วันจันทร์, สิงหาคม 22, 2559

ตามหาลูก : จดจำและหวังด้วยความเงียบ (1) โดย ธงชัย วินิจจะกูล





ตามหาลูก : จดจำและหวังด้วยความเงียบ (1)


บทความพิเศษ โดย ธงชัย วินิจจะกูล
มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19-22 ส.ค. 59

หมายเหตุ : ในโอกาสครบรอบ 40 ปีของอาชญากรรมเมื่อ 6 ตุลา 2519 ขออุทิศข้อเขียนเช่นนี้ให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตเมื่อ 40 ปีก่อนทุกท่าน 

แม้จะผ่านไป 4 ทศวรรษแล้ว 6 ตุลา ยังถือเป็นเรื่อง "ละเอียดอ่อน" ที่ผู้คนจำนวนมากยังไม่กล้าพูดถึงอย่างเต็มปากเต็มคำ ยิ่งมิต้องพูดถึงการหาความยุติธรรม คุณค่าของการเสียสละชีวิตจึงยังกำกวมไปด้วย ปกติสังคมไทยไม่ได้เคารพให้เกียรติแก่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ทางการเมืองในแง่ปัจเจกชนที่มีชื่อ มีหน้าตา มีครอบครัวสักเท่าไหร่ พวกเขามักถูกจดจำเป็นเพียงแค่ตัวเลข ผู้เสียชีวิต 6 ตุลา ยิ่งถูกละเลย ในภาวะเช่นนี้มีแต่ครอบครัวของพวกเขาแต่ละคนที่ยังจดจำเขาได้ไม่เคยลืม แต่ว่าครอบครัวของเขาส่วนมากกลับต้องเก็บงำความทุกข์จากการสูญเสียและจดจำอย่างเงียบๆ เพราะไม่แน่ใจว่าหากเปิดเผยตัวจะมีผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขาอย่างไร ทั้งๆ ที่เขาควรได้รับเกียรติอย่างน่าภาคภูมิใจ

ปีนี้จึงขอรำลึกถึงความทุกข์ของพ่อแม่พี่น้องของผู้เสียชีวิตทุกๆ คน โปรดรับรู้ว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังจดจำลูกหลานพี่น้องของท่านได้ดี และขอแสดงความเคารพและให้เกียรติท่านอย่างสูงที่สุด

[อ่านข้อเขียนนี้แล้วโปรดชมภาพยนตร์สั้น "Silenced Memories" (2014) ของ คุณภัทรภร ภู่ทอง ด้วย https://www.youtube.com/watch?v=JAbgvsDvkT4]


จินดา ทองสินธุ์


จินดา ทองสินธุ์ สูญเสียลูกชาย จารุพงษ์ ในเหตุการณ์ 6 ตุลา ในช่วงนั้นจินดาเป็นครูประจำโรงเรียนท้องถิ่นในอำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งในเวลานั้นหากเดินทางโดยรถยนต์จะใช้เวลาแปดชั่วโมงครึ่งหากเดินทางโดยรถไฟจะใช้เวลา 12-13 ชั่วโมงจึงจะถึงกรุงเทพฯ 

ลิ้ม ทองสินธุ์ แม่ของจารุพงษ์เป็นชาวสวน ทั้งสองมีลูกด้วยกัน 5 คน จารุพงษ์เป็นคนโตและเป็นคนแรกในครอบครัวที่มีโอกาสเรียนถึงระดับมหาวิทยาลัย 

ทั้งสองเริ่มตามหาลูกชายตั้งแต่ทราบข่าวเหตุการณ์ในกรุงเทพฯ แต่จินดากับลิ้มหาเท่าไหร่ก็ไม่พบ แถมไม่มีใครยืนยันกับทั้งสองว่าเขาเสียชีวิตแล้วในเหตุการณ์เช้าวันนั้น ไม่นานนักหลังจากความพยายามนั้นล้มเหลว จินดาได้เขียนบันทึกการตามหาลูกชายไว้ แต่เขาเขียนไม่จบ

บทความนี้จะเริ่มด้วยการสรุปบันทึกของจินดาซึ่งมีความสำคัญหลายประการ 

บันทึกชิ้นนี้บอกแก่เราหลายสิ่งหลายอย่างทั้งโดยตรงและโดยนัย บอกถึงชีวิตจิตใจความรู้สึกของคนเป็นพ่อเป็นแม่ที่ตามหาลูกอย่างว้าวุ่นท่ามกลางสถานการณ์ที่แสนจะสับสนและสิ้นหวังที่สุดในช่วงขณะนั้น แถมทั้งสองอาศัยอยู่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ มาก 

