วันอังคาร, กันยายน 27, 2559

เอกสารประวัติศาสตร์ : บันทึกความรุนแรงและรัฐประหาร 6 ตุลา โดย ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (ไทย และอังกฤษ)





บันทึกความรุนแรงและรัฐประหาร 6 ตุลาภาษาอังกฤษ
http://jfmxl.sdf.org/Puey/


บันทึกภาษาไทยเวป 2519.net

1. ในวันพุธที่ 6 ตุลาคม 2519 เวลาประมาณ 7.30 น. ตำรวจไทย โดยคำสั่งของรัฐบาลเสนีย์ ปราโมช ได้ใช้อาวุธสงครามบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยิงไม่เลือกหน้า และมีกำลังของคณะกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน และนวพล เสริม บ้างก็เข้าไปในมหาวิทยาลัยกับตำรวจ บ้างก็ล้อมมหาวิทยาลัยอยู่ข้างนอก เพื่อทำร้ายผู้ที่หนีตำรวจออกมาจากมหาวิทยาลัย ผู้ที่ถูกยิงตายหรือบาดเจ็บก็ตายไปบาดเจ็บไป คนที่หนีออกมาข้างนอกไม่ว่าจะบาดเจ็บหรือไม่ต้องเสี่ยงกับความทารุณโหดร้ายอย่างยิ่ง บางคนถูกแขวนคอบางคนถูกราดน้ำมันแล้วเผาทั้งเป็น คนเป็นอันมากก็ถูกซ้อมปรากฏตามข่าวทางการว่าตายไป 40 กว่าคน แต่ข่าวที่ไม่ใช่ทางการว่าตายกว่าร้อย และบาดเจ็บหลายร้อย

ผู้ที่ยอมให้ตำรวจจับแต่โดยดีมีอยู่หลายพันคน เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ หลายมหาวิทยาลัย เป็นประชาชนธรรมดาก็มี เป็นเจ้าหน้าที่และอาจารย์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งได้รับคำสั่งให้เฝ้าดูอาคารสถานที่และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยก็มิใช่น้อย

เมื่อนำเอาผู้ต้องหาทั้งหลายไปยังสถานีตำรวจ และที่คุมขังอื่น มีหลายคนที่ถูกตำรวจซ้อมและทรมานด้วยวิธีการต่างๆ บางคนถูกทรมานจนต้องให้การตามที่ตำรวจต้องการจะให้การ และซัดทอดถึงผู้อื่น

2. เจตนาที่จะทำลายล้างพลังนักศึกษา และประชาชนที่ใฝ่เสรีภาพนั้นมีอยู่นานแล้ว ในเดือนตุลาคม 2516 เมื่อมีเหตุทำให้เปลี่ยนระบบการปกครองมาเป็นรูปประชาธิปไตยนั้น ได้มีผู้กล่าวว่า ถ้าฆ่านักศึกษาประชาชนได้สักหมื่นสองหมื่นคนบ้านเมืองจะสงบราบคาบ และได้สืบเจตนานี้ต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ในการเลือกตั้งเมษายน 2519 ได้มีการปิดประกาศและโฆษณาจากพรรคการเมืองบางพรรคว่า “สังคมนิยมทุกชนิดเป็นคอมมิวนิสต์” และกิตติวุฒโฑภิกขุ ยังได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า “การฆ่าคอมมิวนิสต์นั้นไม่เป็นบาป” ถึงแม้ในกันยายน–ตุลาคม 2519 เอง ก็ยังมีผู้กล่าวว่าการฆ่าคนที่มาชุมนุมประท้วงจอมพลถนอม กิตติขจร สัก 30,000 คน ก็เป็นการลงทุนที่ถูก

3. ผู้ที่สูญเสียอำนาจทางการเมืองในเดือนตุลาคม 2516 ได้แก่ทหารและตำรวจบางกลุ่ม ผู้ที่เกรงว่าในระบบประชาธิปไตยจะสูญเสียอำนาจทางเศรษฐกิจไป ได้แก่พวกนายทุนเจ้าของที่ดินบางกลุ่ม และผู้ที่ไม่ประสงค์จะเห็นระบบประชาธิปไตยในประเทศไทย กลุ่มเหล่านี้ได้พยายามอยู่ตลอดเวลาที่จะทำลายล้างพลังต่างๆ ที่เป็นปรปักษ์แก่ตนเองด้วยวิธีต่างๆ ทางวิทยุและโทรทัศน์ ทางหนังสือพิมพ์ ทางใบปลิวโฆษณา ทางลมปากลือกัน ทางบัตรสนเท่ห์ ทางจดหมายซึ่งเป็นบัตรสนเท่ห์ขู่เข็ญต่างๆ และได้ก่อตั้งหน่วยต่างๆ เป็นเครื่องมือซึ่งจะได้กล่าวถึงในข้อ 20 และข้อต่อๆ ไป

วิธีการของบุคคลกลุ่มเหล่านี้คือ ใช้การปลุกผีคอมมิวนิสต์โดยทั่วไป ถ้าไม่ชอบใครก็ป้ายว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แม้แต่นายกรัฐมนตรีคึกฤทธิ์ หรือเสนีย์ หรือพระราชาคณะบางรูปก็ไม่เว้นจากการถูกป้ายสี อีกวิธีหนึ่งคือการอ้างถึงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นเครื่องมือในการป้ายสี ถ้าใครเป็นปรปักษ์ก็แปลว่าไม่รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

4. ในกรณีของกันยายน–ตุลาคม 2519 นี้ เมื่อจอมพลถนอม กิตติขจร เข้ามาในประเทศไทย ก็อาศัยกาสาวพัสตร์คือศาสนาเป็นเครื่องกำบัง และในการโจมตีนักศึกษาประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นข้ออ้าง

การแขวนคอ

5. จอมพลถนอมเข้าประเทศเมื่อ 19 กันยายน นักศึกษา กรรมกร ชาวไร่ชาวนา ประชาชนทั่วไปมีการประท้วง แต่การประท้วงคราวนี้ผิดกับคราวก่อนๆ ไม่เหมือนแม้แต่เมื่อคราวจอมพลประภาส จารุเสถียรเข้ามา คือกลุ่มผู้ประท้วงแสดงว่าจะให้โอกาสแก่รัฐบาลประชาธิปไตยแก้ปัญหา จะเป็นโดยให้จอมพลถนอมออกจากประเทศไทยไป หรือจะจัดการกับจอมพลถนอมทางกฎหมาย ในระหว่างนั้นก็ได้มีการปิดประกาศในที่สาธารณะต่างๆ เพื่อประณามจอมพลถนอม และได้มีการชุมนุมกันเป็นครั้งคราว (จนกระทั่งถึงวันที่ 4 ตุลาคม)

การปิดประกาศประท้วงจอมพลถนอมนั้น ได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรงจากกลุ่มที่เป็นปรปักษ์ต่อนักศึกษาประชาชน นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2 คน และนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 1 คน ถูกทำร้ายในการนี้ บางคนถึงสาหัส
ที่นครปฐม พนักงานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 2 คน ออกไปปิดประกาศประท้วงจอมพลถนอม ได้ถูกคนร้ายฆ่าตาย และนำไปแขวนคอไว้ในที่สาธารณะ ต่อมารัฐบาลยอมรับว่าคนร้ายนั้นคือตำรวจนครปฐมนั่นเอง

6. ในการประท้วงการกลับมาของจอมพลถนอมนั้น ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาได้รับความร่วมมือจาก “วีรชน 14 ตุลาคม 2516” คือผู้ได้รับบาดเจ็บจากการปะทะกันในตุลาคม 2516 (บางคนก็พิการตลอดชีพ) และญาติของ “วีรชน” นั้น ทำการประท้วงโดยนั่งอดอาหารที่ทำเนียบรัฐบาลในราวๆ ต้นเดือนตุลาคม แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ที่ทำเนียบพยายามขัดขวางด้วยวิธีต่างๆ ในวันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม ด้วยความร่วมมือของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชุมนุมพุทธศาสตร์และประเพณี ญาติวีรชนจึงได้ย้ายมาทำการประท้วงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์บริเวณลานโพธิ์ ในวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คาดว่าคงจะมีการก่อฝูงชนขึ้นที่นั่น เป็นอุปสรรคต่อการสอบของนักศึกษา จึงได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยแห่งรัฐ ขอให้รัฐบาลจัดหาที่ที่ปลอดภัยให้ผู้ประท้วงประท้วงได้โดยสงบและปลอดภัย

7. ในเที่ยงวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคมนั้นเอง เหตุการณ์ก็เป็นไปอย่างคาด คือ ได้เกิดการชุมนุมกันขึ้น มีนักศึกษาธรรมศาสตร์ นักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ตลอดจนประชาชนไปชุมนุมกันที่ลานโพธิ์ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประมาณ 500 คน ได้มีการอภิปรายกันถึง (1) เรื่องจอมพลถนอม (2) เรื่องการฆ่าพนักงานไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่นครปฐม และได้มีการแสดงการจับพนักงานไฟฟ้านั้นแขวนคอ โดยนักศึกษาสองคน คนหนึ่งชื่ออภินันท์เป็นนักศึกษาศิลปศาสตร์ปีที่ 4 และเป็นสมาชิกชุมนุมการละคอน แสดงเป็นผู้ที่ถูกแขวนคอ

จากปากคำของอาจารย์หลายคน ที่ได้ไปดูการชุมนุมกันในเที่ยงวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคมนั้น ผู้แสดงแสดงได้ดีมาก ไม่มีอาจารย์ผู้ใดที่ไปเห็นแล้วจะสะดุดใจว่าอภินันท์แต่งหน้า หรือมีใบหน้าเหมือนเจ้าฟ้าชายมกุฎราชกุมาร เป็นการแสดงโดยเจตนาจะกล่าวถึงเรื่องที่นครปฐมโดยแท้

เมื่ออธิการบดีลงไประงับการชุมนุมนั้น เป็นเวลาเกือบ 14 น. แล้ว การแสดงเรื่องแขวนคอนั้นเลิกไปแล้ว ก่อนหน้านั้นมีการประชุมคณบดีจนเกือบ 13 น. อธิการบดีรับประทานอาหารกลางวันที่ตึกเศรษฐศาสตร์ราวๆ 13 น. ถึง 13.30 น. พอกลับจากตึกเศรษฐศาสตร์จะไปห้องอธิการบดี เห็นว่ามีการประชุมกัน เป็นอุปสรรคต่อการสอบไล่ของนักศึกษาจึงได้ไปห้าม

8. รุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ต่างๆ หลายฉบับได้ลงรูปถ่ายการชุมนุมและการแสดงแขวนคอนั้น จากรูปหนังสือต่างๆ เห็นว่านายอภินันท์นั้น หน้าตาละม้ายมกุฎราชกุมารมาก แต่ไม่เหมือนทีเดียว แต่ในภาพของหนังสือพิมพ์ดาวสยาม (ซึ่งเป็นปรปักษ์กับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาตลอดมา) รูปเหมือนมาก จนกระทั่งมีผู้สงสัยว่าดาวสยามจะได้ไปจงใจแต่งรูปให้เหมือน

เรื่องนี้สถานีวิทยุยานเกราะ (ซึ่งก็เป็นปรปักษ์กับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษา และเคยเป็นผู้บอกบทให้หน่วยกระทิงแดงโจมตีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยอาวุธและลูกระเบิด เมื่อสิงหาคม 2518) ก็เลยนำเอามาเป็นเรื่องสำคัญ กล่าวหาว่าศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ เจตนาจะทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงได้พยายามแต่งหน้านักศึกษาให้เหมือนมกุฎราชกุมารแล้วนำไปแขวนคอ ในการกระจายเสียงของยานเกราะนั้น ได้มีการยั่วยุให้ฆ่านักศึกษาที่ชุมนุมกันอยู่ในธรรมศาสตร์นั้นเสีย ยานเกราะได้เริ่มโจมตีเรื่องนี้เวลาประมาณ 18 น. ในวันอังคารที่ 5 ตุลาคม และได้กระจายเสียงติดต่อกันมาทั้งคืนวันอังคารต่อเนื่องถึงเช้าวันพุธที่ 6 ตุลาคม

การชุมนุมประท้วง 4 ตุลาคม 2519

9. ส่วนทางศูนย์กลางนิสิตนักศึกษานั้น ได้จัดให้มีการชุมนุมที่สนามหลวงประท้วง (1) ให้รัฐบาลจัดการกับจอมพลถนอม กิตติขจร (2) ให้จับผู้ที่เป็นฆาตกรแขวนคอที่นครปฐมมาลงโทษ ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม เป็นการทดลอง “พลัง”ตามที่นักศึกษากล่าว แล้วเลิกวันเสาร์ที่ 2 อาทิตย์ที่ 3 เพราะมีตลาดนัดที่ท้องสนามหลวง แล้วนัดชุมนุมกันอีกในเย็นวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม

การชุมนุมประท้วงดังกล่าว ได้ทราบจากนักศึกษาว่ากำหนดจัดกันในช่วงต้นเดือนตุลาคมเพราะเป็นระยะที่นายทหารชั้นผู้ใหญ่เปลี่ยนตำแหน่งที่สำคัญๆ เนื่องจากมีผู้ครบเกษียณอายุไปในวันที่ 30 กันยายน ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาสืบทราบมาว่าอาจจะมีการกระทำรัฐประหารโดยนายทหารผู้ใหญ่บางกลุ่มที่ไม่พอใจการสับเปลี่ยนตำแหน่งที่สำคัญ จึงต้องการจะแสดงพลังนักศึกษาเป็นการป้องกันการรัฐประหาร ในขณะเดียวกันก็เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลกระทำสองอย่างข้างต้น

ฝ่ายทางสหภาพกรรมกรก็กำหนดว่า จะมีการสไตรค์สนับสนุนการประท้วงเพียง 1 ชั่วโมงเป็นชั้นแรกในวันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม

เรื่องการชุมนุมประท้วงของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาที่สนามหลวงนั้น มีหนังสือพิมพ์หลายฉบับไปถาม ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีว่า ถ้าเขาจะมาชุมนุมกันที่ในธรรมศาสตร์ นายกรัฐมนตรีเห็นเป็นอย่างไร นายกรัฐมนตรีตอบว่า ถ้าย้ายไปชุมนุมกันที่ธรรมศาสตร์ก็จะดีมาก (หนังสือพิมพ์ต่อมาได้มาถามอธิการบดีธรรมศาสตร์ว่าเห็นเป็นอย่างไร ในคำตอบของนายกรัฐมนตรี อธิการบดีตอบว่า ไม่ดีเลย)

10. ในการชุมนุมประท้วงที่สนามหลวง เย็นวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคมนั้น เหตุการณ์ก็เหมือนกับการชุมนุมประท้วงในเดือนสิงหาคม เมื่อจอมพลประภาสเข้ามา คือพอฝนตกเข้าผู้ชุมนุมก็หักประตูทางด้านสนามหลวงเข้ามาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่เวลา 20 น.

ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัย ได้ไปแจ้งความต่อตำรวจชนะสงครามตามระเบียบ ทางตำรวจชนะสงครามได้ส่งกำลังตำรวจประมาณ 40 คน ไปคุมเหตุการณ์ที่ด้านวัดมหาธาตุร่วมกับรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา ในการชุมนุมประมาณ 25,000-40,000 คนนั้น ตำรวจ 40 คน คงจะทำอะไรมิได้นอกจากจะใช้อาวุธห้ามผู้ชุมนุมมิให้เข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็จะเกิดจลาจล ซึ่งมิใช่สิ่งที่ใครๆ หรือรัฐบาลต้องการ ฉะนั้นจึงเป็นภาวะที่ต้องจำยอมให้เข้ามาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ฝ่ายกระทิงแดงและนวพลนั้น ก็มาชุมนุมกันอยู่ที่วัดมหาธาตุอีกมุมหนึ่ง แต่เนื่องจากมีกำลังน้อยเพียงไม่กี่สิบคนจึงมิได้ทำอะไร

ทางด้านศูนย์กลางนิสิตนักศึกษา ก็ชุมนุมค้างคืนอยู่ในธรรมศาสตร์ตลอดมาถึงเช้าวันพุธที่ 6 ตุลาคม ซึ่งเป็นเวลาที่เกิดเหตุ

11. ทางฝ่ายผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อมีประชาชนจำนวนมากไหลบ่ากันเข้ามาในเวลา 20 น. ของวันจันทร์ 4 ตุลาคม ก็ได้โทรศัพท์หารือกับ ดร.ประกอบ หุตะสิงห์ องคมนตรี นายกสภามหาวิทยาลัย และด้วยความเห็นชอบของ ดร.ประกอบ ได้สั่งปิดมหาวิทยาลัยทันทีเพื่อป้องกันมิให้นักศึกษาอื่น และอาจารย์ ข้าราชการมหาวิทยาลัยต้องเสี่ยงต่ออันตราย (คราวจอมพลประภาสเข้ามาได้สั่งปิดมหาวิทยาลัยเมื่อมีการยิงกัน และทิ้งระเบิดตายไป 2 ศพแล้ว) และได้โทรศัพท์หารือกับรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยแห่งรัฐ ก็ได้รับความเห็นชอบ จึงมีหนังสือเป็นทางการรายงานท่านนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการทบวงอีกโสตหนึ่ง

ครั้นแล้วผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ย้ายสำนักงานไปอาศัยอยู่ที่สำนักงานการศึกษาแห่งชาติชั่วคราว ทิ้งเจ้าหน้าที่รักษาทรัพย์สินและอาคารของมหาวิทยาลัยไว้ประมาณ 40 – 50 คน และได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่เหล่านั้นตลอดเวลาโดยทางโทรศัพท์และทางอื่น

การปลุกระดมมวลชน และกฎหมู่

12. ฝ่ายยานเกราะและสถานีวิทยุในเครือของยานเกราะก็ระดมปลุกปั่นให้ผู้ฟังเคียดแค้นนิสิตนักศึกษาประชาชน ที่ประท้วงอยู่ในธรรมศาสตร์ตลอดเวลา โดยอ้างว่าจะทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยระดมหน่วยกระทิงแดง นวพล และลูกเสือชาวบ้านให้กระทำการ 2 อย่าง คือ (1) ทำลายพวก “คอมมิวนิสต์” ที่อยู่ในธรรมศาสตร์ (2) ประท้วงรัฐบาลที่จัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยไม่ให้นายสมัคร สุนทรเวช และนายสมบุญ ศิริธร ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

การทำลายพวก “คอมมิวนิสต์” ในธรรมศาสตร์นั้นได้ใช้ให้กระทิงแดงและอันธพาล ใช้อาวุธยิงเข้าไปในธรรมศาสตร์ตั้งแต่เที่ยงคืนจนรุ่งขึ้นของวันพุธที่ 6 ตุลาคม ฝ่ายทางธรรมศาสตร์ก็ได้ใช้อาวุธปีนยิงตอบโต้เป็นครั้งคราว

13. การปลุกระดมของยานเกราะได้ผล ทางด้านรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นการด่วนในตอนดึกของวันอังคารที่ 5 ตุลาคม และได้มีมติให้นำตัวหัวหน้านักศึกษาและนายอภินันท์ ผู้แสดงละคอนแขวนคอมาสอบสวน

พอเช้าตรู่ของวันพุธที่ 6 ตุลาคม นายสุธรรม เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษา พร้อมด้วยผู้นำนักศึกษาจำนวนหนึ่งกับนายอภินันท์นักแสดงละคอนแขวนคอ ได้ไปแสดงความบริสุทธิ์ใจที่บ้านนายกรัฐมนตรี เผอิญนายกรัฐมนตรีออกจากบ้านไปทำเนียบเสียก่อน นายกรัฐมนตรีจึงได้โทรศัพท์แจ้งให้อธิบดีกรมตำรวจคุมตัวนายสุธรรม นายอภินันท์ และพวกไปสอบสวน ผู้เขียนบันทึกในขณะนี้ยังไม่ทราบผลของการสอบสวนดังกล่าว

14. การบุกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยตำรวจ ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นการกระทำของรัฐบาลโดยเอกเทศมิได้มีการหารือกับอธิการบดีเลย แม้ว่าในตอนดึกของวันอังคารที่ 5 ตุลาคม อธิการบดีจะได้พูดโทรศัพท์กับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีก็ตาม นายกรัฐมนตรีมิได้แจ้ง ให้อธิการทราบว่ารัฐบาลจะเรียกตัวหัวหน้านิสิตนักศึกษาหรือนายอภินันท์มาสอบสวน ถ้านายกรัฐมนตรีประสงค์เช่นนั้น ก็มีวิธีที่จะเรียกตัวได้ ให้มาสอบสวนโดยสันติไม่ต้องใช้กำลังรุนแรงจนควบคุมมิได้ และจนเกินกว่าเหตุ

