วันจันทร์, สิงหาคม 08, 2559

รู้กันแล้วว่าประชามติผ่านฉลุย รวมความได้ว่า ผลของประชามติเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคมนี้ ไม่เป็นที่สิ้นสุดอย่างแน่นอน อันเป็นภาระของฝ่ายประชาธิปไตย ไม่เอาผลพวงรัฐประหาร จักต้อง ต่อสู้กันต่อไปไม่หยุดยั้ง





รู้กันแล้วว่าประชามติผ่านฉลุย ตามคาดหมายของฝ่าย ‘โนโหวต’ และ ‘โหวตเยส’

จะด้วยเหตุคนไปออกเสียงน้อย ไม่ถึง ๗๐ เปอร์เซ็นต์อย่างที่ฝ่าย ‘โหวตโน’ หวัง

หรือว่าเป็นเพราะส่วนใหญ่ต้องการให้มีเลือกตั้งเสียที ไม่ว่าจะด้วยรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเท่าไรนัก ก็ชั่งมัน ก็ตามที

เบื้องต้นนี้ขอเก็บตกจากที่มีคอมเม้นต์กันก่อนนอนในเมืองไทย คืนวันที่ ๗ สิงหาคม มาแบ่งปันบรรยากาศหลับฝันร้าย ไว้ก่อน





เริ่มที่ ‘อาณาจักรไบกอน Returns’ : “เชื่อว่าคนส่วนใหญ่อยากมีการเลือกตั้งเร็วที่สุด แต่หารู้ไม่ว่าการมีรัฐบาลมาจากเลือกตั้งก็จริงแต่ไม่สามารถทำงานสนองตอบต่อประชาชนได้เลย ตามยุทธศาสตร์ชาติที่ คสช. วางกรอบไปอีก ๒๐ ปี

ก็อยู่แบบพอมีพอกินกันไปนะครับ”

ทางด้าน ‘ชาญวิทย์ เกษตรศิริ Charnvit Kasetsiri shared วิวาทะ V2'sphoto’ อ้างถึงการประชามติเมื่อปี ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นแม่แบบของผลลัพทืที่คล้ายคลึงกับครั้งนี้ จึงนำคอมเม้นต์มาใช้ด้วยกันได้

“เรายอมรับกติกาครับว่า ‘แพ้’ แม้เราจะไม่ยอมแพ้ เราไม่เคยเรียกร้องให้ทหารมารัฐประหาร เพื่อฉีกรัฐธรรมนูญที่เราไม่ชอบ เราสู้ตามกติกา

แต่ฝ่ายชนชั้นนำ อีหลีต อำมาตยา –เสนาธิปไตย ตุลาการต่างหากที่พ่ายแพ้ แม้พวกเขาจะเขียนกติกาขึ้นมาเองเพื่อกีดกัน กดทับ ตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แล้วแทนที่ด้วยระบบ ‘คนดี’...

แต่เราก็ได้เห็นอีกด้าน คือความตื่นตัวของเยาวชนคนรุ่นใหม่ เราได้เห็นคนอย่าง ‘ลูกแก้ว โชติรส’ คนอย่าง ‘รังสิมันต์ โรม’ หรือแม้กระทั่งนักเรียน อย่างพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ ‘เพนกวิน’

ได้ออกมาแสดงความคิดความอ่านที่ไปไกลกว่าคนรุ่นอายุ ๗๐-๘๐ ปี ที่กำลังร่างรัฐธรรมนูญ ผูกมัดให้พวกเขาได้ใช้กันในอนาคต...

ขอผองเราจงมีความอดทน ร่วมกันต่อสู้ ร่วมกันเดินก้าวไปในความเปลี่ยนผ่านครั้งนี้”





สำหรับ ‘พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์’ ย้ำว่า “ผลประชามติก็ไม่ได้ต่างกับปี ๕๐ มากนัก ในคราวนั้น รธน.๕๐ ก็ผ่านแบบ ๖๐/๔๐ จำนวนเสียงก็ ๑๔ ล้าน/๑๐ ล้านเสียง คนใช้สิทธิ์ก็ราว ๕๐%...