ทุกครั้งที่จินดาเดินทางมาค้นหาจารุพงษ์ในกรุงเทพฯ เขาต้องทิ้งลิ้มและลูกคนอื่นๆ ไว้ที่บ้าน

บันทึกนี้บอกให้เรารับรู้ถึงความสับสนอลหม่านหลังเหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งนั้น ไม่มีใครรู้ว่าจะหาข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับคนที่เจ็บตายได้ที่ไหน 

การค้นหาค่อนข้างสะเปะสะปะ และจินดาต้องพึ่งตนเองแทบทั้งสิ้น เจ้าหน้าที่ก็ไม่รู้เรื่องมากไปกว่าเขาสักเท่าไร มีแต่ผู้คนรอบข้างเขาเท่านั้นที่พอช่วยเหลือได้ 

บันทึกนี้บอกถึงความรู้สึกทั่วไปของสามัญชนคนทั่วไปในขณะนั้น ทั้งญาติมิตรของจินดาผู้มีความเมตตาห่วงใยให้เขา ไม่ว่าพวกเขาจะมีความคิดอย่างไรกับนักศึกษาฝ่ายซ้ายก็ตาม หรือเพื่อนๆ ของผู้บาดเจ็บล้มตายที่ร่วมหลั่งน้ำตากับพวกเขา รวมทั้งเจ้าหน้าที่ซึ่งมองผู้ถูกจับกุมและครอบครัวของพวกเขาราวกับเป็นศัตรูต่ำช้า และคนอื่นๆ อีกมาก 

คุณค่าสำคัญที่สุดของบันทึกนี้ก็คือ แม้จะเป็นเรื่องของการค้นหาของพ่อแม่ของผู้ตายเพียงคนเดียว แต่บันทึกนี้เป็นเสมือนตัวแทนของความรู้สึกและความพยายามของพ่อแม่ทุกคนในสถานการณ์ทำนองเดียวกัน พ่อแม่ญาติพี่น้องของคนอีกมากในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และเหตุการณ์เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 

ผมเชื่อว่าบันทึกนี้เป็นตัวแทนบอกความรู้สึกของเขาเหล่านั้นที่ลูกหลานของเขาถูกอำนาจรัฐทำร้าย จับกุม อุ้มหายไปโดยไม่มีร่องรอย จู่ๆ ก็ไม่กลับมาบ้านอีกเลยอย่างฉับพลัน 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบันทึกนี้เป็นตัวแทนพ่อแม่ของคนของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 คนอื่นๆ ซึ่งยังไม่ต้องการเปิดเผยตัวด้วยเหตุผลที่อธิบายไว้ข้างต้น 

คุณค่าอีกอย่างของบันทึกนี้เป็นเหตุผลส่วนตัวของผม นั่นคือ จารุพงษ์เป็นเพื่อนของผมและเขาเสียสละเพื่อปกป้องคนอื่น 

บันทึกการตามหาลูกชายนี้มีความหมายมากขึ้นไปอีกต่อการศึกษาเรื่องความทรงจำที่ผมสนใจมาหลายปีแล้ว 

กล่าวคือ ผมมีคำถามที่ค้างคาใจต่อมาหลายปีหลังจากอ่านครั้งแรกเมื่อปี 2539 ว่าทำไมจินดาไม่เขียนให้จบ 

เมื่อบวกกับปริศนาว่าการเสียชีวิตของจารุพงษ์ก็ยังคลุมเครือไม่ชัดเจนแถมไม่มีใครเคยพบศพของเขาเลย 

คำถามที่ค้างคาใจดังกล่าวบวกกับการค้นหาความจริงเมื่อ 20 ปีให้หลังว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา 

นับแต่เขาเสียชีวิต กลับนำไปสู่เรื่องเศร้าอีกเรื่องหนึ่งของคนเป็นพ่อเป็นแม่ภายหลังโศกนาฏกรรม 6 ตุลา จบลงไปแล้ว ผมจะเล่าเรื่องเศร้าเรื่องหลังนี้ด้วยในบทความชิ้นนี้ 

ในทางวิชาการ เราเข้าใจว่าความเงียบภายหลังเหตุการณ์สังหารหมู่ทางการเมืองไม่ว่าที่ใดในโลก มักเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขเพื่อให้คนลืม เพื่อให้สังคมลืม และเพื่อปฏิเสธความรับผิดของผู้มีอำนาจ ความเงียบเป็นส่วนหนึ่งของการลอยนวลไม่ต้องรับผิด ความเข้าใจเช่นนี้ถูกต้องโดยทั่วไป และถูกต้องต่อเหตุการณ์ 6 ตุลา ด้วยเช่นกัน ซึ่งผมได้เคยกล่าวและเสนอไปแล้วในหลายแห่งหลายโอกาส ทั้งยังยืนยันเช่นนั้นอยู่ 

