วันพฤหัสบดี, กันยายน 08, 2559

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : 7 สิงหา ไม่ใช่ความพ่ายแพ้ของประชาธิปไตย : ความรู้และการเมืองแบบหลังอาณานิคม (15)





โดย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 กันยายน 2559
วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ.2559


ผลการออกเสียงร่างรัฐธรรมนูญวันที่ 7 สิงหาคม ทำให้เกิดปฏิกิริยาในหมู่ปัญญาชนและผู้มีบทบาททางการเมืองจากหลายฝ่ายอย่างกว้างขวาง

ความพ่ายแพ้ของฝ่าย “ไม่รับ” ส่งผลให้ฝ่ายรับสร้างกระแสต่อไปว่าประชาชนต้องการให้คนนอกเป็นนายกฯ, วุฒิสภาเสนอชื่อนายกฯ ได้, หยุดการเลือกตั้งไปเลย, คนนอกที่เป็นนายกฯ ได้คือ พลเอกประยุทธ์ คนเดียว ฯลฯ

ล่าสุด คุณไพบูลย์ นิติตะวัน ถึงขั้นบอกว่าอย่าโวยวายที่วุฒิสมาชิกจากการแต่งตั้งจะเสนอชื่อนายกฯ เพราะวุฒิสมาชิกของไทยก็เหมือนกับคณะตัวแทนผู้ลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีของอเมริกา (Delegates) และ Delegates ไม่เคยประกาศล่วงหน้าว่าจะเลือกใครเป็นประธานาธิบดีฉันใด วุฒิสมาชิกไทยก็ไม่ต้องประกาศให้รู้ล่วงหน้าว่าจะหนุนใครเป็นนายกฯ ฉันนั้น

อย่างไรก็ดี คุณไพบูลย์ลืมพูดให้ครบว่าคณะ Delegates ของอเมริกามาจากการเลือกตั้ง แต่วุฒิสภาของไทยมาจากการแต่งตั้งที่ คสช. มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดเวลา

ขณะที่ฝ่ายรับตีความผลลงคะแนนเอื้อประโยชน์การเมืองของตัวเอง ผู้พ่ายแพ้อย่างฝ่ายไม่รับก็ตีความเรื่องนี้ไปในทางทำร้ายตัวเองอย่างถึงที่สุด

การตีความแบบนี้มีหลากหลายตั้งแต่อุดมการณ์ประชาธิปไตยแพ้แล้ว, คนไทยไม่สนใจหลักการ, สังคมไทยตรรกวิบัติ ฯลฯ รวมทั้งแดกดันถึงขั้นใช้คำว่าปล่อยให้ “พวกมัน” รับกรรมจากรัฐธรรมนูญที่โหวตรับกันไป

จริงอยู่ ความพ่ายแพ้ในการรณรงค์ทุกกรณีล้วนน่าเสียใจ แต่ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ทำใจยากตรงที่ฝ่ายรณรงค์ “ไม่รับ” เชื่อว่าตัวเองพูดเพื่อเสียงส่วนใหญ่ ซ้ำการเชิญชวนให้สาธารณะ “ไม่รับ” ก็ยังทำไปในนามการปกป้องการปกครองของคนส่วนใหญ่ด้วย

สำหรับคนที่คิดแบบนี้ ไม่มีจะมีอะไรเลวร้ายไปกว่าความเชื่อว่าตัวเองพูดใหญ่แต่กลับถูก “คนส่วนใหญ่” หมางเมินระดับผลโหวตรับมากกว่าโหวตไม่รับแบบถล่มทลาย

อันที่จริง ฝ่ายรับและฝ่ายรณรงค์ไม่รับ ไม่เพียงแต่มีปฏิกิริยาต่อผลการออกเสียงแตกต่างกัน แต่ทั้งสองกลุ่มมีบทบาทหลังการออกเสียงตรงข้ามกันด้วย

กล่าวคือ ฝ่ายรับตีความผลการออกเสียงเพื่อผลักดันประเด็นการเมืองของตัวเองตามอำเภอใจ

ส่วนฝ่ายรณรงค์ไม่รับสาบสูญไปจากการถกเถียงเรื่องการเมืองในช่วงหลังผลการออกเสียงแทบทั้งหมด

หลังวันที่ 7 สิงหาคม กลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์ “ไม่รับ” จำกัดการแสดงความเห็นที่เกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญไปเฉยๆ ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ, ขบวนการประชาธิปไตยใหม่, องค์กรพัฒนาเอกชน ฯลฯ

