วันอังคาร, กันยายน 20, 2559

ประชาไท : รำลึก 10 ปี 19 กันยาใต้รัฐบาล คสช. รู้จัก ‘ทหาร’ ให้มากขึ้นกับ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์





รำลึก 10 ปี 19 กันยาใต้รัฐบาล คสช. รู้จัก ‘ทหาร’ ให้มากขึ้นกับ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

Tue, 2016-09-20 11:04
ทีมข่าวการเมือง
ประชาไท

10 ปีผ่านไปไวเหมือนโกหก 19 กันยายนปีนี้ครบรอบ 10 ปีการรัฐประหารครั้งก่อน และตอนนี้เราก็อยู่ในห้วงเวลาหลังการรัฐประหารครั้งล่าสุดโดยยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าประเทศไทยจะออกจากอำนาจการปกครองของทหารทั้งทางตรงและทางอ้อมเมื่อใด

เมื่อต้องอยู่กับระบอบทหารอีกนาน ประชาไทจึงสัมภาษณ์นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญการปกครองในยุคทหารอย่าง ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ เขาเป็นผู้ที่มักเสนอมุมมองใหม่และพลิกความเข้าใจเดิมของผู้คน ตั้งแต่ครั้งทำวิทยานิพนธ์นำเสนอว่าการรัฐประหาร ‘ครั้งแรก’ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นกระทำผ่านผ่านการออกพระราชกฤษฎีกาเพียงฉบับเดียวโดยนายกรัฐมนตรีคนแรกของไทยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เมื่อ 20 มิถุนายน 2476 และต่อมายังทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง ‘บทบาททางการเมืองของจอมพลถนอม กิตติขจร พ.ศ. 2506-2516’ ที่เน้นศึกษากระบวนการขึ้นสู่อำนาจ การรักษาอำนาจโดยวิธีการต่างๆ และการการปิดฉากอำนาจในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเขาตั้งคำถามในการพูดคุยครั้งนี้ว่า “เหตุการณ์นั้นเป็นพลังของนิติศึกษาจริงหรือไม่” หรือเพราะปัจจัยอื่นใด

หลังการรัฐประหาร 2557 เขาบ่นว่า สื่อมวลชนไม่มาสัมภาษณ์เขาเหมือนที่ผ่านมาอีกเลย ทำให้อยู่ในภาวะอึดอัดในความเงียบ จนกระทั่งได้ขึ้นเวทีนำเสนอความเห็นทางวิชาการครั้งแรกในการจัดสัมมนาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา (อ่านที่นี่) ครั้งนั้นเขานำเสนอใหม่อีกครั้งว่า โดยเนื้อแท้แล้วประเทศไทยไม่เคยปกครองในระบอบประชาธิปไตยตลอด 84 ปีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หากแต่อยู่ในรัฐทหาร ไม่เชื่อก็เพียงลองคำนวณง่ายๆ ระหว่างระยะเวลาที่พลเรือนปกครองกับทหารปกครองประเทศ ซึ่งพบว่าเป็นพลเรือน 34.5 % เป็นทหาร 65.5 %

แต่แทนที่เขาจะลงรายละเอียดไปในเรื่องนั้น เขากลับเริ่มต้นชวนคุยถึงประสบการณ์การสอนการเมืองไทยกับนักศึกษาปี 1 อันยาวนานของเขาที่สอนในหลายๆ สถาบัน โดยเขาชี้ให้เห็นว่า มันมีเนื้อนาดินบางอย่างที่ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้มีการศึกษาของไทยยอมรับการรัฐประหารได้ สะท้อนผ่านมายาคติ 4 ประการที่เขาตั้งเป็นคำถามในห้องเรียนและให้นักศึกษาเล่นเกมตอบคำถาม

1.ใครคือนักการเมือง 2.ใครบ้างที่คอร์รัปชัน 3.สถาบันทางการเมืองคืออะไร 4.หากนักศึกษาเป็นนายกรัฐมนตรี อะไรคือนโยบายเร่งด่วน 3 อย่างที่จะทำ





