วันศุกร์, กรกฎาคม 08, 2559

“เจ๊กแหม่” มีคนอุทานรธน.ไทย “ไหนว่าโมเดลเยอรมัน ทำไมโดนเยอรมันติเตียนล่ะ”





“เจ๊กแหม่” มีคนอุทานบนทวี้ตภพเรื่องร่าง รธน.ไทย “ไหนว่าโมเดลเยอรมัน ทำไมโดนเยอรมันติเตียนล่ะครับ”

‘Tar @Talearm’ บอกกรรมาธิการต่างประเทศเยอรมนีน่ะแหละที่ติ เขาได้มาจาก euractiv.com เพิ่งตีพิมพ์เมื่อบ่ายสามโมงครึ่งเวลาท้องถิ่น ๗ กรกฎานี้เอง

ที่จริงไม่ใช่เรื่องใหม่ ในเยอรมันมีการติติงการครองบ้านครองเมืองของทหารไทยในไตแลนเดียมาไม่น้อย เมื่อไม่นานมานี่ (กลางเดือนพฤษภาคม) ดร.เวอร์เนอร์ เล็งเก็น ประธานคณะตัวแทนสภาอียูสู่อาเซียน ๘ คนได้เตือนไว้แล้วว่า

“การกลับคืนสู่โครงสร้างประชาธิปไตย ให้มีการเลือกตั้งเสรีและสะอาด จะเป็นมาตรการที่สำคัญนำไปสู่พัฒนาการในอนาคตของความสัมพันธ์ระหว่างอียูกับประเทศไทย”

(http://www.euractiv.com/…/eu-to-thailand-free-and-fair-ele…/)





ครั้งนี้กรรมาธิการต่างประเทศของรัฐสภาบันเดสแต็กแจ้งว่า “ด้วยความเป็นกังวล เราขอบันทึกไว้ว่า การออกเสียงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มิได้สร้างเสริมหลักการแบ่งแยกอำนาจ นอกเสียจากรักษาอำนาจของทหารไว้ต่อไปในอนาคต”

ผู้ประสานงานของกรรมาธิการสามคนได้แก่ นอร์เบิร์ต ร้อตเก็น สเตฟฟาน ลี้บบิช และแมรี่หลุยส์ เบ็ค ร่วมกันแถลงอีกครั้ง ก่อนจะถึงวันลงประชามติ ๗ สิงหาคมในไทยอีก ๑ เดือนพอดี

“รัฐบาลทหารจะต้องปฏิบัติตามกำหนดเวลาสำหรับการเลือกตั้งสมาชิสภาผู้แทนราษฎร และการเปลี่ยนผู้บริหารประเทศไปสู่รัฐบาลพลเรือน ภายในปี ๒๕๖๐” สมาชิกกรรมาธิการกล่าว

นอกนี้ยังติงด้วยว่า “มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ที่คัดค้านคณะทหาร (คสช.) เพิ่มขึ้น มีเสียงร้องเรียนจากผู้สังเกตการณ์ว่า คนที่ไม่ยอมแสดงการนบนอบต่อคณะทหาร จะถูกล้างแค้นตอบโต้





ตั้งแต่มีการรัฐประหารเป็นต้นมา มีการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพขึ้นใหม่อีก ๔๔ คดี ทั้งหมดเป็นการกล่าวหาคนที่วิพากษ์วิจารณ์คณะรัฐประหารผ่านทางอินเตอร์เน็ต...

สมาชิกสภาเยอรมนียังเรียกร้องให้รัฐบาลปัจจุบันเร่งดำเนินการปฏิรูป เพื่อจะได้ทำให้ ประชาชนสามารถถกเถียงเกี่ยวกับร่างฯ โดยปราศจากการกดดัน ข่มเหง”

(https://www.euractiv.com/…/german-lawmakers-denounce-thail…/)

รายงานโดยสำนักข่าวของอียูแสดงข้อคิดด้วยว่า “ข้อเรียกร้องนี้จะทำให้คณะทหารรับฟังหรือไม่ ต้องจับตาดูต่อไป”

ทว่าฮุนต้าไทยได้ออกระเบียบปฏิบัติพิเศษสำหรับการออกเสียง ซึ่งกำหนดให้อภิปรายกันได้ด้วยถ้อยคำสุภาพเท่านั้น ใครฝ่าฝืนกฎหมายนั้น ต้องระวางโทษจำคุกสุงถึง ๑๐ ปี

ด้วยความพยายามจะชักจูงให้คนออกมาลงคะแนนรับร่างฯ รัฐบาลใช้ครู ๓ แสนคน ทหารอีก ๒ แสนคน กระจัดกระจายกันไปชักนำตามท้องที่ต่างๆ ทั่วทั้งประเทศ รายงานอ้างคำกล่าวของ จรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตสมาชิกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน