วันพุธ, กันยายน 07, 2559

เดอะอีสานเรคคอร์ด : บทสนทนาแบบไม่มีกรงขังกั้นกับแบงค์ ปฏิภาณ ลือชา อดีตผู้ต้องขังในคดี 112 “เจ้าสาวหมาป่า”






ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม: หมอลำหมายเลข 3364/57 ผู้ขับร้องเยียวยาชีวิตหลังกรง

ที่มา The Isaan Record
07/09/2016

“หมอลำ” อันเป็นศิลปะการแสดงที่แพร่หลายและได้รับความนิยมในภาคอีสาน ไม่สามารถทราบได้ว่าจุดเริ่มต้นนั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาใด แต่มันได้เข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตคนอีสานเกือบทุกยุคทุกสมัยจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะงานประเพณีแห่งความสุขหรืองานประเพณีแห่งความเศร้าโศก หมอลำต่างถูกว่าจ้างให้ไปแสดงทั้งนั้น การแสดงขับร้องพร้อมฟ้อนกันอย่างสนุกสนาน ยังแอบแฝงเนื้อหาและองค์ความรู้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น หลักธรรมคำสอนในพุทธศาสนา, บทร้องปลอบประโลมใจหนุ่มสาวคราวแรกรัก ไปจนถึงบอกเล่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและวิถีชีวิตในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของคนอีสานได้อย่างลงตัว ถือว่าเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมอีสานทั้งอดีตและปัจจุบันได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญวิธีการแสดงหมอลำถูกปรับให้เข้ากับยุคสมัยอยู่เสมอ

สองปีที่ผ่านมาการแสดงหมอลำได้ถูกขับขานภายในกรงขังของเรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือ แบงค์ อดีตผู้ต้องขังในคดีอาญามาตรา 112 จากการร่วมแสดงละครเวทีเสียดสีการเมืองเรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” ซึ่งในระหว่างถูกคุมขังนั้น เขาได้ใช้การร้องหมอลำปลอบประโลมตัวเองและเพื่อนพี่น้องชาวอีสานซึ่งต่างตกอยู่ในสภาวะที่เขาเรียกว่า “สิ้นไร้ไม้ตอกจากความเป็นนักโทษ”

นี่คือบทสนทนาแบบไม่มีกรงขังกั้นกับแบงค์ ปฏิภาณ ลือชา (ชื่อในวงการ) หมอลำประจำวง “บักหนวดเงินล้าน” เผยตัวตนของเขาในฐานะหมอลำ ศิลปะของสามัญชนคนอีสาน

ปฐมบทสู่การเป็นหมอลำ

แบงค์จำไม่ได้ว่าตัวเองได้รู้จักหมอลำตั้งแต่เมื่อใด เพราะการได้เติบโตมาในชนบทของจังหวัดสกลนคร จึงคลุกคลีกับเสียงลำตั้งแต่จำความได้แล้ว เขาได้ไปเที่ยวฟังหมอลำตามงานบุญเทศกาลต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง ตอนนั้นสำหรับเขาการร้องหมอลำยังเป็นเพียงกิจกรรมเพื่อความสนุกสนานตามภาษาวัยรุ่นมัธยมฯ ในชมรมดนตรีพื้นเมืองของเขาและเพื่อนๆ เท่านั้น จนเมื่อแบงค์เข้าศึกษาต่อที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สาขาดนตรีการแสดงพื้นบ้าน วิชาเอกโปงลาง (แล้วเปลี่ยนเป็นเอกหมอลำ) ทำให้เขาได้เข้าถึงจิตวิญญาณการแสดงหมอลำมากขึ้น บวกกับในช่วงนั้นทางคณะกำลังขาดนักร้องหมอลำผู้ชาย แบงค์จึงคิดจะเป็นหมอลำของคณะด้วย จนในที่สุดแบงค์ได้โอกาสเข้าฝึกเป็นหมอลำอย่างจริงจังตามคำชักชวนของอาจารย์ผู้สอนศิลปะแขนงนี้ “ชื่อมันก็บอกว่าเหมือนเรียนหมอ” ซึ่งต้องเข้าใจในศาสตร์และศิลป์การลำอย่างลึกซึ้ง กว่าจะเอาให้ดีจริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เปรียบได้กับการเรียนเพื่อเป็นแพทย์

“พาวเวอร์แบงค์มันดีจั่งได๋ เว้าออกไปให้เขาได้ฮู้” แบงค์หยิบ power bank (แบตเตอรี่สำรอง) ที่วางบนโต๊ะม้าหินอ่อนที่ซึ่งเรานั่งพูดคุยกันขึ้นมายกตัวอย่าง ว่าหากจะลำเรื่องพาวเวอร์แบงค์ต้องเข้าใจคุณสมบัติหรือความเป็นตัวมันให้หมด ถึงจะสามารถบอกประโยชน์ของพาวเวอร์แบงค์ออกมาได้

“ทางโลกและทางธรรมคุณต้องศึกษานะคุณถึงแตกฉาน ทั้งประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วิทยาศาสตร์ โหราศาสตร์ อะไรต่างๆ มันเลยทำให้เราต้องหมั่นศึกษาและเข้าใจสิ่งต่างๆ ที่เราต้องการลำ”

นอกจากเงินที่ได้จากการรับงานเดินสายแสดงหมอลำกับทางวงประจำซึ่งทำให้สามารถส่งเสียตัวเองเรียนได้แล้ว การเรียนหมอลำยังให้แบงค์ได้เข้าใจถึงการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของคนอีสาน เพราะหมอลำเป็นศิลปะที่กลั่นออกมาจากประสบการณ์ของคนธรรมดา “หมอลำมันมีการต่อสู้อยู่ในนั้น มันเป็นการยืนยันศาสตร์เจ้าของ ยืนยันในความเป็นมนุษย์ของตัวเองนี้คือจิตวิญญาณของหมอลำนี้คือโซล (soul) เราเลยมอบกายถวายชีวิตให้กับการแสดงตรงนี้มากที่สุดเลย”

สิ่งที่คุกพรากไปไม่ได้

“ในคุกในตารางสิ่งที่ปลุกปลอบเราคือหมอลำนะ” ระหว่างเวลากว่าสองปีที่อยู่ในเรือนจำนั้น แบงค์ได้แต่งเนื้อร้องหมอลำเพื่อร้องขับกล่อมให้กำลังใจ ทั้งแก่ตนเองและเพื่อนนักโทษคนอื่นๆ จากสภาวะที่แบงค์เรียกว่า “สิ้นไร้ไม้ตอก” ของการเป็นนักโทษ กลอนลำมากกว่า 80 บทที่แบงค์แต่งขึ้นเพื่อบอกเล่าชีวิตในเรือนจำและเรื่องราวอื่นๆ ที่เขาประสบ ถูกบันทึกลงในสมุดที่ซื้อจากร้านค้าในเรือนจำโดยใช้เงินที่มิตรสหายนอกเรือนจำฝากเข้ามาให้ใช้จ่าย

“เป็นนอชอ คือคำเอิ้นนักโทษ เป็นนอชอคำนำหน้าบอกราคาว่าต้อยต่ำ
หมู่สหายมาเยี่ยมเบิ่งใจว่าญังบ่ เอาข่าวมาส่งให้ไทเฮือนพุ้นกะทุกข์ใจ
แม่ลาวกินบ่ได้นอนบ่หลับ นับมื้อจ่อย ตื่นขึ้นมาลาวกะตั้งตาคอย
หลงแนมทางลูกกลับบ้านมาถึงแล้วล่ะไปน้อ
เป็นนอชอมีลูกกรงเป็นบ้าน คือสถานอันต้อยต่ำ”