15. การโจมตีนักศึกษาประชาชนที่ธรรมศาสตร์ ซึ่งเริ่มตั้งแต่เที่ยงคืนโดยมีการยิงเข้าไปในมหาวิทยาลัยจากภายนอกนั้น ได้ใช้กำลังตำรวจล้อมมหาวิทยาลัยตั้งแต่ 03.00 น. และได้เริ่มยิงเข้าไปอย่างรุนแรงโดยตำรวจตั้งแต่เวลา 05.00 น ผู้ที่อยู่ในธรรมศาสตร์ขอให้ตำรวจหยุดชั่วคราว เพื่อให้ผู้หญิงที่อยู่ในมหาวิทยาลัยได้มีโอกาสออกไป ตำรวจก็ไม่ฟัง

อาวุธในธรรมศาสตร์

16. ในการบุกธรรมศาสตร์นั้น วิทยุยานเกราะประโคมว่าภายในธรรมศาสตร์มีอาวุธร้ายแรง เช่น ลูกระเบิด ปืนกลหนักและอาวุธร้ายแรงอื่นๆ ข้อนี้เป็นการกล่าวหาโดยปราศจากความจริงตั้งแต่ 2517 มาแล้ว แต่เมื่อมีเหตุการณ์ที่จะพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้แต่ละครั้ง เช่น เมื่อกระทิงแดงบุกในเดือนสิงหาคม 2518 หรือเมื่อตำรวจเข้าไปกวาดล้าง หลังจากการชุมนุมประท้วงจอมพลประภาส ก็มิได้มีหลักฐานประการใดว่าได้มีอาวุธสะสมไว้ในธรรมศาสตร์

ถึงคราวนี้ก็ดี สิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำมาแสดงว่าเป็นอาวุธที่จับได้ในธรรมศาสตร์ก็มีแต่ปืนยาวสองกระบอก ปืนพกและลูกระเบิด หาได้มีอาวุธร้ายแรงขนาดปืนกลไม่ เป็นเรื่องที่สร้างข้อกล่าวหาจากอากาศธาตุทั้งสิ้น

ตั้งแต่ปลายปี 2517 เป็นต้นมา นักการเมือง และหัวหน้านักศึกษาบางคนมีความจำเป็นต้องพกอาวุธไว้ป้องกันตัว เพราะหน่วยกระทิงแดง และตำรวจ ทหาร ฆาตกรมักจะทำร้ายหัวหน้ากรรมกร หัวหน้าชาวนาชาวไร่ หัวหน้านักศึกษา และนักการเมืองอยู่เนืองๆ และการฆ่าบุคคลเหล่านี้ทางตำรวจไม่เคยหาตัวคนร้ายได้ (ขณะเดียวกัน ถ้าตำรวจฆ่าตำรวจ หรือมีผู้พยายามฆ่านักการเมืองฝ่ายรัฐบาล ตำรวจจับคนร้ายได้โดยไม่ชักช้า) พูดไปแล้ว การมีอาวุธไว้ป้องกันตัว ในเมื่อรู้ว่าจะเสี่ยงต่ออันตรายก็มีเหตุผลพอสมควร

ระหว่างคืนวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม จนถึงเช้าวันพุธที่ 6 ตุลาคมนั้น นักศึกษาและประชาชนที่เข้ามาชุมนุมในธรรมศาสตร์ มีโอกาสที่จะนำอาวุธเหล่านั้น เข้าไปในมหาวิทยาลัยตลอดเวลา น่าเสียดายที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมิได้ตั้งด่านสกัดค้นอาวุธทั้งทางด้านผู้ชุมนุมประท้วง และฝ่ายกระทิงแดงเสียแต่ต้นมือ และเท่าที่ปรากฏเป็นข้อเท็จจริงตลอดมา ฝ่ายกระทิงแดงได้พกอาวุธร้ายในที่สาธารณะเนืองๆ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่กล้าห้ามหรือตรวจค้น

ถึงกระนั้นก็ดี ผู้เขียนบันทึกนี้เห็นว่าการชุมนุมประท้วงทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ตาม ต้องกระทำโดยสันติและปราศจากอาวุธ ซึ่งเป็นการชุมนุมที่ชอบด้วยกฎหมาย และรับรองโดยรัฐธรรมนูญ

17. จากการ “สอบสวน” และ “สืบสวน” ของตำรวจและทางการ เท่าที่ปรากฏในเวลาที่เขียนบันทึกนี้มีข้อกล่าวหาว่าในธรรมศาสตร์มีอุโมงค์อยู่หลายแห่ง แต่เจ้าหน้าที่ก็มิได้แสดงภาพของอุโมงค์ให้ดูเป็นหลักฐาน เป็นการปั้นน้ำเป็นตัวสร้างข่าวขึ้นแท้ๆ คุณดำรง ชลวิจารณ์ อธิบดีกรมโยธาธิการและประธานกรรมการสำรวจความเสียหายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้แจงเมื่อกลางเดือนตุลาคมว่า ไม่พบอุโมงค์ในธรรมศาสตร์เลย และย้ำว่าไม่มี เป็นข่าวลือทั้งนั้น อุทิศ นาคสวัสดิ์ กล่าวในโทรทัศน์ถึงห้องแอร์และส้วมที่อยู่บนเพดานตึก คงจะหมายถึงชั้นบนสุดของตึกโดม ซึ่งก็ไม่มีอะไรเร้นลับประการใด และใครเล่านอกจากอุทิศ นาคสวัสดิ์จะไปใช้ส้วมบนเพดานตึก นอกจากนั้นอุทิศยังอุตส่าห์พูดว่า บรรดาผู้ที่ไปชุมนุมในธรรมศาสตร์นั้นใช้รองเท้าแตะเป็นจำนวนมากแสดงว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เพราะผู้ก่อการร้ายใช้รองเท้าแตะ ถ้าเป็นเช่นนี้คนในเมืองไทย 40 ล้านคน ซึ่งใช้รองเท้าแตะก็เป็นผู้ก่อการร้ายหมด ที่กล่าวถึงอุทิศ นาคสวัสดิ์นั้น เป็นตัวอย่างของโฆษกฝ่ายยานเกราะเพียงคนเดียวคนอื่นและข้อใส่ร้ายอย่างอื่นทำนองเดียวกันยังมีอีกมากที่ใช้ความเท็จกล่าวหาปรปักษ์อย่างไม่มีความละอาย

กฎหมู่ทำลายประชาธิปไตย

18. ข้อเรียกร้องอีกข้อหนึ่งของยานเกราะและผู้ที่อยู่เบื้องหลังยานเกราะคือเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งนายสมัครและนายสมบุญเป็นรัฐมนตรีมหาดไทยและให้ขับไล่รัฐมนตรี “ฝ่ายซ้าย” 3 คน ออก คือ นายสุรินทร์ มาศดิตถ์ นายชวน หลีกภัย และนายดำรง ลัทธพิพัฒน์ เรื่องนี้ยานเกราะเจ็บใจนักเพราะเมื่อ ม.ร.ว.เสนีย์ ลาออกในเดือนกันยายนนั้น สถานีวิทยุยานเกราะได้ระดมจ้างและวานชาวบ้าน มาออกอากาศเป็นเชิงว่าเป็นมติมหาชน คนที่จ้างและวานมาให้พูดนั้นพูดเกือบเป็นเสียงเดียวกันว่าให้ ม.ร.ว.เสนีย์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป แต่ให้กำจัดรัฐมนตรีที่ชั่วและเลวออก การกลับกลายเป็นว่า ม.ร.ว.เสนีย์ นายกรัฐมนตรีกลับเอานายสมัคร และนายสมบุญ ออกไป เป็นเชิงว่านายสมัครและนายสมบุญซึ่งเป็นพรรคพวกกันยานเกราะนั้นเป็นคนเลวไป

19. ยานเกราะระดมกำลังเรียกร้องให้ลูกเสือชาวบ้าน นวพล กระทิงแดง และกลุ่มอื่น ๆ ในเครือ ชุมนุมกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อเรียกร้องเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล การเรียกร้องกระทำตลอดคืนวันอังคารที่ 5 คาบเช้าวันพุธที่ 6 แล้วก็สามารถระดมพลเพื่อการเรียกร้องจัดตั้งรัฐบาลใหม่ต่อไปจนถึงเวลาบ่าย ม.ร.ว.เสนีย์จึงยอมจำนน และรับว่าจะคิดจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ตามคำเรียกร้อง

ต่อมาอีกประมาณ 1 หรือ 2 ชั่วโมงก็มีการยึดอำนาจกระทำรัฐประหารขึ้นในเวลา 18 น.

20. เป็นที่น่าสังเกตว่า ตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมาผู้ที่เป็นปรปักษ์กับพลังนักศึกษา กรรมกรและชาวไร่ชาวนา พยายามกล่าวหาว่านักศึกษา กรรมกรและชาวไร่ชาวนา “ใช้วิธีปลุกระดมมวลชน” และ “ใช้กฎหมู่บังคับกฎหมาย” การกระทำของยานเกราะ กระทิงแดง นวพล และลูกเสือชาวบ้าน และกลุ่มต่าง ๆ นั้นเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ถ้าไม่ใช่วิธีปลุกระดมมวลชน และไม่ใช่การใช้กฎหมู่บวกกับอาวุธมาทำลายกฎหมาย

เรื่องที่กล่าวมานี้มิใช่จะเริ่มเกิดขึ้นใน 2519 แต่เริ่มมาตั้งแต่ 2517 กระทิงแดงเป็นหน่วยที่ฝ่ายทหาร กอ.รมน.จัดตั้งขึ้นจากนักเรียนอาชีวะ ซึ่งบางคนก็เรียนจบไปแล้ว บางคนก็เรียนไม่จบ บางคนก็ไม่เรียน กอ.รมน. เป็นผู้จัดตั้งขึ้น เพื่อหักล้างพลังศึกษาตั้งแต่พวกเรากำลังร่างรัฐธรรมนูญอยู่ หนังสือพิมพ์ต่างประเทศลงข่าวอยู่เนือง ๆ และระบุชื่อพันเอกสุตสาย หัสดิน ว่าเป็นผู้สนับสนุนแต่ก็ไม่มีการปฏิเสธข่าว กอ.รมน.ไม่แต่เป็นผู้จัดตั้ง เป็นผู้ฝึกอาวุธให้ นำอาวุธมาให้ใช้ และจ่ายเงินเลี้ยงดูให้จากเงินราชการลับ และตั้งแต่กลางปี 2517 เป็นต้นมา หน่วยกระทิงแดงก็พกอาวุธปืนและลูกระเบิดประเภทต่าง ๆ อย่างเปิดเผย ไม่มีตำรวจหรือทหารจะจับกุมหรือห้ามปราม ไม่ว่าจะมีการประท้วงโดยสันติอย่างใดโดยนิสิตนักศึกษา กระทิงแดงเป็นต้องใช้อาวุธขู่เข็ญเป็นการต่อต้านทุกครั้ง นับตั้งแต่การประท้วงบทบัญญัติบางมาตราของรัฐธรรมนูญ ในปี 2517 การประท้วงฐานทัพอเมริกันใน 2517 – 2518 การบุกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเดือนสิงหาคม 2518 การประท้วงการกลับมาของจอมพลประภาส และจอมพลถนอม ตลอดมาแต่ละครั้งจะต้องมีผู้บาดเจ็บล้มตายเสมอ แม้แต่ช่างภาพ หนังสือพิมพ์ที่พยายามถ่ายภาพกระทิงแดงพกอาวุธ ก็ไม่วายถูกทำร้าย ในการเลือกตั้งในเมษายน 2519 กระทิงแดงก็มีส่วนขู่เข็ญผู้สมัครรับเลือกตั้ง และในการโจมตีทำร้ายพรรคบางพรรคที่เขาเรียกกันว่าฝ่ายซ้าย

