วันเสาร์, มิถุนายน 18, 2559

ข่าวเก่าเล่าใหม่... มหากาพย์การจัดซื้อ “ไม้ล้างป่าช้า” GT200 และ “เรือเหาะ” ของกองทัพ





2 ปมกองทัพมหากาพย์ที่ยังไม่จบ “คดี GT200” และกรณี“เรือเหาะ”


ที่มา Thai Publica
15 ตุลาคม 2013


กลายเป็นคดีฉาวอีกครั้งสำหรับ “GT200” อุปกรณ์ตรวจวัตถุระเบิด หรือที่ถูกเรียกว่า “ไม้ล้างป่าช้า” หลังเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2556 ศาลเมืองโอลด์เบลีย์ แคว้นเคนท์ของอังกฤษ มีคำพิพากษาจำคุก นายแกรี โบลตัน เจ้าของบริษัทโกลบอล เทคนิคัล เป็นเวลา 7 ปี ในข้อหาฉ้อโกงจัดจำหน่ายเครื่องตรวจจับระเบิด GT200 ให้แก่หลายประเทศ…

โดยสรรพคุณ GT200 ที่อวดอ้างว่าสามารถตรวจจับระเบิด ยาเสพติด งาช้าง ยาสูบ และธนบัตรได้ อีกทั้งมีขีดความสามารถตรวจจับลึกลงไปใต้ดิน 700 เมตร และขึ้นไปในอากาศถึง 4 กิโลเมตร ทั้งที่ไม่เป็นความจริง

ทั้งนี้ จากการสืบสวนของทางการอังกฤษ ชี้ว่าต้นทุนการผลิตมีราคาเพียง 5 ปอนด์ คิดเป็นไทยก็ประมาณ 250 บาท แต่นำมาขายราคาเครื่องละประมาณ 10,000 ปอนด์ หรือประมาณ 5 แสนบาทไทย โดยได้ขายเครื่องตรวจวัตถุระเบิดให้หลายประเทศ อาทิ เม็กซิโก ปากีสถาน อียิปต์ ตูนิเซีย จีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ รวมถึง ประเทศไทย

กรณีประเทศไทย GT200 กลายเป็นมหากาพย์เรื่องยาวของหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะกองทัพ ที่เริ่มต้นเมื่อกองทัพอากาศ ซึ่งเป็นเจ้าแรกที่ได้จัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT200 มาใช้งาน ในสมัย “บิ๊กต๋อย” พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ โดยมีคณะกรรมการตรวจคุณภาพของกองทัพอากาศเป็นผู้คัดเลือกอุปกรณ์ ก่อนดำเนินการจัดซื้อกับบริษัทผู้จำหน่ายโดยตรง

และสมัย “บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นผู้บัญชาการทหารบก ได้ทดลองใช้เครื่องตรวจ GT200 ซึ่งปรากฏว่าพบอาวุธในมัสยิดที่ อ.รามัน จ.ยะลา จึงทำให้เชื่อว่าเครื่องนี้สามารถใช้การได้จริง ป้องกันอันตรายจากระเบิดของผู้ก่อการร้าย เพื่อรักษาชีวิตทั้งของเจ้าหน้าที่และชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ได้

ต่อมา กองทัพบก ซึ่งขณะนั้นมีความต้องการอุปกรณ์ค้นหาวัตถุระเบิดสำหรับชุดปฏิบัติการ “หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด” หรือ “อีโอดี” ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กำหนดสเปก ต้องสามารถค้นหาวัตถุระเบิดได้ในระยะไกล และในบริเวณกว้างเพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่

ช่วงปี 2551-2552 ในยุคที่ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ได้สั่งซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT200 รวมทั้งสิ้น 541 เครื่อง เพื่อใช้ในภารกิจของหน่วยอีโอดี และหน่วยทหารเฉพาะกิจทหาร 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

“เราต้องการเครื่องมือตรวจหาวัตถุระเบิด เพื่อหาระเบิดอย่างแม่นยำ และสร้างความปลอดภัยเพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงเจ้าหน้าที่ แม้จะถูกวิจารณ์ว่า เครื่อง GT200 จะมีประสิทธิภาพไม่สมคำกล่าวอ้าง หรือค้นหาได้แม่นยำ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่กำลังพลก็ต้องการเครื่องมือนี้ ดีกว่าไม่มีอะไรใช้ป้องกันชีวิต…” เจ้าหน้าที่กรมสรรพาวุธ ทบ. ระบุ

