วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 11, 2559

นักวิชาการรัฐศาสตร์จุฬาฯ มึน ชี้ จับตาหลังประชามติ การเมืองไทยเดินสู่ยุคอนาล็อก




ภาพจาก คมชัดลึก
.....

นักวิชาการรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ จับตาหลังประชามติ การเมืองไทยเดินสู่ยุคอนาล็อก






ที่มา มติชนออนไลน์
11 ส.ค. 59

เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 11 สิงหาคม ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และ หลักสูตร การเมืองและการจัดการปกครองจัดเสวนาเรื่อง “นัยและทิศทางการเมืองไทยหลังการลงประชามติ: มุมมองทางรัฐศาสตร์” วิทยากรโดย ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุช ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ผศ.ดร.ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์ อ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ดำเนินรายการโดย ผศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ศ.ดร.สุรชาติ กล่าวว่า ประชามติ2550 รัฐบาลเปิดให้เสรี ฝ่ายไม่รับยังแพ้ ประชามติวันนี้ถูกคุมทุกอย่าง โอกาสชนะน้อยจนแทบไม่ต้องดูโพลเลย กระแสตีกลับประชาธิปไตยไทยเกิดตั้งแต่รัฐประหาร 2549 ประชาธิปไตยไทยอ่อนแอกว่าที่เราคิด ส่งสัญญาณชัดว่าการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทยเป็นเส้นทางที่เป็นปัญหา เป็นประชาธิปไตยบนถนนสายลูกรัง ต้องอาศัยแรงประชาชนปรับเส้นทาง ผลประชามติตอบว่าการถดถอยของกระแสประชาธิปไตยไทยเป็นปัญหาแน่ แต่ผมเรียกร้องว่าอย่าฟูมฟาย

“ชัยชนะนี้ไม่ใช่ของทหารหรือคสช. แต่เป็นพลังของอนุรักษ์นิยมที่ถูกสร้างขึ้นหลัง 6 ตุลาคม 2519 ปีนี้เป็นการก่อกระแสอนุรักษ์นิยมช่วงโลกาภิวัฒน์ ชัยชนะที่เกิดในประชามติใต้กระแสอนุรักษนิยมเรากำลังเห็นรัฐราชการเข้มข้นขึ้น วันนี้การโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองเป็นเรื่องปกติ แต่เปลี่ยนจากผีคอมมิวนิสต์เป็นผีทักษิณ เป็นกลไกที่ทำให้การขับเคลื่อนเรื่องประชามติประสบความสำเร็จ เชื่อว่าตั้งแต่หลัง2557 เรามีปรากฏการการสร้างบรรยากาศความกลัวในสังคมไทย ประชามติที่ไหนที่บอกว่าแสดงความเห็นเหมือนได้อย่างเดียว ไม่ให้ความเห็นต่างแสดง จะดีกว่าไหมที่เราไม่ต้องเสียเงินทำประชามติให้ฝ่ายคสช.โหวตรับร่างเลย

“เราเห็นปัจจัย 3 อย่าง ความกลัว ความหวัง ความเชื่อ คนส่วนใหญ่ตัดสินใจรับเพราะเชื่อว่าบ้านเมืองจะไม่วุ่นวายอีกครั้ง อีกส่วนไม่ออกไปโหวตเพราะกลัวทำอะไรพลาด กลัวความผิดทางกฎหมาย อีกส่วนหวังการเลือกตั้งในอนาคต และหวังว่าจะมีส่วนในการกำหนดชะตากรรมตัวเองในอนาคต ผลจากการโฆษณากระแสอนุรักษนิยมชุดใหญ่ คนเกลียดกลัวนักการเมืองและไม่ชอบการเลือกตั้ง คำถามใหญ่ตอนนี้คือจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ เมื่อผู้นำประกาศว่าจะเดินตามโรดแมปผมก็เชื่อว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้น แม้สื่อต่างประเทศจะวิเคราะห์ว่าจะไม่มีการเลือกตั้ง วันนี้เราถอยกลับสู่การเมืองก่อนปี2535หรือมากกว่านั้น เรากลับสู่โครงสร้างรัฐธรรมนูญไม่ต่างจากปี 2521 ยุคที่เรียกว่าระบอบกึ่งประชาธิปไตย แต่สาระพวกนี้พาเรากลับสู่ยุค 2511 ยุคจอมพลถนอม จอมพลประภาส

หรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไม่ใช่การเปลี่ยนผ่านแต่เป็นการเดินทางอีกขั้นของเผด็จการทหาร” ศ.ดร.สุรชาติกล่าวอีกว่า วันนี้เศรษฐกิจไทยในภูมิภาคอาจทรุด แต่ตลาดหุ้นไม่ทรุด รัฐบาลพูดว่าเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล 4.0 แต่การเมืองถอยไปก่อนยุคอนาล็อก 1.5 การคิดถึงประชาธิปไตยในอนาคตต้องร่วมกันคิดใหม่ทั้งหมด ขบวนต่างๆอย่าชี้นิ้วกล่าวโทษกัน บนถนนสายลูกรังต้องการคนสร้างทาง

ประชามติไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ
รศ.ดร.สิริพรรณกล่าวว่า เหตุผลของทั้งผู้รับและไม่รับรัฐธรรมนูญมีหลากหลาย สาเหตุของการโหวตรับ คือ รักลุงตู่ เชื่อมั่นในระบอบทหาร ไม่ไว้ใจนักการเมือง ต้องการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ชอบเนื้อหารัฐธรรมนูญ อยากปราบคนโกง อยากเห็นบ้านเมืองนิ่ง รับตามๆเขาไป อยากเลือกตั้ง ส่วนเหตุผลไม่รับ คือ ต่อต้านรัฐบาล ต่อต้านรัฐประหาร รับไม่ได้กับผู้ร่าง รับไม่ได้กับกระบวนการร่าง ไม่ชอบเนื้อหา รับไม่ได้กับกระบวนการทำประชามติ สนับสนุนพรรคเพื่อไทย สนับสนุนอภิสิทธิ์และชวน หลีกภัย

“การทำประชามติครั้งนี้ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวกับเนื้อหารัฐธรรมนูญเลย เเต่เป็นบริบทแวดล้อมทางการเมืองที่มีรัฐธรรมนูญเป็นองค์ประกอบหนึ่ง ถ้าการทำประชามติครั้งนี้เปิดให้มีการโต้เถียงอย่างเสรีคิดว่าผลโหวตรับจะยังสูงกว่าอยู่ดี ถ้ากลไกภาครัฐ อย่าง ครูก. ครูข. ทำงานอย่างเข้มข้น คำถามคือเกิดอะไรในภาคอีสานที่ยังโหวตไม่รับ ส่วนภาคใต้ถ้ามีการเลือกตั้งเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์ยังได้เสียงอยู่ แม้ภาคใต้ไม่โหวตตามคุณอภิสิทธิ์อาจเพราะไม่ชอบคุณทักษิณมากกว่า แต่บอกไม่ได้ว่าเป็นชัยชนะของคุณสุเทพเหนือคุณอภิสิทธิ์

“นักวิชาการบางท่านบอกว่าประชามติครั้งนี้เป็นตัวอย่างที่เงินไม่เป็นปัจจัยในการลงคะแนนเมื่อนักการเมืองเคลื่อนไหวไม่ได้ เช่นนี้แล้วการที่คนอีสานโหวตไม่รับโดยไม่มีเงินเกี่ยวข้อง ก็ต้องเลิกพูดว่าภาคอีสานคือพื้นที่ซื้อเสียง ถ้าโทษว่าผลประชามติเป็นเพราะกลไกอำนาจรัฐควบคุมการสื่อสาร แต่ที่จริงเขาควบคุมสารที่ส่งถึงประชาชนด้วย เช่น สารที่ส่งไปในพื้นที่ชนบทห่างไกลว่าถ้ารับจะมีการเลือกตั้ง จะมีคนช่วยชาวนาทำงาน ส่วนสารสำหรับคนในเมืองคือความสงบเรียบร้อย เศรษฐกิจจะดี การเมืองจะนิ่ง เป็นการเลือกคัดสารอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐไทยทำแบบนี้มาได้ตลอด ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติทั้งฉบับ แต่ควรทำเป็นรายมาตรา และไม่ใช้คำถามซับซ้อนเช่นในคำถามพ่วง แต่การทำประชามติภายใต้สภาพสังคมแบบนี้โอกาสครั้งหน้าก็จะผ่านอีก

“หากมีการเซ็ตซีโร่จะเกิดพรรคการเมืองจำนวนมาก โดยไม่ต้องเป็นพรรคใหญ่เสียงข้างมาก เช่นพรรคของคุณไพบูลย์ นิติตะวัน การเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นคือพรรคส.ว.จับมือกับพรรคคุณสุเทพโดยอาศัยพรรคประชาธิปัตย์ในการตั้งรับฐาล แต่สิ่งที่อยากเห็นคือพรรคใหญ่สองพรรคจับมือกันจะเปลี่ยนทิศทางการเมืองไทยได้” รศ.ดร.สิริพรรณกล่าว