ยังเชื่อว่า คนที่โหวตรับจำนวนมากทำเพราะอยากเลือกตั้งเร็ว ๆ...แม้แต่มวลชนฐานเสียงพรรคเพื่อไทยและเสื้อแดงจำนวนมากก็เชื่ออย่างนั้น...ปชป.นั้นเจอปัญหาใหญ่ไม่แพ้กัน คราวนี้ ชวนแพ้เทพเทือก มวลชนเชื่อเทพเทือกมากกว่า สถานะของชวนและอภิสิทธิ์สั่นคลอน...

โอกาสสูงมากที่จะมีเหตุผลสารพัดจนต้องเลื่อนออกไปปี ๖๑ หรือนานกว่านั้นอีก ระหว่างนี้ คสช.ก็ใช้อำนาจเต็มที่ต่อไป ฉะนั้น มีรธน.ก็เหมือนไม่มีอยู่ดี...ก็จะเกิดวิกฤตทั้งในสภาและนอกสภาอย่างรวดเร็ว อายุมันไม่ยืนนาน แม้แต่รธน.๕๐ ก็ใช้ได้แค่ ๖ ปีเศษเท่านั้น

จึงเชื่อว่า รธน.นี้จะอายุสั้นมาก”

อันเป็นถ้อยคำที่ต่างกับ ‘สาระร่างรัฐธรรมนูญร่างทรง คสช.’ ซึ่งสำนักข่าว ‘ประชาไท’ เรียบเรียงไว้ โดยเตือนว่า “เขาจะอยู่กับเราไปอีกนาน”

“ถ้าจะมีกฎหมายฉบับใดในโลกนี้ที่วางกลไกสืบทอดอำนาจของทหารไว้ชนิดแน่นหนาที่สุด ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ ก็คือหนึ่งในนั้น ทั้งยังมีกลไกอื่นๆ ที่ คสช. วางเอาไว้อีก”

(รายละเอียดดูได้ที่ http://prachatai.org/journal/2016/08/67288)





ขณะที่สื่อต่างประเทศ The Independent ของอังกฤษพาดหัวทันที “ประเทศไทยออกเสียงประชามติ เพื่อจะให้ได้รัฐบาลที่ไม่ยึดโยงรับผิดกับประชาชนน้อยลงไปอีก”

ดิ อินดีเพ็นเด๊นท์ สรุปว่าประชามติผ่านเพราะคนเชื่อคำโฆษณาของ คสช. ว่าสามารถรักษาความมั่นคง ปลอดจากการแตกแยก ตีกันบนถนนได้

อีกทั้งทันทีที่รู้ว่า ‘ชนะ’ รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่งสาส์น ‘ตบหน้า ตำหนิ’ ถึงรัฐบาลต่างประเทศ และสหประชาชาติ อ้างว่า

“ผิดหวัง ที่ได้มีการขัดขวางอย่างไม่เหมาะสมจากเส้นสายภาคส่วนภายนอกประเทศ ในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่เปราะบางของเรา

การแทรกแซงเหล่านั้นทำให้เราบังเกิดความไม่พอใจ ต่อท่าทีของผู้ที่เรียกตนว่าเป็นมิตรกับประเทศไทย”

สื่ออังกฤษฉบับนี้ยังโคว้ตคำของ ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเกียวโตด้วยว่า “มันให้ไฟเขียวแก่พวกเขา (คสช.) ที่จะทำอะไรต่อไปตามต้องการอีกสองสามอย่าง เขาจะบอกว่าฝ่ายคัดค้านจะพูดอะไรไม่ได้อีกแล้ว

คณะทหารจะใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นรีโมตคอนโทรล รัฐธรรมนูญจะเป็นเครื่องมือให้ยึดครองอำนาจทางการเมืองต่อไป”

(http://www.independent.co.uk/…/thailand-votes-by-public-ref…)

ถึงกระนั้น ‘ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ New Democracy Movement - NDM’ ได้ออกแถลงการณ์ยอมรับผลของประชามติครั้งนี้

“เราเคารพในเสียงของประชาชนทุกคนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด คิดเห็นอย่างไร และพร้อมยอมรับการตัดสินใจของประชาชนไม่ว่าจะเป็นเช่นไร

เพราะนี่คือการตัดสินใจที่เกิดจากผู้ที่เป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดของประเทศอย่างเท่าเทียมกัน”

“แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีผู้ใดที่ได้รับความเดือดร้อนจากระบอบเผด็จการอีก

ไม่ได้หมายความว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะได้รับการคุ้มครอง และไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยจะกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยได้จริง...

