วันพุธ, กรกฎาคม 06, 2559

ปัจจัยสำคัญของการไม่ฝากขังนักโทษประชามติทั้ง ๗ คนต่อ คือแรงกดดันจากข้างนอก...





ข้อคิดต่อการปล่อยตัวนักศึกษาผู้ต้องขังและถูกจองจำ เพราะรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

ที่สุดศาลทหารยอมสั่งให้ปล่อยตัว ๗ คนที่ไม่ยอมรับข้อแม้ประกันตัว จึงถูกคุมขังติดต่อกันเป็นเวลา ๑๑ วัน

แต่ราชทัณฑ์ยังไม่ได้ปล่อยตัวในวันที่ศาลสั่ง นำตัวกลับไปขังต่ออีกหนึ่งคืนให้ครบกำหนดการกักขังผลัดแรก วันรุ่งขึ้นจึงปล่อย

และก็ได้รับอิสรภาพจริงๆ แค่ ๖ คน ได้แก่ รังสิมันต์ โรม นันทพงศ์ ปานมาส สมสกุล ทองสุกใส อนันต์ โลเกตุ ยุทธนา ดาศรี และธีรยุทธ์ นาบนารำ

อีกหนึ่งคนคือ กรกช แสงเย็นพันธุ์ หรือ ‘ปอ’ ถูกฉกตัวทันทีไปศาลทหารเพื่อขอฝากขังต่อในคดีเก่า ‘ขึ้นรถไฟไปราชภักดิ์’

ซึ่งทนาย กฤษฎางค์ นุตจรัส ให้ความเห็น “เชื่อว่าเป็นการกลั่นแกล้งกันมากกว่า...เพราะก่อนหน้านี้ทางตำรวจโรงพักรถไฟไม่ได้มีการมาแจ้งข้อกล่าวหาอะไร ทั้งๆ ที่ ปอ กรกช ถูกขัง ๑๒ วัน และที่ศาลทหารก็ไม่มาแจ้งว่าจะอายัดตัว”

ทุกขั้นตอนของกระบวนยุติธรรมไทยล้วนแต่ไม่เป็นไปตามครรลองที่ถูกต้องตามหลักการราชทัณฑ์สากล และกระทั่งระเบียบกฎหมายของไทยเอง

ประเด็นแรกเกี่ยวกับการไม่ยอมปล่อยตัวทันทีที่ศาลสั่ง ซึ่งอ้างว่าทำตามธรรมเนียมปฏิบัติอย่างเคย แต่นักกฎหมายสำนักฝรั่งเศสอย่าง อจ. ปิยบุตร แสงกนกกุล บอก “ผมเห็นว่ากรณีนี้ไม่น่าจะถูกต้อง





หากเรายืนยันว่า ‘บุคคลได้รับการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์จนกว่าศาลพิพากษา’ นั่นหมายความว่า การคุมขังชั่วคราวในระหว่างการสอบสวนก็ดี การพิจารณาของศาลก็ดี ต้องเป็นข้อยกเว้นทั้งหมด

กล่าวคือ อยู่นอกคุก เป็นหลัก อยู่ในคุก เป็นข้อยกเว้น

เมื่อศาลสั่งไม่อนุญาตให้ขังต่อ ก็หมายความว่าไม่มีเหตุใดๆ ที่ต้องขังอีกแล้ว ข้อยกเว้นต่างๆ เงื่อนไขต่างๆ ที่ให้ขังชั่วคราวได้หมดไปแล้ว จึงไม่มีเหตุอันใดที่ต้องอยู่ในคุกแม้แต่วินาทีเดียว...