เสนอข่าวประชามติแบ่งภาคตอกย้ำความแตกแยก

ผศ.ดร.ธนพันธ์กล่าวว่า การทำประชามติครั้งนี้นั้นค่อนข้างจะถูกควบคุม การเปิดเวทีมีจำกัด ฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐจะถูกปัดให้ไปใช้สื่อทางเลือก ทำให้การทำโพลสำรวจประชาชนก่อนการลงประชามติมีความคลาดเคลื่อนได้ และเมื่อมีการควบคุมจากภาครัฐมากๆ ทำให้ประชาชนไม่ตื่นตัวเนื่องจากเห็นว่าถกเถียงไม่ได้ ประกอบกับกลไกของรัฐที่ควบคุมการแสดงความเห็น ประชาชนที่ตอบโพลก่อนหน้าการลงประชามติจึงมีแนวโน้มว่าจะตอบรับร่างรัฐธรรมนูญมากกว่า

ภายหลังการลงประชามติ มีการสร้างวาทกรรมตอกย้ำให้เห็นความขัดแย้งผ่านการรายงานผลการนับคะแนนประชามติว่าพื้นที่และผลการรับหรือไม่รับร่างนั้นเกี่ยวโยงกัน ซึ่งจริงๆ แล้วระดับข้อมูลที่ได้เป็นระดับรายจังหวัด ซึ่งต้องดูย่อยลงไประดับหน่วยเลือกตั้ง ว่าความขัดแย้งลงลึกไปถึงระดับใด

“ในแง่การสื่อสารถ้ารายงานผลระดับหน่วยก็อาจไม่ตื่นเต้นเท่าระดับภูมิภาค สื่อมักนำเสนอและตอกย้ำเรื่องการแบ่งแยกข้างซึ่งยังมีการถกเถียงเรื่องมิติมหาชนว่าแท้จริงแล้วขัดแย้งกันมากขนาดนั้นหรือไม่” ผศ.ดร.ธนพันธ์กล่าว และว่า การแบ่งให้เห็นว่าพื้นที่ใดรับหรือไม่รับเป็นการตอกย้ำเรื่องความแตกแยกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

“เมื่อเกิดการควบคุมการประชามติและควบคุมกลไกหลังจากนี้ ความขัดแย้งจะถูกตอกย้ำเรื่อยๆ สิ่งที่รัฐบาลปัจจุบันกำลังทำ ที่พยายามควบคุมการออกแบบกฎหมาย ก็ยิ่งย้อนแย้งเพราะเป็นการผลักคนเห็นต่างออกไปเรื่อยๆ และการที่ผู้มีอำนาจทางการเมืองควบคุมโครงสร้างทางการเมืองต่างๆ ในระยะยาวยิ่งคุมไม่ได้อย่างที่รัฐคาดหวัง” นายธนพันธ์กล่าว

จับตาขั้นตอนต่อไป

อ.ดร.พรสันต์ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องจับตาต่อไปคือขั้นตอนหลังประชามติจะเป็นอย่างไร มีการกำหนดเวลาไว้ว่าใน 30 วัน กรธ. ต้องนำคำถามพ่วงเข้าไปใส่ในบทเฉพาะกาล แล้วจึงส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบภายในระยะเวลาอีก 30 วัน

“การยกร่าง พ.ร.บ. ประกอบทั้ง 10 ฉบับไม่จำเป็นต้องร่างใหม่ทุกมาตรา” นายพรสันต์กล่าว และว่า ร่างรัฐธรรมนูญน่าจะได้ประกาศใช้เดือนพฤษจิกายน ซึ่งน่าสนใจว่าสภาพระบอบการเมืองจะเป็นอย่างไร น่าจะมีตัวหลักคือ ส.ว. ที่มีบทบาทค่อนข้างมาก

ขณะที่ ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล ระบุว่า เชื่อว่าผู้มีอำนาจไม่น่าจะสบายใจจากผลการลงประชามติ เพราะจากผลประชามติ ก็จะปรากฎให้เห็นถึงพื้นที่สีแดงจำนวนมาก อย่าลืมว่าการทำประชามติครั้งนี้ มีการใช้กลไกรัฐจำนวนมาก รวมถึงยังมีการตั้งคำถามเรื่องพื้นที่ในการเปิดให้มีการแสดงความเห็นที่คัดค้าน หรือโต้แย้งที่มีน้อย ยกตัวอย่างเพื่อนของตนเองซึ่งเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หลายคนก็ถูกเจ้าหน้าที่ทหารจับตา