21. สมควรจะกล่าวถึง กอ.รมน. ในที่นี้ เพราะนอกจากจะเป็นผู้ชักกระทิงแดงให้ปฏิบัติการรุนแรงแล้ว ยังมีส่วนในการจัดตั้งกลุ่มและหน่วยอื่น ๆ เป็นประโยชน์แก่กลุ่มทหารด้วย เช่น นวพล ทั้งนี้โดยใช้เงินงบประมาณแผ่นดินประเภทราชการลับตลอดเวลา

กอ.รมน. เดิมมีชื่อว่า บก.ปค. แปลว่ากองบัญชาการปราบคอมมิวนิสต์ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น กอ.ปค. กองอำนวยการปราบคอมมิวนิสต์ ต่อมาเมื่อรัฐบาลมีนโยบายจะคบกับประเทศคอมมิวนิสต์ จึงเปลี่ยนชื่อเป็นกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ เป็นองค์กรที่จอมพลประภาสตั้งขึ้น และเป็นมรดกตกทอดต่อมาถึงทุกวันนี้

ความสำเร็จของ กอ.รมน. วัดได้ดังนี้ เมื่อแรกตั้งประมาณ 10 ปีกว่ามาแล้ว เงินงบประมาณสำหรับ บก.ปค.มีอยู่ประมาณ 13 ล้านบาท และเนื้อที่ในประเทศไทยที่เป็นแหล่งคอมมิวนิสต์ ในการปฏิบัติงานของ บก.ปค. มีอยู่ 3 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในปัจจุบันมี กอ.รมน. มีงบประมาณกว่า 800 ล้านบาท และเนื้อที่ที่ประกาศเป็นแหล่งคอมมิวนิสต์มีอยู่เกือบทั่วราชอาณาจักรประมาณ 30 กว่าจังหวัด

การปราบคอมมิวนิสต์ของ กอ.รมน. เป็นวิธีลับ ที่ปราบคอมมิวนิสต์จริงก็คงมี แต่ที่ปราบคนที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ก็มีมาก ตั้งแต่ก่อน 2516 มาแล้ว เรื่องถังแดงที่พัทลุง เรื่องการรังแกชาวบ้านทุกหนทุกแห่งมีอยู่ตลอด แล้วใส่ความว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จึงทำให้ราษฎรเดือดร้อนทั่วไป และที่ทนความทารุณโหดร้ายต่อไปไม่ได้ เข้าป่ากลายเป็นพวกคอมมิวนิสต์ไปก็มากมาย

รัฐสภาประชาธิปไตยในปี 2517-2518 และ 2519 ในเวลาพิจารณางบประมาณของ กอ.รมน.แต่ละปี ได้พยายามตัดงบประมาณออก หรือถ้าไม่ตัดออกก็ให้ตั้งเป็นงบราชการเปิดเผย แทนที่จะเป็นงบราชการลับ ได้ประสบความสำเร็จเพียงบางส่วน กอ.รมน. ยังสามารถใช้เงินเกือบร้อยล้านบาทแต่ละปีเป็นงบราชการลับ ทำการเป็นปรปักษ์ต่อระบบประชาธิปไตยตลอดมา

22. นวพล ถือกำเนิดจาก กอ.รมน. เช่นเดียวกับกระทิงแดง แต่เป็นหน่วยสงครามจิตวิทยา ไม่ต้องใช้อาวุธเป็นเครื่องมือสำคัญ แต่ทำงานร่วมกับกระทิงแดง เป็นองค์กรที่พยายามรวบรวมคหบดี นายทุน ภิกษุที่ไม่ใคร่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมให้ร่วมกันต่อต้านพลังนิสิตนักศึกษา และกรรมกร วิธีการก็คือขู่ให้เกิดความหวาดกลัวว่าทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ของตนนั้นจะสูญหายไปถ้ามีการเปลี่ยนแปลง แม้จะเป็นไปตามระบบประชาธิปไตย เครื่องมือของนวพลคือ การประชุม การชุมนุม การเขียนบทความต่าง ๆ นายวัฒนา เขียววิมล ซึ่งเป็นผู้จัดการนวพลเป็นผู้ที่พลเอกสายหยุดชักจูงมารับใช้ กอ.รมน. จากอเมริกา มีผู้ที่เคยหลงเข้าใจผิดว่านวพลจะสร้างสังคมใหม่ให้ดีขึ้นด้วยวิธีสหกรณ์เช่นคุณสด กูรมะโรหิตต้องประสบความผิดหวังไป เพราะนวพลประกาศว่าจะสร้างสังคมใหม่ แต่แท้จริงต้องการสงวนสภาวะเดิมเพื่อประโยชน์ของนายทุนและขุนศึกนั่นเอง

23. ลูกเสือชาวบ้าน ก่อตั้งขึ้นมาโดยแสดงวัตถุประสงค์ว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่แท้จริงเป็นเครื่องมือทางการเมืองของกลุ่มนายทุนและขุนศึก โดยเห็นได้จากการเลือกตั้งในเมษายน 2519 ลูกเสือชาวบ้านมีส่วนในการชักจูงให้สมาชิกและชาวบ้านทำการเลือกตั้งแบบลำเอียง วิธีนี้เป็นวิธีที่อเมริกันเคยใช้อยู่ในเวียดนาม แต่ไม่สำเร็จ มาสำเร็จที่เมืองไทย เพราะใช้ความเท็จเป็นเครื่องมือ ว่าเป็นการจัดตั้งเพื่อชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ กระทรวงมหาดไทยมีส่วนสำคัญในการจัดตั้งลูกเสือชาวบ้านขึ้น และมักจะใช้คหบดีที่มั่งคั่งเป็นผู้ออกเงินเป็นหัวหน้าลูกเสือ การชุมนุมทางการเมืองในวันที่ 6 ตุลาคมของลูกเสือชาวบ้านเป็นหลักฐานอย่างชัด ในวัตถุประสงค์ของขบวนการนี้

24. นอกจากกระทิงแดง นวพล และลูกเสือชาวบ้าน ฝ่ายกอ.รมน. และมหาดไทยยังใช้กลุ่มต่างๆ เรียกชื่อต่างๆ อีกหลายกลุ่ม บางกลุ่มเป็นพวกกระทิงแดงหรือนวพลแอบแฝงมา เช่น ค้างคาวไทย ชุมนุมแม่บ้าน ผู้พิทักษ์ชาติไทย เป็นต้น เครื่องมือการปฏิบัติงานของกลุ่มเหล่านี้ได้แก่ บัตรสนเท่ห์ ใบปลิว โทรศัพท์ขู่เข็ญ เป็นต้น

25. ฆาตกรรมทางการเมืองได้เริ่มมาตั้งแต่ กลางปี 2517 โดยผู้แทนชาวไร่ชาวนาและกรรมกร ถูกลอบทำร้ายทีละคน สองคนต่อมาก็ถึงนักศึกษา เช่น อมเรศ และนักการเมือง เช่น อาจารย์บุญสนอง บุณโยทยาน แต่ละครั้งตำรวจไม่สามารถหาตัวคนร้ายได้ จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าตำรวจคงจะมีส่วนร่วมแน่ๆ เพราะถึงที่มีผู้ร้ายทำร้ายตำรวจ หรือนักการเมืองฝ่ายขวา ตำรวจจับได้โดยไม่ชักช้า

26. ในตอนที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ได้เริ่มมีการครอบคลุมสื่อมวลชน คือหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ ทางวิทยุและโทรทัศน์นั้น พลตรีประมาณ อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคชาติไทยเป็นผู้คุมอยู่ ผู้ที่พูดวิทยุและโทรทัศน์ได้ต้องเป็นพวกของตน ถ้าไม่ใช่พวกไม่ยอมให้พูด และต้องโจมตีนักศึกษา กรรมกร ชาวนา อาจารย์มหาวิทยาลัย ขาประจำเรื่องนี้ได้แก่ ดุสิต ศิริวรรณ ประหยัด ศ.นาคะนาท ธานินทร์ กรัยวิเชียร อุทิศ นาคสวัสดิ์ ทมยันตี อาคม มกรานนท์ พ.ท.อุทาร สนิทวงศ์ เป็นต้น และการครอบคลุมเช่นนี้มีมาจนกระทั่งทุกวันนี้

27. นิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่มีเจตนาบริสุทธิ์ ต้องการประชาธิปไตย ต้องการช่วยเหลือผู้ยากจน แก้ไขความอยุติธรรมในสังคม ฉะนั้นพลังนิสิตนักศึกษาจึงเป็นพลังที่สำคัญสำหรับประชาธิปไตย และข้อกล่าวหาว่านิสิตนักศึกษาทำลายชาตินั้น เป็นข้อกล่าวหาที่บิดเบือนป้ายสีเพื่อทำลายพลังที่สำคัญนั้น แต่ในสภาวการณ์ในปี 2518 – 19 ฝ่ายนิสิตนักศึกษาก็ไม่มีวิธีการผิดแผกไปจากตุลาคม 2516 เมื่อทำงานได้ผลใน 2516 นักการเมืองต่างๆ พากันประจบนิสิตนักศึกษา อยากได้อะไรก็พยายามจัดหาให้ ถึงกับสนับสนุนให้ออกไปตามชนบทเพื่อสอนประชาธิปไตย ในโลกนี้ไม่มีที่ไหน ใครจะสอนประชาธิปไตยกันได้และนักศึกษาก็โอหัง เมื่อออกไปตามชนบทก็สร้างศัตรูไว้โดยไปด่าเจ้าหน้าที่ คหบดี ชาวบ้านต่างๆ ต่อมานักศึกษาก็ยังคิดว่าพลังของตนนั้นมีพอที่จะต่อต้านองค์กรต่างๆ ใหม่ๆ ของ กอ.รมน. มหาดไทย และนายทุนขุนศึก จับเรื่องต่างๆ ทุกเรื่องให้เป็นเรื่องใหญ่ พร่ำเพรื่อจนประชาชนเกิดความเบื่อหน่าย เช่น ชุมนุมกันทีไรก็ต้องมีการด่ารัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลไหน เรื่องการถอนทหารอเมริกันก็จัดชุมนุมอีก แม้ว่ารัฐบาลจะได้สัญญาว่าจะมีกำหนดถอนไปหมดแน่ การจัดนิทรรศการก็จัดแต่เฉพาะเป็นการโอ้อวดประเทศคอมมิวนิสต์ เป็นต้น ที่ที่นักศึกษาไม่มีความเกรงใจคือในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใช้มหาวิทยาลัยพร่ำเพรื่อจนเกินไป และทำให้มหาวิทยาลัยล่อแหลมต่ออันตรายแห่งเดียว แทนที่จะกระจายฐานของนักศึกษาให้แพร่หลายออกไป ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีเรื่องต้องขัดแย้งกับนักศึกษามากครั้งบ่อยที่สุด แต่ที่สำคัญที่สุดนั้นคือ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแทนที่จะเปลี่ยนวิธีการ ยังใช้วิธีการเดิม แทนที่จะปลูกนิยมในหมู่ประชาชน กลับนึกว่าประชาชนเข้าข้างตนอยู่เสมอ แทนที่จะบำรุงพลังให้กล้าแข็งขึ้น กลับทำให้อ่อนแอลง

อธิการบดีและที่ประชุมอธิการบดี

28. เมื่อมีข่าวว่าจอมพลถนอมจะเข้าประเทศไทยนั้น ผู้เขียนได้รับบทเรียนจากคราวที่จอมพลประภาสเข้ามาเมืองไทย เดือนสิงหาคม จึงได้เห็นว่า มหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะต้องได้รับความกระทบกระเทือนแน่ จึงได้เรียกประชุมอธิการบดีทั้งหลายที่ทบวงมหาวิทยาลัยแห่งรัฐ โดยรัฐมนตรีทบวงเห็นชอบด้วย ที่ประชุมอธิการบดีได้มีมติตอนต้นเดือนกันยายน ให้เสนอขอให้รัฐบาลพยายามกระทำทุกอย่าง มิให้จอมพลถนอมเข้ามาในประเทศไทย เพราะจะทำให้เกิดความยุ่งยากในการศึกษา และจะทำให้สูญเสียการเรียน ในขณะเดียวกันก็มีข้อตกลงกันภายในระหว่างมหาวิทยาลัยทั้งหลายว่า ถ้าจอมพลถนอมเข้ามาจริง แต่ละมหาวิทยาลัยก็ต้องใช้ดุลพินิจว่ามหาวิทยาลัยใดควรปิดมหาวิทยาลัยใดควรเปิดต่อไป ทั้งได้วางมาตรการร่วมกันหลายประการ

29. เมื่อจอมพลถนอมเข้ามาจริงในวันที่ 19 กันยายน ผู้เขียนในฐานะประธานในที่ประชุมอธิการบดีสำหรับ 2519 ได้เรียกประชุมอธิการบดีอีกทันที ในวันที่ 20 กันยายน โดยมีรัฐมนตรีทบวงร่วมด้วย ที่ประชุมได้เรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเรื่องจอมพลถนอมโดยด่วน และขอทราบว่ารัฐบาลจะทำเด็ดขาดอย่างใด เพื่อจะได้ชี้แจงให้นักศึกษาแต่ละมหาวิทยาลัยทราบเป็นการบรรเทาปัญหาทางด้านนักศึกษา แต่รัฐบาลหาได้ตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ เพียงแต่ออกแถลงการณ์อย่างไม่มีความหมายอะไร

ต่อมาได้มีการประชุมอธิการบดีเรื่องนี้อีก 2 ครั้ง แต่ละครั้งก็ไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาลเป็นที่แน่นอนอย่างไร ดร.นิพนธ์ ศศิธร รัฐมนตรีทบวง ได้ให้ความพยายามอย่างมาก และเห็นใจอธิการบดีทั้งหลายในเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ในอันที่จะให้คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีแสดงท่าทีอย่างไร

30. ในคืนวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม เมื่อนักศึกษาและประชาชนหักเข้ามาในธรรมศาสตร์นั้น ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ประกาศปิดมหาวิทยาลัยตามที่ได้กล่าวมาข้อ 11 ทั้งนี้เป็นไปตามข้อตกลงกันในที่ประชุมอธิการบดี

ต่อมา ในคืนวันอังคารที่ 5 ตุลาคม ผู้เขียนได้พูดโทรศัพท์กับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ในเวลาประมาณ 23 น. ขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีตั้งใครที่มีอำนาจเจรจากับนักศึกษาไปเจรจาในธรรมศาสตร์ เพราะที่แล้วมารัฐบาลเป็นเพียงฝ่ายรับ คือเมื่อนักศึกษาต้องการพบนายกรัฐมนตรี จึงให้ พบผู้เขียนเสนอว่าการตั้งผู้แทนนายกรัฐมนตรีไปเจรจากับนักศึกษานั้น จะช่วยให้การชุมนุมสลายตัวได้ง่ายขึ้น นายกรัฐมนตรีตอบว่าจะต้องนำความหารือในคณะรัฐมนตรีก่อน

หลังจากนั้นผู้เขียนเลยปลดโทรศัพท์ออกกระทั่งรุ่งเช้าเพราะเหตุว่าในคืนวันนั้นได้มีผู้โทรศัพท์ไปด่าผู้เขียนอยู่ตลอดคืน พอรุ่งเช้าก็เกิดเรื่อง

31. ก่อนหน้านั้นได้มีการนัดหมายอยู่แล้วว่า จะมีการประชุมสภามหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ในวันที่ 6 ตุลาคม เวลา 10 น. ดร.ประกอบ หุตะสิงห์ นายกสภามหาวิทยาลัย เป็นประธานในที่ประชุม ท้ายการประชุมนั้น ผู้เขียนได้แถลงลาออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยอ้างว่าจะอยู่เป็นอธิการบดีต่อไปไม่ได้ เพราะนักศึกษาและตำรวจได้ถูกทำร้ายถึงแก่ความตายมากมาย สภามหาวิทยาลัยก็แสดงความห่วงใยในความปลอดภัยส่วนตัวของอธิการบดี

32. ในตอนบ่ายมีเพื่อนฝูง อาจารย์หลายคน แนะให้ผู้เขียนเดินทางออกไปจากประเทศไทยเสีย เพราะยานเกราะก็ดี ใบปลิวก็ดี ได้ยุยงให้มีการลงประชาทัณฑ์อธิการบดีธรรมศาสตร์ ในฐานที่เป็นผู้ยุยงส่งเสริมนักศึกษา ให้ทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้เขียนเห็นว่าอยู่ไปก็ไม่เป็นประโยชน์ ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ ระวังกระสุน จึงตัดสินใจว่าจะไปอยู่กัวลาลัมเปอร์ ดูเหตุการณ์สักพักหนึ่ง เพราะขณะนั้นยังไม่มีการรัฐประหาร

33. เครื่องบินไปกัวลาลัมเปอร์จะออกเวลา 18.15 น. ผู้เขียนได้ไปที่ดอนเมืองก่อนเวลาเล็กน้อย ปรากฏว่าเครื่องบินเสียต้องเลื่อนเวลาไป 1 ชั่วโมง จึงนั่งคอยในห้องผู้โดยสารขาออก

ต่อมาปรากฏว่ามีผู้เห็นผู้เขียนและนำความไปบอกยานเกราะ ยานเกราะจึงประกาศให้มีการจับกุมผู้เขียน และยุให้ลูกเสือชาวบ้านไปชุมนุมที่ดอนเมือง ขัดขวางมิให้ผู้เขียนออกเดินทางไป

เวลาประมาณ 18.15 น. ได้มีตำรวจชั้นนายพันโทตรงเข้ามาจับผู้เขียน โดยที่กำลังพูดโทรศัพท์อยู่ ได้ใช้กิริยาหยาบคายตบหูโทรศัพท์ร่วงไป แล้วบริภาษผู้เขียนต่าง ๆ นานาบอกว่าจะจับไปหาอธิบดีกรมตำรวจ ผู้เขียนก็ไม่ได้โต้ตอบประการใด เดินตามนายตำรวจนั้นออกมา

บรรดา สห. ทหารอากาศและตำรวจกองตรวจคนเข้าเมืองได้ออกความเห็นว่า ไม่ควรนำตัวผู้เขียนออกไปทางด้านห้องผู้โดยสารขาออก เพราะมีลูกเสือชาวบ้านอยู่เป็นจำนวนมาก เกรงว่าจะมีการทำร้ายขึ้น จึงขออนุญาตทางกองทัพอากาศจะขอนำออกทางสนามกอล์ฟกองทัพอากาศ

ระหว่างที่คอยคำสั่งอนุญาตนั้น ตำรวจทั้งหลายได้คุมตัวผู้เขียนไปกักอยู่ในห้องกองตรวจคนเข้าเมืองทางด้านผู้โดยสารขาเข้า

34. เมื่อถูกกักตัวอยู่นั้น ตำรวจกองปราบฯ ได้ค้นตัวผู้เขียนก็ไม่เห็นมีอาวุธแต่อย่างใด มีสมุดพกอยู่เล่มหนึ่ง เขาก็เอาไปตรวจและกำลังอ่านหนังสือ Father Brown ของ G.K. Chesterton อยู่เขาก็เอาไปตรวจ กระเป๋าเดินทางก็ตรวจจนหมดสิ้น

35. นั่งคอยคำสั่งให้เอาตัวไปคุมขัง อยู่ประมาณ 1 ชั่วโมง ระหว่างนั้นได้ทราบแล้วว่ามีการปฏิวัติรัฐประหารขึ้น ก็นึกกังวลใจว่าเพื่อนฝูงจะถูกใส่ความได้รับอันตรายหลายคน ส่วนตัวของตัวเองนั้นก็ปลงตกว่า แม้ชีวิตจะรอดไปได้ก็คงต้องเจ็บตัว

ประมาณ 20 น. ตำรวจมาแจ้งว่ามีคำสั่งจากเบื้องบนให้ปล่อยตัวได้ และให้เจ้าหน้าที่จัดหาเครื่องบินให้ออกเดินทางไปต่างประเทศ