เสียงขับร้องกลอนลำดังขึ้นระหว่างการสนทนา โดยเป็นท่อนหนึ่งในกลอนที่ชื่อ ‘หัวอก นช.’ ที่แบงค์แต่งไว้ขณะอยู่ในเรือนจำ เพื่อระบายความรู้สึกของเขาช่วงที่ขาดอิสรภาพในเรือนจำ “เห็นไหมถ้าไม่เป็น นช. คงไม่รู้ว่ามันเป็นยังไง หมอลำมันบอกสถานะตัวตนเราได้ อย่างน้อยก็เหลือตรงนี้ที่ยังอยู่กับเรา ผมตอบไม่ได้หรอกว่ามันเป็นยังไงต้องไปสัมผัสเอง”

นอกจากจะใช้หมอลำในการปลอบประโลมตัวเองแล้ว แบงค์ขับร้องหมอลำให้กับเพื่อนผู้ร่วมชะตากรรมในสถานที่ที่เรียกว่า “คุก” ซึ่งหลายคนก็เป็นคนอีสานเหมือนกัน แบงค์อธิบายความยุ่งยากของการที่คนต่างจังหวัดต้องมาติดคุกในกรุงเทพฯ ทั้งระยะทางที่ไกลจากถิ่นที่อยู่ หลายคนไม่ค่อยมีญาติพี่น้องมาเยี่ยมบ่อยนักจนขั้นถึงขนาดไม่มีญาติมาหาเลยก็มี ทำให้กลุ่มคนอีสานข้างในนั้นพยายามรวมกลุ่มเพื่อคอยดูแลซึ่งกันและกันในเรือนจำ โดยเขามองว่าตัวเองนั้นยังโชคดีกว่าหลายคน เพราะยังมีน้าสาวที่ทำงานโรงงานในกรุงเทพฯ และเพื่อนๆ ทีมงานนักกิจกรรมแวะเวียนมาเยี่ยมอยู่ประจำ

“ในนั้นก็ไม่ค่อยมีการแสดงอะไร ก็ได้คนกลุ่มเล็กๆ นี้ละมาฟังลำ อ้ายๆ เจ้าเป็นหมอลำแม่นบ่ มาลำให้ฟังจั๊กกลอนแน พอได้ย้อมใจกันแน เฮาก็ลำไปถ่อนั่นแหลว”

จากเคยแสดงบนเวทีแสงสีกลายมาเป็นกิจกรรมรวมกลุ่มเล็กๆ ในระหว่างว่างเว้นจากกิจวัตรและการงานประจำวันภายในเรือนจำ หลายคนที่ฟังถึงกับร่ำไห้ออกมาด้วยความคิดถึงบ้าน คนที่ได้ฟังบอกกับแบงค์ว่า “มันเข้าไปในหัวจิตหัวใจเลยนะ ด้วยเนื้อหาสาระที่มันอ่อนมันคล้อย” บางคนที่ถูกใจการแสดงของแบงค์มาก ถึงกับขอที่อยู่ขอแบงค์เก็บบันทึกไว้ เพื่อจะส่งนามบัตรของเขาไปให้ในอนาคตเมื่อตนได้รับอิสรภาพ

นอกจากนั้นแบงค์ยังมีลูกศิษย์เป็นหนุ่มอีสานจากจังหวัดร้อยเอ็ด ที่มาขอให้ถ่ายทอดวิชาหมอลำให้ แบงค์ก็บอกว่าไม่ได้หวงห้ามอะไรเพราะหมอลำเป็นศาสตร์ของประชาชนอยู่แล้ว ไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไรมาก ขอแค่มีความเป็นคนก็เรียนรู้ได้แล้ว ตลอดสองปีทำให้หนุ่มร้อยเอ็ดคนนั้นมีความรู้ความสามารถทางหมอลำเพิ่มขึ้นได้อย่างดี โดยแบงค์ยังหวังว่าจะได้ลำกลอนด้วยกันอีกเมื่อคราวที่เขาออกจากห้องขัง

“โอ้โอ้ย บุญเอ้ย บุญผลาพาเศร้า หัวอกเฮาสิแตกแหว่ง
โอ้ย…โชคชะตามากลั่นแกล้ง ให้นอนฮ้องก่องน้ำตา”

