วันอาทิตย์, สิงหาคม 14, 2559

ระเบิดป่วนภาคใต้ฝีมือบีอาร์เอ็นจริงหรือ?





เขียนโดย ปกรณ์ พึ่งเนตร
สำนักข่าวอิศรา
14 สิงหาคม 2559


มีข้อเขียนหลายชิ้นจากนักวิเคราะห์หลายท่านบอกว่าระเบิดป่วน 7 จังหวัดภาคใต้มาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในลักษณะของขบวนการแบ่งแยกดินแดนเป็นผู้ปฏิบัติการ


บางรายโดยเฉพาะนักวิเคราะห์จากต่างประเทศ ถึงขนาดฟันธงลงไปชัดๆ เลยว่าเป็นการกระทำของ "บีอาร์เอ็น" โดยให้เหตุผลว่าเพราะมีศักยภาพและความพร้อมสูงสุดที่จะปฏิบัติการได้ ประกอบกับลักษณะระเบิดและรูปแบบการก่อเหตุก็คล้ายๆ กับที่เกิดขึ้นในภาคใต้ตอนล่าง

บทความชิ้นนี้ไม่ได้ต้องการโต้แย้งอะไรกับใคร และผมเองก็บอกไม่ได้เหมือนกันว่าใครเป็นคนก่อเหตุระเบิดสะเทือนประเทศครั้งนี้ เพราะไม่ได้ไปทำเองหรือร่วมวางแผนกับเขา เพียงแต่คิดว่าหากเราวิจารณ์ว่าการด่วนสรุปของรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงที่บอกว่าเหตุระเบิดครั้งนี้เป็นเรื่องการเมืองแล้วล่ะก็...

การวิเคราะห์ง่ายๆ ว่าเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เป็นปฏิบัติการของบีอาร์เอ็น ก็น่าจะเข้าข่ายด่วนสรุปเช่นกัน และผลของมันก็ไม่ได้เป็นบวกอะไรกับใครทั้งนั้น นอกจากสะใจคนที่ไม่เชื่อว่าการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเป็นผู้ก่อเหตุ

จากข้อวิเคราะห์ต่างๆ ที่ปรากฏผ่านสื่อ ผมขอแยกเป็นประเด็นหลวมๆ ดังนี้

1.การพูดถึงลักษณะระเบิดว่าเป็นระเบิดแสวงเครื่องขนาดเล็ก และรูปแบบการก่อเหตุเป็นการทำหลายจุดพร้อมกัน จึงคล้ายๆ กับเหตุรุนแรงที่บีอาร์เอ็นเคยทำในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ประเด็นนี้ต้องบอกว่า จนถึงขณะเขียนบทความ ผลตรวจดินระเบิดยังไม่ออก จึงยังฟันธงอะไรไม่ได้ เพราะหลักฐานที่จะเพียงพอสำหรับสันนิษฐานว่าระเบิดเป็นฝีมือของใครหรือกลุ่มใด จะดูเฉพาะรูปแบบการประกอบ หรือวัสดุ หรือภาชนะที่ใช้คงไม่ได้ เพราะของพวกนั้นสามารถเลียนแบบกันได้ไม่ยาก

แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ "ดินระเบิด" เพราะแม้สิ่งอื่นจะเลียนแบบกันได้ แต่ดินระเบิดต้องเป็นชนิดที่คนประกอบระเบิดมีความชำนาญและรู้จักดีเท่านั้น เนื่องจากถ้าพลาดคือตาย ฉะนั้นคนที่เป็นมือระเบิด หากเคยหรือถนัดในการประกอบระเบิดด้วยดินระเบิดชนิดไหน ก็มักจะเลือกดินระเบิดชนิดนั้นในการประกอบ หากจะเปลี่ยนก็ต้องใช้เวลาฝึกฝนให้ชำนาญและรู้จักดินระเบิดแบบใหม่ดีพอ