เขาเล่าว่าคำตอบของนักศึกษาสะท้อนความคิดของคนในสังคมได้อย่างดี พวกเขามองว่าการเมืองคือเรื่องสกปรก นักศึกษาแทบทั้งหมดไม่มองว่าทหารเป็นนักการเมือง ทั้งที่ทุกคนที่มีผลประโยชน์ในเรื่องต่างๆ ควรถูกนับให้เป็นนักการเมือง นักการเมืองถูกเน้นย้ำเรื่องการคอร์รัปชันมาก โดยแม้นักศึกษาจะตอบว่าทหารก็คอร์รัปชันแต่ไม่กล้าพูดเหตุผลมากเท่าเวลาพูดถึงนักการเมือง ส่วนสถาบันทางการเมืองนั้นก็มองเพียงแคบๆ และเห็นว่าองค์กรอิสระไม่ใช่สถาบันทางการเมืองแต่เป็นสถาบันตรวจสอบการทุจริตของนักการเมือง ธำรงศักดิ์มองว่าหากอยากรู้ว่าสถาบันทางการเมืองคืออะไรก็เพียงดูรัฐธรรมนูญ ทุกองค์กรที่ถูกระบุในนั้นล้วนเป็นสถาบันทางการเมืองรวมถึงทหารด้วย และท้ายที่สุด เยาวชนของไทยไม่มีความใฝ่ฝันอยากเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่เพียงเพราะขาดจินตนาการ ไม่สามารถเชื่อมโยงการเมืองเข้ากับชีวิตประจำวันได้ แต่เพราะอาชีพนี้ถูกทำให้ไม่ดีพอที่จะอยู่ในความใฝ่ฝันด้วย

“เราต้องเปลี่ยนแปลงความคิดพวกนี้ ไม่อย่างนั้นเราไม่มีทางเปลี่ยนแปลงอะไรได้” เขากล่าว

หลังจากนั้นเขาจึงเริ่มเข้าสู่การชี้ชวนให้ดูเส้นทางการเกิดและเติบโตของทหารไทย และอาจพลิกความเข้าใจเดิมของผู้อ่านในหลายเรื่อง

เมื่อทหารในอดีตเป็นผู้ผลักไสระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์ !?

ธำรงศักดิ์ชี้ว่า การก่อร่างสร้างตัวของระบบทหารเริ่มต้นขึ้นในปี 2430 ที่เริ่มมีการก่อตั้งโรงเรียนนายร้อยเพื่อจัดระเบียบกองทัพสมัยใหม่แบบโลกตะวันตก (ในช่วงเวลานั้นก็มีการสร้างสถาบันตุลาการด้วย และเป็นสองสถาบันที่ยังไม่เคยมีการปฏิรูปนับแต่นั้น) ในปี 2435 มี ‘การปฏิรูปการปกครอง’ในสมัยรัชกาลที่5 ซึ่งธำรงศักดิ์ชี้ว่าครูสอนประวัติศาสตร์สมัยมัธยมอาจไม่ได้ขยายความมากนักว่ามันคืออะไรหรือบรรยายรูปแบบการบริหารราชการแผ่นดินเพียงคร่าวๆ แต่โดยเนื้อแท้แล้วมันคือ ‘การกระชับอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง’

“ในอีก 100 ปีต่อมา เราก็เจอกับคำว่า ‘ปฏิรูปการปกครอง’ อีกในชื่อของคณะทหารที่ทำการรัฐประหารในปี 2519 และ 2549 ชื่อของคณะรัฐประหารที่ตั้งกันแบบนั้นไม่ใช่ไม่มีความหมาย ถ้าเราได้ยินคำนี้เมื่อไร มันก็คือ การกระชับอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางนั่นเอง ไม่น่าเชื่อว่า เรา พ่อของเรา และปู่ของเรา อยู่ตรงนี้...ไม่ได้ไปไหน (หัวเราะ)”

หลังพัฒนากองทัพให้ทันสมัยแบบตะวันตกได้ไม่นานอีก 25 ปีต่อมากลับมีการเปลี่ยนแปลงระบอบทางการเมืองของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยทหารหนุ่ม คือ ในปี 2455 เกิดกบฏยังเติร์ก หรือกบฏ ร.ศ.130 ซึ่งผู้ทำกระทำการล้วนเป็นทหารที่เพิ่งจบจากโรงเรียนนายร้อยอายุ 20 กว่าปีกันทั้งนั้น มีหัวหน้าอายุ 30 ปี พวกเขาต้องการเปลี่ยนเป็นระบอบประชาธิปไตยในรูปแบบหนึ่ง แต่เมื่อกระทำการไม่สำเร็จจึงมีสถานะเป็นกบฏ หลังจากนั้นอีก 20 ปีก็เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475

“แต่สองเรื่องนี้มักไม่ถูกเชื่อมโยงกัน อันที่จริง 2475 ไม่ใช่ไม่มีรากอย่างที่หลายคนเข้าใจ มันเป็นการสืบทอดกระแสประชาธิปไตยที่กบฏยังเติร์กทำไม่ได้ และ 2475 ก็ยังอยู่กับเราจนทุกวันนี้”

ในปี 2475 ผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองคือ คณะราษฎร (ชื่อภาษาอังกฤษคือ The People’s party แต่ศัพท์ในเวลานั้นคำว่า พรรค และคำว่า ประชาชน ยังไม่แพร่หลาย) เป็นทั้งข้าราชการพลเรือน แลข้าราชการทหาร

“ระบบราชการนั้นถูกสร้างขึ้นในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่เพียง 40 ปี (2435-2475) ระบบข้าราชการก็ล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประชาธิปไตยของไทยจึงเป็นระบบที่เริ่มต้นด้วยราชการ”

“รุ่นพี่มีชัยฯ” เมื่อการรัฐประหารครั้งแรกทำโดยกฎหมายระดับแค่ พ.ร.ฎ.

ธำรงศักดิ์ชี้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับแรกของคณะราษฎรนั้นกำเนิดในวันที่ 27 มิ.ย.2475 มี 39 มาตรา บรรจุในกระดาษ A4 ประมาณ 4 หน้า ทุกคนอ่านแล้วเข้าใจได้ ช่างแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่มี 279 มาตรา บางมาตรายาว 1 หน้าครึ่งและแม้แต่คนร่างเองยังงงๆ “มันคือกลยุทธ์ทำให้งงแล้วปกครอง”




ผู้นำในคณะราษฎร


อย่างไรก็ตาม เราถูกทำให้มองว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นเป็นไปอย่างราบรื่น ทุกฝ่ายยอมรับได้ แต่เรากลับไม่เห็นความเชื่อมโยงของการตอบโต้ในปีต่อมา เริ่มจากเกิดการรัฐประหารโดยพระยามโนปกรณ์ฯ ด้วยการออกพระราชกฤษฎีกา 1 เม.ย.2476 จากนั้นเดือนมิถุนายนคณะราษฎรปฏิวัติกลับ ต่อมาเดือนตุลาคมทหารฝ่ายเจ้าในนาม ‘คณะกู้บ้านกู้เมือง’ โต้กลับและพ่ายแพ้จึงมีสถานะเป็นกบฏ รู้จักกันในนาม กบฏบวรเดช

“เพียงแค่ครึ่งปี รัฐประหารกันไป 3 ครั้ง และครั้งที่ 3 นั้นมีการยิงกันตายด้วย”

ในส่วนของการรัฐประหารครั้งแรกด้วยพระราชกฤษฎีกาโดยพระยามโนปกรณ์ฯ นั้น สืบเนื่องมาจากก่อนหน้านั้นเริ่มมีการกล่าวหาว่า ปรีดี พนมยงค์ ผู้นำปีกพลเรือนของคณะราษฎรมีแนวคิดโน้มเอียงไปทางคอมมิวนิสต์เนื่องจากการผลักดัน ‘เค้าโครงเศรษฐกิจ’ หรือสมุดปกเหลืองของเขา พระยามโนฯ โดยกองทัพที่หนุนอยู่เบื้องหลัง จึงออก พ.ร.ฎ.ปิดประชุมสภา แต่เนื้อหานั้นมหัศจรรย์มากโดยกำหนดให้ ปิดสภาไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ให้ยุบรัฐบาลนี้และมีรัฐบาลใหม่นำโดยพระยามโนฯ เช่นเดิมแต่สมาชิกคณะราษฎรที่อยู่ในคณะรัฐมนตรีพ้นตำแหน่งทั้งหมด และยังให้อำนาจรัฐบาลพระยามโนฯ ออกพ.ร.บ.ได้ด้วย โดยพ.ร.บ.ฉบับแรกที่ออก คือ พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2476