ส่วนหนึ่งของกลอนลำ “หัวอกนช.” ที่แบงค์ร้องเป็นตัวอย่างให้ฟัง หมอลำเป็นเพียงสิ่งเดียวที่ห้องขังในกรุงเทพฯ ไม่สามารถพรากไปจากเขาไปได้เลย อีกทั้งยังขัดเกลาตัวตนและปลอบประโลมให้ตัวตนของแบงค์ข้ามผ่านคืนวันที่เลวร้ายไปได้ “เขาเอาเวลานี้ล่ะมาฆ่าเรา ให้เราอ่อนเรายอม แต่หมอลำทำให้มันผ่านไปได้ ทั้งยังตอกย้ำว่าเรายังเหลือตัวตนอยู่ เรายังเหลือความเป็นมนุษย์อยู่”

ชีวิตมนุษย์ในฐานะตัวเลข

“3364/57 นั้นล่ะชีวิตเราขึ้นกับตัวเลข จะตายจะอยู่ก็คือตัวเลขนี้หละ มันตอกย้ำเสมอเพราะมันมีความสำคัญกับเรา เราคือตัวเลขนั้นหละเวลาอยู่ในนั้น ถ้าเราเป็นอะไรไปก็ตัวเลขนั้นหละที่หายไป” ในมุมมองของอดีตนักโทษหมายเลข 3364/57 ระบบทัณฑสถานของไทยยังมีสิ่งที่ต้องปรับปรุงอยู่มากมาย แต่สิ่งเขามองว่าเป็นหัวใจของปัญหานี้คือการลดทอนความเป็นมนุษย์ ซึ่งทำให้หลายคนรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า จนอาจดลให้กลับมากระทำความผิดซ้ำสองอีก หลายคนก็ได้วิธีกระทำความผิดรูปแบบต่างๆ มาจากในเรือนจำ เพราะจากที่ได้เข้าไปสัมผัสจึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมหลายคนเข้าออกเรือนจำถึงเกือบสิบครั้ง สำหรับแบงค์แล้วเรือนจำไม่ได้เป็นที่ที่คืนคนดีสู่สังคมอย่างที่กล่าวกัน

“ถ้าอยู่ข้างในแล้วเขารู้สึกว่าตัวเองเป็นมนุษย์ เขาก็จะรู้ว่าเขายังเป็นคนอยู่ กูออกไปยังมีศักดิ์ศรีอยู่ ยังมีครอบครัวรออยู่ แต่คุกไทยมันไม่ใช่อย่างนั้น มีแต่จะลดทอนความเป็นมนุษย์”

แบงค์ยกตัวอย่าง การทำงาน (ออกกองงาน) หลายๆ อย่างของนักโทษกลับไม่มีการให้ค่าตอบแทนแก่นักโทษเหล่านั้นเลย “ให้พับกระดาษ ให้ไปเย็บรองเท้าแล้วคุณสอนอะไรเขาล่ะ ทำไมเขาไม่ได้เงินสักบาท งานของเขาไม่ได้มีคุณค่าเลย ทำไมไม่มีค่าตอบแทนบ้างพอได้ไปใช้ซื้อของใช้ส่วนตัว นี่หรือจะคืนคนดีสู่สังคม”

หลังจากได้รับอิสรภาพมาตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการได้รับอภัยโทษให้ออกมาก่อนกำหนดราวสองเดือน ชีวิตนอกกรงขังของเขาไม่ได้ง่ายนักเพราะต้องปรับตัวกับหลายอย่างที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

แต่สิ่งหนึ่งที่ตั้งใจจะทำอย่างแน่นอนคือการกลับขึ้นเวทีการแสดงหมอลำที่เขารักอีกครั้ง เพียงช่วงนี้ต้องจัดการกับสิ่งต่างๆ ในชีวิตของเขาให้ลงตัวก่อน

“กรงเอ้ย กรงขังข้า เอาหญังหนอเช็ดน้ำของตัวข้าที่ไหลหล่น
แม้แต่ดาวยังสับสน สิหัวเราะเยาะเย้ยเหลือโตนข้าแนบ่หนอ…”