ด้วยเหตุนี้ดินระเบิดจึงเป็นหลักฐานสำคัญของการสันนิษฐานถึงกลุ่มผู้กระทำ (รวมทั้งพื้นที่ที่กระทำ เพราะแต่ละพื้นที่ สามารถหาดินระเบิดแต่ละชนิดได้ยากง่ายต่างกัน) เมื่อวันนี้ผลตรวจยังออกมาไม่ชัด จึงสรุปล่วงหน้ายาก

อีกส่วนก็คือสิ่งที่เรียกวา “ซิกเนเจอร์” หรือ “ลายเซ็น” หมายถึงรูปแบบในรายละเอียดที่ไม่เหมือนกันของระเบิดแต่ละลูก เช่น วิธีการพันสายไฟ (วนซ้าย วนขวา) ยี่ห้อหรือสีของสายไฟที่ใช้ ฯลฯ ว่ากันว่ามือระเบิดมักมีอีโก้สูง เชื่อว่าตัวเองต่อระเบิดแล้วต้องระเบิด หรือถ้ามีการเก็บกู้ ก็ต้องทำให้นักกู้ระเบิดรู้ว่าตนเป็นคนประกอบ เพื่อให้รู้ว่าเป็นฝีมือของตน ฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่า“ซิกเนเจอร์” นี้ หากทราบหรือเก็บหลักฐานได้ ก็พอจะทำให้โฟกัสกลุ่มผู้กระทำได้เช่นกัน

แต่ก็นั่นแหละ ด้วยความทันสมัยของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้สามารถต่อระเบิดให้คล้ายๆ กันเพื่อโยนความผิดให้กับกลุ่มอื่น หรือสร้างความสับสนให้เจ้าหน้าที่ที่คลี่คลายคดีได้เหมือนกัน

ฉะนั้นการที่เห็นเป็นแค่ระเบิดแสวงเครื่องขนาดเล็ก และมีรูปแบบการวางหลายๆ จุดพร้อมกัน หรือในเวลาไล่เลี่ยกัน แล้วจะสรุปว่าเป็นบีอาร์เอ็นทำทั้งหมดคงไม่ได้

2.การสรุปว่าปฏิบัติการรุนแรงที่กระทำโดยคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือพูดให้ชัดคือ "คนมลายูมุสลิม" ว่าเป็นบีอาร์เอ็นทั้งหมด

ข้อสันนิษฐานนี้คิดตามแบบง่ายๆ ก็ไม่น่าจะถูกต้องตั้งแต่ต้นแล้ว เช่นเดียวกับปฏิบัติการนอกพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อนหน้านี้ ตามที่อ้างในบทวิเคราะห์หลายชิ้น ที่ว่าได้แก่ จ.ภูเก็ต หน้ารามฯ (กรุงเทพฯ) และเกาะสมุย (จ.สุราษฎร์ธานี) เป็นฝีมือบีอาร์เอ็น ก็ไม่น่าจะถูกต้อง หรือถ้าถูกก็ถูกไม่หมด

เพราะเหตุระเบิดที่หน้ารามฯ เมื่อปี 56 เจ้าหน้าที่ติดตามจับกุมได้ยกชุด ข้อมูลการข่าวของเจ้าหน้าที่ชี้ชัดว่าเป็น “กลุ่มพูโลใหม่” ที่ก่อเหตุเพราะต้องการโดดเข้าสู่โต๊ะพูดคุยเพื่อสันติภาพในปีนั้น (เพราะตกขบวนในช่วงแรก) ผู้ก่อเหตุแต่ละคนไม่มีประวัติ บางคนไม่มีหมายจับหรือหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯติดตัว เรียกว่าเป็นทีมใหม่ที่สร้างขึ้นเฉพาะกิจ หลังก่อเหตุจึงโดนตามจับได้ไม่ยากนัก