ขณะนั้นเครื่องบินที่จะไปกัวลาลัมเปอร์หรือสิงคโปร์ออกไปเสียแล้ว มีแต่เครื่องบินไปยุโรปหรือญี่ปุ่น จึงตัดสินใจไปยุโรป

นายตำรวจที่เอาสมุดพกไปตรวจนำสมุดพกมาคืนให้ ผู้เขียนก็ขอบใจเขาแล้วบอกว่า คุณกำลังจะทำบาปอย่างร้าย เพราะผมบริสุทธิ์จริง ๆ นายตำรวจผู้นั้นกล่าวว่า นักศึกษาที่เขาจับไปนั้น 3 คนให้การซัดทอดว่า ผู้เขียนเป็นคนกำกับการแสดงละคอนแขวนคอในวันจันทร์ที่ 4 โดยเจตนาทำลายล้างพระมหากษัตริย์ และเติมด้วยว่านักศึกษาที่ให้การซัดทอดนั้นพวกกระทิงแดงเอาไฟจี้ที่ท้องจึง “สารภาพ” ซัดทอดมาถึงผู้เขียน

36. ระหว่างที่นั่งรอคำสั่งอยู่นั้น มีอาจารย์ผู้หญิงของธรรมศาสตร์ที่เป็นนวพลเข้ามานั่งอยู่ 2 คน นัยว่าต้องการเข้ามาเยาะเย้ย แต่ผู้เขียนจำเขาไม่ได้ เลยไม่ได้ผล และขณะนั้นก็มีคำสั่งให้ปล่อยตัวเดินทางได้แล้ว เข้าใจว่าอาจารย์ทั้งสองคือ อาจารย์ราตรี และอาจารย์ปนัดดา

ต่อมาอีกสักครู่ นายวัฒนา เขียววิมล ก็เข้ามาในห้องที่ผู้เขียนถูกคุมขังอยู่ เคยรู้จักกันมาก่อน เขาจึงเข้ามาทักผู้เขียนก็ทักตอบ แต่แล้วก็หันไปจัดการจองเครื่องบินกับเจ้าหน้าที่ นายวัฒนาอยู่สักครู่เล็กๆ ก็ออกไป

การปฏิวัติรัฐประหาร

37. คณะที่กระทำการปฏิวัติ เรียกตนเองว่า “คณะปฏิรูปการปกครอง” เพื่อมิให้ฟังเหมือนกับการ “ปฏิวัติ” ของจอมพลสฤษดิ์ และจอมพลถนอมที่แล้วมา ซึ่งเป็นที่เบื่อหน่ายของประชาชน แต่ความจริงก็เป็นการปฏิวัติรัฐประหารนั่นเอง โดยทหารกลุ่มหนึ่ง โดยมีพลเรือนเป็นใจด้วย เพราะ (1) ได้มีการล้มรัฐธรรมนูญ (2) ได้มีการล้มรัฐสภา (3) ได้มีการล้มรัฐบาลโดยผิดกฎหมาย (4) คำสั่งของหัวหน้าคณะ “ปฏิรูป” เป็นกฎหมาย (5) มีการจับกุมปรปักษ์ทางการเมืองโดยพลการเป็นจำนวนมาก และยังมีลักษณะอื่นๆ ที่ไม่ผิดแผกแตกต่างไปจากการปฏิวัติรัฐประหารที่แล้วๆ มา

38. มีพยานหลักฐานแสดงว่า ผู้ที่ต้องการจะทำการรัฐประหารนั้น มีอยู่อย่างน้อย 2 ฝ่าย ฝ่ายที่กระทำรัฐประหารเมื่อเวลา 18 น. วันที่ 6 ตุลาคม กระทำเสียก่อน เพื่อต้องการมิให้ฝ่ายอื่นๆ กระทำได้ ข้อนี้อาจจะเป็นจริง เพราะปรากฏว่า พลเอกฉลาด หิรัญศิริ นักทำรัฐประหารถูกปลด และไปบวชอาศัยกาสาวพัสตร์อยู่ที่วัดบวรนิเวศเช่นเดียวกับจอมพลถนอม (วัดบวรนิเวศต่อไปนี้คงจะจำกันไม่ได้ ว่าแต่ก่อนเป็นวัดอย่างไร) และพลโทวิฑูร ยะสวัสดิ์ ก็รีบรับคำสั่งไปประจำตำแหน่งพลเรือนที่ประเทศญี่ปุ่น

แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังเป็นปฏิวัติรัฐประหารอยู่วันยังค่ำ

39. ตามประเพณีการรัฐประหารของไทย ในระยะ 20 ปีที่แล้วมา คณะรัฐประหารจัดให้มีการปกครองออกเป็น 3 ระยะ
(ก) ระยะที่ 1 เพิ่งทำการรัฐประหารใหม่ ๆ มีการล้มรัฐธรรมนูญ ล้มรัฐสภาจับรัฐมนตรี และศัตรูทางการเมืองประกาศตั้งหัวหน้าและคนรองๆ ไป ตั้งที่ปรึกษาฝ่ายต่าง ๆ เช่น การต่างประเทศ เศรษฐกิจ ฯลฯ ให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่รัฐมนตรี ออกประกาศและคำสั่งต่าง ๆ เป็นต้น ระยะนี้เป็นระยะที่เผด็จการมากที่สุด

(ข) ระยะที่ 2 เป็นระยะที่มีธรรมนูญการปกครอง ตั้งคณะรัฐมนตรี ตั้งสภา ออกกฎหมายโดยสภา แต่ยังเป็นระยะที่เผด็จการอยู่มาก เพราะคณะรัฐมนตรีก็ดี รัฐสภาที่แต่งตั้งขึ้นก็ดีหัวหน้าปฏิวัติยังเป็นผู้คุมอยู่

(ค) ระยะที่ 3 เป็นระยะที่รัฐสภาแต่งตั้งนั้น ได้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จแล้ว จะมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร แต่หัวหน้าปฏิวัติยังสามารถบันดาลให้การเลือกตั้งนั้น ลำเอียงเข้าข้างตนเอง

แต่ระยะเวลาจะกินเวลาเท่าใดนั้น แล้วแต่หัวหน้าคณะปฏิวัติ เช่นสมัยจอมพลสฤษดิ์ ระยะที่ 2 กินเวลากว่า 10 ปี

การจับกุมศัตรูทางการเมือง และใช้อำนาจเผด็จการนั้นกระทำได้ทุกเมื่อทุกระยะ โดยอาศัยกฎหมายป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ และอาศัยธรรมนูญการปกครองหรือรัฐธรรมนูญ (ปกติ มาตรา 17) ให้อำนาจแก่หัวหน้าคณะปฏิวัติและนายกรัฐมนตรีอย่างเต็มที่

40. ในการรัฐประหารปัจจุบัน ระยะที่ 1 กินเวลาตั้งแต่ 6 ตุลาคม ถึง 22 ตุลาคม นับแต่นั้นมาเราอยู่ในระยะที่ 2 ขณะนี้ แต่นายกรัฐมนตรีธานินทร์ กรัยวิเชียร ยังขยายความต่อไปอีกว่า ระยะที่ 2 จะกินเวลา 4 ปี และระยะที่ 3 จะแบ่งเป็น 2 ตอน ตอนละ 4 ปี โดยจะกุมอำนาจไว้ต่อไปในระยะที่ 3 ตอนต้น “เพื่อให้เวลาประชาชนไทยสามารถเรียนรู้การใช้สิทธิตามระบบประชาธิปไตย”

41. การรัฐประหารปัจจุบันมีข้อแตกต่างจากการรัฐประหารที่แล้วมาอยู่ 3 ข้อใหญ่ๆ คือ
(1) หัวหน้าปฏิวัติไม่เป็นนายกรัฐมนตรีเสียเอง กลับแต่งตั้งพลเรือนเป็นนายกรัฐมนตรี และมีการแต่งตั้งล่วงหน้า 14 วัน
(2) ตามธรรมนูญการปกครองที่ประกาศใช้เมื่อ 22 ตุลาคม 2519 (เขาเรียกกันว่ารัฐธรรมนูญ) นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีมีอิสรภาพในการบริหารน้อยกว่าที่แล้วมา เพราะมีสภาที่ปรึกษา (ทหารล้วน) ค้ำอยู่ และ
(3) มีการเทิดทูนความเท็จในทางปฏิวัติมากกว่าคราวก่อน ๆ

42. ในการรัฐประหารแต่ละครั้งในประเทศไทย หัวหน้าปฏิวัติเป็นนายทหารบก คราวนี้หัวหน้าเป็นนายทหารเรือ และรองก็เป็นนายทหารอากาศ เป็นที่เข้าใจกันว่า พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นผู้ที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมามากกว่า เพราะนิสัยใจคอและลักษณะการคุมกำลังนั้น คงจะไม่ทำให้คุณสงัดกระทำรัฐประหารได้เอง การที่รีบตั้งพลเรือนขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนที่จะเป็นเสียเองก็ทำให้เกิดความฉงนมากขึ้น ปัญหาที่มีผู้กล่าววิจารณ์กันมากก็คือ ใครเล่าอยู่เบื้องหลังการรัฐประหารคราวนี้ ซึ่งรู้สึกว่า กระทำกันแบบรีบด่วน อาจจะวางแผนไว้ก่อนหน้าแล้ว แต่รู้สึกว่ารีบจัดทำขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม หลังจากฆาตกรรมในธรรมศาสตร์นั่นเอง
จะว่าพวกของพลเอกฉลาดก็ไม่ใช่ จะว่าพวกของพลโทวิฑูรก็ไม่ใช่ จอมพลถนอมก็ยังไม่ออกหน้ามา และคงจะไม่แสดงหน้าออกมา จะเป็นใครเล่า เป็นประเด็นที่นักประวัติศาสตร์คงจะค้นหาความจริงได้

43. รัฐธรรมนูญ 22 ตุลาคม ก็ยังให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรีอย่างกว้างขวาง เช่นจะใช้อำนาจตุลาการลงโทษผู้ใดก็ได้ตามอำเภอใจ ตามมาตรา 21 ซึ่งถอดมาจากมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองเดิม แต่คราวนี้มีสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีมาค้ำคอนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (มาตรา 18 และมาตรา 21) สภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ได้แก่ “คณะปฏิรูปการปกครอง” นั่นเอง คือเป็นกลุ่มนายทหารและตำรวจ (1 คน) ที่ยึดอำนาจเมื่อ 6 ตุลาคม 2519

44. มาตรา 8 ของ “รัฐธรรมนูญ” เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของบุคคลมีข้อความประโยคเดียว คือ “บุคคลมีสิทธิเสรีภาพภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมาย” และเราก็พอจะทราบว่าใครเป็นผู้บัญญัติกฎหมาย