ผมยังเห็นต่อไปอีกว่า การปล่อยตัวสามารถกระทำได้ที่ศาลทันที ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาย้อนไปเรือนจำทำพิธีกรรมปล่อยตัวอีก”

ย้อนไปถึงตอนที่ราชทัณฑ์พานักศึกษาทั้งเจ็ดไปศาลทหาร ภาพพวกเขาลงจากรถตู้ด้วยอาการอิดโรย (ข่าวว่า ‘โรม’ น้ำหนักลดไป ๑๐ กิโลจากการถูกคุมขังนี้) ด้วยชุดนักโทษสีส้ม ข้อเท้าทุกคนถูกตีตรวนล่ามโซ่

เป็นภาพที่น่าเศร้าสลดอย่างยิ่งไม่เพียงต่อการถูกกระทำย่ำยีของพวกเขา หากเป็นความน่าสะอิดสะเอียนของระบบยุติธรรมไทยเสียยิ่งกว่า





อจ.ปิยบุตรอีกแหละที่บ่นออกมาทางโซเชียลมีเดียว่า “เห็นภาพนายรังสิมันต์ โรม มาศาลทหารด้วยชุดนักโทษพร้อมโซ่ตรวนที่ข้อเท้าแล้ว

ไม่รู้ว่าเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ คณะนิติศาสตร์ มธ. ทั้งสมัยปริญญาตรีและปริญญาโท ของเขาจะรู้สึกอย่างไรกันบ้าง

แล้วอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. ที่สอนเขามาสารพัดวิชา ทั้งกฎหมายแพ่ง กฎหมายธุรกิจ กฎหมายอาญา กฎหมายวิอาญา กฎหมายวิแพ่ง พยานหลักฐาน วิชาชีพนักกฎหมาย นิติปรัชญา กฎหมายรัฐธรรมนูญ ล่ะ ไม่รู้สึกอะไรเลยหรือครับ

จะ ‘เงียบจนแสบแก้วหู’ ไปถึงเมื่อไร”

แน่ละยังพอมีเพื่อนอดรนทนไม่ได้ ‘ไม่เงียบ’ ให้ได้เห็น อธิคม คุณาวุฒิ บรรณาธิการนิตยสาร ‘เวย์’ โพล่งแรงๆ “เพื่อนเอ๋ย ถ้ามึงไม่รู้สึกรู้สาอะไรเมื่อได้เห็นภาพนี้ เราอย่าเป็นเพื่อนกันเลยว่ะ

จุดยืนทางการเมืองมันไม่เท่าไหร่หรอก แต่ถ้าความเป็นมนุษย์ยังสอบไม่ผ่าน เราอยู่ห่างๆ กันน่ะ...ดีแล้ว”

แท้จริงหากย้อนไปดูตัวบทกฎหมายที่มีใช้อยู่กันจะพบว่า ผู้ต้องหาที่จะต้องตีตรวนเวลาไปศาลน่ะมีแต่นักโทษประหารชีวิตเท่านั้น

ศูนย์ข้อมูลกฎหมาย iLaw นำ พรบ.ราชทัณฑ์ ๒๔๗๙ กฎกระทรวงมหาดไทยประกอบมาตรา ๕๘ ของกฎหมายราชทัณฑ์ และคำวินิจฉัยศาลปกครอง คดีดำที่ ๗๔๗/๒๕๕๐ มาตีแผ่

(http://ilaw.or.th/node/1655)

มาตรา ๑๔ ห้ามใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องขัง เว้นแต่จะเป็นบุคคลวิกลจริต น่าจะเป็นอันตรายแก่ตนและคนอื่น และน่าจะจบหนี นอกนั้นตามแต่ความเห็นของผู้คุม และพัศดี หรือรัฐมนตรีสั่ง

พันธนาการที่กฎหมายอนุญาตมีสี่ชนิด คือ ตรวน กุญแจมือ กุญแจเท้า และโซ่ล่าม ตรวนมีสามขนาด (ความหนาของเหล็ก) คือ เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๐ มิลลิเมตร ๑๒ มิลลิเมตร และ ๑๗ มิลลิเมตร โซ่มีความยาว ๕๐ เซนติเมตรถึง ๗๕ เซนติเมตร

กฎกระทรวงมหาดไทยเรื่องราชทัณฑ์ ข้อ ๒๘ ระบุว่า “ในกรณีที่ต้องนำตัวคนต้องขังหรือคนฝากขังไปนอกเรือนจำ ถ้าจะใช้เครื่องพันธนาการให้ใช้กุญแจมือ เว้นแต่คนต้องขังในคดีอุกฉกรรจ์จะใช้ตรวนหรือกุญแจเท้าก็ได้”