ส่วนรถคาร์บอมบ์ที่ จ.ภูเก็ต เมื่อปี 56 เช่นกัน ครั้งนั้นระเบิดไม่ทำงาน ไม่ใช่เจ้าหน้าที่กู้ได้ ระเบิดในรถที่ภูเก็ตเป็นระบบตั้งเวลา และกว่าเจ้าหน้าที่จะพบรถคันนี้ใช้เวลานานหลายสัปดาห์ เป็นการพบโดยบังเอิญ เพราะเจ้าหน้าที่ต้องการปิดถนนหรือล้างถนน แล้วพบรถคันนี้จอดอยู่ ไม่มีเจ้าของ ไปส่องดูถึงพบถังระเบิดอยู่ข้างใน

การพบรถคาร์บอมบ์ที่ภูเก็ต ไม่ได้แปลว่าบีอาร์เอ็นต้องเป็นผู้กระทำ เพราะวัน-เวลาระเบิดที่คนร้ายตั้งเอาไว้ (แต่ไม่ระเบิด) เป็นวันเดียวกับที่เกิดระเบิดบริเวณลานจอดรถหน้า อบจ.ภูเก็ต แต่ไม่มีใครเสียชีวิต (น่าคิดว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่าโยงการเมืองท้องถิ่นที่ค่อนข้างร้อนแรงในภูเก็ต)

ส่วนคาร์บอมบ์สมุย มีพิรุธโยงการเมืองอยู่ไม่น้อย เพราะคนที่ร่วมก่อการบางคนเป็นลูกน้องนักการเมืองในพื้นที่ชายแดนใต้

ทั้ง 3 กรณีคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนอกสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งก็ไม่มีครั้งใดที่สรุปได้ชัดว่าเป็นฝีมือบีอาร์เอ็น

ส่วนปฏิบัติการในพื้นที่สามจังหวัดเอง อดีตคนในขบวนการบีอาร์เอ็นเคยให้ข้อมูลกับ “ศูนย์ข่าวอิศรา” ว่า พวกเขาก่อเหตุรุนแรงไม่ถึง 30% ของที่เกิดขึ้นทั้งหมด (โดยนัยคือด่ารัฐไทยว่าก่อเหตุเองส่วนหนึ่ง และส่วนอื่นๆ เกิดจากปัญหาขัดแย้งการเมืองท้องถิ่น ธุรกิจเถื่อน ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐมีเอี่ยว)

สอดคล้องกับข้อมูลล่าสุดที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าเพิ่งบรรยายให้สื่อส่วนกลางที่ลงพื้นที่ชายแดนใต้รับฟังเมื่อไม่นานมานี้ว่า เหตุรุนแรงที่เกิดจากภัยแทรกซ้อนต่างๆ (ยาเสพติด น้ำมันเถื่อน สินค้าเถื่อน) ที่ไม่ใช่เหตุความมั่นคงจากกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนนั้น มีมากถึง 80% ของเหตุรุนแรงทั้งหมด

เป็นความสอดคล้องโดยมิได้นัดหมาย เพราะพูดคนละครั้งจากคนละฟากฝั่งของการต่อสู้

3.นักเคราะห์ต่างประเทศพูดถึงวิธีปฏิบัติการของบีอาร์เอ็น เช่น วางระเบิดลูกเล็ก ก่อหลายจุด ส่งผลจิตวิทยา ฯลฯ จึงเชื่อว่าเป็นผู้ก่อเหตุระเบิดป่วน 7 จังหวัดภาคใต้

ประเด็นนี้หากได้ศึกษาเอกสารที่ชื่อว่า "ยุทธไลน์" ของโรงเรียนเสนาธิการทหารบก และเอกสารอีกหลายๆ ชิ้นของฝ่ายความมั่นคง จะพบข้อมูลค่อนข้างชัดว่า “อาร์เคเค” (นับรบของบีอาร์เอ็น) มีรูปแบบการก่อเหตุที่ผ่านการฝึกฝนมา มีแบบแผนการปฏิบัติที่รัดกุม มีกระบวนการตัดตอนหลายชั้น และมีวิธีการหลบหนีออกนอกพื้นที่อย่างแนบเนียน

โดยหัวใจสำคัญของการก่อเหตุ คือ ต้องประสบความสำเร็จ 100% ต้องหนีได้ 100% ถึงลงมือทำ และแน่นอนต้องได้มวลชน

