วันพุธ, สิงหาคม 31, 2559

ภรรยาเหยื่อคดี “อุ้มหาย” "พิณนภา พฤกษาพรรณ" ภรรยานายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ ฝากความหวังไว้กับกฏหมายฉบับใหม่



ภรรยาเหยื่อคดี “อุ้มหาย” ฝากความหวังไว้กับกฏหมายฉบับใหม่

ภรรยาของผู้สูญหายจากการบังคับสูญหาย หรือ “อุ้มหาย” เผยว่ามีความยุ่งยากในการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำผิด เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีกฎหมายรับรองคดีนี้ ขณะที่นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนชี้สังคมควรจับตาร่าง “พ.ร.บ.อุ้มหาย” เปิดกว้างให้คณะทำงานมีบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วม

น.ส. พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยานายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกินของชาวกะเหรี่ยงที่หายตัวไปเมื่อปี 2557 เผยกับบีบีซีไทยว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยในคดีการบังคับสูญหายยังมีความล่าช้า ผ่านมา 2 ปี แต่คดีของสามียังไม่คืบหน้า โดยศาลฎีกายกคำร้องที่ครอบครัวขอให้ศาลสั่งปล่อยตัวนายบิลลี่ ซึ่งครอบครัวเชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวไว้ โดยพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นซึ่งชี้ว่าไม่มีมูลและพยานของฝั่งผู้ร้องไม่เห็นเหตุการณ์ และขณะนี้เรื่องยังอยู่ในกระบวนการไต่สวนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)

นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของนายสมชาย นีละไพจิตร กล่าวว่าที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมไม่สามารถเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องเนื่องจากที่ผ่านมาไทยไม่มีกฎหมายกรณีบังคับสูญหาย จึงอยากให้สังคมร่วมจับตาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งกำลังอยู่ในการพิจารณาของกฤษฎีกา โดยจะต้องมีสาระสำคัญสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการทรมานและบังคับสูญหายขององค์การสหประชาชาติ เพราะถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญบางประการไปก็จะทำให้ไม่สามารถมีประสิทธิภาพในการป้องกันกรณีดังกล่าวได้จริง

นางอังคณา ระบุว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือคณะกรรมการที่จะมีอำนาจและหน้าที่ในการติดตามและตรวจสอบคนหายได้ด้วย ไม่ใช่มีอำนาจแค่กำกับนโยบาย โดยจะต้องมีหลายภาคส่วน เช่นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเข้าใจ หรือญาติผู้สูญหายเข้าร่วมด้วย

สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.ที่มีการยกร่างไปแล้ว มีสาระสำคัญ คือ การกำหนดบทลงโทษอย่างหนักต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่ไปทรมานประชาชนและอุ้มประชาชนหายไปจากสังคม และมีการกำหนดนิยาม “ผู้เสียหาย” ให้กว้างขวางขึ้น โดยให้รวมถึงบุพการี คู่สมรสของบุคคลดังกล่าว รวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงมีสิทธิได้รับการเยียวยา

กฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดความผิดทางอาญาแก่ผู้บังคับบัญชาโดยตรงที่รู้เห็นและทราบว่าผู้ใต้บังคับบัญชาไปทรมานหรืออุ้มหายแล้วไม่ยับยั้ง ห้าม หรือลงโทษ และการห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐจับกุมคุมขังบุคคลในที่ที่ไม่เปิดเผย นอกจากนี้ จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระที่มีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนคดี ช่วยเหลือเยียวยาญาติผู้ที่ถูกทรมานและอุ้มหาย และยังคุ้มครองผู้เสียหายหรือผู้แจ้งความในคดีทรมานและบังคับสูญหาย ไม่อาจถูกฟ้องแพ่ง อาญา และคดีอื่นใด

https://www.facebook.com/BBCThai/videos/1814692768751755/


บีบีซีไทย - BBC Thai