หลังจากนั้นเมื่อปีกทหารในคณะราษฎรปฏิวัติยึดอำนาจกลับมาได้ ไม่นานรัชกาลที่ 7 ก็ทรงสละราชสมบัติและเดินทางไปต่างประเทศ นับเป็นการต่อสู้สำคัญในการกำหนดว่า ใครคือผู้นำทางการเมือง ใครคือผู้แต่งตั้งสมาชิกครึ่งหนึ่งของสภา เป็นข้อต่อสู้ที่ไม่ต่างกับในตอนนี้

ธำรงศักดิ์ชี้ว่า ในการปฏิวัติ 3 ครั้งแรกที่กล่าวไปนั้น คนที่จะต้องต่อสู้อยู่ด่านหน้าคือ คณะทหารในคณะราษฎร เพราะต้องทำหน้าที่พิทักษ์หน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เมื่อยึดอำนาจกลับคืนมาได้พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรฝ่ายทหารบกจึงขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเป็นเจ้าของคำกล่าวที่ว่า “ข้าพเจ้าไม่ใช่นักการเมือง ข้าพเจ้าคือทหาร” นี่เองคือจุดเริ่มต้นของความคิดที่ว่า “ทหารไม่ใช่นักการเมือง” และในปีที่ 2 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นเอง ทหารก็สามารถสร้างความชอบธรรมในการเข้าสู่ตำแหน่งในทางการเมืองได้ 
 
ประชาธิปไตยไทยเกิดในบริบทสงครามโลก

ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ยุคสงครามโลกในช่วงจอมพล ป. ทำให้ทหารสามารถใช้อำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จและประชาธิปไตยถูกแช่แข็ง เมื่อสิ้นสงคราม ฝ่ายประชาธิปไตยขึ้นสู่อำนาจได้เพียง 2 ปีก็เกิดการรัฐประหารอีกเพราะปัจจัยภายในประเทศ และคณะรัฐประหารชุดนี้เองที่เริ่มต้นสโลแกนสำคัญว่า ‘ทหารมีหน้าที่พิทักษ์ ชาติ ศาสนา และกษัตริย์’ โดยไม่มีคำว่า ‘รัฐธรรมนูญ’ ให้ต้องพิทักษ์อีกต่อไป

หลังการรัฐประหารปี 2490 สงครามเย็นเป็นปัจจัยสำคัญในการขยายอำนาจของทหาร โดยทหารไทยได้ประโยชน์จากการแพร่ของคอมมิวนิสต์ เพราะได้รับเงินสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาจำนวนมากสามารถเพิ่มพูนอำนาจได้มากขึ้นจนขึ้นสูงสุดในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตช์ และจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งมีรัฐธรรมนูญเพียง 20 มาตรา และมีมาตรา 17 อันโด่งดังซึ่งให้อำนาจนายกรัฐมนตรีจัดการผู้ก่อความไม่สงบได้ทันทีแล้วค่อยแจ้งต่อรัฐสภาแม้แต่การประหารชีวิต

“มาตรา 17 นี่แหละคือบิดาของมาตรา 44 ในปัจจุบัน อันที่จริงสฤษดิ์ใช้เชือดในบางครั้ง เพื่อควบคุมสถานการณ์สำคัญ ถนอมนั้นใช้เยอะกว่า ฆ่าคนก็มากกว่า แต่คนไม่จำ ส่วนกรณีมาตรา 44 นี่คือ ใช้ไปเรื่อย คิดอะไรไม่ออกก็ใช้”

“ชัยชนะวาทกรรม ทหารไม่ใช่นักการเมือง แต่คือผู้พิทักษ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์”

สำหรับธำรงศักดิ์เขาแบ่งการเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองออกเป็น 2 ช่วงใหญ่ช่วงละ 40 กว่าปี ช่วงแรกคือ ปี 2475-2516 และช่วงที่สองคือ 2516-2560

