข้าใจง่ายและเหตุแห่งข้อจำกัดในเนื้อที่ของบทความที่จะตีพิมพ์ ดังนี้

1)   ทำไมถึงให้กรมบังคับคดีเป็นผู้ดำเนินการ

เนื่องเพราะปกติแล้วหน่วยงานที่ออกคำสั่งใช้มาตรการบังคับทางปกครองจะต้องเป็นผู้ดำเนินการเอง แต่หน่วยงานทั้งหลายไม่มีความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ในกรณีที่มีทุนทรัพย์จำนวนมากเช่นนี้

ครั้นจะให้กรมบังคับคดีเข้ามาทำแทนก็ไม่มีกฎหมายรองรับ เพราะตามกฎหมายแล้วกรมบังคับคดีมีอำนาจหน้าที่บังคับคดีตามคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลยุติธรรมเท่านั้น

ส่วนการบังคับคดีตามคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลปกครองนั้นมีหน่วยงานเฉพาะคือ สำนักบังคับคดีปกครองเป็นของตนเองไม่ใช้บริการของกรมบังคับคดีแต่อย่างใด

ที่สำคัญคือการใช้มาตรการบังคับทางปกครองของหน่วยงานต่างๆ นั้น เป็นการบังคับที่ยังไม่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแต่อย่างใด ฉะนั้น คสช.จึงต้องใช้ ม.44 ออกคำสั่งให้กรมบังคับคดีมีอำนาจหน้าที่นี้เพิ่มขึ้นมา

อย่างไรก็ตามกรมบังคับคดีจะใช้อำนาจยึดอายัดทรัพย์สินตามคำสั่งทางปกครองนี้ได้ ก็ต่อเมื่อ  ผู้ฟ้องคดี (ผุ้ถูกคำสั่งให้ชดใช้เงิน) ไม่ยื่นคำขอทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครองที่ให้ชดใช้เงินนี้ต่อศาลปกครอง หรือยื่นคำขอแล้วแต่ศาลปกครองยกคำขอ

ในกรณีตรงกันข้ามหากศาลปกครองมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับฯ ผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งทุเลานี้ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ผู้นั้นได้รับแจ้งหรือทราบคำสั่ง  และหากศาลปกครองสูงสุดยกคำอุทธรณ์นั้น ก็ต้องรอให้คดีถึงที่สุดว่าผลคดีจะออกมาเป็นอย่างไร

2)   ทำไมไม่ฟ้องศาลเรียกค่าเสียหาย รัฐมนตรีมาออกคำสั่งทางปกครองเองทำไม และทำไมไม่รอผลคดีอาญาก่อน

การนำคดีไปศาลปกครองเพื่อให้ศาลมีมาตรการบังคับทางปกครองซึ่งกรณีนี้คือการออกคำสั่งทางปกครองให้ใช้เงินตามมาตร 57 ของพรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 นั้น

กำหนดให้เจ้าหน้าที่อาจใช้มาตรการบังคับทางปกครอง โดยการยึดอายัดทรัพย์สินของผู้นั้นเพื่อขายทอดตลาดเพื่อชำระเงินให้ครบถ้วน ซึ่งก็หมายความว่าเจ้าหน้าที่ต้องใช้มาตรการบังคับทางปกครองก่อน ถ้าไม่สามารถทำได้ด้วยเหตุจำเป็นใดๆ ก็ตาม จึงจะสามารถนำคดีไปฟ้องศาลปกครองได้

ซึ่งหากนำไปฟ้องศาลปกครองโดยยังไม่ได้ดำเนินการบังคับเองเสียก่อน ศาลก็จะสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา

อนึ่ง การดำเนินการทางปกครองนั้นไม่ต้องรอผลทางคดีอาญาแต่อย่างใด ที่สำคัญตามมาตรา 10 วรรคสองของ พรบ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 กำหนดให้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ มีอายุความเพียง 2 ปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวเจ้าหน้าที่เท่านั้น

3)   ทำไมเรียกค่าเสียหายไม่เท่ากัน

ตามมาตรา 8 ของ พรบ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 วรรคสี่ กำหนดว่า ในกรณีที่การละเมิดเกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่หลายคน มิให้นำหลักเรื่องลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับ และเจ้าหน้าที่แต่ละคนต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะส่วนของตนเท่านั้น ส่วนจะเป็นธรรมหรือไม่ก็คงเป็นเรื่องที่ต้องไปฟ้องโต้แย้งคำสั่งต่อศาลปกครองน่ะครับ

