วันเสาร์, สิงหาคม 13, 2559

จริงหรือ? เสียงประชามติ คือ เสียงของประชาชนปฏิเสธการชี้นำของพรรคการเมือง





ท่าทีของประชาชน


ชกไม่มีมุม
วงค์ ตาวัน
ข่าวสดออนไลน์

13 สิงหาคม พ.ศ. 2559


มีความพยายามจะอธิบายผลการลงประชามติที่เสียงของผู้มาใช้สิทธิให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง มีจำนวนสูงกว่าผู้มาใช้สิทธิที่ลงมติไม่เห็นชอบ ด้วยการจุดประเด็นและขยายต่อกันเป็นทอดๆ ทำนองว่า เสียงของประชาชนได้ปฏิเสธการชี้นำของพรรคการเมืองอย่างชัดเจน

เพราะพรรคการเมืองแทบทุกพรรค โดยเฉพาะ 2 พรรคใหญ่ ประกาศท่าทีไม่รับร่างรัฐธรรมนูญอย่างเอิกเกริก ก่อนวันลงประชามติ

แต่สุดท้ายเสียงประชามติกลับเห็นชอบมากกว่า

นั่นแสดงว่า คนเริ่มไม่ยอมรับนักการเมืองอย่างเห็นได้ชัด เท่ากับว่าพรรคการเมืองทั้งหลายต้องไปปรับปรุงตัวเองครั้งใหญ่แล้ว

ยิ่งเมื่อพิจารณาสาระของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่เน้นควบคุมนักการเมืองจนแทบกระดิกกระเดี้ยไม่ได้

ประชาชนกลับยิ่งเห็นชอบ อย่างนี้แปลว่าอะไร

ข้ออธิบายประการนี้ก็น่าสนใจ พรรคการเมืองและนักการเมืองก็ต้องนำไปขบคิดกันต่อ!?

เพียงแต่ต้องถามกันต่อไปว่า จะถือว่าเสียงประชามติคราวนี้ สมบูรณ์แบบน่าเชื่อถือ จนสามารถใช้อธิบายความตกต่ำของพรรคการเมืองได้ขนาดนั้นหรือ

มองอย่างนี้ก็พอจะพูดได้ว่า ไม่น่าเป็นเช่นนั้น

ถ้าบรรยากาศของกระบวนการประชามติ เป็นไปอย่างเป็นประชาธิปไตยปกติ เปิดรับฟังทุกด้าน ก็ว่าไปอย่าง

แต่นี่หาเป็นเช่นนั้นไม่

อีกทั้งมีภาพที่เห็นได้ชัดคือ เสียงของคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในกทม. ซึ่งจะต้องแห่แหนกันกลับบ้านเพื่อไปใช้สิทธิกัน กลับไม่ปรากฏให้เห็น

ว่ากันว่า การเลือกตั้งอบต. ยังมีความเคลื่อนไหวกลับบ้านไปกาบัตรคึกคักกว่านี้หลายเท่า!

เอาเป็นว่า โอกาสต่อไปที่จะได้เห็นประชาชนออกมาใช้สิทธิทางการเมือง คือการเลือกตั้งที่น่าจะมีในปลายปี 2560 นั้น

อาจจะเห็นได้ชัดเจนกว่า ว่าประชาชนปฏิเสธพรรคการเมืองจริงหรือไม่

ไม่เพียงเท่านั้น มีคำอธิบายผลประชามติที่น่าจะเป็นไปได้มากกว่า นั่นคือ เสียงเห็นชอบส่วนใหญ่ เป็นเพราะไม่อยากให้บ้านเมืองเกิดการสะดุด เกิดความขัดแย้งใดๆ อีก จึงเห็นว่าควรจะเร่งให้รัฐธรรมนูญออกมาบังคับใช้

เพื่อจะได้มีเลือกตั้งโดยเร็ว และจะได้รัฐบาลจากการเลือกตั้งมาแทนที่รัฐบาลพิเศษ

เพื่อให้โลกเลิกปิดล้อม การค้าขายจะได้ฟื้นคืนมาเสียที

ประเด็นนี้ยิ่งไม่สามารถนำมาอธิบายได้ว่า เสียงประชามติคือปฏิเสธนักการเมือง

ที่สำคัญประชาชนจำนวนไม่น้อยล้วนตระหนักว่า มีแต่ระบบพรรคการเมือง นักการเมือง และการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเท่านั้น

ที่ยึดโยงกับอำนาจในมือประชาชนมากที่สุด

แล้วประชาชนจะไปปฏิเสธระบบที่ตนเองได้มีอำนาจการเมืองอย่างนั้นหรือ!?