จนกล่าวได้ว่านอกจากพรรคการเมืองและภาคประชาสังคมชายแดนใต้ที่ยังแสดงออกอย่างต่อเนื่อง การกำหนดวาระทางการเมืองก็อยู่ในมือของฝ่ายโหวตรับเกือบสมบูรณ์

สรุปสั้นๆ ผลโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญทำให้คนหลายกลุ่มทั้งฝ่าย “รับ” และฝ่าย “ไม่รับ” ตีความว่าสังคมโหวตรับการล้มล้างหลักประชาธิปไตยและยอมให้ทำอะไรก็ได้ที่ปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ตัวอย่างเช่น การผลักดันให้คำถามพ่วงเรื่องวุฒิสมาชิกมีสิทธิลงมติเสนอชื่อนายกฯ (Vote) กลายเป็นให้วุฒิสมาชิกมีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ (Nominate) และร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจ

แม้จะเป็นเรื่องเข้าใจได้ที่ฝ่ายรับตีความผลการออกเสียงแบบนี้ แต่การตีความนี้อันตรายเพราะทำให้ผู้ต่อต้านประชาธิปไตยมองว่าตัวเองได้รับความนิยมจากประชาชน ผลก็คือการใช้อำนาจแบบคุกคามไล่ล่าคนเห็นต่างมีโอกาสจะเข้มข้นขึ้น เช่นเดียวกับการเมืองหลังวันออกเสียงที่เสี่ยงต่อการเป็นการเมืองที่ถอยห่างประชาธิปไตย

อย่างไรก็ดี ความพ่ายแพ้ของฝ่ายรณรงค์ “ไม่รับ” ไม่ใช่ความพ่ายแพ้ของประชาธิปไตย และยิ่งเหลวไหลหากจะตีความผลไม่รับว่าเป็นสัญญาณของการรับรองกระบวนการเดินหน้าสู่ความไม่เป็นประชาธิปไตยยิ่งกว่าที่ผ่านมา

เพื่อจะออกจากภาวะซึมเศร้ารวมหมู่ที่พบว่าตัวเองไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่อย่างที่เชื่อมั่นโดยตลอด ขั้นตอนแรกที่ฝ่ายรณรงค์ “ไม่รับ” ต้องก้าวไปให้ถึงคือความเข้าใจว่าผลการออกเสียง 7 สิงหาคม เกิดจากแนวรณรงค์ที่มีข้อจำกัดในตัวเองสองเรื่อง เรื่องแรก คือการลดทอนให้ประชาธิปไตยมีแต่มิติอุดมการณ์ ถัดไปคือการพิจารณาความเป็นประชาธิปไตยเฉพาะในแง่สถาบันการเมือง

พูดให้ตรงขึ้นไปอีก ผลการออกเสียง 7 สิงหาคม สะท้อนข้อจำกัดของการตอกย้ำความหมายของประชาธิปไตยตามแบบที่แพร่หลายในหมู่ปัญญาชน

แน่นอนว่าประชาธิปไตยในแง่อุดมการณ์หมายถึงการปกครองโดยประชาชน แต่ความหมายของคำว่า “ประชาชน” นั้นไม่เคยเข้าใจตรงกันทั้งสังคม พูดอีกแบบคือคำว่า “ประชาชน”, “เสียงส่วนใหญ่” หรือ “ประชาธิปไตย” ไม่ใช่ศีลธรรมที่จะทำให้คนมีปฏิกิริยาเด้งรับคล้ายกันทุกกรณี

Giovanni Sartori นักรัฐศาสตร์ด้านการเมืองเปรียบเทียบคนสำคัญเคยเสนอใน The Theory of Democracy ว่าคำว่า “ประชาชน” ถูกให้ความหมายต่างกันอย่างน้อยหกแบบ

หมายถึงปัจเจกบุคคลทุกคนก็ได้

หมายถึงคนจำนวนมากที่รวมตัวกันก็ได้

หมายถึงชนชั้นล่างก็ได้

หมายถึง “ส่วนรวม” ที่เป็นเนื้อเดียวจนแบ่งแยกไม่ได้ก็ได้

เช่นเดียวกับหมายถึงเสียงส่วนใหญ่ที่แท้จริง (Absolute Majority) หรือเสียงส่วนใหญ่ตามบรรทัดฐานแต่ละกรณี (Limited Majority)