แต่ท่ามกลางความเข้าใจทั่วไปเช่นนั้น กลับมีภาวะซับซ้อนย้อนแย้งดำรงอยู่ด้วยเช่นกัน นั่นคือ เรื่องเศร้าเมื่อ 20 กว่าปีให้หลังกลับสอนผมว่า ในบางกรณี ความเงียบกลับเก็บความทรงจำและความหวังไว้เต็มเปี่ยม แต่ความเงียบเพื่อความทรงจำเช่นนั้นเป็นภาวะที่แสนจะเปราะบางและถูกความจริงทำลายได้ง่ายเหลือเกิน 

หวังว่าเรื่องเล่าเพียงกรณีเดียวนี้จะช่วยให้เรารู้จักพ่อแม่อีกนับสิบนับร้อยที่พยายามกอดเก็บความทรงจำไว้อย่างเงียบๆ เพื่อให้ลูกหลานของเขามีชีวิตอยู่ในความทรงจำส่วนตัวของตนทำนองเดียวกับจินดา และ ลิ้ม ทองสินธุ์ 

บางตอนจาก "บันทึก 6 ตุลา พลิกแผ่นดินตามหาลูก" โดย จินดา ทองสินธุ์1 

บันทึกเริ่มด้วยการบอกเล่าถึงครอบครัวของจินดา เขากับลิ้มมีลูกด้วยกัน 5 คน ในปี 2519 คนหนึ่งยังอยู่ชั้นอนุบาล สามคนอยู่โรงเรียนมัธยมในโรงเรียนที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จารุพงษ์เป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ ในปีนั้นเอง 

"เหตุการณ์ที่ไม่น่าคาดฝันได้อุบัติขึ้น ซึ่งนำความวิปโยคมาสู่ครอบครัวของข้าพเจ้าอย่างที่จะหาเหตุการณ์ครั้งไหนมาเปรียบเทียบมิได้ มันทั้งแสนจะปวดร้าวจิตใจจนแทบจะอดกลั้นไว้ได้ หรือจะเรียกว่าบัดนี้พ่อและแม่ของลูกๆ ได้ตายแล้วทั้งเป็นและจะตายจนกว่าจะเรียกร้องความสูญเสียนั้นกลับคืนมา"

หลังจากรู้ข่าวจากวิทยุและโทรทัศน์ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคมนั้นว่าเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นที่ธรรมศาสตร์ มีนักศึกษาถูกประชาทัณฑ์ ทุบตี แขวนคอ เผาทั้งเป็น วันต่อมาจินดาจับรถไฟจากสถานีบ้านส้องตรงเข้ากรุงเทพฯ จินดาเล่าให้ฟังว่า 

"ขณะที่นั่งมาบนรถไฟได้พบปะเพื่อนฝูงที่มาจากทางใต้ ส่วนมากก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน คือไปเยี่ยมลูกหลานและเป็นห่วงลูกหลานกันทั้งนั้น ต่างคนต่างนั่งมองหน้ากันด้วยความเศร้าสลดใจจนพูดอะไรไม่ออก" 

รถไฟถึงกรุงเทพฯ เช้ามืดวันที่ 8 ตุลาคม จินดาตรงดิ่งไปยังหอพักของจารุพงษ์แถววัดบุปผารามทันที จินดาเล่าว่า "บรรยากาศในหอพักนักศึกษาในวันนั้นผิดกับวันก่อนหรือครั้งก่อนๆ...ที่ข้าพเจ้าได้มาเยี่ยมลูก ทุกคนในหอพักในวันนี้ต่างก็มองหน้ากันและเงียบสงัด ไม่มีเสียงจอแจหรือแม้แต่เสียงวิทยุ

ข้าพเจ้าก็เกิดความวิปลาสในใจทันที ขณะนั้นมองหน้าต่างหอพักที่ลูกอยู่ปิดตาย แต่ใจหนึ่งยังคิดว่าลูกกำลังนอนจึงรีบขึ้นไป แต่ที่ไหนได้ เมื่อเห็นประแจติดประตูไว้อย่างแข็งแรง แต่ลอดมองดูจากข้างฝาเข้าไปภายในได้ตลอด ไม่เห็นลูกเลยแม้แต่เงา 

ตอนนี้จิตใจของข้าพเจ้าเหมือนจะหลุดลอยออกจากร่าง เข่าอ่อนรีบก้าวลงจากหอพัก ขณะลงบันได มีนักศึกษาที่พักอยู่ห้องใกล้ๆ กันเดินสวนทางขึ้น ข้าพเจ้าบอกว่ามาหาลูกจารุพงษ์ เพียงเท่านั้นนักศึกษาคนนั้นนํ้าตาไหลพรากบอกว่า จารุพงษ์เขาไม่กลับมาหอพักตั้งแต่วันก่อนเกิดเหตุ 1 วัน คือวันที่ 5 ตุลาคม 2519 