ในช่วงเวลา 40 กว่าปีแรกนั้น มีเหตุการณ์ความปั่นป่วนทางการเมืองเกิดขึ้นทั้งหมด 17 ครั้ง เฉลี่ยแล้วคือ 2.7-3 ปีต่อ 1 ครั้ง หากดูเฉพาะ 25 ปีแรกคือช่วง 2475-2500 พบว่ามีการยึดอำนาจถึง 13 ครั้งแบ่งเป็น ยึดอำนาจสำเร็จ 6 ครั้ง ยึดอำนาจไม่สำเร็จ 7 ครั้ง ในช่วงปี 2500-2516 ช่วงเวลานี้กองทัพเข้มแข็งมากแต่ถูกพลังใหม่ท้าทายและล้มลงในเหตุการณ์ 14 ตุลา

“รัฐทหารพัฒนามาเรื่อยๆ และสูงสุดในยุคสฤษดิ์ แต่กลับล้มลงในเหตุการณ์ 14 ตุลา มีคำถามอธิบายว่าเป็นพลังนักศึกษาประชาชน ผมยังไม่แน่ใจนักและเริ่มคลางแคลงในในบทสรุปที่ผ่านมา ถ้าเป็นอย่างนั้น ทำไมอีก 3 ปีต่อมานักศึกษาจึงถูกฆ่า”





ที่มา: สไลด์ของธำรงศักดิ์


ธำรงศักดิ์ยังแทรกเกร็ดความรู้ประวัติศาสตร์เกร็ดใหญ่ด้วยว่า ในสมัยปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกฯ นั้นมีความพยายามจะปฏิรูปกองทัพเสียใหม่แต่ไม่สำเร็จ และน่าเสียดายที่หลังสงครามโลกครั้งที่สองสหรัฐอเมริกาเข้าไปจัดการกับกองทัพญี่ปุ่น แต่กลับไม่ให้อังกฤษจัดการกับกองทัพไทย ทำให้ยักษ์ในตะเกียงยังคงใหญ่โตอยู่นอกตะเกียงมาจนทุกวันนี้ นอกจากนี้ปรีดียังผลักดันให้ตุลาการเป็นอิสระ แต่การรัฐประหารในปี 2490 นั้นพบว่า อธิบดีศาลฎีกาในขณะนั้นได้ไปร่วมร่างรัฐธรรมนูญใต้ตุ่มของทหารด้วย

“และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของคำว่า รัฐฏาธิปัตย์ ที่เราคุ้นเคยมาจนปัจจุบัน ศาลฎีกาออกมาตีความเป็นครั้งแรกในตอนนั้น แสดงว่าผู้พิพากษาได้เป็นส่วนหนึ่งของการรัฐประหารตั้งแต่ปี 2490 จนปัจจุบัน คุณมีปืนอย่างเดียวไม่ได้ต้องมีส่วนประกอบอื่นด้วย”

สำหรับในช่วง 40 กว่าปีหลังนับจาก 2516-2560 นั้น เราพบว่ามีประชาชน นักศึกษาออกมาและมีชัยชนะ 2 ครั้ง คือ ปี 2516 และ 2534 หลังปี 2516 เรามีรัฐบาลพลเรือนอยู่นาน 2 ปี จากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา ธานินทร์ กรัยวิเชียร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี มีแผน Freeze ประเทศไทย 12 ปี แนวคิดทำนองนี้มีมานานแล้ว แต่แนวนโยบายแบบขวาจัดนี้อยู่ไม่ได้ ในที่สุดเพียงปีเดียวก็ต้องมีการเปลี่ยนตัวนายกฯ โดยใช้วิธีการยึดอำนาจ ส่วนช่วงปี 2534-2549 นั้นนับเป็นช่วงขาลงของทหาร และถนนทุกสายเริ่มพุ่งเป้ามาที่นักการเมือง

“ช่วงนั้นนักวิชาการคนไหนยังศึกษาเรื่องทหารกลายเป็นพวกโบราณ นักการเมืองเริ่มกลายเป็นตัวแทนความชั่ว ขณะที่ทหารซึ่งไม่ได้ทำอะไร ไม่มีบทบาทอะไร เริ่มกลายเป็นตัวแทนความดี พวกเขา (ทหาร) ไม่สามารถกำหนดทิศทางตัวเองได้ แต่อาศัยเป็นผู้พิทักษ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ อันเป็นข้ออ้างสุดท้ายของการมีอยู่ของเขา”