4)    ต้องอุทธรณ์ก่อนนำคดีไปศาลปกครองหรือไม่

ตามมาตรา 44 ของ พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ กำหนดไว้ว่า ภายใต้บังคับมาตรา 48 (คำสั่งของคณะกรรมการฯ) ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองใดไม่ได้ออกโดยรัฐมนตรีและไม่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองไว้เป็นการเฉพาะ ให้คู่กรณีอุทธรณ์ต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งนั้น ฯลฯ

ซึ่งก็หมายความว่าคำสั่งทางปกครองที่ออกโดยรัฐมนตรีนั้นไม่ต้องอุทธรณ์ก่อนนำคดีไปสู่ศาลปกครอง เพราะรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของฝ่ายปกครอง (กระทรวง ทบวง กรมฯ) นั้นๆแล้ว และไม่มีผู้บังคับบัญชาที่สูงกว่านั้นที่จะพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ได้อีก ส่วนนายกรัฐมนตรีก็คือรัฐมนตรีคนหนึ่งแต่มีฐานะเป็นหัวหน้ารัฐบาลเท่านั้นเอง (primus inter pares หรือ first among equals )

5)   ม.44 คุ้มครองเจ้าหน้าที่โดยไม่ต้องรับผิดเลยหรือไม่

คุ้มครองเฉพาะที่ดำเนินการโดยสุจริตเท่านั้น หากดำเนินการโดยไม่สุจริตไม่สามารถคุ้มครองได้

6)   ฟ้องกลับได้หรือไม่

ได้อยู่แล้ว หากเห็นว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือหากศาลปกครองมีคำพิพากษาให้ผู้ที่ถูกเรียกค่าเสียหายชนะคดี

โดยอาจจะฟ้องเป็นคดีปกครองข้อหาละเมิดเรียกค่าเสียหายจากการใช้อำนาจหน้าที่ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) ของ พรบ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีศาลปกครอง พ.ศ. 2542 ต่อศาลปกครอง (ม.44 คุ้มครองเฉพาะคดีแพ่ง อาญาและวินัย แต่ไม่คุ้มครองคดีปกครอง)

หรืออาจจะฟ้องต่อศาลยุติธรรมตามมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญาหากเห็นว่าตนเองถูกจงใจกลั่นแกล้งโดยทุจริต (ม.44 คุ้มครองเฉพาะกรณีสุจริต แต่ไม่คุ้มครองกรณีทุจริต)

7)   มอบอำนาจให้ผู้อื่นเซ็นแทนแล้วเจ้าตัวต้องรับผิดชอบหรือไม่

ในหลักการมอบอำนาจให้เซ็นแทนหรือปฏิบัติราชการแทนนั้น อำนาจในการสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการหรือดำเนินการอื่นที่ผู้ดำรงตำแหน่งใดจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือคำสั่งใด หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นมิได้กำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่น หรือมิได้ห้ามเรื่องการมอบอำนาจไว้

ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นอาจมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นปฏิบัติราชการแทนได้โดยทำเป็นหนังสือ และเมื่อได้รับมอบอำนาจแล้ว ผู้มอบอำนาจมีหน้าที่กำกับติดตามผลการปฏิบัติราชการของผู้รับมอบอำนาจ และให้มีอำนาจแนะนำและแก้ไขการปฏิบัติราชการของผู้รับมอบอำนาจได้

ซึ่งก็แสดงว่าผู้มอบอำนาจก็ยังไม่พ้นความรับผิดชอบอยู่ดีนั่นเอง ดีไม่ดีอาจจะถูกข้อหาละเลยหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้ หากเกิดความเสียหายขึ้น

คิดว่าคงสร้างความกระจ่างขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ อาจจะมีผู้ที่เห็นต่างบ้างซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา เพราะความเห็นทางกฎหมายนั้นเห็นต่างกันได้ สุดท้ายก็ต้องไปจบที่องค์กรที่มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดคือองค์กรตุลาการนั่นเอง

--------------
หมายเหตุ  เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 28 กันยายน 2559