แต่หลังเกิดเหตุระเบิดสะเทือนขวัญ ที่ “อิรัก” มีผู้เสียชีวิตนับ 100 ราย จนนำไปสู่การตรวจสอบประสิทธิภาพของเครื่องมือตรวจสอบวัตถุระเบิด “เออีดี 651” ซึ่งถูกนำมาใช้ในอิรักขณะนั้น จนลามมาสู่การตั้งคำถามในเรื่องประสิทธิภาพของ “GT200” ของกองทัพไทย เนื่องจากเหตุการณ์ระเบิดในภาคใต้ยังเกิดขึ้นแทบรายวัน

ส่งผลให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐนตรีขณะนั้น มอบหมายให้คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบประสิทธิภาพเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT200 และเครื่อง ALPHA 6 โดยมี ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิชาการอิสระ และนายจุฬา พิทยาภินันท์ นิสิตปริญญาเอก ร่วมเป็นกรรมการฯ

ปรากฏว่า ผลทดสอบออกมาในทางลบ เมื่อสถิติการทดสอบ 10 ครั้ง สามารถตรวจพบวัตถุต้องสงสัยได้ไม่ถึงครึ่ง เครื่องดังกล่าวไม่สามารถใช้งานได้จริงอย่างที่อวดอ้าง ในที่สุด กองทัพบกก็สั่งเก็บอุปกรณ์ทั้งหมดจากการใช้งาน รวมถึง 16 หน่วยงานรัฐที่ได้จัดซื้อ GT200 และ ALPHA 6 อาทิ กรมสรรพาวุธทหารบก กองบัญชาการกองทัพไทย โดยศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) กรมราชองครักษ์, กองทัพเรือ, สถาบันนิติวิทยาศาสตร์, กรมการปกครอง, กรมศุลกากร, ตำรวจภูธร จ.ชัยนาท, ตำรวจภูธร จ.พิษณุโลก ฯลฯ ซึ่งรวมแล้ว มีจำนวนถึง 1,398 เครื่อง มูลค่า 1,178 ล้านบาท

จากนั้น หน่วยงานรัฐ ในฐานะผู้เสียหาย ได้ร้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งมีมติรับไว้เป็นคดีพิเศษ ดำเนินการสืบสวนสอบสวนเอาผิดกับบริษัทเอกชน ที่เป็นตัวแทนผู้ผลิต ผู้จำหน่าย หรือตัวแทนจำหน่วย อุปกรณ์ GT200 และ ALPHA 6 ให้หน่วยงานราชการ ในข้อหาจำหน่ายอุปกรณ์ไร้ประสิทธิภาพ ประกอบด้วย บริษัทคอมส์แทร็ค ประเทศอังกฤษ ของเจมส์ แมคคอร์มิค พร้อมตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยอีก 2 บริษัท คือ บริษัท แจ็คสัน อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เอ.เอส.แอล.เอ็ม. เทรดดิ้ง จำกัด และยังมีอีกหลายบริษัทที่จำหน่ายให้หน่วยงานรัฐ

ทั้งนี้ ผลสอบปากคำพยานที่เกี่ยวข้อง เชื่อได้ว่าเครื่องมือดังกล่าวไม่มีประสิทธิภาพ และไม่สามารถใช้งานได้จริง ประกอบกับมีรายงานผลรายงานการดำเนินงานการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัยของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ได้ทำการทดสอบเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัย GT 200 และผลรายงานการตรวจวัดประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง GT 200 และ ALPHA 6 จากศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ศอท.) หรือ PTEC พบเหตุอันน่าเชื่อว่าเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัยดังกล่าวไม่มีคุณภาพตามที่บริษัทฯ กล่าวอ้าง

ระหว่างที่กระบวนการตรวจสอบของไทยกำลังดำเนินไปอยู่นี้ ศาลเมืองโอลด์เบลีย์ แคว้นเคนท์ของอังกฤษ มีคำพิพากษาจำคุกนายแกรี โบลตัน เจ้าของบริษัทโกลบอล เทคนิคัล เป็นเวลา 7 ปี ในข้อหาขายเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT200 ให้แก่หลายประเทศ

พร้อมมีรายงานว่า ศาลอังกฤษเตรียมดำเนินการเอาผิดกรณีบริษัท ผู้ผลิต และผู้จำหน่าย เครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัย ALPHA 6 ในฐานความผิดเดียวกับบริษัทผู้ผลิตและผู้จำหน่าย GT 200 ซึ่งล่าสุดศาลอังกฤษได้เลื่อนพิจารณาตัดสินจากเดือนกันยายน 2556 ไปเป็นช่วงต้นปี 2557