เมื่อหัวใจของการก่อเหตุเป็นเช่นนี้ ปัจจัยเกื้อหนุนจึงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากการปฏิบัติการในพื้นที่ของตนเอง หรือพื้นที่ที่ตนเองมีความชำนาญ และมีเครือข่ายมวลชนรองรับเท่านั้น การปฏิบัติการนอกพื้นที่ของขบวนการที่ผ่านการฝึกมาในรูปแบบนี้จึงยากมาก หากบอกว่าพัฒนาเป็น “โลนวูล์ฟ” (หมาป่าตัวเดียวออกล่าเหยื่อ) ก็ขัดกับข้อวิเคราะห์ของหลายๆ คนที่บอกว่าปฏิบัติการระเบิดป่วน 7 จังหวัดภาคใต้ใช้คนเยอะ (จนเชื่อกันว่าฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของ คสช.ทำไม่ได้)

คำถามคือ ถ้าเราเชื่อว่าแม้บีอาร์เอ็นมีศักยภาพที่จะทำได้ แต่ศักยภาพนั้นมีเงื่อนไขขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ด้วยหรือไม่?

จริงๆ แล้วยุทธวิธีที่บีอาร์เอ็นใช้ในการสู้รบตลอด 12 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้เก่งกว่าทหาร แต่ที่เขาปฏิบัติการประสบความสำเร็จ เพราะเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของเขาเอง เป็นบ้านของเขา และมีเครือข่ายรองรับ (อ่านเอกสารหลายๆ ฉบับของโรงเรียนเสธ.จะทราบ) ขณะที่ทหารถูกส่งไปจากต่างถิ่น ต่างภูมิภาค ไม่เข้าใจสภาพพื้นที่ จึงย่อมเสียเปรียบเป็นธรรมดา

ปฏิบัติการเชิงรุกของทหารได้ผลมากขึ้นในระยะหลัง เหตุรุนแรงลดลงในเชิงปริมาณและความร้ายแรง ส่วนหนึ่งก็เพราะการใช้กองกำลังประจำถิ่นไปสู้ ทั้งทหารพราน อส. ชรบ. ชคต.

ฉะนั้นการปฏิบัตินอกพื้นที่แล้วจะให้สำเร็จง่ายๆ เหมือนในบ้านตัวเองย่อมเป็นเรื่องยากมาก ไม่ใช่แค่มีคนพร้อม ระเบิดพร้อม แล้วจะทำได้

4.ในข้อ 3 ได้เปิดประเด็นไว้ว่า ปฏิบัติการของบีอาร์เอ็นทุกครั้ง ต้องได้มวลชน (อ่านได้จากงานเขียนของ พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4) คำถามคือ การก่อเหตุนอกพื้นที่สามจังหวัด บีอาร์เอ็นได้มวลชนเพิ่มขึ้นอย่างไร

ข้อมูลที่ตรวจสอบพบก่อนหน้านี้พบว่า มีคนสามจังหวัดไปทำงานตามเมืองท่องเที่ยวต่างๆ จำนวนมาก ระยะหลังยิ่งมากเพราะยางพาราราคาตกต่ำ

ฉะนั้นการไปก่อเหตุนอกพื้นที่ ยิ่งจะทำให้คนมลายูที่ไปทำงานตามที่ต่างๆ เพื่อประทังชีวิตช่วงราคายางตกต่ำต้องเดือดร้อน ไม่ทราบว่าได้มวลชนตรงไหน

หลายคนอาจจะบอกว่า เมื่อคนมลายูไปอยู่ตามที่ต่างๆ เยอะ จึงมีเครือข่ายก่อเหตุง่าย แต่ประเด็นนี้มีข้อโต้แย้งว่า คนมลายูมุสลิมจากสามจังหวัดที่ไปทำงานนอกพื้นที่ ถูกจับตาเป็นพิเศษอยู่แล้วจากบาดแผลความรุนแรงที่เรื้อรังมานานกว่า 1 ทศวรรษ เมื่อเร็วๆ นี้ยังมีคนสามจังหวัดที่ไปทำงานสนามบิน ไปร้องกรรมการสิทธิฯว่าถูกบีบให้ลาออกจากงาน (เพราะเป็นคนชายแดนใต้)