แล้วข้อหาแจกเอกสารต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มันอุกฉกรรจ์แค่ไหนกัน

รายงานเรื่อง ‘โซ่ตรวนนักโทษ : มิติทางกฎหมาย’ เมื่อ ๙ ส.ค. ๒๕๕๕ โดย iLaw ยังชี้ให้เห็นว่าเรื่องการตีตรวนนี้มีคำวินิจฉัยโดยศาลปกครองเมื่อ ๑๖ กันยายน ๒๕๕๒ เป็นบรรทัดฐานไว้ว่า

“การใส่ตรวนนักโทษเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพในร่างกายและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์... ศาลเห็นว่า การใส่ตรวนขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ...และ

(แม้ผู้) ถูกควบคุมตัวอยู่ในอำนาจของกรมราชทัณฑ์ตามคำพิพากษาของศาล แต่เป็นเพียงการสั่งให้ควบคุมหรือจำคุกซึ่งหมายถึงการจำกัดอิสรภาพเท่านั้น

กรมราชทัณฑ์ไม่มีสิทธิที่จะกระทำการใดๆ แก่เนื้อตัวร่างกายของผู้ฟ้องคดีโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายได้” ซึ่งราชทัณฑ์อุทธรณ์

เช่นนี้ การปฏิบัติต่อ ๗ นักศึกษาที่ถูกกระทำให้เป็นนักโทษประชามติเช่นนี้ เป็นการผิดพลาดโดยละเมิดที่ใช้เป็นมูลเหตุการณ์ฟ้องร้อง คสช. ต่อศาลสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศได้ ตราบใดที่โอกาสมาถึง

คสช. ไม่สามารถจะโกหกตอแหลต่อชุมชนนานาชาติได้ตลอดไปอย่างแน่นอน

แม้ในขณะนี้ก็ดี องค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติรู้ถึงเล่ห์กลและความสับปลับของ คสช.อย่างดี จะเห็นว่ามีตัวแทนชาติตะวันตกนับสิบประเทศที่ไปรอฟังการขอฝากขังผลัดสองในศาลทหารเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม

Rackchart Wong-arthichart เขียนถึงประเด็นเช่นว่าไว้น่าโพนธนา ว่าปัจจัยสำคัญของการไม่ฝากขังนักโทษประชามติทั้ง ๗ คนต่อ คือแรงกดดันจากข้างนอก...

“คือการกดดันจากต่างประเทศ หลายคนอาจจะคิดว่าองค์กรต่างประเทศทำได้แค่ออกแถลงการณ์ แต่จริงๆแล้วพวกเขาทำมากกว่านั้น โดยที่ไม่จำเป็นต้องออกสื่อ การช่วยประสานงานขององค์กรต่างๆ ไปยังองค์กรเครือข่ายหลายๆ องค์กรรวมถึงสถานทูต เป็นส่วนหนึ่งที่น่าจะทำให้ผู้มีอำนาจต้องคิดทบทวนใหม่ในเรื่องการปราบปราม หรือพยายามปิดปากผู้รณรงค์ประชามติ

เมื่อวันก่อนผมไปพบกับตัวแทนของสหประชาชาติ เขาเล่าให้ฟังว่าที่เป็นข่าวออกไปว่าประยุทธ์โทรหาบันคีมูนนั้น เป็นการออกข่าวที่คลาดเคลื่อนอย่างมาก (น่าจะหมายถึงข่าวนี้ของไทยรัฐที่ว่าประยุทธ์โทรสายตรงถึงบันคีมูน http://www.thairath.co.th/content/643011)

จริงๆแล้วการพูดคุยในครั้งนี้ได้มีการนัดไว้ก่อนล่วงหน้าแล้วอย่างน้อยสามสัปดาห์ และทางสหประชาชาติต่างหากที่เป็นคนติดต่อไป เพื่อย้ำเตือนกับทางไทยถึงความเป็นกังวลกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น และประชามติควรจะเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายอภิปรายอย่างเสรี

แต่ทางการไทยก็ตอบกลับอย่างเดิมๆว่า ‘ประเทศไทยไม่เคยมีกรณีการละเมิดสิทธิเกิดขึ้น’ ซึ่งเป็นแบบนี้ทุกครั้งที่มีการพูดคุยเรื่องนี้

วันนี้ที่ศาลทหาร มีตัวแทนจากองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะจากสถานทูตมาสังเกตุการณ์การพิจารณาคดีในศาลทหาร น่าจะเกิน ๑๐ คน จากสหรัฐฯ ฟินแลนด์ เยอรมัน แคนาดา ฝรั่งเศส อังกฤษ สหภาพยุโรป สหประชาชาติ ฯลฯ

ตอนเช้ามากันแน่นขนัด น่าเสียดายว่าต้องเลื่อนการพิจารณาไปเป็นช่วงบ่าย ทำให้บางคนที่ติดภารกิจไม่สามารถรอได้ต้องกลับก่อน

แต่แอบได้ยินตัวแทนจากต่างประเทศท่านหนึ่งพูดขึ้นมาหลังทราบว่ามีการเลื่อนพิจารณาคดีว่า "This is the same old tactic. I'm not giving in this time. I'll definitely be back." (นี่มันลูกไม้เก่าๆ ฉันไม่ยอมหรอก ฉันจะอยู่รอแน่นอน) และเมื่อการพิจารณาสิ้นสุด ตัวแทนฯ ท่านเดิมก็พูดว่า "I want to make sure they knew that we are watching" (ฉันอยากให้พวกเขารู้ว่าเราจับตามองอยู่)

ยิ่งคสช. ไล่ปิดปากคนรณรงค์แบบนี้ ยิ่งทำให้ความชอบธรรมของประชามติลดลงในสายตาโลก ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง และความไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การกดดันจากต่างประเทศในคราวนี้จึงมีส่วนช่วยอย่างมากในการผ่อนปรนความเข้มงวดของรัฐบาลทหาร”

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ความกล้าหาญ และจริงใจ ของพวกเขาทั้งเจ็ด ที่ยอมสูญเสียอิสรภาพตนเอง คัดง้างและเปิดอ้าความอยุติธรรม และความชั่วร้ายของเผด็จการให้อีกหลายคนบนโลกได้ประจักษ์ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ และน่ายกย่องเป็นที่สุด”

เราจึงได้เห็นโพสต์ของ Wassana Nanuam ผู้สื่อข่าวสายทหารบอกว่า “บิ๊กป้อมชี้ ‘ราชฑัณฑ์’ ใส่ตรวน นศ.มาขึ้นศาล แม้เป็นระเบียบแต่มองแล้วไม่เหมาะสม”





จึงได้รับคำแนะนำจาก อจ.ปิยบุตร ด้วยเจตนาดีของผู้สอนกฎหมายว่า “ถ้า พล.อ.ประวิตร ว่าแบบนี้ ก็สั่งการไปที่กรมราชทัณฑ์ให้ยุติการอุทธรณ์เสีย และสั่งการให้มีการยกเลิกการใส่ตรวนแก่นักโทษในทุกกรณี” ก็สิ้นเรื่อง

ไม่เห็นจะต้องคอย ‘พริ้ว’ แก้ต่างแก้ตัวไปเรื่อยเปื่อย ขาดหลักการ ไร้กึ๋น เหมือนที่อ้างเรื่องจะซื้อเรือดำน้ำจีน ๓ หมื่น ๖ พันล้านบาทนั่น ก็ว่าเพื่อนบ้านมีกันเป็นสิบลำ





แต่แท้ที่จริง (อีกแหละ) ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหาร เผยว่าเรือดำน้ำที่มีอยู่ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์นี่มีไม่ถึงสิบลำนะ

แบบนี้รับรอง คสช. หน้าไม่แตกหรอก พวกเขาหน้าทน