ทั้งนี้ พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว ผู้บัญชาการสำนักคดีความมั่นคง กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับมอบหมายในฐานะหัวหน้าชุดตรวจสอบข้อเท็จจริง เปิดเผยว่า “คดีนี้ต้องแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คดีที่ดีเอสไอรับผิดชอบ คือ การเร่งดำเนินการเอาผิดกับบริษัทตัวแทนจำหน่าย ซึ่งในช่วงเดือนธันวาคมปีนี้ นางศิวาพร ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ จะเดินทางไปที่ประเทศอังกฤษตามคำเชิญของเจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองลอนดอน เพื่อดูพยานหลักฐานความเชื่อมโยงระหว่างบริษัท ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย GT200 และ ALPHA 6 ระหว่างอังกฤษกับตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย ก่อนจะประสานขอความร่วมมือตาม พ.ร.บ.ความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ เพื่อดำเนินการเอาผิดบริษัทในต่างประเทศ”

ในส่วนที่สอง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. อยู่ระหว่างดำเนินการไต่สวนรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อเอาผิดกับเจ้าพนักงานของรัฐ ทั้งฐานปล่อยปละละเลย ก่อให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยราชการมูลค่ามหาศาล และความโปร่งใสของการจัดซื้อจัดจ้าง โดยนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีการจัดซื้อเครื่องตรวจระเบิด GT200 และ ALPHA 6 ได้สอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้องที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐหลายราย และภายใน 3 เดือน ป.ป.ช. จะสามารถวินิจฉัยชี้มูลกรณีว่าหน่วยงานรัฐได้จัด GT200 และ ALPHA 6 จัดซื้อในราคาแพง ใช้ประโยชน์ไม่ได้ และมีการทุจริตหรือไม่

ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.กล่าวภายหลังศาลอังกฤษมีคำพิพากษากรณี GT200 ว่า
“เรื่องนี้จะหยุดวิจารณ์กันได้หรือยัง เมื่อบอกว่าใช้ไม่ได้ก็ใช้ไม่ได้ แล้วเราเลิกใช้กันมานาน 2-3 ปีแล้ว ส่วนใครจะผิดหรือถูก ไปฟ้องร้องในศาลเอาเอง แต่ช่วงที่ยังมีกำลังพลบางส่วนยังใช้ GT200 ในการตรวจหาระเบิดอยู่ เพราะยังไม่มีอุปกรณ์อื่น เขาใช้ในวิธีภายในของเขา เพราะเขาไม่รู้ว่ามีอุปกรณ์ไหนป้องกันตัวเอง แต่ผมสั่งห้ามใช้ไปแล้ว ถ้าใครจะใช้คงผิดคำสั่ง ส่วนที่มีการตั้งขอสังเกตว่ามีการทุจริต อยากให้ไปหาว่าใครทุจริต เพราะการจัดซื้อจัดหามีคณะกรรมการอยู่ และมีการเสนอความต้องการขึ้นมาจากหน่วยที่ใช้ ถ้ามีการทุจริตคงต้องมีการสอบสวน เพราะซื้อมาตั้งหลายปีแล้ว แต่ไม่เห็นว่าจะมีการทุจริต อย่ามาพูดว่าเป็นการทุจริต การกล่าวหาอะไรต้องมีหลักฐาน รวมถึงผลการสอบสวน”

ท้ายสุดแล้ว การสอบสวนทั้งดีเอสไอและ ป.ป.ช. จะมีมติอย่างไร แต่สำหรับหน่วยงานรัฐ สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นบทเรียนสำคัญ ต่อมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการของรัฐ…อย่างไรไม่ให้เสียค่าโง่ซ้ำ


ปม “เรือเหาะ” SKY DRAGON

นอกจาก GT200 แล้ว “กองทัพบก” ยังต้องเผชิญคำถามปม “เรือเหาะ” หรือ SKY DRAGON ที่ได้จัดซื้อสมัยที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่งเก้าอี้ รมว.กลาโหม และมีน้องรัก “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ.

โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ในฐานะที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลให้ใช้งบประมาณจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษ ทำสัญญาซื้อ “เรือเหาะ + ระบบตรวจการณ์” จากบริษัทเอเรียล อินเตอร์เนชันแนล คูเปอเรชัน (Arial International Cooperation) ในราคา 340 ล้านบาท โดยเรือเหาะลำนี้ผลิตโดยบริษัท Worldwide Aeros Corp. ประเทศสหรัฐอเมริกา รุ่น Aeros 40D S/N 21