“รัฐประหารปี 49 เป็นต้นมาคือการกลับคืนมาของบทบาทกองทัพในทางการเมือง หลังจากหายไปนาน 15 ปี แต่รัฐประหารปี 49 นั้นยืดหยุ่นและถอยเร็ว แต่รอบนี้จะอยู่ยาวมาก เราไม่มีคำอธิบาย ถึงเรามีเราก็ไม่กล้าอธิบาย”

“ชัยชนะของเขาวางอยู่บนฐานที่ว่า ทหารไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นผู้พิทักษ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์”





8 ทศวรรษรูปแบบการอยู่ในอำนาจการเมืองของทหาร

สำหรับรูปแบบการอยู่ในอำนาจทางการเมืองของทหาร ภายหลังการรัฐประหารในปี 2490

1.ยึดอำนาจแล้วต้องอยู่ในอำนาจของทหารเต็มๆ ช่วงหนึ่ง ช่วงเวลานั้นประกาศของคณะยึดอำนาจถือเป็นกฎหมาย ไม่มี สนช. ไม่มีการลงพระปรมาภิไธย คนที่อยู่ในอำนาจเช่นนั้นยาวที่สุดคือ ถนอม กิตติขจร คือเมื่อยึดอำนาจแล้วก็อยู่ในอำนาจถึง 13 เดือน

2.ทหารของประเทศนี้ต้องอ้างว่า “ยึดเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” สมัยของสฤษดิ์ ธนะรัตช์ ก็อ้างเช่นนั้นและยังบอกว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ร่างกันได้เต็มที่นานเท่าไรก็ได้ สมัยสฤษดิ์-ถนอมปล่อยให้ สนช.คุยกันเรื่องร่างรัฐธรรมนูญยาวนานถึง 9-10 ปี

“เรียกได้ว่าเป็นการใช้การร่างรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือเพื่อให้ตัวเองได้อยู่ในอำนาจนาน มาครั้งนี้ใช้ยุทธวิธี ร่างแล้วแท้ง ประชามติไม่ผ่านจะอยู่ต่อ ไม่รู้ว่าต้นทุนของการร่างรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับที่ผ่านมานั้นสูญเสียไปเท่าไร สมัยสฤษดิ์ มีสนช.ชุดเดียวนี่แหละทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญด้วย แต่สมัยนี้ มี สนช.220 คน และยังมี สปท.อีก 250 คนที่ฝีกล้าทั้งนั้น เป็นการดึงคนจำนวนมากมาร่วมปกป้องรัฐประหาร ถือว่าครั้งนี้เพอร์เฟ็คต์มากในการใช้เงินแผ่นดิน แล้วทำให้เป้าที่สำคัญถูกหลอกล่อหลบเลี่ยงได้ ทำยังไงให้ทหารไม่เป็นเป้า ไม่ปรากฏว่าเป็นศัตรูต่อประชาธิปไตยอย่างชัดเจน แตกต่างจากยุคสฤษดิ์”

3.เมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านแล้วทหารก็จะให้เลือกตั้ง โดยทหารเริ่มมาตั้งพรรคการเมืองของตัวเอง ดังจะเห็นได้ในอดีต เช่น พรรคมนังคศิลา ของจอมพล ป. พรรคสหประชาไทย ของจอมพลถนอม โดยวางกลเกมให้พรรคทหารต้องเป็นพรรครัฐบาล ต้องทำให้พรรคคู่แข่งมี ส.ส.น้อย เช่น ในปี 2495 สมัยจอมพล ป. มีการออกกฎห้ามนักการเมืองหาเสียงเลือกตั้ง ห้ามปราศรัย ห้ามชุมนุม เมื่อพรรคอื่นได้ส.ส.น้อย เสียงแตกก็ไม่มีพาวเวอร์ พรรคทหารก็คุมนักการเมือง

“พรรคที่เพอร์เฟ็คคือพรรคสหประชาไทย ถ้ามาเป็นพรรครัฐบาลจะได้รถจิ๊บคนละคัน ได้เบี้ยเลี้ยง และสามารถขอสาธารณูปโภคไปลงในพื้นที่ได ภาพออกมาจึงกลายเป็น “ส.ส.ขี้ขอ” แต่คิดดูแล้วกันว่าไม่ขอแล้วจะได้ไหม ในเมื่อกำหนดเกมให้เป็นแบบนั้น”