อีกครั้งหนึ่งที่ “บักหนวดเงินล้าน ปฏิภาณ ลือชา” ร้องกลอนลำออกมากลางบทสนทนา แบงค์จำไม่ได้ว่าชื่อกลอนอะไร แต่เพราะบทสนทนามันพาไปให้นึกถึงกลอนบทนี้ นอกจากการกลับเข้าสู่วงการหมอลำอีกครั้งอย่างที่ตั้งใจแล้ว อีกหนึ่งความตั้งใจของแบงค์ที่คิดมาตั้งแต่ยังอยู่ในเรือนจำ คือการนำเรื่องราวภายเรือนจำออกมาเผยแพร่สู่โลกภายผ่านเสียงกลอนลำที่ถนัด “เรื่องราวที่อยู่ในคุก นำมาเขียนร้อยแก้วร้อยกรอง มันทำไม่ได้ ถ้าเป็นหมอลำมันไหลของมันได้ง่ายกว่า” มากกว่า 80 บท ที่แบงค์แต่งขึ้นมาตั้งแต่อยู่ในเรือนจำและอีกมากมายที่กำลังจะแต่งออกมาใหม่ โดยมีความหวังจะสร้างความเข้าใจกับสังคมเพื่อให้มองนักโทษให้เป็นมนุษย์เช่นเดียวกับคนทั่วไป

เหมือนในหลายประเทศ ที่สามารถทำให้เรือนจำเป็นสถานที่ปฏิบัติต่อนักโทษอย่างมีมนุษยธรรม ทำให้นักโทษรู้สึกมีคุณค่าในตนเองและพร้อมกับกลับไปใช้ชีวิตในสังคมภายนอกได้

ศิลปะที่ไม่ได้ลอยมาจากฟ้า

“ศิลปะของเราเป็นศิลปะที่รับใช้ประชาชนด้วย ไม่ได้ปลอบประโลมอย่างเดียว ประชาชนต้องได้เสพศิลปะแบบนี้ เพื่อยกระดับทางความคิดความอ่าน” หมอลำอดีตหมายเลข 3364/57 กล่าว

แบงค์ยังเชื่อดังเดิมว่าหมอลำเป็นศิลปะที่เกิดจากคนธรรมดา หมอลำหาฟังได้ง่ายตามท้องถิ่น ทำให้เข้าถึงหัวจิตหัวใจของคนได้ง่าย ไม่เหมือนกับศิลปะไทยอีกหลายแขนงที่เป็นศิลปะชั้นสูงที่ต้องหาดูตามโรงละครใหญ่ “ไม่ได้ลอยมาจากฟ้า มันไม่ใช่เรื่องของเทวดาหรือพระอินทร์ อะไร” ทำให้หมอลำสามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบปรับตัวเข้ากับยุคสมัยได้ง่าย ในยุคแรกๆ หมอลำใช้วิธีการนั่งแสดงกับพื้น มีเพียงผู้ลำและมีเพียงแคนเป็นเครื่องดนตรีประกอบ ต่อมาเริ่มมีการเปลี่ยนมายืนลำและเพิ่มดนตรีหลายชนิดเข้ามาอย่างกีตาร์ กลองหรือ บางวงก็ใช้แซ็กโซโฟนหรือเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ ประกอบเข้าไป

แต่ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้คือการเปลี่ยนแปลงที่สะท้อนความเป็นจริงที่เปลี่ยนไปของสามัญชนคนอีสาน ดังนั้นมันจึงยังสะท้อนเสียงการต่อสู้ของคนในท้องถิ่น “หมอลำคือการเมือง คือการต่อสู้ สมัยก่อนเขาห้ามเราแอ่วลาวเป่าแคน (ร้องหมอลำ) นะครับ เคยห้ามเราเขียนประวัติศาสตร์ เราก็เอามันใส่ไว้ในหมอลำ มันเป็นอาวุธอย่างหนึ่ง แต่เป็นอาวุธที่สงบที่สุดเพราะไม่ได้เอาปืนมายิงกัน ไม่ได้จับใครเข้าคุก”