เมื่อเสียงนี้แว่วเข้าหูข้าพเจ้า ทำให้อื้อจนไม่รู้จะว่าอะไรอีก"


เชิงอรรถ 1จินดา 2539. เรื่องของจินดาตามหาลูกชายได้รับการเปิดเผยเป็นครั้งแรกในปี 2539 ด้วยข้อเขียนของ ยุวดี มณีกุล (2539) และ วันดี สันติวุฒิเมธี (2539, น.137-140). ชิ้นหลังกล่าวถึงบันทึกฉบับนี้ทั้งคัดข้อความบางตอนด้วย ผมเห็นว่าเวลา 20 ปีนานพอที่สมควรจะเล่าเรื่องนี้อีกครั้ง แต่การเล่าอีกครั้งในที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความที่มีเรื่องเล่าและประเด็นหลักต่างออกไปจากข้อเขียนทั้งสอง


ที่มา FB


Matichonweekly - มติชนสุดสัปดาห์

ooo

Silenced I Memories Eng sub



https://www.youtube.com/watch?v=JAbgvsDvkT4

Nguyen Dong Thi

Uploaded on Oct 13, 2014

.....

เรื่องเกี่ยวเนื่อง...

สิ้น “จินดา ทองสินธุ์” บิดา”จารุพงษ์ ” นศ.มธ.เหยื่อโหด 6 ตุลาฯ ตำนานตามหาศพลูก20ปี





ที่มา มติชนออนไลน์
29 ม.ค. 59


ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 29 ม.ค. ว่า นายจินดา ทองสินธุ์ วัย 93 ปี บิดานายจารุพงษ์ ทองสินธุ์ หนึ่งในนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สังหารหมู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2519 เสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา ด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตก ที่รพ.สุราษฎร์ธานี

นายประภัสสร ทองสินธฺุ์ น้องชายนายจารุพงษ์ กล่าวว่า ลูกหลานและญาติพี่น้องนำศพกลับมาตั้งบำเพ็ญกุศล และสวดอภิธรรมศพที่สวนเงาะข้างบ้านใน ต.อิปัน อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี และจะมีพิธีฌาปนกิจศพในเวลา 13.00 น. วันที่ 4 ก.พ. ที่บริเวณสวนเงาะข้างบ้าน โดยจะมีเครือข่ายนักศึกษาและนักกิจกรรม 6 ตุลา 2519 มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีการบันทึกว่า มีผู้เห็นนายจารุพงษ์ ทองสินธุ์ นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ปีที่ 2 อุปนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) และกรรมการบริหารศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ถูกยิงหน้าตึก อมธ. ขณะคอยระวังหลังให้เพื่อน ๆ ที่ลงจากตึก ร่างของเขาถูกกลุ่มบุคคล ที่บุกเข้าสังหารนิสิตนักศึกษาในวันนั้น ใช้ผ้ารัดคอแล้วลากไปตามสนามฟุตบอลในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่ามกลางสายตานับร้อยที่เฝ้าดูด้วยความสะเทือนใจ แต่หลังจากนั้น ไม่มีใครพบร่างของนายจารุพงษ์อีกเลย ภายหลังเหตุการณ์ นายจินดา และนางลิ้ม บิดาและมารดา นายจารุพงษ์ ได้ออกติดตามหาศพนายจารุพงษ์ ตั้งแต่หลังเหตุการณ์เมื่อปี 2519 จวบจนปัจจุบัน แต่ยังไม่พบศพนายจารุพงษ์ และย้ำมาตลอดว่าถ้ายังไม่พบศพก็ยังไม่เชื่อว่าลูกชายเสียชีวิต

กระทั่งเวลาผ่านไปกว่า 20 ปี และไม่พบร่องรอยใด ๆ นายจินดาและภรรยาจึงเชื่อว่าลูกชายเสียชีวิตแล้ว จากนั้น นายจินดาและภรรยาเดินทางจากจ.สุราษฎร์ธานีมาร่วมงานและกล่าวรำลึก 6 ตุลา ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ทุกปี

.....


Les Miserables of 6 October 1976
หนึ่งในเหยื่ออธรรม 6 ตุลา 2519
อาชญากรรมรัฐ ของชนชั้นนำไทย
ที่ขัดขืนความเปลี่ยนแปลง ปฏิรูป

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ Charnvit Kasetsiri