ฉะนั้นการที่คนสามจังหวัดจะไปรวมตัวกัน หรือเชื่อมเครือข่ายก่อเหตุรุนแรงในเมืองท่องเที่ยว หรือไปเป็นลูกจ้างรอวางระเบิด ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย (คือจะทำก็คงได้ แต่ไม่ได้ง่ายอย่างที่มีการวิเคราะห์)

โจทย์ข้อสำคัญที่สุดคือ ก่อเหตุแล้วหนีไปไหน ถ้าหลบพักอยู่แถวจุดเกิดเหตุย่อมตกเป็นเป้าการกวาดจับทันที เพราะต้องไม่ลืมความจริงว่า ทันทีที่ระเบิดดังขึ้น คนกลุ่มแรกที่จะโดนตำรวจกวาดจับหรืออย่างน้อยก็ถูกเพ่งเล็งคือคนสามจังหวัดที่ไปทำงานตามเมืองที่เกิดระเบิด

นอกจากนั้น ถ้ามองว่าการอยู่กันเป็นกลุ่มก้อนแล้วก่อเหตุได้ ก็จะพบว่ายังมีอีกหลายจุดที่น่าจะสมเหตุสมผลกว่าปฏิบัติการที่ จ.ตรัง หรือหัวหิน เช่น หน้ารามฯ บางบัวทอง (จ.นนทบุรี) ซึ่งเป็นชุมชนใหม่ขนาดใหญ่ของคนสามจังหวัดหลังราคายางถูก ส่วนใหญ่มาทำงานรับจ้าง เป็นรปภ. และขับแท็กซี่

พวกนี้เกลียดรัฐไทยหรือเปล่าไม่รู้ แต่ถ้าดิ้นรนมาทำงานแล้วจู่ๆ จะทุบหม้อข้าวตัวเองด้วยการวางระเบิด แล้วถูกจับ ถามว่าใครจะทำ

5.ประเด็นศักยภาพของบีอาร์เอ็น

จริงอยู่ที่บีอาร์เอ็นต้องถือว่ามีศักยภาพ เพราะยืนระยะต่อสู้กับรัฐมาได้นานกว่า 12 ปี แต่หากย้อนไปดูระยะหลังๆ ระเบิดที่ใช้ส่วนใหญ่ลูกเล็ก ทำให้เกิดเสียง เป็นข่าว แต่ไม่โดนใคร ต้องถามว่าจงใจให้เป็นอย่างนั้น มีศักยภาพทำได้หนักกว่านี้แต่ไม่ทำ หรือไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะทำแล้วกันแน่

กลับไปดูหลายๆ เหตุการณ์ที่เป็นเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ เช่น คาร์บอมบ์ปัตตานี เมื่อเดือน ก.พ.59 หรือคาร์บอมบ์ด่านเกาะหม้อแกง (ปัตตานีเช่นกัน) ในช่วง 10 วันสุดท้ายเดือนรอมฎอน ล้วนเป็นการก่อเหตุแบบปัจจุบันทันด่วน ปล้นรถปุ๊บ ใส่ระเบิดปั๊บ แล้วนำไปวางทันที หรือขับไปจอดที่เป้าหมาย แล้ววิ่งหนีก่อนกดระเบิด

เรียกว่าความเนียน ความพิถีพิถันแตกต่างจากสมัยก่อนมาก...

เหตุยึดโรงพยาบาลเจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อ 13 มี.ค.59 เพื่อใช้เป็นจุดสูงข่มโจมตีฐานทหารพราน ก็ไม่ได้สร้างความเสียหายหนักเท่ากับที่ยอมลงทุนโดนด่าบุกโรงพยาบาล โดยเฉพาะหากเทียบกับจำนวนกำลังคนที่ใช้

ต้องยอมรับว่าสู้กันมา 12 ปี ฝ่ายบีอาร์เอ็นก็บอบช้ำไปเยอะ ซึ่งที่ผ่านมาฝ่ายความมั่นคงก็ไทยมีการวิเคราะห์เรื่องนี้ค่อนข้างชัดเจนถึงศักยภาพที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดของกลุ่มก่อความไม่สงบ (ทหารไม่ได้เฝ้าด่านไปวันๆ อย่างที่หลายคนเข้าใจ เวลาพูดถึงทหาร แม้จะเกลียดทหารก็อย่าดูถูกกันมากเกินไป)

นอกเรื่องนิดหนึ่ง...ผมเคยได้ยินว่าผู้ใหญ่ท่านหนึ่งในรัฐบาล เคยเป็นผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจจังหวัดหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ วางแผน รปภ.ครู อย่างรัดกุมทุกขั้นตอน ทำให้ใน 1 ปีไม่มีครูถูกทำร้ายเลยในพื้นที่รับผิดชอบเลย (หมายถึงทั้งจังหวัดนะ ไม่ใช่อำเภอเดียว)

6.ขอเจาะลึกในประเด็นการขยายพื้นที่ปฏิบัติการของบีอาร์เอ็น

มีคำถามว่าทำไมบีอาร์เอ็นต้องขยายพื้นที่ปฏิบัติการในปีนี้ ซึ่งขึ้นปีที่ 13 ของการต่อสู้แล้ว (นับจากวันปล้นปืนปี 47) หากต้องการขยายพื้นที่ปฏิบัติการ ทำไมไม่ขยายมาตั้งนานแล้ว โดยเฉพาะในปี 2550 ซึ่งเป็นปีที่มีเหตุรุนแรงมากที่สุดในรอบ 12 ปีไฟใต้ คือ 1,669 เหตุการณ์ (นับเฉพาะเหตุความมั่นคง) มีระเบิดเกิดขึ้น 471 ครั้ง (เฉลี่ยมากกว่าวันละ 1 ครั้ง) สูงสุดในรอบ 12 ปีเช่นกัน (ที่สำคัญปีนั้นมีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในรัฐบาลทหารคล้ายๆ กับปีนี้ แต่ปีนั้นคะแนนรับร่างฯกลับชนะขาด คือ ปัตตานี 72.2% นราธิวาส 73.4% ยะลา 69.6%)

คำถามที่น่าคิดก็คือ บีอาร์เอ็นจะขยายพื้นที่ปฏิบัติการไปเพื่ออะไร ในเมื่อตนเองไม่ได้ประกาศความรับผิดชอบหลังก่อเหตุอยู่แล้ว หนำซ้ำยังเสี่ยงจะถูกตีความปฏิบัติการว่ามาจากเหตุปัจจัยอื่น เช่น การเมือง อย่างที่กำลังเป็นอยู่นี้ด้วย

นักวิเคราะห์บางท่านที่มองว่าการไม่ประกาศความรับผิดชอบ คือจุดแข็งของบีอาร์เอ็น แต่ถ้ามองมุมนี้จะพบว่า มันกลายเป็นเหตุผลที่อ่อนลงไปทันทีที่จะสนับสนุนว่าทำไมบีอาร์เอ็นต้องปฏิบัติการนอกพื้นที่ (เพราะถึงอย่างไรเขาก็ไม่ได้ประกาศว่าเขาทำ) แต่ถ้าปฏิบัติการในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนฯ ถึงไม่ประกาศก็รู้ว่าเขาทำ

7.ส่วนเรื่องเจรจา หรือที่เรียกว่า “พูดคุยสันติสุข” ที่มีนักวิเคราะห์บางคนมองว่าบีอาร์เอ็นต้องการก่อเหตุระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง หรือเร่งรัดให้รัฐบาลไทยต้องเอาจริงเอาจังเรื่องนี้

