วันอาทิตย์, กันยายน 11, 2559

6 ตุลา 2519 เราไม่ลืม - รำลึก 40 ปี 6 ตุลา - การฆ่าฝ่ายซ้าย หรือคอมมิวนิสต์บาปไหม?





ถาม : การฆ่าฝ่ายซ้าย หรือคอมมิวนิสต์บาปไหม?

ตอบ : อันนั้นอาตมาก็เห็นว่าควรจะทำ คนไทยแม้จะนับถือพุทธก็ควรจะทำ แต่ก็ไม่ชื่อว่าถือเป็นการฆ่าคน เพราะว่าใครก็ตามที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นั้นไม่ใช่คนสมบูรณ์ คือต้องตั้งใจว่าเราไม่ได้ฆ่าคนแต่ฆ่ามารซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน

คือคำตอบของ “พระ” รูปหนึ่ง เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2519 ผ่านคำสัมภาษณณ์ในนิตยสารจัตุรัส

พูดอย่างตรงไปตรงมา มันคือสัญญาณหนึ่งที่บอกกับคนไทยว่า
“ฆ่าคน(บางกลุ่ม)ไม่บาป”
--------

ไม่ว่าในวันที่ 6 ตุลาคม 2519
จะมีคอมมิวนิสต์ที่ธรรมศาสตร์จริงหรือไม่ก็ตาม
เราก็ไม่สามารถจะทำใจให้เชื่อได้ว่า
การมีคอมมิวนิสต์ในธรรมศาสตร์ทำให้การฆ่าคนที่ธรรมศาสตร์เป็นเรื่องถูกต้อง

เราไม่สามารถทำใจให้เชื่อได้ว่า
“การฆ่าคน” ในบางกรณี เป็นเรื่อง “หยวนๆ” กันได้

ฆ่าแล้วก็แล้วไป เพราะเป็นผู้ชายที่รักผู้ชาย
ฆ่าแล้วก็แล้วไป เพราะเป็นคนเลว
ฆ่าแล้วก้แล้วไป เพราะเป็นคนดำ
ฆ่าแล้วก็แล้วไป เพราะเป็นคอมมิวนิสต์

ทั้งหมดทั้งหลายเหล่านี้ “เราไม่เห็นด้วย”

เราเชื่อว่า สังคมควรมีวิจารณญาน
มีความอดทน อดกลั้น
มีความเห็นอกเห็นใจต่อกัน

รู้จักเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในใจของคนอื่น
รู้ว่าตัวเองไม่ใช่คนที่จะไปตัดสินคนอื่นได้ โดยเอาตัวเองเป็นบรรทัดฐาน

เพราะเราทุกคนล้วนเกิดมา บนพื้นฐานการเลี้ยงดูและความเชื่อที่ต่างกัน

แม่อาจจะให้เรากินข้าวไข่เจียวตอนเช้า
ในขณะที่ยายเพื่อนซื้อโจ๊กให้มันกิน

พ่ออาจจะตีเราด้วยมือ แต่พ่อคนอื่นอาจจะใช้ไม้เรียว

เราต้องไม่ลืมว่า

พ่อของจารุพงษ์ ทองสินธุ์ ใช้เวลาที่เหลืออยู่ทั้งชีวิตตามหาลูก
ด้วยความเชื่อมั่นว่า “ตราบใดที่ยังไม่พบศพ ย่อมมีความหวัง”


เราต้องไม่ลืมว่า

พ่อของวิชิตชัย อมรกุล ทราบว่าศพที่ต้นมะขามสนามหลวงคือลูกชายของตน

เพียงเพราะเศษรองเท้ากีฬาคู่โปรดผ่านการซ่อมแล้วซ่อมอีกที่เหลือติดอยู่กับศพ

เราต้องไม่ลืมว่า “จารุพงษ์ ทองสินธุ์”
นอกจากจะเป็นคนที่ถูกลากไปมาบนสนามบอลธรรมศาสตร์แล้ว
ยังเป็นคนที่วิ่งกลับไปที่จุดที่อันตรายที่สุดในเช้าวันนั้น
เพื่อบอกให้ทุกคนรีบหนีออกไปทางอีกประตูของมหาวิทยาลัย

เป็นเจ้าของรอยยิ้มอันสดใส
เป็นนักทำกิจกรรมที่เพื่อนๆรัก
และเป็นคนอ่อนโยน

เราต้องไม่ลืมว่า “วิชิตชัย อมรกุล”

นอกจากจะเป็นคนที่ถูกนำร่างมาแขวนที่สนามหลวงแล้วฟาดซ้ำแล้วซ้ำอีก
ยังเป็นคนชอบเล่นกีฬา
เป็นคนมีน้ำใจ
และเป็นที่รักของเพื่อนๆ

ในแง่ของความทรงจำร่วมสมัย

เราอยากให้รอยยิ้มอันสดใสของจารุพงษ์ และภาพร่างที่ถูกแขวนของวิชิตชัย

เป็นเสมือนเครื่องเตือน ให้พวกเราไม่ลืมว่า
“ไม่ควรมีใครตายเพื่อบูชาความเชื่อของคนอื่น”

เราอยากให้ความทรงจำดีๆเกี่ยวกับจารุพงษ์และวิชิตชัยเตือนเรา

“นี่ก็คนเหมือนกัน”

คนจริงๆ ที่ตอนเกิดมาก็เป็นทารกแบเบาะทุกคนอยากอุ้ม
คนจริงๆ ที่พ่อแม่เขารักเขา ไม่ต่างกับพ่อแม่รักเรา
เป็นคน ที่เกิดในยุคอื่น เวลาอื่น อ่านหนังสือแบบอื่น

แต่เป็นคนเหมือนกัน

โลกเองเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา

ครั้งหนึ่งสังคมไทยเคยเกลียดคอมมิวนิสต์ มีกฎหมายกำจัดคอมมิวนิสต์
ทุกวันนี้เราอ้าแขนเปิดรับจีนให้เขามาทำธุรกิจกับเรา
นักท่องเที่ยวชาวจีนเดินไปเดินมาแทบจะทุกที่

เราอยากบอกให้ทุกคนรู้ว่า

“ความแตกต่าง” ไม่ใช่เรื่องใหม่
และความแตกต่าง “ไม่ใช่เรื่องผิด”

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ความแตกต่าง “ต้องไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้การฆ่าคนเป็นเรื่องชอบธรรม”

ในวาระ 40 ปี 6 ตุลา 2519

ขอให้ทุกคนไม่ลืมความแตกต่างนี้
และขอให้ทุกคนมีหัวใจที่ยิ่งใหญ่
เพื่อให้เราอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องฆ่ากันอีก


ด้วยความเคารพต่อสังคมไทย
มาร่วมเป็นส่วนหนึ่ง
เราไม่ลืม 6 ตุลา 2519

#เราไม่ลืม


ข้อมูลของพี่จารุพงษ์ ทองสินธุ์ ไปที่ : https://www.youtube.com/watch?v=_QyGp-68OLAและ เพจ “จารุพงษ์ ทองสินธุ์”

ข้อมูลของพี่วิชิตชัย อมรกุล ไปที่ : http://www.2519.net/newsite/2016/วิชิตชัย-อมรกุล-วีรชน-๖-ต-2/


6 ตุลา 2519 เราไม่ลืม

.....