4.หาพรรคสนับสนุน โดยพรรคเหล่านั้นต้องเป็นพรรคขนาดกลาง ไม่สามารถมีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง สมัยเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ และเปรม ติณสูลานนท์ ก็ใช้กลไกนี้ผ่านกฎหมายเลือกตั้ง เกมการเลือกตั้ง โดยให้มีทหารอยู่ในตำแหน่งนายกฯ คนเดียวก็ได้ เพราะเราออกแบบให้อำนาจสูงสุดของรัฐบาลอยู่ที่นายกรัฐมนตรี

“ทหาร คือสถาบันทางการเมืองที่ไม่ได้ถูกเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญตลอด 80 กว่าปี และป็นพรรคการเมืองที่มีฐานจากภาษีของประชาชน”

“เดิมที่เราอาจปรามาสกองทัพ อย่าลืมว่ามันหล่อเลี้ยงข้าราชการที่ไม่มีภารกิจการงานจำนวนมาก การมีเวลาว่างก็จะทำให้นั่งคิดอะไรได้เยอะ หากสังเกตดูจะเห็นว่าจังหวะการยึดอำนาจจะเริ่มต้นเมื่อรัฐบาลมีอำนาจมาก รูปแบบก่อนยึดอำนาจคือ ทำให้มีปัญหาการเผชิญหน้าของมวลชน เรามักจะเห็นการเคลื่อนไหวของมวลชน 6-8 เดือนล่วงหน้า ทำให้วุ่นวายจนต้องหาทางลดความวุ่นวาย หรือไม่เช่นนั้นก็มีปัญหาการเลือกตั้ง ถึงตอนนี้คงมีคำถามว่า เราประเมินประสบการณ์ของกองทัพน้อยไปหรือเปล่า”

“มีคนพูดเรื่องปฏิรูปกองทัพกันมาก ผมคิดเรื่องนี้มาตั้งแต่เรียนรัฐศาสตร์แต่มันเกิดไม่ได้ ตอนนี้คิดใหม่แล้วว่า เราต้องสร้างนักการเมืองพันธุ์ใหม่ที่เชื่อมั่นในประชาธิปไตย ตลอดที่ผ่านมา เราไม่เคยเห็นการต่อสู้เพื่อยืนยันระบบเลือกตั้ง เมื่อพูดว่าปฏิรูปกองทัพ คำถามคือ ใครล่ะจะทำ? ภาคประชาสังคมแบบเราจะทำให้เราเชื่อมั่นในตัวเองได้ไหม ผมเคยให้นักศึกษาที่เรียนทำเปเปอร์เรื่องผู้แทนราษฎรที่น่ายกย่อง เราไม่เคยมองนักการเมืองดีเลย เป็นเรื่องที่เราต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ ขณะเดียวกันพอพูดถึงทหารเรากลับรู้สึกกันง่ายๆ ว่าทหารน่ายกย่อง ถ้าเราไม่ทำตรงนี้ ระบอบประชาธิปไตยก็ไม่มีทางไป”

“แต่ก็ไม่อยากให้สิ้นหวังเสียทีเดียว เรามีฐานของคนที่ยืนหยัด มีคนที่เห็นปัญหาของระบบทางการเมืองแบบนี้ ดูจากการโหวตโนไม่รับรัฐธรรมนูญในปี 2550 มี 9.5 ล้าน ปี 2559 มี 10.6 ล้าน ถือว่ามีพาวเวอร์เยอะมากและเรายังไม่รู้ว่ามันจะกลายเป็นพลังเมื่อไร สิ่งที่สังคมไทยไม่มีคือ head ของการเปลี่ยนแปลง ที่ผ่านมาพอทหารยึดอำนาจก็ได้เป็นรัฐฏาธิปัตย์ ถ้ามีคนกลุ่มหนึ่งยืนยันต่อต้าน สถานการณ์อาจเปลี่ยนไป ใครฟังอาจคิดว่าเพ้อฟัน แต่ตอนหลังเมื่อผมเริ่มเรียนเริ่มสอนเรื่องอาเซียนมากๆ มันทำให้เห็นว่า ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลง และทุกสิ่งเป็นไปได้”