ประเด็นนี้มีคำถามว่าบีอาร์เอ็นจะลงทุนทำไปเพื่ออะไร ก็ในเมื่อพวกเขาปฏิเสธร่วมโต๊ะพูดคุยอยู่แล้ว และไม่ได้อยู่ในกระบวนการเจรจาในร่มของ “มารา ปาตานี” อย่างเป็นทางการ

จะว่าไปสมาชิกบีอาร์เอ็นที่ร่วมอยู่ในมารา ปาตานี (อย่างไม่เป็นทางการ ไม่ใช่ในนามองค์กร) ก็เป็นปีกสนับสนุนการเจรจา อาจจะมีปีกทหารอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าปัจจุบันได้รับการยอมรับอยู่หรือไม่ (ข้อมูลลึกๆ คือสมาชิกคนที่ว่านี้ บิดายังมีตำแหน่งแห่งหนอยู่ในสามจังหวัด และได้รับการช่วยเหลือจากรัฐเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในบางยุค)

ยิ่งไปกว่านั้น กระบวนการพูดคุยฯในปัจจุบัน ก็มีความคึบหน้าในระดับหนึ่ง คือร่างทีโออาร์ (กรอบการพูดคุย) ที่ฝ่ายไทยขอแก้ไข ได้ถูกส่งกลับไปให้มาเลเซียแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างนัดพบปะพูดคุยกันรอบใหม่

8.บทสรุปท้ายที่สุด ด้วยท่าทีของบีอาร์เอ็นเอง จึงเกิดคำถามว่า คนที่กดปุ่มให้เกิดการขับเคลื่อนสู้รบโดยใช้อาวุธอยู่นั้น แท้ที่จริงแล้วต้องการแยกดินแดนจากรัฐไทยจริงหรือไม่

คือในระดับปฏิบัติการน่ะใช่ มีความเชื่อเรื่องแยกดินแดน เกลียดชังรัฐไทยแน่ๆ แต่ในบริบทของกลุ่มผู้นำ หรือสภาองค์กรนำ ก็น่าคิดว่าบีอาร์เอ็นสู้มาเฉพาะในห้วงนี้ 12 ปีเศษ ยังไม่เห็นแววว่าจะชนะได้เลย มีแต่ผลัดกันรุกผลัดกันรับกับฝ่ายรัฐ หลายเรื่องที่บีอาร์เอ็นได้มวลชน ก็เป็นเพราะฝ่ายรัฐพลาดเอง เช่น กรณีตากใบ หรือกรือเซะ จุดเชื่อมโยงไปสู่การแบ่งแยกดินแดนสำเร็จ ยังมองไม่เห็นจากการต่อสู้ด้วยอาวุธ

ส่วนในทางการเมือง หรือปีกการเมือง ช่องทางการใช้ "สิทธิในการกำหนดใจตนเอง" หรือ self determination ก็มีข้อจำกัดมาก และรัฐไทยก็มีบทเรียนจากหลายประเทศ โดยเฉพาะเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย ทั้งกรณีติมอร์เลสเต และอาเจะห์

ฉะนั้นหากมองแบบกลางๆ ว่าการที่คะแนนโหวตโนชนะที่ชายแดนใต้เกิดจากร่างรัฐธรรมนูญเขียนห่วยจริงๆ จนเข้าทางการปลุกกระแส (เพราะตอนที่เขียนดีกว่านี้ คะแนนรับร่างก็สูงกว่าคะแนนไม่รับร่างฯ ในปี 2550) ก็ยังมองไม่ออกว่าภารกิจแยกดินแดนจะสำเร็จได้อย่างไร

เหตุนี้ถ้าคนกดปุ่มไม่ได้ต้องการแยกดินแดนจริงๆ ก็มิพักต้องไปหาคำตอบว่าเขาจะขยายพื้นที่ปฏิบัติการไปทำไม เพราะการดำรงสภาพให้อยู่เช่นที่เป็นอยู่นี้ต่างหากที่เป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับพวกเขาแล้ว!