เมื่อเป็นเช่นนี้ คำว่า “ประชาชน” จึงอาจมีผลให้คนออกเสียงร่างรัฐธรรมนูญได้ทั้งเหมือนหรือต่างกับที่ผู้รณรงค์ “ไม่รับ” ต้องการ สุดแท้แต่ผู้ฟังจะคิดถึงคำนี้ในความหมายอะไร ตัวอย่างเช่น คนจำนวนหนึ่งอาจนิยมประชาธิปไตย แต่รู้สึกติดลบกับประชาชนในความหมายของปัจเจกบุคคลสุดขั้ว เช่นเดียวกับคนชั้นสูงอาจศรัทธาแรงกล้าต่อ “ประชาชน” แต่รังเกียจการมีส่วนร่วมของคนจนในความหมายที่แท้จริง

สำหรับคนที่คิดแบบนี้ ลำพังคำว่า “ประชาชน” อาจไม่มีน้ำหนักให้ไปโหวต “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญมีชัย เพราะภาพที่เขาเห็นจากการไม่รับอาจเป็นเรื่องความขัดแย้ง ความวุ่นวาย การชุมนุม ฯลฯ ซึ่งแตกต่างจากประชาชนในอุดมคติที่พวกเขาต้องการ

มองในแง่อุดมการณ์ คนแบบนี้ถือว่าไม่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย แต่ถ้ามองในแง่การรณรงค์เพื่อให้ประชาชน “ไม่รับ” หนึ่งเสียงที่หายไปก็คือหนึ่งเสียงที่ทำให้ฝ่ายรับมีโอกาสมากขึ้นไปอีกทวีคูณ

ลองคิดดูง่ายๆ ว่าเสียงของฝ่าย “ไม่รับ” จะสูงขึ้นแค่ไหน หากฝ่ายไม่รับสามารถอธิบายให้สังคมเห็นภาพได้ชัดเจนว่าการ “ไม่รับ” จะทำให้สังคมเดินหน้าและได้ประโยชน์กับทุกคนอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าการพูดลอยๆ เรื่องประชาธิปไตย

นอกจากความพ่ายแพ้ในการรณรงค์ “ไม่รับ” จะเกิดจากการนิยามประชาธิปไตยแค่เชิงอุดมการณ์ ความพ่ายแพ้ยังเกิดจากการสื่อสารประเด็นประชาธิปไตย แต่ในแง่สถาบันการเมืองด้วย ผลก็คือกรอบการสื่อสารว่าไม่ควรรับร่างมีชัยมีขอบเขตเรียวแคบแค่ประเด็นประเภทสถาบันเลือกตั้งคุมฝ่ายแต่งตั้งได้แค่ไหน, อะไรคืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ฯลฯ

ความเข้าใจแบบนี้ไม่ผิด แต่การรณรงค์ “ไม่รับ” จำเป็นต้องมีคำอธิบายที่เชิญชวนคะแนนเสียงจากคนในสังคมได้มากกว่าแนวทางพูดเรื่องประชาธิปไตยแบบนักกฎหมายมหาชน

ในงานเขียนของศาสตราจารย์ด้านทฤษฎีการเมืองที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงในไทย Jack Lively ชี้ว่าประชาธิปไตยมีความหมายหลายอย่าง ส่วนคำว่า “การปกครองโดยประชาชน” ก็แปลได้ตั้งแต่ระบบที่ทุกคนมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะอย่างแข็งขันไปจนถึงระบบที่ปล่อยให้ผู้ปกครองทำเพื่อผู้ใต้ปกครองอยู่ฝ่ายเดียว

ในเชิงสัญลักษณ์ ประชาธิปไตยมีความหมายหลายเฉดจาก Hobbes สู่ Rousseau ถึง De Tocquiville หรือพูดให้เห็นภาพขึ้น เราสามารถให้ความหมายกับประชาธิปไตยตั้งแต่ประชาชนจะ “ได้อะไร” จากประชาธิปไตย ถึงอะไรคือ “บทบาท” ของประชาชน

ความไม่สามารถ “แปล” ประชาธิปไตยให้ออกไปจากกรอบเรื่องอุดมการณ์และสถาบันการเมืองคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ฝ่ายรณรงค์ “ไม่รับ” พ่ายแพ้

แต่ความพ่ายแพ้ในการรณรงค์เป็นคนละเรื่องกับการด่วนสรุปว่านี่คือความพ่ายแพ้ของประชาธิปไตยหรือการตีโพยตีพายว่าสังคมไทยไร้หวัง ไร้อนาคตสำหรับผู้นิยมประชาธิปไตย

.....

เรื่องเกี่ยวเนื่อง...