ประชาธิปไตยไม่เต็มบาท

ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ระบุว่า จากการตามศึกษาในจังหวัดพื้นที่ที่ตนทำวิจัยมาเป็นระยะเวลายาวนาน กรณีฝ่ายเห็นชอบ ยกตัวอย่างคืออำเภอเมือง หรือชนชั้นกลาง กว่า 70% รับร่างฯ แต่ในพื้นที่อำเภอชนบท มี 2 อำเภอที่ไม่รับร่างฯ ในระดับตำบล ลักษณะที่เป็นบ้านจัดสรร ส่วนใหญ่รับ ขณะที่ย่านหมู่บ้าน คะแนนกลับไม่รับ หรือห่างกันเล็กน้อย ทั้งนี้ตนขอเรียกระบบการเมืองที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ว่า ระบบประชาธิปไตยไม่เต็มบาท และรัฐธรรมนูญไม่เต็มบาท เป็นสิ่งที่ชนชั้นกลางไทยอย่างได้

นอกจากนี้ จากการพูดคุย พบว่า นักการเมืองท้องถิ่นพูดชัดว่ารับ เพราะคนเหล่านี้ต้องการเลือกตั้งโดยเร็ว กลับไปสู่ระบบเครือข่าย ทั้งนี้ ยังอยากตั้งข้อสังเกตว่า อย่าลืมว่าชาวนาทำนาปรังไม่ได้ น้ำแห้งนา มีการปิดประตูระบายน้ำ ชาวนาในพื้นที่ต่างบ่นว่าหากอยู่ต่อไปแบบนี้ไม่ดีแน่ๆ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการลงประชามติ เราจึงจะเห็นความซับซ้อนของการลงคะแนน ซึ่งบางคนบอกว่าชนบทไม่รู้เรื่อง ไม่มีข้อมูล แต่มันมีความซับซ้อนด้านข้อมูลและเหตุผลที่ต้องการการทำความเข้าใจอีกเยอะ สุดท้ายเราคงต้องอยู่กับประชาธิปไตยแบบไม่เต็มบาท และรอให้เวลาพิสูจน์ ให้คนเห็นเองว่าระบบแบบนี้จะเป็นอย่างไร จึงแนะนำให้ปล่อยเวลาไป และพยายามรักษาสิทธิเสรีภาพของเราเอาไว้

อย่ามองประชาธิปไตยแค่เรื่องอุดมการณ์

ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ระบุว่า เรื่องแรก ผลของการลงประชามติน่าสนใจ เพราะสามารถตีความได้หลายด้าน เช่นมีคนจำนวนมากโหวตรับเพราะต้องการที่จะเลือกตั้ง ขณะที่อีกกลุ่มก็โหวตรับเพื่อไม่เอานักการเมือง จึงต้องตั้งคำถามว่ามันเกิดคำถามอย่างไรกับการโหวตรับ การทำประชามติครั้งนี้จึงเป็นเรื่องมหัศจรรย์ของการบริหารวิกฤตในการทำประชามติครั้งนี้

อีกเรื่องคือคำถามที่ว่าประชาธิปไตยตายไหม ก็ต้องตอบว่าตาย แต่ประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่ระดับอุดมการณ์ เพราะหากมองประชาธิปไตยในเชิงการเลือก เราได้เห็นทางเลือกของคนในหลายรูปแบบ เลือกด้วยข้อมูลที่ถูกให้มา และมีอยู่อย่างจำกัด เช่นมีคนจำนวนมากรักประชาธิปไตย แต่ก็โหวตรับเพื่อหวังไปสู่ระบบปกติโดยเร็ว ในมิตินี้เป็นการทำความเข้าใจประชาชนที่เลือกตัวเลือกทางการเมืองต่างๆ การศึกษาเรื่องนี้จะช่วยทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจประชาธิปไตยในฐานะตัวเลือก หรือทางเลือกของประชาชน

เรื่องสำคัญคือต้องประเมินในระดับพื้นที่จริง มากกว่าแค่เรื่องอุดมการณ์ว่าประชาชนไทยอาจไม่มีทางเลือกอื่น อาจเป็นเรื่องจำเป็นของประชาชนในการที่จะต้องเลือกทางเลือกที่ดีที่สุด โดยเฉพาะในการเมืองปกติของไทยเอง ซึ่งมีปัญหาว่าประชาธิปไตยยังไม่ตอบโจทย์เสถียรภาพทางการเมือง ดังนั้นหากจะเป็นประชาธิปไตย ก็จะต้องทำให้ประชาธิปไตยต่างจากระบบเผด็จการที่ต้องการเสียงสนับสนุนจากประชาชน อิงมติประชาชน จะเห็นว่าประชาธิปไตยมีโจทย์อีกมาก เพราะหากอิงแต่เสียงข้างมาก ก็ต้องคิดเรื่องอื่นที่ทำให้ประชาธิปไตยยั่งยืนด้วย