วันอาทิตย์, สิงหาคม 07, 2559

“เมื่อปิดหีบ ประชามติ 7 สิงหา 2559” เรายอมรับกติกาครับว่า แพ้ (เพราะเสียงโหวต เยส มากกว่า แต่) เราจะไม่ยอมแพ้ - Charnvit Kasetsiri




http://prachatai.org/journal/2016/08/67288


Food for thought at the end of the day of August 7, 2016

“เมื่อปิดหีบ ประชามติ 7 สิงหา 2559”

โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

สวัสดีครับ ท่านสุภาพบุรุษ สุภาพสตรี สุภาพชน
ที่มารวมกัน ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

เมื่อเช้า (7 สิงหาคม 2559) ผมไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติ

นี่เป็นครั้งที่ 2 ในชีวิต ของผม และของคนไทยหลายคน ที่มีอายุ 27 ปีขึ้นไป เพราะการออกเสียงประชามติครั้งแรก คือ ในปี 2550

แต่สำหรับคนที่อายุ 18-26 ปี คนเหล่านี้
คือการออกเสียงประชามติครั้งแรกในชีวิตของเขาและเธอ

เมื่อ 9 ปีที่แล้ว ผมเป็นหนึ่งใน 10,747,441 คน (สิบล้านเจ็ดแสนสี่หมื่นเจ็ดพันสี่ร้อยสี่สิบเอ็ดคน)
ที่โหวต โน เราแพ้ครับ เพราะเสียงโหวต เยส มากกว่าคือ 14,727,306 คน (สิบสี่ล้านเจ็ดแสนสองหมื่นเจ็ดพันสามร้อยหกคน)
แน่นอนว่าด้วยเหตุผลแตกต่างกัน เป็นต้นว่า

- คนโหวต เยส เพราะเห็นร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ดีกว่า
-คนโหวต เยส เพราะเชื่อว่า รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ไปก่อนแล้วค่อยแก้ไขใหม่
- คนโหวต เยส เพราะอยากให้มีการเลือกตั้ง เพื่อให้บ้านเมืองกลับสู่ปกติ

แน่นอน ประวัติศาสตร์ได้บอกเราแล้วว่า เหตุผลดังกล่าวนั้นไม่จริง
เหตุผลดังกล่าวเป็นเพียง “โวหาร”
เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับอำมาตยา–เสนาธิปไตย และตุลาการ ผ่านและบังคับใช้กับคนไทยทุกคน

แต่เรายอมรับกติกาครับว่า แพ้ แม้เราจะไม่ยอมแพ้ เราไม่เคยเรียกร้องให้ทหารมารัฐประหาร
เพื่อฉีกรัฐธรรมนูญที่เราไม่ชอบ เราสู้ตามกติกา

แต่ฝ่ายชนชั้นนำ อีหลีต อำมาตยา –เสนาธิปไตย ตุลาการต่างหาก ที่พ่ายแพ้ แม้พวกเขาจะเขียนกติกาขึ้นมาเองเพื่อกีดกัน กดทับ ตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แล้วแทนที่ด้วยระบบ “คนดี”

แต่การเลือกตั้งทั่วไปทั้ง 2 ครั้ง
คือปี 2550 และ 2554 ฝ่ายที่ชนชั้นนำ อีหลีต อำมาตยา –เสนาธิปไตย ตุลาการ สนับสนุน กลับพ่ายแพ้ นี่เองที่เป็นเหตุที่มาของรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 หรือเมื่อ 2 ปี 2 เดือน 14 วัน ที่แล้ว

เหตุที่คณะรัฐประหาร ทั้ง 2549 และ 2557 ต้องทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
นั้นหาใช่เพราะว่าพวกเขาใจดี ต้องการประชาธิปไตย แต่เป็นเพราะว่าตอนนี้ กระแสประชาธิปไตย ทั้งในและนอกประเทศ คือกระแสหลักของนานาอารยะประเทศ ที่ฝืนไม่ได้

ถึงแม้ว่าการใช้อำนาจรัฐในการลิดรอนสิทธิ เสรีภาพในการลงประชามติ 2559
จะมากกว่า ประชามติ 2550 อย่างเทียบกันไม่ติด มีการจับกุมคุมขัง ประชาชนผู้เห็นต่างเป็นจำนวนมาก

แต่เราก็ได้เห็นอีกด้าน คือความตื่นตัวของเยาวชนคนรุ่นใหม่
เราได้เห็นคนอย่าง ลูกแก้ว โชติรส คนอย่างรังสิมันต์ โรม
หรือแม้กระทั่งนักเรียน อย่างพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน
ได้ออกมาแสดงความคิดความอ่าน ที่ไปไกลกว่าคนรุ่นอายุ 70-80 ปี
ที่กำลังร่างรัฐธรรมนูญ ผูกมัดให้พวกเขาได้ใช้กันในอนาคต

ณ เวลานี้ เราไม่ทราบหรอกว่า
ผลประชามติจะออกมาเช่นไร
แต่ในแง่ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ทุกอย่างมีพลวัต

อย่างที่ผมเคยพูดเสมอว่า สยามประเทศไทยของเรา กำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่

“อะไรที่เราไม่เคยคิดว่า จะได้เห็น ก็ได้มาเห็น
และอะไรที่เคยเห็นมาชั่วชีวิตนี้ ก็อาจจะไม่ได้เห็นกันอีกแล้ว ในไม่ช้าไม่นานนี้”
ขอผองเรา จงมีความอดทน ร่วมกันต่อสู้ ร่วมกันเดินก้าวไปในความเปลี่ยนผ่าน ครั้งนี้

สวัสดี
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
7 สิงหาคม 2559
16:30