วันศุกร์, กันยายน 02, 2559

เหลี่ยมโจร : กมธ.การเมือง สปท. ชง กม.เลือกตั้ง กรธ. เสนอยุบ กกต.จังหวัด ติดดาบ 5 เสือ กกต. สั่งทหาร-ตร.คุมแทน แทรกบทเฉพาะกาล เลือกตั้ง’60 ให้ คสช.ช่วยควบคุมดูแล





ชงกรธ.ยุบกกต.จังหวัด ให้ทหาร-คสช.คุมเลือกตั้ง คนแจ้งเบาะแสซื้อเสียงรับ1แสน


ที่มา มติชนออนไลน์
1 ก.ย. 59

กมธ.การเมือง สปท. ชง กม.เลือกตั้ง กรธ. เสนอยุบ กกต.จังหวัด ติดดาบ 5 เสือ กกต. สั่งทหาร-ตร.คุมแทน แทรกบทเฉพาะกาล เลือกตั้ง’60 ให้ คสช.ช่วยควบคุมดูแล

เมื่อวันที่ 1 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปด้านการเมืองของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธาน ได้จัดทำรายงานเสนอต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เรื่องข้อเสนอประเด็นสำคัญเพื่อการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งหมด 11 ส่วน 27 หน้า โดยมีสาระสำคัญดังนี้ ส่วนที่ 1 เสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดหรือดำเนินการให้กระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้ง ส.ส. การได้มาซึ่ง ส.ว. การเลือกตั้งสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น และการออกเสียงประชามติ ส่วนที่ 4 ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ควรกำหนดโทษตัดสิทธิบางประการแก่ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยเฉพาะข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ต้องรับโทษมากกว่าประชาชนทั่วไป ด้วยการต้องรับโทษทางวินัยด้วย ส่วนที่ 5 ผู้สมัครและการรับสมัครเลือกตั้งควรกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกระดับต้องแสดงตนก่อนมีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 1 ปี และผู้สมัครต้องเข้าร่วมอบรมหลักสูตรที่จัดโดย กกต. เช่น บทเรียนเรื่องความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย

ส่วนที่ 6 ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งและวิธีการหาเสียงเลือกตั้ง เสนอให้ลดภาระค่าใช้จ่ายของพรรคการเมือง และผู้สมัครรับเลือกตั้งในการหาเสียง โดยให้รัฐสนับสนุนหรือช่วยเหลือการหาเสียงของผู้สมัคร อาทิ การพิมพ์ป้ายโฆษณาหาเสียง การใช้ยานพาหนะ ให้เป็นไปตามที่ กกต.กำหนด ขณะเดียวกันให้ กกต.จัดทำรวมเล่มข้อมูลผู้สมัครแจกครัวเรือนในเขตเลือกตั้งทุกครัวเรือน กำหนดให้มีมาตรการบังคับอย่างจริง ห้ามผู้สมัคร และ ส.ส.บริจาคช่วยประเพณี งานศพ งานบวช งานแต่ง ภายในเขตเลือกตั้งของตน ส่วนที่ 7 การลงคะแนนเลือกตั้ง ขยายเวลาลงคะแนนเป็น 08.00-18.00 น. ให้มีการพัฒนาระบบลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ สามารถตรวจสอบการใช้สิทธิผ่านทางอินเตอร์เน็ตภายหลังลงคะแนนได้ ส่วนที่ 10 ในคดีเลือกตั้ง ให้ประชาชนมีฐานะผู้เสียหายสามารถร้องคัดค้านการเลือกตั้งต่อ กกต.ได้

ขณะเดียวกัน เสนอให้ยกเลิก กกต.จังหวัด เพื่อให้ กกต.มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการมีอำนาจสั่งให้ฝ่ายทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองของกระทรวงมหาดไทย รวมถึงข้าราชการอื่นช่วยเหลือ กกต.ระหว่างเวลาการเลือกตั้ง โดยมี กกต.เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด นอกจากนี้ให้เพิ่มอำนาจ กกต. และเจ้าหน้าที่สืบสวนของ กกต.มีสถานะเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สำหรับการสอบสวนการเลือกตั้ง ให้พนักงานรวมเอกสาร 15 วัน ก่อนส่งให้ กกต.ฟ้องศาลภายในเขตอำนาจอีก 15 วัน แล้วให้ศาลพิจารณาเพิกถอนคำสั่งหรือไม่ภายใน 30 วัน ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง แล้ว กกต.เห็นว่ามีผลทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ให้ร้องต่อศาลฎีกาสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตลอดชีวิต และหากเป็นการกระทำผิดหรือรู้เห็นของหัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง และไม่ยับยั้งแก้ไข ให้ถือว่าพรรคการเมืองกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครอง ไม่เป็นไปตามวิถีที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ ให้ กกต.ดำเนินการ พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง ส่วนประชาชน หากแจ้งพบการทุจริตแล้วคดีถึงที่สุดแล้วให้ได้รับเงินตอบแทนไม่น้อยกว่า 100,000 บาท

ส่วนที่ 11 การคัดค้านการเลือกตั้ง การจะวินิจฉัยให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ หากคะแนนต่างกันมาก แล้วการเลือกตั้งใหม่ไม่มีผลเปลี่ยนแปลง ก็ไม่ควรมีการเลือกตั้งใหม่ ให้ไปเอาผิดทางอาญาและแพ่งแก่ผู้กระทำผิดแทน การกำหนดโทษ ให้มีมาตรการทางอาญา ทางแพ่ง และทางการเมืองอย่างรุนแรงและรวดเร็ว เช่น โทษตัดสิทธิตลอดลงสมัครเลือกตั้งชีวิต โทษจำคุก 1-10 ปี ไม่รอลงอาญา และโทษปรับ 20 ล้านบาท อายุความ 20 ปี และสุดท้าย บทเฉพาะกาล ควรกำหนดให้การเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งต่อไป ในปี 2560 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะผู้ทำรัฐประหารจะต้องมีบทบาทอย่างสำคัญ ป้องกันคำครหาว่าเป็นการปฏิวัติที่ล้มเหลว จะต้องร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ กกต.ในการควบคุมและดำเนินการการเลือกตั้ง