โดยระบบตรวจการณ์ที่มากับเรือเหาะ จะมีกล้อง 5 ตัวติดอยู่บนเรือเหาะ ส่งสัญญาณภาพแบบเรียลไทม์มายังที่ศูนย์เฉพาะกิจทั้ง ฉก.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส (ตามเป้าหมาย) นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่า ตอนแรก กองทัพบกมีความต้องการจัดซื้อเรือเหาะ 3 ลำด้วยซ้ำ เพื่อมาปฏิบัติภารกิจตรวจการณ์บนฟ้าพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้…

สำหรับข้อมูลจำเพาะของเรือเหาะลำนี้ มีขนาดกว้าง 34.8 ฟุต (10.61 เมตร) ยาว 155.34 ฟุต (47.35 เมตร) สูง 48/3 ฟุต (13.35 เมตร) ความจุฮีเลียม 100,032 ลูกบาศก์ฟุต (2,833 ลูกบาศก์เมตร) ระยะความสูงที่สามารถปฏิบัติงานได้ 0-10,000 ฟุต (0-3,084 เมตร) ระยะความสูงปฏิบัติการ 3,000-5,000 ฟุต ความเร็วสูงสุด 88 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วเดินทาง 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เครื่องยนต์ 2 คูณ 125 HP 4-Cylinder, Continental IO-240 B ความจุเชื้อเพลิง 76 แกลลอน (300 ลิตร) บินได้นาน 6 ชั่วโมง

และมีเกณฑ์การสิ้นเปลือง ณ ความเร็วสูงสุด 50 ลิตรต่อชั่วโมง ระยะทางที่บินได้ไกลสุด ณ ความเร็วสูงสุด 560 กิโลเมตร ชนิดเชื้อเพลิงที่ใช้ 100 LL Grade Aviation Fuel ความจุห้องโดยสาร 4 นาย (นักบิน 2 นาย ช่างกล้อง 1 นาย เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 1 นาย)

โดยปี 2552 “เรือเหาะ” ถูกนำไปบรรจุที่กองพลทหารราบที่ 15 (พล.ร.15) อ.หนองจิก จ.ปัตตานี มีการจัดสร้างโรงเก็บ แต่ไม่เคยใช้ปฏิบัติงานได้ตามเป้าหมายของการจัดซื้อ และยังมีข้อสังเกตจากบุคคลในแวดวงธุรกิจเรือเหาะว่า ราคาเรือเหาะที่กองทัพจัดซื้อน่าจะแพงเกินไปกว่าความเป็นจริง

ที่ผ่านมาเรือเหาะได้ซ่อมแซมมาแล้วหลายครั้งจากการรั่วซึม ซึ่งทางกองทัพบกได้ว่าจ้างบริษัทอื่นมาดูแลซ่อมแซมด้วยงบประมาณ 30 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทผู้ขายเรือเหาะได้ปิดตัวลงไปแล้ว รวมถึงหมดสัญญาการซ่อมบำรุง

“ยุทโธปกรณ์กองทัพบกที่มีขนาดใหญ่ของเรามีหลายร้อยชิ้นและมีเทคโนโลยีสูง ถ้าไม่ดูแลซ่อมแซมอุปกรณ์ดังกล่าวให้ใช้งานได้ ค่อยมาตำหนิ การที่เรือเหาะชำรุดก็ต้องมีการซ่อมแซม ไม่ใช่ต้องเสนอข่าวกันให้วุ่นวาย ทั้งนี้ ตั้งแต่มีการจัดซื้อมีการใช้งานมีการบันทึกภาพไปดูได้ เรือเหาะมีการใช้งานขึ้นลงทำงานมาโดยตลอด เป็นธรรมดาที่ต้องมีอุบัติเหตุจนชำรุดก็ต้องทำการซ่อมแซม ระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนการซ่อมก็ต้องมีการตั้งงบประมาณตามระบบ ทำไมต้องมาตำหนิกันมากมาย ไม่เข้าใจ การจัดซื้อทุกอย่างโปร่งใส่ตรวจสอบได้หมดอย่างกังวล ตอนนี้รอเวลาซ่อมเสร็จรอการใช้งานต่อไป” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในช่วงที่เกิดอุบัติเหตุเรือเหาะร่อนลงจอดฉุกเฉิน

จากกรณีอุบัติเหตุจากการร่อนลงจอดฉุกเฉินล่าสุดช่วงกลางปี 2556 ตามภาษาชาวบ้านเรียกว่า “เรือเหาะตก” ทำให้ตัวเรือเกิดความเสียหายอย่างหนัก ล่าสุดมีรายงานข่าวว่ากองทัพบกอนุมัติงบประมาณการซ่อมแซมอีก 50 ล้านบาท เพื่อให้โครงการ “เรือเหาะ” ยังคงอยู่ต่อไป




ภาพจาก คมชัดลึก


.....


.....