นอกจากนั้น ในทางปฏิบัติเท่าที่เป็นมา ประชาชนจะไม่มีสิทธิ์ทราบความจริงอย่างไรเลย นอกจาก “ข้อเท็จจริง” ที่รัฐบาลอนุญาตให้ทราบได้ เพราะ “คณะปฏิรูป” ได้ตั้งกรรมการขึ้น 2 คณะ คณะหนึ่งเป็นผู้วินิจฉัยว่าจะอนุญาตให้หนังสือพิมพ์ใดบ้างออกตีพิมพ์ได้ และอีกคณะหนึ่งเป็นผู้เซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ที่ออกได้ บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการทั้ง 2 คณะนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญในการกล่าวเท็จ เขียนเท็จทั้งนั้น และหนังสือพิมพ์ที่ได้รับอนุญาตให้ออกจำหน่ายได้ก็มีแต่หนังสือที่เชี่ยวชาญในความเท็จ ฉะนั้นในระยะนี้และระยะต่อไปนี้ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะหมดสิ้นเมื่อใด หนังสือพิมพ์ของเมืองไทยส่วนใหญ่จะมีแต่ความเท็จเป็นเกณฑ์ เชื่อถือไม่ได้

ยกตัวอย่างเช่น ดาวสยาม ลงข่าวว่าตำรวจตามจับนายคำสิงห์ ศรีนอกแล้ว ทางทหารได้หลักฐานยืนยันว่าคำสิงห์กับป๋วยกับเสน่ห์กับสุลักษณ์ ไปประชุมกันที่โคราชกับ เค จี บี เพื่อทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แล้วลงรูปถ่ายหมู่มีฝรั่งอยู่ด้วย อ้างว่าเป็น เค จี บี (รัสเซีย) ความจริงนั้นรูปถ่ายหมู่ ถ่ายที่เขื่อนน้ำพรม การประชุมนั้นเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนผามอง ผู้ร่วมประชุมนอกจากอาจารย์มหาวิทยาลัย ชาวบ้าน ข้าราชการทั้งส่วนกลาง และท้องถิ่นแล้ว ยังมีผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตด้วย และคนที่ดาวสยามอ้างว่าเป็นรัสเซีย เค จี บี นั้น คือ นายสจ๊วต มีแซม ชาวอเมริกัน ศาสนาคริสเตียน นิกายเควกเก้อ ขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการสัมมนาของเควกเก้ออยู่ที่สิงคโปร์ เวลานี้กลับไปอเมริกาแล้ว

ความเท็จที่หนังสือพิมพ์เหล่านี้ค้าอยู่มีตลอดเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2517

ส่วนวิทยุโทรทัศน์นั้น ก็ยังค้าความเท็จอยู่ตลอดเวลาเช่นเดิม

ในคืนวันที่ 5 ต่อวันที่ 6 ตุลาคม สถานีวิทยุ ท.ท.ท. ได้พยายามเสนอข่าวเกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงอย่างเป็นกลาง แต่สถานีวิทยุยานเกราะไม่พอใจ เพราะ ท.ท.ท. เสนอความจริง ทำให้การปลุกระดมของยานเกราะเสียหายจึงได้ประณาม ท.ท.ท. อยู่ตลอดเวลาด้วย ครั้นมีการรัฐประหารขึ้น ก็ได้มีการปลดผู้รับผิดชอบทาง ท.ท.ท. ทั้งวิทยุ และโทรทัศน์ออกโดยไม่มีเหตุผล

เป็นอันว่าจะหาความจริงจากหนังสือพิมพ์หรือวิทยุโทรทัศน์เมืองไทยมิได้เลย แม้แต่ข่าวว่าตำรวจหรือทหารได้จับใครต่อใครไปบ้าง หรือใครข้ามไปลาว หรือใครทำอะไร อยู่ที่ไหน พูดว่าอย่างไร นอกจาก “ข่าว” ที่รัฐบาลป้อนให้

คณะรัฐมนตรี 22 ตุลาคม 2519

45. นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีเป็นคนสะอาดบริสุทธิ์เท่าที่เกี่ยวกับการปฏิบัติราชการแผ่นดิน เป็นผู้ที่ได้ออกวิทยุโทรทัศน์แบบนิยม “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” และสอนกับเขียนหนังสือ เกี่ยวกับการต่อต้านปราบปรามคอมมิวนิสต์มากพอสมควร จนมีผู้กล่าวกันว่า เป็น “ขวาสุด”

เมื่อยังหนุ่มๆ อยู่ กลับจากศึกษาที่ประเทศอังกฤษใหม่ๆ นายธานินทร์เป็นผู้ที่รักการเขียนอยู่เป็นนิสัยแล้ว ได้เขียนบทความหลาย ๆ เรื่อง โดยอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคมของไทย ครั้งนั้นวงการตุลการมีเสียงกล่าวหาว่านายธานินทร์เป็นคอมมิวนิสต์ จะด้วยเหตุนั้นกระมังที่มีปฏิกิริยาต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างไม่หยุดยั้ง

นายธานินทร์มีความรู้ดี มีสติปัญญาเฉียบแหลม และรู้ตัวว่าฉลาดและสามารถ ปัญหามีอยู่ว่าจะทนให้สภาที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีค้ำคออยู่ได้นานเท่าใด เฉพาะอย่างยิ่งถ้าสภาที่ปรึกษานั้นเข้าข้างคนทุจริตในราชการ หรือทำการทุจริตเสียเอง

46. ในคณะรัฐมนตรี ฝ่ายทหารสงวนตำแหน่งไว้ 3 ตำแหน่ง คือ รองนายกรัฐมนตรี 1 รัฐมนตรีกลาโหม 1 และรัฐมนตรีช่วยกลาโหม 1 ทั้ง 3 ตำแหน่งนี้ไม่ต้องกล่าวถึง

รัฐมนตรีมหาดไทย ก็เหมาะสมกับฉายาของกระทรวงนี้ที่เราเรียกกันว่า กระทรวงมาเฟีย

รัฐมนตรีที่เป็นข้าราชการประจำ ไม่ถึงชั้นปลัดกระทรวงได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี 8 คน คือ องนายกรัฐมนตรี คนที่ 2 รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย รัฐมนตรีต่างประเทศพาณิชย์ยุติธรรม ศึกษาธิการ สาธารณสุข และทบวงมหาวิทยาลัย

รองนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 และรัฐมนตรียุติธรรม เป็นเพื่อนส่วนตัวของนายกรัฐมนตรี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเลือกมาจากประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน รัฐมนตรีว่าการเกษตรเป็นข้าราชการบำนาญอายุ 77 ปี รัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรมเป็นข้าราชการบำนาญทหารอากาศ รัฐมนตรีว่าการคมนาคมเป็นเจ้าของรถเมล์ขาวมาแต่เดิม ทั้ง 4 คนนี้ คงจะทำหน้าที่ได้ตามสมควร ตามความประสงค์ของสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แต่เท่าที่ได้ทราบมา นายกรัฐมนตรีได้ทาบทามผู้อื่นก่อน และได้รับการปฏิเสธมาหลายราย

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีโกหกเก่ง และโกหกจนได้ดี

47. คนอื่นๆ ที่โกหกเก่ง แต่น่าเสียใจที่ยังไม่ได้ดี คือ ศาสตราจารย์ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ อาคม มกรานนท์ ทมยันตี วัฒนา เขียววิมล อุทาร สนิทวงศ์ ประหยัด ศ.นาคะนาท และเพื่อน ๆ ของเขาอีกหลายคนที่เป็นนักหนังสือพิมพ์ นักพูดวิทยุและโทรทัศน์

อะไรจะเกิดขึ้น

48. ผู้เขียนได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไว้ เมื่อเดือนกันยายน ซึ่งบางตอนได้นำมาถ่ายทอดใน Far Easten Economic Review ว่า ถ้าเกิดปฏิวัติรัฐประหารขึ้นในประเทศไทยจะมีนักศึกษา อาจารย์ นักการเมือง กรรมกร ชาวนาชาวไร่ เข้าป่าไปสมทบกับพวกคอมมิวนิสต์ (ทั้ง ๆ ที่ไม่เป็นคอมมิวนิสต์) อีกเป็นจำนวนมาก เท่าที่ฟังดูในระยะยี่สิบวันที่แล้วมา ก็รู้สึกเป็นจริงตามนั้น ยิ่งมีเหตุร้ายแรงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งกระทบกระเทือนทั่วไปหมด มิใช่แต่นักศึกษาธรรมศาสตร์เท่านั้น ยิ่งมีช่องทางเป็นจริงมากขึ้น

49. ข้อที่น่าเสียดายสำหรับคนรุ่นหนุ่มสาวที่ใฝ่ในเสรีภาพก็คือ เหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ไม่เปิดโอกาสให้เขามีทางเลือกที่ 3 เสียแล้ว ถ้าไม่ทำตัวสงบเสงี่ยมคล้อยตามอำนาจเป็นธรรม ก็ต้องเข้าป่าไปทำงานร่วมกับคอมมิวนิสต์ใครที่สนใจในเรื่องสันติวิธี ประชาธิปไตย และเสรีภาพ จะต้องเริ่มต้นใหม่ เบิกทางให้แก่หนุ่มสาวรุ่นนี้และรุ่นต่อๆ ไป

50. ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า ทหารทั้งหลายยังแตกกัน และยังแย่งทำรัฐประหาร สภาพการณ์ก็คงจะเป็นอยู่เช่นนั้น แม้ว่าตัวการคนหนึ่งจะหลบไปบวช และอีกคนหนึ่งไปญี่ปุ่น จะทำอย่างไรให้เกิด “ความสามัคคี” ในหมู่ทหาร ซึ่งหมายความว่าเป็น “คความสามัคคีในชาติ” ได้ น่าคิดว่าบทบาทของจอมพลถนอม กิตติขจร น่าจะยังมีอยู่ อาจจะสึกออกมารับใช้บ้านเมืองเพื่อสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นได้ อย่างที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาหลายครั้งหลายหน เช่น พระมหาธรรมราชา เป็นต้น แล้วจอมพลประภาส จารุสเถียร เล่า พันเอกณรงค์ กิตติขจร เล่า

51. เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรทางด้านการเมืองก็ตาม เป็นที่แน่ชัดว่า โครงการสร้างระบบประชาธิปไตย 3 ระยะ 12 ปี ของคุณธานินทร์ กรัยวิเชียร กับพวก คงจะไม่เป็นไปตามนั้น “เสี้ยนหนามศัตรู” ของรัฐบาลนี้มีหลายทางหลายฝ่ายนัก อะไรจะเกิดขึ้นได้ และสภาวะบ้านเมืองก็คงจะอำนวยให้เกิดขึ้นได้หลายอย่าง ข้อที่แน่ชัดก็คือ สิทธิเสรีภาพพื้นฐานจะถูกบั่นทอนลงไป สิทธิของกรรมกร ชาวไร่ชาวนา จะด้อยถอยลงและผู้ที่จะได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด คือประชาชนพลเมืองธรรมดานั่นเอง

52. เมื่อกรรมกรไม่มีสิทธิโต้แย้งกับนายจ้าง เมื่อการพัฒนาชนบทแต่ละชนิดเป็นการ “ปลุกระดมมวลชน” เมื่อมีการปฏิรูปที่ดินเป็นสังคมนิยม เมื่อราคาข้าวจะต้องถูกกดต่ำลง เมื่อไม่มีผู้แทนราษฎรเป็นปากเสียงให้ราษฎร เมื่อผู้ปกครองประเทศเป็นนายทุนและขุนศึก การพัฒนาประเทศและการดำเนินงานเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ คงจะเป็นไปอย่างเดิม ตามระบบที่เคยเป็นมาก่อน 2516 ฉะนั้นพอจะเดาได้ว่า ปัญหาเศรษฐกิจของประชาชนจะมีมากขึ้นทุกที โดยช่องว่างระหว่างคนมีกับคนจนจะกว้างขึ้น ชนบทและแหล่งเสื่อมโทรมจะถูกทอดทิ้งยิ่งขึ้น ส่วนชาวกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ๆ ที่ร่ำรวยอยู่แล้วจะรวยยิ่งขึ้น ความฟุ้งเฟ้อจะมากขึ้นตามส่วน

การปฏิรูปการศึกษา การกระจายสาธารณสุขไปสู่ชนบท การกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นอย่างดี ก็จะหยุดชะงัก ปัญหาสังคมของประเทศไทยจะมีแต่รุนแรงขึ้น

53. ทางด้านการต่างประเทศ อเมริกาคงจะมีบทบาทมากขึ้นในประเทศ โดยใช้เป็นหัวหอกต่อสู้กับประเทศคอมมิวนิสต์เพื่อนบ้านของเรา ประเทศต่างๆ ที่เป็นภาคีในองค์การอาเซียนคงดีใจ เพราะได้สมาชิกใหม่ที่เป็นเผด็จการด้วยกัน แล้วยังเป็นด่านแรกต่อสู้คอมมิวนิสต์ให้เขาด้วย

ภายในรัฐบาลไทยเอง ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคอมมิวนิสต์คงจะไม่ราบรื่นนัก จะเห็นได้จากการที่เอาปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และอธิบดีกรมการเมืองออกจากราชการ นัยว่าพวกทหารไม่ชอบ เพราะไปทำญาติดีกับญวน เขมร และลาว โดยสมรู้ร่วมคิดกับรัฐมนตรีต่างประเทศคนก่อน การ “ปราบ” ญวนอพยพคงจะมีต่อไปการวิวาทกับลาวและเขมรเรื่องเขตแดนหรอเรื่องอื่นๆ ที่หาได้ง่าย คงจะเป็นเรื่องจริงจังขึ้นมา ปัญหามีอยู่ว่า จะเป็นเรื่องวิวาทเฉพาะประเทศเล็กๆ ด้วยกันอย่างเดียว หรือจะชักนำมหาอำนาจให้เข้ามาร่วมทำให้ลุกลามต่อไป

54. ผู้เขียนรู้สึกว่าเท่าที่เขียนมานั้น ค่อนข้างจะเป็นเรื่องเศร้าน่าสลด อนาคตมืดมน
ใครเห็นแสงสว่างบ้างในอนาคต โปรดบอก

28 ตุลาคม 2519

ภาคผนวก

ฏ. ครม. ชุด ม.ร.ว. เสนีย์ และรัฐบาลธานินทร์ ไกรวิเชียร กับใครเป็นใครสมัย 6 ตุลา 2519
คณะรัฐมนตรีคณะที่ 39 ของไทย (ครม.หลัง 6 ตุลา 19)
(8 ตุลาคม พ.ศ. 2519 – 19 ตุลาคม พ.ศ. 2520)
นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็น นายกรัฐมนตรี ประกาศพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2519 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงลงพระปรมาภิไธยในประกาศ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
ในวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2519 มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ดังนี้
1. นายอัมพร จันทรวิจิตร เป็น รองนายกรัฐมนตรี
2. นายดุสิต ศิริวรรณ เป็น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
3. พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
4. นายสุพัฒน์ สุธาธรรม เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
5. นายอุปดิศร์ ปาจรียางกูร เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
6. นายอินทรีย์ จันทรสถิตย์ เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
7. คุณหญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
8. นายสุธี นาทวรทัต เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
9. นายสมัคร สุนทรเวช เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
10. นายเสมา รัตนมาลัย เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
11. นายภิญโญ สาธร เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
12. เรือโทยงยุทธ สัจจวาณิชย์ เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
13. พลอากาศโทเพิ่ม ลิมปสวัสดิ์ เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
14. นางวิมลศิริ ชำนาญเวช เป็น รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ
15. พลเอกเล็ก แนวมาลี เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
16. นายคนึง ฤๅชัย เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

รายชื่อคณะรัฐมนตรี คณะที่ 37 ของไทย
(20 เมษายน พ.ศ.2519 – 23 กันยายน พ.ศ. 2519)
ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็น นายกรัฐมนตรี ประกาศพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2519 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงลงพระปรมาภิไธยในประกาศ นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
1. พลตรี ประมาณ อดิเรกสาร เป็นรองนายกรัฐมนตรี
2. นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี
3. พลอากาศเอกทวี จุลทรัพย์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี
4. นายสุรินทร์ มาศดิตถ์ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
5. นายชวน หลีกภัย เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
6. พลเอก กฤษณ์ สีวะรา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
7. นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
8. นาย พิชัย รัตตกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
9. นาย พลตรีประมาณ อดิเรกสาร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
10. นายทวิช กลิ่นประทุม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

รายชื่อคณะรัฐมนตรี คณะที่ 38 ของไทย (ครม.ก่อน 6 ตุลา 19)
(25 กันยายน พ.ศ. 2519 – 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519)

ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2519 มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็น นายกรัฐมนตรี ประกาศพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2519 สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงลงพระปรมาภิไธยในประกาศ นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภา เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
1. พลตรีประมาณ อดิเรกสาร เป็นรองนายกรัฐมนตรี
2. นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี
3. พลอากาศเอกทวี จุลทรัพย์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี
4. นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี
5. นายสุรินทร์ มาศดิตถ์ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
6. นายนิธิพัฒน์ ชาลีจันทร์ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
7. พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
8. นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
9. นายพิชัย รัตตกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
10. พลตรีประมาณ อดิเรกสาร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
11. นายทวิช กลิ่นประทุม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
12. นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
13. หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
14. นายชวน หลีกภัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
15. พลตรีศิริ สิริโยธิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
16. พลอากาศเอกทวี จุลทรัพย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
17. พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
18. นายนิพนธ์ ศศิธร เป็นรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ
19. นายนิธิพัฒน์ ชาลีจันทร์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
20. นาวาอากาศโททินกร พันธุ์กระวี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
21. นายเล็ก นานา เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
22. นายไกรสร ตันติพงศ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
23. นายอนุวรรตน์ วัฒนพงศ์ศิริ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
24. นายบุญเกิด หิรัญคำ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
25. นายประชุม รัตนเพียร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
26. นายคล้าย ละอองมณี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
27. นายขุนทอง ภูผิวเดือน เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
28. นายแผน สิริเวชชะพันธ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
29. นายดาบชัย อัคราช เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
30. นายชูสง่า ฤทธิประศาสน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
31. นายสิดดิก สารีฟ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
32. นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
33. นายปรีชา มุสิกุล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ใครเป็นใครในสมัย 6 ตุลา 2519
อธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.อ.ศรีสุข มหินทรเทพ
รองอธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ
พ.ต.ท.สล้าง บุนนาค รองผู้กำกับการ 2 กองปราบปราม
(ตำรวจปราบจลาจลเป็นแผนกหนึ่ง (แผนก 5) ของกองกำกับการ 2 กองปราบปราม) นายตำรวจระดับแถวหน้ามีอาทิ พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น พล.ต.ท.ณรงค์ มหานนท์ พล.ต.ต.เสน่ห์ สิทธิพันธ์ พล.ต.ต.ยุทธนา วรรณโกวิท
ผู้บังคับการกองปราบปราม พล.ต.ต.สุวิทย์ โสตถิทัต
หัวหน้าลูกเสือชาวบ้าน พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัญ
หัวหน้ากระทิงแดง พล.ต.สุดสาย หัสดิน ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการ กอ.รมน. และนายเฉลิมชัย มัจฉากล่ำ
ผู้นำสงฆ์ต่อต้านฝ่ายซ้าย กิตติวุฑโฒภิกขุ
ผู้นำนวพล นายวัฒนา เขียววิมล
ลักษณะของกองกำลังติดอาวุธที่ลงมือปราบปรามนักศึกษาประชาชน เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มีแต่ตำรวจไม่มีทหาร เช่น นครบาล, แผนกอาวุธพิเศษ (สวาท), สันติบาล, กองปราบปราม, ตำรวจแผนกปราบจลาจล (คอมมานโด), ตำรวจพลร่มตระเวนชายแดน จากค่ายนเรศวร หัวหิน

ผู้บัญขาการทหารสูงสุด พลเรือตรีสงัด ชะลออยู่
ผบ.ทบ. พลเอกเสริม ณ นคร (รับตำแหน่งต่อจากพลเอกบุญชัย บำรุงพงศ์)
ผบ.ทร. พลเรือเอกอมร ศิริกายะ
ผบ.ทอ. พลอากาศเอกกมล เตชะตุงคะ

อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์
นายก อมธ. นายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ
นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ นายอเนก เหล่าธรรมทัศน์
นายกองค์การนักศึกษารามคำแหง นายมหินทร์ ตันบุญเพิ่ม
เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ นายสุธรรม แสงประทุม
นายวิโรจน์ ตั้งวานิชย์ และนายอภินันท์ บัวหภักดี 2 นศ. มธ. ผู้แสดงละครล้อเลียนการกลับเข้าประเทศไทยของสามเณรถนอม กิตติขจร และถูกนำไปกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมฯ อันนำไปสู่การปราบปรามนักศึกษาและประชาชนด้วยอาวุธร้าย