ขบวนการประชาธิปไตยใหม่จึงขอยืนยันที่จะปฏิบัติหน้าที่ในการต่อสู้เรียกร้องระบอบประชาธิปไตย พิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน และต่อต้านการกระทำอันไม่ถูกต้องของเผด็จการทหารต่อไป...

เราจะสู้ต่อไป”

อย่างไรก็ดี Somsak Jeamteerasakul ได้เขียนข้อความท้วงแถลงการณ์ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นภาพสไลด์ประกอบว่า มันเป็นการ ‘ล็อคตัวเอง’ เข้ากับหลักการผิดๆ และ “มันมีผลต่อความเข้าใจของประชาชน”

สศจ. ให้เหตุผลในการท้วงนี้ว่า “ประชามติ หรือการเลือกตั้ง จะถือเป็น ‘คำตัดสินของประชาชน’ ได้ ต่อเมื่อมันเป็นประชามติจริงครับ

#สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ไม่ใช่ประชามติในความหมายของคำนี้แน่นอนนี่เป็นปัญหาเชิงหลักการเกี่ยวกับประชาธิปไตย การเลือกตั้ง ประชามติที่สำคัญ”

รวมความได้ว่า ผลของประชามติเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคมนี้ ไม่เป็นที่สิ้นสุดอย่างแน่นอน อันเป็นภาระของฝ่ายประชาธิปไตย ไม่เอาผลพวงรัฐประหาร จักต้อง ต่อสู้กันต่อไปไม่หยุดยั้ง

หากผู้ใดเหนื่อยร้าก็สามารถพักผ่อนก่อนได้ (ดังที่ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แนะไว้เมื่อคราวปาฐกถาที่หอประชุมศรีบูรพา มธ. ไม่นานมานี้)

ใครที่ยังไม่เหนื่อยก็สู้กันต่อ เพื่อรักษากระแสพลังรอคนที่หายเหนื่อยกลับมาสมทบ จนกว่าจะได้รับชัยชนะ ปลดแอกประชาชนจากระบอบการเมืองลายพราง

(หมายเหตุ จากการแถลงของ กกต. เมื่อนับคะแนนได้ ๙๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ ได้ผลการลงประชามติว่า

เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน ๖๑ เปอร์เซ็นต์ เห็นชอบคำถามพ่วง ๕๘ เปอร์เซ็นต์

โดยมีตัวเลขเกี่ยวเนื่องดังนี้

ภาคกลาง เห็นชอบร่างฯ ๖๙ ต่อ ๓๑ เปอร์เซ็นต์ เห็นชอบคำถามพ่วง ๖๖ ต่อ ๓๔ เปอร์เซ็นต์

ภาคเหนือ เห็นชอบร่างฯ ๕๘ ต่อ ๔๒ เปอร์เซ็นต์ เห็นชอบคำถามพ่วง ๕๔ ต่อ ๔๖ เปอร์เซ็นต์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 'ไม่เห็นชอบ' ร่างฯ ๕๑ ต่อ ๔๙ เปอร์เซ็นต์ ไม่เห็นชอบคำถามพ่วง ๕๕ ต่อ ๔๕ เปอร์เซ็นต์

ภาคใต้ เห็นชอบร่างฯ ๗๗ ต่อ ๒๓ เปอร์เซ็นต์ เห็นชอบคำถามพ่วง ๗๔ ต่อ ๒๖ เปอร์เซ็นต์

และมีข้อสังเกตว่า มีผู้ไปออกเสียงเพียง ๒๗ ล้านครึ่ง (๒๗,๔๑๗,๖๗๒ คน) หรือราว ๕๔ เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมด ๕๐,๒๖๐,๐๐๐ คน)